แพร่ – หมดยุคทอง “ส้มเมืองแพร่” ล่าสุดปีนี้ราคาร่วงหนัก จนเหลือแค่ 0.5-6 บาท/กก.เท่านั้น จากเดิมส้มลูกใหญ่สุดขายได้หน้าสวนถึง 12 บาท/กก. แถมระบบขนส่งไม่เอื้อทำให้กระบวนการลำเลียงผลผลิตสู่มือผู้บริโภคแถบอินโดจีนที่แม้มีความต้องการไม่อั้นเกิดปัญหาตลอดเวลา จนเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องส่ายหน้าทำใจขายถูกแทนปล่อยให้เน่าคาสวน
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งถึงสถานการณ์ของเกษตรกรชาวสวนส้มในพื้นที่จังหวัดแพร่ ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่องมากว่า 5 ปี โดยเฉพาะเกษตรกรในเขต อ.ลอง-อ.วังชิ้น จ.แพร่ ที่ถือเป็นแหล่งปลูกหลักของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกกว่า 60,000 ไร่ ว่า ปีนี้ราคาผลส้มขนาดใหญ่ตั้งแต่เบอร์ 0-00 - 000 เป็นส้มขนาดใหญ่เหลือราคาจากสวนเพียง 6 บาทเท่านั้น ส้มเบอร์ 1 ราคา 5 บาท เบอร์ 2 ราคา 3 บาท เบอร์ 3 ราคาเพียง 2 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนส้มเบอร์ 4 เป็นส้มขนาดเล็กที่มีคุณภาพรสหวาน ราคากิโลกรัมละ 0.50 บาทเท่านั้น อีกทั้งจุดรับซื้อส้มหรือพ่อค้าคนกลางที่ตั้งจุดรับซื้ออยู่บริเวณสองข้างทางสายวังชิ้น-ศรีสัชนาลัย มากกว่า 20 ราย ที่รับซื้อส้มเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านยังคงปฏิเสธการรับซื้อส้มเบอร์ 4 เพราะสู้กับต้นทุนค่าขนส่งไม่ไหว ถึงแม้ว่าส้มขนาดดังกล่าวเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศเขมรและประเทศลาวอย่างมากก็ตาม
นางพร ใจกอง อายุ 54 ปี ชาวสวนส้มใน ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เปิดเผยว่า มีสวนส้มอยู่ 10 ไร่ กำลังให้ผลผลิตอย่างน่าพอใจ ติดดกทุกต้น แต่ปรากฏว่าราคาตกมาอย่างหนัก ส้มขนาดใหญ่ที่เคยขายได้ 12 บาท/กก. ขณะนี้เหลือเพียง 6 บาทเท่านั้น ส่วนส้มขนาดปกติที่จำหน่ายในประเทศ คือส้มเบอร์ 1 เบอร์ 2 ปัจจุบันราคาตกเหลือเพียง กิโลกรัมละ 3-5 บาทเท่านั้น เกือบไม่คุ้มทุน
ตอนนี้ความหวังของชาวสวน มีเพียงการนำผลผลิตมารอจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่ส่งไปจำหน่ายในประเทศเขมร-ลาว ซึ่งรับซื้อไม่อั้น ถึงแม้ว่าราคาจะตกก็ยังดีที่ได้ระบายส้มออกไปดีกว่าเน่าเสียอยู่ในไร่ แต่ขณะนี้รอการลำเลียงส้มไปยังประเทศเขมรกว่า 5 วันแล้วยังไม่ได้คิว
นายพินิจ อินทนนท์ พ่อค้าคนกลางรายหนึ่งที่ตั้งจุดรับซื้ออยู่ที่ ต.วังชิ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ เปิดเผยว่า ส้มปีนี้ผลผลิตดีมากทำให้ล้นตลาด แต่ไม่มีปัญหาส่วนใหญ่กิจการของตนส่งไปจำหน่ายในประเทศเขมร ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีการส่งมอบส้มกันที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ติดเพียงว่าการลำเลียงส้มไปเขมรจะต้องสำส่งไปทางเรืออีกทอดหนึ่ง ซึ่งต้องส่งจำนวนมากๆ จึงจะคุ้ม แต่เราสามารถส่งส้มไปจากไร่ส้ม อ.วังชิ้น ได้วันละ 1 คันรถบรรทุกขนาดใหญ่ปริมาณในการบรรทุกได้เพียง 15 ตันเท่านั้น
นอกจากนี้ การลำเลียงส้มจะต้องใช้รังพลาสติกจำนวนมากในการขนส่ง ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหามากคือการส่งรับพลาสติกคืนล่าช้ามาก ทำให้ไม่มีรังในการบรรจุผลส้ม ทำให้ชาวสวนส้มต้องนำผลผลิตมานอนรอเข้าคิวรอรังพลาสติกในการบรรจุ และที่สำคัญการการลำเลี่ยงทางรถยนต์ทุกวันไม่สามารถนำส้มขนาดเล็กไปจำหน่ายได้ เนื่องจากอัตราค่าบรรทุกมีราคาสูงขึ้นตามต้นทุนน้ำมัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการที่ต้องหยุดรับซื้อส้มขนาดเล็ก เพราะจำหน่ายได้ไม่คุ้มค่าเดินทาง ทำให้สร้างปัญหาให้กับชาวสวนอย่างมาก
นายพินิจ กล่าวถึงทางออกว่า ความจริงแล้วทางการต้องเข้ามาช่วยก่อนที่ผลส้มจะแก่ ต้องมีการเตรียมการด้านการตลาด เช่น ควรมีการจำหน่ายน้ำมันในการขนส่งให้กับผู้ประกอบการในราคาต่ำ หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มน้ำหนักในการขนส่งแต่ละเที่ยวให้มากพอได้จะทำให้มีกำไร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลช่วยชาวประมง ช่วยชาวสวนลำไย แต่ไม่มีการช่วยเหลือชาวสวนส้มทำให้ประสบปัญหาเดียวกันทั่วประเทศไม่ใช่ที่ อ.วังชิ้น แต่ที่ปลูกส้มอื่นๆ ก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน
“ผลผลิตส้มจะออกไปจนถึงเดือนมีนาคม ปีนี้คงไม่ต้องพูดถึงปัญหาตกอยู่กับเกษตรกรอย่างแน่นอน ถ้าทางการคิดจะแก้ไขต้องเร่งวางแผนดำเนินการ ตั้งแต่ก่อนผลส้มแก่ คือเริ่มตั้งแต่ต้นปี ของทุกปี”