xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยแลนด์” แดนโลเกชั่นหนังสุดฮอต ปีเดียว 466 เรื่อง 6,000 กว่าล้าน!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไทยเนื้อหอม” ต่างชาติหอบเงินมาถ่ายหนังบ้านเรา ตีราคาสูงกว่า 6,000 ล้าน สูงสุดตั้งแต่มีการส่งเสริมมา ชวนผู้คร่ำหวอดในวงการช่วยวิเคราะห์ ส่งเสริมSoft Power ได้แค่ไหน เพราะหลายครั้งถ่ายที่ “ไทย” แต่ในหนังเซ็ตอัพว่าคือ “ประเทศอื่น”





“ทีมงานไทย” พลิกแพลงเก่งจน “กองนอก” ติดใจ

ไทยกำลังเป็นที่หมายตาของ “กองถ่ายต่างประเทศ” จากสถิติของ “กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ”หรือ “TFO Thailand Film Office” บอกว่าเมื่อปีที่แล้ว (2566) มี “กองถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศ”เข้ามาใช้สถานที่ในไทยถึง “466 เรื่อง” กันเลยทีเดียว

และกองถ่ายเหล่านี้ก็หอบเงินลงทุนทั้งหมด “6,602 ล้านบาท”มาสะพัดในบ้านเรา ซึ่งนับว่าเป็นยอดสูงสุดตั้งแต่มีการ “ส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย”

ทีมข่าวจึงขอพาไปอัปเดตความฮอตของไทยในปีนี้ (2567) แม้จะผ่านไปได้แค่ครึ่งปี แต่มีกองถ่ายนอกเข้าถ่ายทำในบ้านเราไปแล้วถึง 217 เรื่อง กับเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 3.4 พันล้านบาท!!
                         {สถิติกองถ่ายหนังเมืองนอกปี 67 จาก “TFO Thailand Film Office”}

เหตุผลหลักๆ น่าจะมาจาก “มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ” ที่ไทยทำมาตั้งแต่ปี 2560 โดยจะการคืนเงิน (Cash Rebate) 15 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท

แถมจะมีสิทธิพิเศษคืนให้เพิ่มอีก 5 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเนื้อหาของหนังเรื่องนั้น ส่งเสริมการท่องเที่ยว Soft Power หรือถ่ายทำในเมืองรองของไทย และอนาคตจะมีการขยับจาก 15-20 เปอร์เซ็นต์เป็น 20-30 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนโยบายนี้ มีอะไรอีกที่ทำให้ไทยแลนด์กลายเป็น “แดนเนื้อหอมวงการหนัง” สำหรับสายตาคนวงในอย่าง “โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ” ผู้กำกับหนังชื่อดังอย่าง “ขุนพันธ์” มองว่า สิ่งที่ทำให้ต่างชาติรักเราคือประเด็นเรื่อง “Location” กับ “ค่าแรง”

“ค่าแรง” ของคนทำงานกองถ่ายไทยถือว่า “ถูกมาก” สำหรับต่างประเทศ แถมด้วยนิสัยคนไทยที่ “เป็นกันเอง-เรื่องไม่เยอะ” และอีกเรื่องที่ต่างชาติชอบแต่เป็นเรื่องตลกร้ายของคนไทยคือ “มีฝีมือ” เพราะ “ไม่มีเงิน”



“ทีมงานส่วนใหญ่ มาจากการทำหนังไทย หรือว่าทำcontentในไทยที่budgetไม่ได้เยอะ เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติสอนให้เราเอาตัวรอดกับปัญหาบางปัญหา ที่บางทีคุณจะต้องได้ภาพในระดับนี้ แต่ทำไม่ได้ คุณจะทำยังไง”

ทำให้ลักษณะเด่นของ “ทีมงานไทย”ที่ต่างชาติชอบคือ “การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี”แต่ตอนนี้ผู้กำกับขุนพันธ์บอกว่า อุตสาหกรรมหนังไทยกำลังเกิดภาวะ “สมองไหล”เรียกได้ว่า “ตอนนี้ทีมงานขาดแคลน”

ด้วยค่าจ้างที่ “สูงกว่า” เวลาทำงานที่ “น้อยกว่า”ทำให้ส่วนใหญ่คนเลือกรับงานกองถ่ายต่างประเทศก่อน จึงผลักให้เกิดการแย่งชิงคนทำงานระหว่าง “กองไทย”กับ “กองนอก”

                                               {“โขม” ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับหนังชื่อดัง}

“ไทยแลนด์” แปลงเป็นอะไรก็ได้

สำหรับจุดเด่นหลักๆ อีกอย่างก็คือ ความครบของโลเกชั่นในบ้านเรา คือไม่ได้ชอบที่ความเป็นไทยขนาดนั้น แต่ผู้กำกับชื่อดังอธิบายว่า “ที่รักไทยแลนด์เพราะว่า ไทยแลนด์แปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ไง”

“แทนที่คุณจะไปถ่ายในอินเดีย ถ้ามันลำบากมาก คุณมา set upในเมืองไทย แล้วบอกว่าเป็นอินเดียก็ได้ คุณจะบอกว่ามันเป็นเหลี่ยมหนึ่งของจีนก็ได้ คุณจะบอกว่ามันเป็นเวียดนามก็ได้”

เพราะไม่ได้จะมีหนังทุกเรื่องที่จะมาถ่ายในไทย แล้วบอกว่านี่คือ “ประเทศไทย” อย่าง “King The Land” ซีรีส์เกาหลี ที่พาเที่ยวพากินทัวร์รอบประเทศ จนกลายเป็นไวรัลกระแสโปรโมตการท่องเที่ยวไทยไปโดยปริยาย

                                {“King The Land” ซีรีส์เกาหลี ที่กลายเป็นไวรัลโปรโมตประเทศไทย}

เมื่อการที่เราส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาใช้locationไทย แต่ไม่บอกว่า “ที่นี่คือประเทศไทย” แล้วจะเป็นการผลักดัน Soft Power หรือช่วยการท่องเที่ยวไทยได้ยังไง? เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้กำกับขุนพันธ์ช่วยไขข้อสงสัยไว้ให้เรียบร้อย

“มันอาจจะไม่ได้ส่งเสริมโดยตรง คือการทำงานแบบนี้ มันไม่ใช่ ททท.นะ มันไม่ใช่วิธีคิดแบบว่า ทะเลไทยแสนงาม คุณไปภูเก็ตกันเถอะ ไปสมุยกันเถอะ”

ภาพทะเลสวย ธรรมชาติงาม คือสิ่งเก่าและต่างชาติทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว อยากให้มองอีกมุมว่า การที่พวกเขาขนเงิน ขนคนมาทำงาน ต่อให้ในหนังจะไม่ได้บอกว่านี้คือประเทศไทย แต่สุดท้ายทีมงานที่มา เขาก็เที่ยวและใช้เงินอยู่ในบ้านเรา

การส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่ง location ในการถ่ายหนัง มันคือการจ้างงานและสร้างรายได้ ส่วนเรื่องที่จะทำให้คนที่ดูสื่อเหล่านั้นรู้จักบ้านเรา อยากมาเที่ยวไทย ใช้ของไทย มันคือ “ผลพลอยได้”



การผลักดัน Soft Power ในมุมของผู้กำกับรายนี้บอกว่า เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม พวกนี้ไม่ใช่ Soft Power เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น

“อันดับแรกSoft Powerเนี่ย ต้องเข้าใจก่อนว่าSoft Powerไม่ใช่วัดพระแก้วนะ”

โขมยกตัวอย่างซีรีส์ดังในอดีตอย่าง “แดจังกึม” ที่ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีเริ่มบูมในไทย และทุกก็รู้จัก “กิมจิ” แต่คำถามคือซีรีส์เรื่องนี้ ทำมาเพื่อขายกิมจิหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เพียงแต่มันเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์เท่านั้น

                       {“กิมจิ” และ “วัฒนธรรมเกาหลี” ที่เป็นผลพลอยได้จากความดังของ “แดจังกึม”}

ส่งเสริม “กองนอก” หลงลืม “กองไทย”?

อีกเรื่องที่สะท้อนความอัดอั้นของคนทำหนังอย่าง “โขม” คือแม้มีการส่งเสริมให้ต่างชาติมาใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายหนัง แต่พอเป็นกองถ่ายไทย คนไทยด้วยกันเอง กลับไม่ได้อภิสิทธิ์แบบนั้นจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่

“ในสถานที่เดียวกัน บางทีพอเป็นกองถ่ายต่างประเทศมา หรือหนังนอก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ budgetเขาถึงเนี่ย อนุญาตให้เขาถ่าย แต่พอเป็นกองถ่ายไทยด้วยกันเนี่ย โห..ยากเย็นแสนเข็ญ”

กลายเป็นว่า สถานที่สวยๆกองนอกเข้าไปถ่ายได้ หากจะส่งเสริมกันจริงๆ ก็ควรคิดราคากองหนังไทยให้ถูกกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้หนังไทยได้เข้าถึงสถานที่เหล่านี้บ้าง ซึ่งผลก็จะออกมา win-win ทั้งสองฝ่าย

ในเมื่อบ้านเราบอกต้องสนับสนุนหนังไทย แต่สิ่งที่ต้องเผชิญกลับสะท้อนความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสถานที่ถ่ายทำ คือหน่วยงานรับผิดชอบที่ทำงานแยก ยกตัวอย่างทางสาธารณะที่ถนนเป็นของ “จราจร” กับทางเท้าซึ่งรับผิดชอบโดย “เทศกิจ”

“ประเด็นคือทำไมมันไม่เป็น One Stop Serviceไปล่ะ ผมว่าถ้าจะส่งเสริมกันจริงๆ มันก็ต้องมีระบบรองรับ ที่ เลยประเด็นคำว่า ส่งเสริมหนังไทยSoft Powerคืออะไร วัดไทยช่างสวยงาม เราว่ามัน..เก่ามาก”



อยากผลักดัน Soft Power ทั้งที่สังคมยัง “ปากว่าตาขยิบ” ไม่พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย แม้ในประเทศตัวเอง นี่คือความย้อนแย้งของสังคมไทยที่ผู้กำกับอย่างโขมเจอ

“วันนี้เราก็พูดว่า เฮ้ย..เราภาคภูมิใจมาก เพราะเราเป็น hubของซีรีส์วาย เราคือLGBTQ+เราเปิดกว้างในเรื่องนี้ แต่เราเขินเวลาเราพูดว่า นี่เป็นประเทศที่มีLadyboyทำมาหากินเยอะมาก เนี่ยความย้อนแย้งที่ตลก”

ทุกอย่างมี “แง่งาม” หมายความว่า ความงามไม่ได้แปลว่าภาพสวย หรือวัฒนธรรมรูปแบบเดียว การจะส่งเสริมเรื่องพวกนี้ เราต้องยอมรับทุกแง่มุมที่มีในสังคมให้ได้

อย่างไรก็ตาม “โขม” พูดถึงการผลักดันหนังไทยว่า “การเรียกร้องแม่งเสียเวลา” จากประสบการณ์ของคนทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี มองว่า...

“ถ้าคุณทำงานคุณให้ดี เดี๋ยวเขาเดินมาหาคุณเองแหละ มันเรียกร้องไป แล้วก็วนอยู่กับที่เหมือนทุกปัญหาที่เราเรียกร้องอยู่แหละว่า มันจะเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือมันเป็นแค่วลี”







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...น่าภูมิใจ หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ “ทีมงานไทย” พลิกแพลงเก่ง จน “กองนอก” ติดใจ... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวtiktoknew #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #หนัง #หนังไทย #กองถ่าย #คนทำหนัง #thaimovie #asianfilm #ก้องเกียรติโขมศิริ ♬ original sound - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ
ขอบคุณภาพ : sites.google.com , www.blockdit.com , เฟซบุ๊ก “Kongkiat Komesiri”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น