xs
xsm
sm
md
lg

กก.พัฒนาเศรษฐกิจเหนือถกทิศทาง 12 ม.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – หอฯไทยนัดถกคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือที่ตาก เตรียมความพร้อมให้คนหอการค้าร่วมเวทีจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัด-กลุ่มจังหวัด พร้อมเปิดเวทีกระตุ้นจรรยาบรรณทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ ด้านหอการค้าตากเตรียมชง 5 โครงการหลักพัฒนาพื้นที่ชายแดน หลังไร้ความคืบหน้าทั้งที่กำหนด-ศึกษาเสร็จสิ้นตั้งแต่แผนฯ 9

นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า หลังจากทำพิธีเปิดสำนักงานหอการค้าจังหวัดตากในวันที่ 10 มกราคม 2551 แล้ว ในวันถัดไป (11 ม.ค.) หอการค้าจังหวัดตาก จะร่วมกับหอการค้าไทย จัดสัมมนาจรรยาบรรณสัญจร เรื่อง “จรรยาบรรณหอการค้าไทย สร้างธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซด์ อ.เมือง จ.ตาก เพื่อรณรงค์ให้นักธุรกิจไทยดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ โดยเชิญผู้บริหารองค์กรที่ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่นหอการค้าไทย เช่น หจก.วิชัยเถินธุรกิจ จ.ลำปาง / บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด จ.นครสวรรค์ ร่วมบรรยายให้ความรู้ด้วย

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 มกราคม 2551 ก็จะจัดการประชุม “คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ” เพื่อให้กรรมการหอการค้าจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ รับรู้ถึงการปรับปรุงยุทธศาสตร์ของภาคเหนือ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเหนือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ซึ่งจะเชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมบรรยายพิเศษถึงแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการหารือกันในเรื่องบทบาทและการเตรียมความพร้อมของหอการค้าจังหวัดในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดหวัด ภายใต้ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัด-กลุ่มจังหวัด รวมถึงการนำเสนอประเด็นปัญหาและข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดภาคเหนือ ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลผ่านหอการค้าไทยด้วย

ด้าน นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ประเด็นที่หอฯตาก จะนำเสนอผ่านหอการค้าไทยไปยังรัฐบาลใหม่นั้น เบื้องต้นมีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ คือ 1.ข้อเสนอเรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมตามเส้นทางตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Development Corridor Project) ที่กำหนด และศึกษามาหลายปีแล้ว ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า และเป็นรูปธรรมมากนัก

หอการค้าจังหวัดตาก เห็นว่าเพื่อให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ควรเร่งรัดเสนอรัฐบาลให้กำหนดนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความคืบหน้า และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ควรเร่งรัดออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจชายแดน หรือรูปแบบการปกครองเมืองพิเศษ เช่น กทม.หรือเมืองพัทยา เป็นต้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการเมืองพิเศษ และเขตเศรษฐกิจชายแดน

พร้อมกันนี้ จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้อยู่อาศัย นักธุรกิจ นักลงทุน ประชาสังคม ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ภาครัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งเมืองพิเศษ เขตเศรษฐกิจชายแดน การบริหารจัดการ, ข้อดีข้อเสียจากการพัฒนาตามรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมทั้งจากชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้-เสียอื่น ๆ พร้อมเร่งรัดจัดวางผังเมือง และพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ถนน แหล่งน้ำ พลังงาน และระบบขจัดมลพิษ (ขยะ น้ำเสีย เป็นต้น)

ประเด็นที่ 2 คือ การพัฒนาเส้นทาง 40 กิโลเมตร (กม.) ในสหภาพพม่า เนื่องจากทางหลวงเอเชียในพม่าช่วงเมียวดี-กอกาเรก ระยะทาง 60 กม.สภาพถนนปัจจุบันแคบ และต้องข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้รถบรรทุกไม่สามารถที่จะวิ่งสวนทางกันได้ จึงทำให้การขนส่งสินค้าต้องสับเปลี่ยนเข้า 1 วัน และออก 1 วัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้สนับสนุนการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ 18 กม.จากเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ใกล้บ้านปางกาน หรือทิงกานยิหน่อง คงเหลือส่วนที่จะเชื่อมต่อไปยังเมืองกอกาเรก ระยะทางราว 32 กม. โดยนโยบายของรัฐบาลไทยจะสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างส่วนที่เหลือเช่นเดียวกับ 18 กม.แรก เมื่อแล้วเสร็จจนเชื่อมต่อถึงกันแล้วจะทำให้การขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าได้สะดวกมากขึ้น (เข้า-ออกได้ทุกวัน), รวดเร็ว, ปลอดภัย และลดต้นทุนการขนส่งลงได้

ประเด็นที่ 3 เรื่องการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวด้านชายแดนแม่สอด-เมียวดี(จังหวัดตาก-ประเทศพม่า) เนื่องจากปัจจุบันจุดผ่านแดนไทย-พม่า ระหว่างแม่สอด และเมียวดี ได้อนุญาตเพียงให้ประชาชนสองฝั่งข้ามแดนโดยใช้ Border Pass ระหว่าง 06.00-18.00 น.เท่านั้น ผู้ข้ามแดนยังไม่สามารถท่องเที่ยวหรือพำนักค้างคืนได้

หอฯตาก เห็นควรทำความตกลงกับพม่า เกี่ยวกับการใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) เพื่ออนุญาตให้นักท่องเที่ยวพม่าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ และสามารถเดินทางเข้ามาในตัวจังหวัดตาก สุโขทัย ลำปาง นครสวรรค์ หรือจังหวัดอื่นตามที่เห็นสมควร และพำนักในประเทศไทยได้อย่างน้อย 3 วัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ภายใต้เงื่อนไขนักท่องเที่ยวต้องผ่านบริษัทท่องเที่ยวไทยที่ต้องวางเงินประกันเพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวหลบหนีด้วย

ประเด็นที่ 4 คือ แนวทางการพัฒนาการค้าชายแดนกับธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินจั๊ต (kyat) เนื่องจากผู้ประกอบการค้าชายแดนอำเภอแม่สอด 2 ราย ถูกตำรวจกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จับกุมในข้อกล่าวหาว่า ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศ ทำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(เงินจั๊ตพม่า) โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549

ผู้ที่ถูกจับกุม เป็นผู้ประกอบการค้าส่งเสื้อผ้าไปพม่ารายใหญ่ เป็นการตกลงซื้อขายสินค้าและแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทของไทย และเงินจั๊ตของพม่ามานานเกือบร้อยปี เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารได้ และธนาคารพาณิชย์ไม่รับแลกเปลี่ยนซื้อขาย จึงหาวิธีการให้กระบวนการค้าสมบูรณ์ อันเป็นระบบการค้าเฉพาะถิ่นปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบหมุนเวียนเงินตราและการค้าร่วมกัน

หอการค้าจังหวัดตาก จึงจัดประชุมหารือผู้ประกอบการค้าชายแดน และธนาคารแห่งประเทศไทย (สาขาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการค้าชายแดนจังหวัดตากแล้ว คือ ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินจั๊ตได้ย้ายไปอยู่ฝั่งเมียวดี และปฏิเสธการแลกเปลี่ยน สำหรับบุคคลที่ไม่รู้จัก เช่น พ่อค้าวัว, หรือพ่อค้าไม้ที่ไม่รู้จัก เป็นต้น ขณะที่การจดทะเบียนเข้าสู่ระบบแลกเปลี่ยน พ่อค้าส่วนใหญ่กลัวถึงมาตรการทางภาษี ผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา ทางหอฯตาก เห็นควรให้รัฐบาลอนุญาตให้พื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่า สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราได้ โดยอนุโลมให้ เพื่อสร้างบรรยากาศการค้าชายแดน

ประเด็นที่ 5 คือการปรับปรุงถนนเพื่อการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน สายแม่สอด-แม่สะเรียง (สาย 105) ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ที่ยังไม่ได้พัฒนาให้มีความสะดวก และปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร โดยเฉพาะรถบัส หรือรถโค้ช ยังไม่สามารถใช้ขับผ่านได้ ทั้งที่ถนนสายนี้ทั้งสองข้างทางมีสภาพธรรมชาติของป่าเขา, แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และจุดผ่อนปรนผ่านแดนเพื่อการค้าระหว่างท้องถิ่นของสองประเทศหลายแห่ง

ทั้งนี้ หากได้รับการพัฒนาให้เป็นทางมาตรฐานจนทำให้รถบัส หรือรถโค้ช สามารถขับผ่านไปได้จนสามารถเชื่อมทางช่วงแม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับการพัฒนาไปแล้วก็จะทำให้รถยนต์โดยสาร กทม.-แม่สะเรียง หรือ กทม.-แม่ฮ่องสอน ใช้เส้นทางนี้ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ได้อีกทางหนึ่งนอกจากเส้นทางเดิมผ่านจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อการพัฒนาเส้นทางแล้วเสร็จ อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยแม่ระมาด, ท่าสองยาง จ.ตาก และสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จะมีโอกาสในการขยายการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในท้องถิ่นได้มากขึ้น เช่น สถานีจอดพักรถยนต์โดยสาร และขนส่ง พัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตามเส้นทางนี้ และการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างท้องถิ่นไทย และพม่า ซึ่งจะมีโอกาสพัฒนาเป็นจุดผ่านแดนชั่วคราว หรือจุดผ่านแดนถาวรได้ต่อไปในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น