xs
xsm
sm
md
lg

“ดูซีรีส์ ? เสียเวลาชีวิต” อย่าตัดสินความสุขของคน จาก “มาตรวัดความสำเร็จ” ตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผิดเหรอ แค่อยากนั่งดูซีรีส์” เมื่อ CEO บริษัทดังบอก “เอาเวลาไปพัฒนาชีวิตดีกว่า” อย่าโทษ “ต้นทุน” แต่กระแสตีกลับ กูรูบอกคอนเทนต์ “หวังดี” แต่ไม่เข้าใจคนอื่น ชวนทำความเข้าใจให้ลึกกว่าดราม่า เพราะ “ต้นทุนชีวิต คนเราหนักเบาไม่เท่ากัน”

แทนที่จะเอาเวลา ไปพัฒนาชีวิต?

กลายเป็นดราม่า และกระแสตีกลับเมื่อ CEO บริษัทดังอย่าง “ซีเค เจิง”(CK Cheong) หนึ่งในผู้บริหารของ “Fastwork Technologies” ออกเปิดมุมของการบริหารชีวิตเรื่อง ”เวลาย้อนกลับไม่ได้” โดยบอกว่า...

“ผมถามเขาตลอดนะ ปกติเวลาว่างชอบทำอะไรครับ ทำไมถึงเลือกดูสตรีมมิ่งหนังล่ะ มันฆ่าเวลาดีนะ”

“ฆ่าเวลา?” คุณมีเวลาเยอะขนาดนั้นเลยหรือ ไม่ใช่ว่าการดูหนังหรือเล่นเกมผิด แต่ต้องไม่ลืมเรื่อง “การพัฒนาชีวิต” การเรียนรู้เรื่อง การเงินการลงทุนเศรษฐกิจโลก ถ้าเข้าใจเรื่องพวกนี้ จะเอาเวลาไปดูหนัง ดูซีรีส์ก็ได้

“แต่ถ้าคุณยังไม่เอาข้อมูลสำคัญ ที่กระทบกับชีวิตของคุณจริงๆ คุณยังไม่เรียนรู้เรื่องพวกนี้ แต่ดันเอาเวลาที่จะเรียนรู้พวกนี้ไปดูซีรีส์เกาหลี”



และบอกอีกว่า คนไทยชอบผู้ว่า “ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน” ซึ่งเขาก็เข้าใจ แต่สิ่งที่ทุกคนมีเท่ากันคือ “เวลา” ที่สามารถเอาไปเรียนรู้ ศึกษาหรือทำอย่างอื่นได้

“แต่ถ้าเอาเวลานี้ไปเสพซีรีส์เกาหลี พระเอกหล่อจังเลย น่ารัก คู่จิ้น คุณไปไม่ถึงไหนหรอก ตอนที่คุณไม่มีเวลา คุณเอาคืนมาไม่ได้นะ ดูหนังไม่ผิดครับ แต่มันผิด ถ้าคุณยังไม่พร้อมพัฒนาตรงนี้”

ตรงนี้เองที่ไปจุดไฟดราม่าในกับชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วยว่า “การดูหนัง-ซีรีส์ เท่ากับเสียเวลาชีวิต” บางคนมองว่านี้เป็นคำสอนจากปาก “คนรวย” หรือบางก็ออกมาโต้ว่า...
 
“ก็เข้าใจนี่ว่า ต้นทุนชีวิตมีไม่เท่ากัน ถ้ามีเวลา แต่ไม่มีเงิน จะทำอะไรได้ ถ้าจะลงทุนได้ ต้องมีเงินมากกว่าเวลา”

และอีกคอมเมนต์หนึ่งที่น่าสนใจคือ “เอาจริงๆ สิ่งที่พี่ควรเข้าใจอย่างแรกเลย นอกจากคนเราต้นทุนไม่เหมือนกัน คือเส้นชัยในชีวิตคนเราไม่เท่ากัน”




“หวังดี” แต่ไม่เข้าใจคนอื่น

ลองมองผ่านมุมมองกูรูด้านทรัพยากรบุคคลอย่าง “โน้ต” ศรัณย์ คุ้งบรรพตผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาและว่าจ้างบุคลากร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ช่วยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า...

“เขากำลังบอกว่า มันมีสิ่งที่น่าจะเลือกไปพัฒนาตัวเองมากขึ้นหรือเปล่า ไปทำในสิ่งที่ตัวเองจะดีขึ้น ตรงนี้มากกว่า ที่เขากำลังจะชวนให้หลายๆ คนคิด”

แต่พอมันเป็นเรื่องของ “คุณค่า” และ ”เป้าหมายของชีวิต”ที่แต่ละคนให้มองไม่เหมือนกัน ทำให้การจะบอกว่า เลือกทำอะไร ดีกว่าอะไร มันเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะมันเป็น ทางเลือกของแต่ละคน
“ที่บางคน เขาใช้ชีวิตมาหนักมากอยู่แล้ว การผ่อนคลาย มันไม่มีประโยชน์เหรอ”

                                                           {“โน้ต”-ศรัณย์ คุ้งบรรพต}

จริงๆ แล้ว คอนเทนต์ของเจ้าของดรามาถือว่า “หวังดี” แต่วิธีการพูดหรือประโยค มันทำให้คนรู้สึกว่า “ทางเลือกในการทำสิ่งที่ชอบ”และ “พื้นที่ส่วนตัว” กำลัง “ถูกรุกล้ำ”

“ผมเรียกมันว่าlife choicesเนอะ คือ การเลือกทำอะไรบ้างอย่างในชีวิต มันเป็นสิทธิ์ของคนแต่ละคน แล้วก็ไม่เหมือนกัน”

กูรูด้านทรัพยากรบุคคลรายเดิมบอกว่า การที่เราจะบอกว่า อะไรสำคัญ-ไม่สำคัญ เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เพราะ “เป้าหมายชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน” การให้คุณค่ากับเรื่องต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือคำว่า “เวลา”

การที่จะบอกว่า เขาเลือกทำอะไร ใช้เวลากับอะไร ถ้ามันเป็นที่ “เขาชอบและให้คุณค่ากับมัน” เขาก็จะไม่รู้สึกว่าสูญเสียเวลานั้นไปโดยเปล่าประโยขน์



เงื่อนไขที่ไม่เท่ากัน

“อย่าโทษต้นทุน” ต้องยอมรับว่า “ต้นทุนชีวิต” ที่ไม่เท่ากันของคน มันทำให้เรา “ใช้ชีวิตหนัก-เบาไม่เท่ากัน” โน้ตยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า

“เหมือนการสร้างบ้านบนพื้นดินที่ถูกถมเอาไว้พร้อมแล้ว มันก็ง่ายถูกไหมครับ กับอีกคนคือ เขายังต้องไปถางป่าถางหญ้าอยู่เลย กว่าจะได้ลงเสาบ้าน มันไม่เหมือนกัน”

เมื่อเรามองว่า “ต้นทุน” คือ “ต้นทาง” มันก็ทำให้ การมองเป้าหมายของชีวิตแต่ละคนต่างกันไป คนเริ่มจาก ชีวิตที่ติดลบ ถ้าเขาขยับชีวิตมาได้อีกระดับ เขาก็อาจะพอใจแล้ว

“ดังนั้นมันเป็นภาพที่ผมเห็นว่า เมื่อต้นทางและปลายทางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องราวระหว่างทางมันย่อมไม่เหมือนกัน วิธีการออกแบบชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะเงื่อนไขชีวิตมันไม่เท่ากัน”



สิ่งที่ “ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาและว่าจ้างบุคลากร” รายนี้อยากให้มองคือ “life choices” หรือ “ทางเลือกในชีวิต” ที่แต่ละคนมีความแตกต่างและหลากหลาย นี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรเรียนรู้และเข้าใจมัน

การที่คนคนหนึ่ง เอาเวลาที่เหลือจากการทำงานหรือใช้ชีวิต ที่หนักในแต่ละวัน กลับนั่งดูซีรีส์ นั้นอาจเป็นความสุขและจุดหมายของชีวิตเขาก็ได้

เราไม่สามารถบอกได้ การใช้ชีวิตของแต่ละคน แบบไหนดีหรือไม่ดี ต้องทำพัฒนาชีวิตแบบไหน ถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะนิยามคำว่า “สำเร็จ” แต่ละคนไม่เหมือนกัน

“ไม่งั้น เราต้องมานั่งถกเถียงกันอีกกี่ล้านเคส ไม้บรรทัดฉันเท่านี้คือสำเร็จ แต่บางคนที่ไม่สำเร็จ เขาแค่อาจจะไม่สำเร็จตามไม้บรรทัดของคุณต่างหาก จริงๆ เขาอาจจะมีความสุขกับชีวิตมากแล้วก็ได้”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : tiktok “@ckfastwork” เฟซบุ๊ก “CK Cheong, CPA”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น