xs
xsm
sm
md
lg

เงินแสนแลกวุฒิ!! มุมมืดการศึกษา “ธุรกิจใบปริญญา” สู่ “เก้าอี้ทางการเมือง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะลึก “เครือข่ายซื้อ-ขายใบปริญญา” ที่ไม่ใช่แค่เพื่อแลก “วุฒิการศึกษา” เพื่อประดับบารมีเท่านั้น แต่กินผลประโยชน์เรื่อง “เก้าอี้ในองค์กร” และ “ตำแหน่งทางการเมือง” จนกลายเป็นเครือข่ายที่บิดเบี้ยวของสังคม

“ซื้อ-ขาย” ไม่ใช่แค่ปริญญา

เป็นอีกหนึ่งเรื่องฉาว สำหรับประเด็น “ซื้อใบปริญญา” เมื่อมีการออกมาแฉ “มูลนิธิดัง” ว่า มีพฤติกรรมแอบอ้าง “ขายวุฒิการศึกษาปริญญาตรี” และเกี่ยวข้องกับการ “ซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง”

โดยมีการเปิดแชทลับที่กำลังต่อรองซื้อ “วุฒิปริญญา” จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน “จ.พิษณุโลก” และตำแหน่งกรรมาธิการในสภา สนนราคาที่ “200,000 บาท”

จากนั้นมหกรรมการแฉก็เริ่มขึ้น โดย “ซ้อลักษณ์” วิไลลักษณ์ ไชยชาญ อดีตผู้ก่อตั้งมูลนิธิดังกล่าวนำผู้เสียพร้อมหลักฐานเอกสาร แชท และคลิปเสียงเรื่องการซื้อ-ขายใบปริญญา มาเผยแพร่

ต่อมาไม่นาน “ต้นอ้อ” ชลิดา พะละมาตย์ ประธานมูลนิธิที่เป็นข่าว ก็ออกมาโต้ “ยืนยัน ไม่มีซื้อขายวุฒิปลอม” แค่แนะนำสมัครเรียนตามปกติ

แต่ถึงจะปัดว่าไม่จริง มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ว่าสืบหาข้อเท็จจริงกรณีข่าวดังกล่าวแล้วพบว่า มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 1 คน “มีส่วนเกี่ยวข้อง” ซึ่งถือเป็นการผิดวินัยร้ายแรง จึงลงโทษโดยการ “เลิกจ้าง” และจะ “ดำเนินคดี” ตามกฎหมายต่อไป



ส่งให้ประเด็นเรื่อง “ปลอมวุฒิ” “ซื้อ-ขายใบปริญญา” ถูกหยิบมาพูดถึงกันอีกครั้ง และแน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งใหม่อะไร หากย้อนดูในหน้าข่าวก็จะเห็นเรื่องแนวๆ นี้เกิดมาหลายครั้งแล้ว โดยมีให้เลือกตั้งแต่ ม.6, ปวช. ยันวุฒิ ดร. กันเลยทีเดียว

การซื้อวุฒิมี “ทุกระดับ”คือคำยืนยันจากปากของ “ดร.มานะ นิมิตมงคล”เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่มาช่วยทีมข่าววิเคราะห์ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมในบ้านเรา
เลขาองค์ต่อต้านคอร์รัปชันรายนี้ชี้ว่า คนซื้อมี 2 แบบ ประเภทแรก อยากมีไว้ “ประดับบารมี” เกิดมาจาก “ค่านิยม”ที่คนต้องมีการศึกษา ต้องจบปริญญาตรี ปริญญาโท ไปจนถึงด็อกเตอร์

อีกประเภทคือ กลุ่มที่ซื้อเพี่อ “ใช้ประโยชน์”อย่างไปเป็น “อาจารย์”เพื่อ “ตำแหน่งในสภา”หรือ “ตำแหน่งทางการเมือง” ที่มีการกำหนดวุฒิการศึกษา “มันเลยทำให้คนดิ้นรนที่จะซื้อ-ขายปริญญา”

คำถามคือ “ใบปริญญา”มันซื้อ-ขายกันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? เรื่องนี้ “ดร.มานะ”บอกว่า มาจาก “ความหละหลวม” ของมหาวิทยาลัย “หลายๆ อย่างเลย ที่มันเอื้อให้เกิดการซื้อ-ขาย”

                                {“ดร.มานะ” จาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)}

ปั่นวุฒิ-โกยเงิน ธุรกิจสีเทา

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า การซื้อ-ขายวุฒิปริญญา ตอนนี้มี 2 แบบคือ “ซื้อวุฒิปลอม” เป็นการปลอมแปลงขึ้นมาเอง จากโปรแกรมต่างๆ ซึ่งตรวจสอบง่าย แค่เข้าไปเช็กในระบบมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็จะได้คำตอบ

กับอีกแบบ คือ “ซื้อวุฒิจริง” ที่ออกจากสถาบันนั้นๆ เอง อันนี้ตรวจสอบยาก เพราะคือใบปริญญาจริง ซึ่งการซื้อ-ขายวุฒิแบบนี้ ก็แยกออกได้อีก 2 ลักษณะ

ลักษณะแรกคือ คนซื้อไม่ต้องทำอะไร แค่ “จ่ายตังค์“ เดี๋ยวเขาก็ออกวุฒิให้กับ อีกวิธีคือมหาวิทยาลัย “ออกหลักสูตร” ที่คนในวงการเรียกว่า “จ่ายครบ-จบแน่” ขึ้นมาเพื่อหารายได้จากตรงนี้
โดยวิธีนี้มีทั้งมหาวิทยาลัย “รัฐ” และ “เอกชน” เรียกได้ว่าเป็นการ “ซื้อใบปริญญาแบบถูกกฎหมาย” เพราะทำตามขั้นตอนทุกอย่าง

“ถ้าจ่ายครบจบแน่ หมายถึงว่า ถ้าคุณมาสมัครเรียน ทุกอย่างถูกตามขั้นตอนเลย เพียงแต่ว่า สถาบันการศึกษาไม่สนใจว่า คุณตั้งใจเรียนจริงหรือเปล่า มีการทำเอกสารวิชาการครบถ้วน ได้มาตรฐานจริงหรือเปล่า”

ตอนนี้มีการยกระดับเป็น “เรียนออนไลน์” ก็ได้ ในหลักสูตรที่เรียกกันว่า “ประกาศนียบัตรวิชาชีพ” หลักการก็เหมือน จ่ายครบ-จบแน่ เพียงแต่ไม่ต้องมาที่มหาวิทยาลัย

สิ่งเหล่านี้ เชื่อมโยงไปสู่ “การซื้อ-ขายงานวิจัย” หรือ “ลอกงานวิจัยคนอื่น” เพื่อใช้รับ “ตำแหน่งทางวิชาการ" ไปจนถึงการวิ่งเต้น เพื่อให้ได้เป็น “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” “รองศาสตราจารย์” หรือตำแหน่งพิเศษๆ อย่าง “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ”

เมื่อมีการซื้อ-ขาย ช่วยเหลือกันจนได้ตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่งพวกนั้นก็จะนำไปสู่ที่นั่งตาม “กรรมการสภามหาวิทยาลัย” ต่างๆ จนขยายเป็น “เครือข่าย” อุปถัมภ์ขนาดใหญ่ ที่มีการช่วยกันผลักดันกัน ให้คนในเครือข่ายได้เข้าไปเป็นทั้ง “คณบดี” “อธิการบดี” ตามสถาบันต่างๆ

“ถ้าสามารถควบคุมพื้นที่ของทางบริหาร หรือในสภาได้ มันก็สามารถไปกำหนดผู้บริหารตัวโครงการหลักสูตรได้”



“ดร.มานะ” จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันบอกว่า เมื่อสามารถกำหนด “ผู้บริหาร” หรือ“คณะกรรม” การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการได้ ใครที่อยากได้ตำแหน่ง หรืองบวิจัยจากรัฐ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากพวกเขา ทำให้เครือข่ายที่บิดเบี้ยวเหล่านี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

โครงข่ายพวกนี้ สามารถเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยในภาคอีสาน บางเครือข่ายมีอิทธิพลในมหาวิทยาลัยแถวภาคเหนือตอนล่าง หรือบางเครือข่ายอาจใหญ่กว่านั้น ที่พวกเขายึดโยงกันได้ เพราะ “การช่วยเหลือกันเรื่องตำแหน่งวิชาการ”

“และนี่เป็นเหตุให้คุณภาพการศึกษาบ้านเรามันตกต่ำครับ ไม่ใช่แค่ซื้อ-ขายปริญญาเล็กๆ เท่านั้น อย่าลืมว่า ส่วนนึงไปประดับบารมี ส่วนนึงเอาไปเพื่อประโยชน์การใช้งานจริง”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น