ตาก – พม่าเตรียมเปิด “เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี” ตรงข้ามชายแดนแม่สอดอย่างเป็นทางการต้นเดือนหน้า แม้สาธารณูปโภคยังไม่พร้อม 100% แถมยังต้องรอไฟฟ้าจากฝั่งไทยที่ยังไม่เห็นแนวทางขยายการให้บริการข้ามฝั่งน้ำเมย ขณะที่เขตเศรษฐกิจคู่แฝดฝั่งไทยยังเป็นวุ้น ด้านภาคเอกชนเสนอแนวคิดเปิดท่องเที่ยวไทย-พม่านำร่องอีกช่อง
นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยถึงความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ว่า ขณะนี้การก่อสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ โดยอาคารที่ทำการเสร็จแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่า จะสามารถทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการใน วันที่ 6 ธันวาคม 2551 นับว่าเป็นความคืบหน้าที่ก้าวไปอีกระดับหนึ่งของเขตการค้าชายแดนพม่า ฝั่ง จ.เมียวดี ที่อยู่ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยชะงักอย่างถาวร เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมือง รวมถึงนโยบายรัฐ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพิธีเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ประเทศพม่า น่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น และเชื่อว่าในระยะเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 20 วัน ความสมบูรณ์ในส่วนของสถานที่ ถือว่ายังไม่พร้อม เช่น ลานจอดรถ พื้นที่โดยรอบอาคารยังไม่ได้เทคอนกรีต ยังคงเป็นลานดินแดงอยู่ อาคารพาณิชย์ยังเร่งเก็บรายละเอียดอยู่ ส่วนอาคารพาณิชย์ที่จะขายให้เอกชนยังคงก่อสร้างต่อไปหลังจากมีพิธีเปิด
ปัญหาหลักที่สำคัญก็คือ ระบบไฟฟ้า โดยต้องนำเข้าไฟฟ้าจากเอกชนในฝั่งไทย ซึ่งตอนนี้ยังมีเพียงเสาไฟตั้งรออยู่เท่านั้น ยังไม่ได้เดินสายไฟแต่อย่างใด โดยหลังจากมีการเปิดอย่างเป็นทางการ และพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ คิดว่า จะต้องใช้ไฟฟ้าจากฝั่งไทยจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าของการขยายเขตฯ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอแม่สอด แต่อย่างใด
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวอีกว่า แม้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า จะมีความคืบหน้า แต่ระบบธุรกรรมราชการต่างๆ ของพม่า เกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออกสินค้า เช่น ศุลกากร คงต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ เนื่องจากกฎหมายต่างๆ ยังไม่ชัดเจน แต่โดยรวมถือว่าพม่าประสบความสำเร็จในการผลักดันเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบปัญหาภัยพิบัติพายุนาร์กีส ต่อเนื่องมาจนถึงภาวะเศรษฐกิจน้ำมันแพง ทำให้ล่าช้าไประยะหนึ่งก็ตาม
ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมในฐานะภาคเอกชนชายแดน ได้มีการประสานความสัมพันธ์ร่วมกับคณะกรรมชายแดนไทย-พม่า ทั้ง 2 ฝ่าย ถือว่าความสัมพันธ์ทั้งรูปแบบเอกชน และราชการดีมาก การติดต่อค้าขายระหว่างกันเป็นไปตามปกติ
สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมทดแทนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก ที่ชะลอไป คือการเปิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขยายเส้นทางการท่องเที่ยวทั้งไทยและพม่าให้มากขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวพม่าสามารถเข้ามาเที่ยวในฝั่งไทย ถึง จ.สุโขทัย จ.เชียงใหม่ สามารถพักค้างคืน 2-3 วัน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้เงินในพื้นที่ กระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนฝ่ายไทยสามารถเข้าไปเที่ยวได้ถึงย่างกุ้ง
ข้อเสนอนี้ เคยนำเสนอไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดภาคเอกชนได้นำเสนอไปยังนายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตากคนใหม่ ให้ประสานไปยังรัฐบาลต่อ ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปี