ASTVผู้จัดการรายวัน—หน่วยงานการท่องเที่ยวไทยและพม่า กำลังร่วมกันหาช่องทางส่งเสริมการท่องเที่ยวประกอบกิจกรรมศาสนาโดยหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศในอาเซียน เชื่อมต่อกิจกรรมเลยเข้าสู่อินเดียอันเป็นถิ่นฐานต้นกำเนิด
เจ้าหน้าที่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสองประเทศประชุมร่วมกันในกรุงย่างกุ้งสัปดาห์ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และเห็นพ้องกันว่าการท่องเที่ยวกิจกรรมพุทธศาสนา มีศักยภาพสูง และยังสอดคล้องกับความตกลงของกลุ่มอาเซียนที่ประชุมในกรุงมะนิลาเดือน พ.ค.2551 อีกด้วย
เจ้าหน้าที่กระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวพม่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คณะกรรมการการตลาดพม่า สมาคมการท่องเที่ยวพม่า สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สมาคมบริษัทนำเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประชุมเรื่องนี้ที่โรงแรมอินเลเลค
ผู้แทนจากไทยจำนวน 22 คน รวมทั้งนักเขียนบทความการท่องเที่ยว ยังได้ร่วมเดินทางสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาในภาคเหนือของไทยและภาคเหนือของพม่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดทริปนี้ขึ้นวันที่ 17-22 ก.พ.ที่ผ่านมา นิตยสารข่าวรายสัปดาห์เมียนมาร์ไทมส์กล่าว
"ทางที่ดีที่สุดก็คือเริ่มจากไทยกับพม่าซึ่งมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา จะเห็นได้จากการที่เรารวมปลายทางในสองประเทศเข้าเป็นทริปเดียวกันได้" นิตยสารกึ่งทางการอ้างคำกล่าวของนายสุรพล เศวตเศรณี รองผู้ว่าฯ ฝ่ายนโยบายและวางแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไทย
ก่อนหน้านั้นคณะเจ้าหน้าที่ของไทยได้ออกสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาใน จ.เชียงราย เมืองเชียงตุง จ.ท่าขี้เหล็ก เมืองพุกาม (Bagan) และ กรุงย่างกุ้ง
"อีกไม่นานก็จะมีภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เราจะเชื่อมเข้ากับอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งก่อเกิดของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร" นายสุรพลกล่าวกับนิตยสารข่าวฉบับเดียวกัน
นายเต้อ่อง (Htay Aung) อธิบดีกรมโรงแรมและการท่องเที่ยว ในสังกัดกระทรวงชื่อเดียวกันเดียวกันกล่าวว่า พม่าพร้อมแล้วในแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนาในภูมิภาคนี้
"เราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่แจกจ่ายโบรชัวร์กับแผนที่ เช่นเดียวกันกับการพัฒนาเว็บไชต์ (เพื่อการนี้" เจ้าหน้าที่พม่ากล่าว
นายจอห์น เมสัน ฟลอเรนซ์ (John Mason Florence) ผู้อำนวยการบริหารบริษัทแม่โขงทัวร์ ในกรุงเทพฯ กล่าวว่า วัดพุทธเป็นปลายทางท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่อเที่ยวชาวตะวันตกให้หลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย
"ศาสนาพุทธในพม่า ไทย ญี่ปุ่น เวียดนามและในประเทศต่างๆ น่าสนใจเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในหมู่คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธและไม่ได้รู้อะไรมากมายเกี่ยวกับศาสนานี้" นายฟลอเรนซ์กล่าว
แผนงานพัฒนาการท่องเที่ยวพุทธศาสนาอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Buddhist Pilgrimage Tourism) ได้เรียกร้องให้มีการส่งเสริมจัดแพ็คเกจทัวร์ในระดับโลก รวมทั้งการจัดนิทรรศการที่ตลาดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกรุงเบอร์ลิน (International Tourism Bourse) และที่ตลาดการท่องเทียวโลกกรุงลอนดอน (World Travel Mart) ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความสนใจแก่นักท่องเที่ยวจากตะวันตก
นายเต้อ่องกล่าวอีกว่า อาจจะรวมเอากัมพูชากับลาวเข้าในแผนการด้วย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา และกำลังทำงานกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิดในเรื่องนี้ เนื่องจากไทยเป็นประตูใหญ่ที่นำนักท่องเที่ยวเข้าสู่พม่า.