xs
xsm
sm
md
lg

กระตุ้นทุนไทยใช้ FTA เปิดทางดึงงบกองทุนค้าเสรี-ชิงตลาดจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – กรมการค้าต่างประเทศเปิดเวทีกระตุ้นผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA อาเซียน-จีน / JTEPA หาตลาดแทนอเมริกา หนีผลกระทบซับไพรม์ แนะผู้ประกอบการเร่งพัฒนาสินค้าส่งขายจีน ก่อนใช้ สป.จีน เป็นฐานส่งต่อประเทศอื่นอีก พร้อมเปิดทางทุนไทยใช้ “กองทุน FTA” พัฒนาตนเองหนีผลกระทบการค้าเสรี ชี้เชียงรายควรตั้งแท่นของบพัฒนาคน รับ Logistics-เกษตรแปรรูป

วันนี้ (25 ม.ค.) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้เป็นประธานการเปิดสัมมนา เรื่องการใช้ประโยชน์ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน / ความตกลง JTEPA และกองทุนฯ FTA ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย มีนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย นายอนุรัตน์ อินทร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงราย, อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย และนักธุรกิจชายแดน ราว 100 คนเข้าร่วม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ลงนามในการจัดเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Asean-China Free Trade Agreement : ACFTA) โดยได้เริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 และเริ่มทยอยลดภาษีสินค้าปกติประมาณ 5,000 กว่ารายการ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และจะลดเหลือ 0% ภายในปี 2553 เฉพาะปี 2550 (ม.ค.-พ.ย.) มีการใช้สิทธิตามข้อตกลงรวมมูลค่า 1,482 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในบัญชีที่ลดภาษี ซึ่งยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับคู่เจรจาอื่น เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thai Economic Partnership : JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2550 ทำให้สินค้าและบริการได้รับประโยชน์ทันที ประกอบด้วยสินค้า 4 กลุ่ม ที่ได้ลดภาษีเป็นศูนย์ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารทะเล อาหารแปรรูป สิ่งทอ-รองเท้า อัญมณี-เครื่องประดับ ปิโตรเคมีและพลาสติก เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นก็จะผ่อนคลายกฎระเบียบให้กับกลุ่มธุรกิจบริการ ตลอดจนเกิดความร่วมมือในโครงการต่างๆ ตลอดจนเกิดความร่วมมือในโครงการต่างๆ และจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทยด้วย

แต่จากการเปิดเสรีการค้ากับหลายประเทศ ทำให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้รับผลกระทบ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ขึ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ ซึ่งปีงบประมาณ 2550 ได้รับการจัดสรรเงินเพื่อดำเนินการ 40 ล้านบาท ปี 2551 อีก 100 ล้านบาท จนถึงขณะนี้มีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว 2 โครงการ วงเงิน 6 ล้านบาท ยังเหลือเงินสำหรับให้ความช่วยเหลืออีก 134 ล้านบาท

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ฝากถึงผู้ประกอบการไทย ว่า ควรหาแนวทางในการพัฒนาสินค้าเพื่อส่งไปขายจีน และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น อินเดีย ที่เริ่มมีการค้ามากขึ้น โดยไทยสามารถซื้อผลผลิตการเกษตรราคาถูกจากจีนแล้วนำไปแปรรูปจำหน่าย และใช้ฐานในประเทศจีนส่งต่อไปในประเทศที่สามด้วย ซึ่งถึงแม้ไทยอาจจะไม่ได้ดุลการค้ากับจีนในทันที แต่ให้มองถึงประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย เพราะประเทศจีนมีประชากรถึงพันล้านคนมีโอกาสหลายด้าน

“กองทุน FTA จะช่วยผู้ประกอบการได้มาก แต่ต้องเสนอโครงการเข้ามา เช่น เชียงราย ต้องการพัฒนาบุคลากรด้านลอจิสติกส์ ก็สามารถจัดทำโครงการเสนอรับการสนับสนุนได้เช่นกัน”

ส่วนผลกระทบจากซับไพรม์นั้น อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เสนอว่า ผู้ประกอบการไทยต้องหาตลาดใหม่ๆแทนสหรัฐ ที่กำลังซื้อน่าจะลดลง เช่น อินเดีย จีน ฯลฯ และปี 2551 การเดินหน้าเศรษฐกิจไม่ง่ายแน่ จากปัจจัยหลายอย่าง

ด้าน นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า หอการค้าเชียงราย และภาคเอกชน สนใจที่จะเสนอให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับลอจิสติกส์ และเกษตรแปรรูป พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการ และหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งการค้าเสรีไทย-จีน มีผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทยบางส่วน แต่ก็มีตลาดให้สินค้าไทยที่กว้างขึ้น

ส่วนความตกลง JTEPA ของ ไทย-ญี่ปุ่น อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และรถยนต์ อีโคคาร์ ซึ่งรถยนต์จากญี่ปุ่นจะถูกลง แต่ได้ประโยชน์ในการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารทะเล อาหารแปรรูป สิ่งทอและรองเท้า อัญมณี ฯลฯ ของไทย และหากไทยปรับตัวแล้วอาจจะได้ประโยชน์ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น