“พอเห็นนรกมาแล้ว ฉันถึงได้รู้ว่า แค่การมีชีวิตอยู่ ก็เป็นโอกาสแล้ว” (ชเวอีแจ)
เป็นซีรีส์เกาหลีที่มาพร้อมไอเดียที่แปลกใหม่ สำหรับ Death’s Game หรือ เกมท้าตาย ซึ่งในเมืองไทยมีให้รับชมทางช่อง Prime Video งานชิ้นนี้รีเมคมาจากเว็บตูนในชื่อเดียวกัน โดยใจความหลักมันว่าด้วยเรื่องของความตายที่ค่อย ๆ ทำให้ตัวละครรู้ซึ้งถึงคุณค่าความหมายของการมีชีวิต
โดยตัวละครที่ว่านั้นก็คือ ชเวอีแจ หนุ่มมหาวิทยาลัยที่อนาคตสดใสรออยู่ไม่ไกล อีกทั้งเขาก็ถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์งานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อในวันที่เขากำลังเดินทางไปสัมภาษณ์งานนั้น จู่ ๆ ก็มีชายคนหนึ่งมายืนกลางถนนให้รถชน ก่อนที่ร่างจะกระเด็นมาตกตายต่อหน้าของอีแจ ซึ่งนั่นก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นหายนะในชีวิตของอีแจตลอดระยะเวลา 7 ปีต่อมา เขาสมัครงานที่แล้วที่เล่าก็ล้มเหลว ต้องรับจ๊อบพาร์ทไทม์หาเงินประทังชีวิตไปเรื่อย ๆ กระทั่งวันหนึ่ง ก็ถึงจุดสิ้นสุด เมื่ออีแจตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
อย่างไรก็ดี หลังจากฆ่าตัวตาย วิญญาณของเขาได้ไปพบกับบุคคลลึกลับที่เรียกตัวเองว่า “ความตาย” ซึ่งมาพร้อมเป้าหมายที่ต้องการจะสั่งสอนเขา ก่อนที่เขาจะต้องไปรับการตัดสินของพระเจ้า โดยวางเงื่อนไขให้อีแจได้มีโอกาสใช้ชีวิตอีก 12 ครั้ง แต่เป็นชีวิตในร่างของคนอื่นที่กำลังตกอยู่ในอันตราย หากเขาสามารถเอาตัวรอดได้ เขาก็จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในร่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ
การไปอยู่ในร่าง 12 ร่าง ที่แตกต่างกันไป นับเป็นความสนุกและท้าทายให้ติดตาม บางร่างมาพร้อมกับอาชีพที่นำไปสู่ฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ที่ตื่นเต้น บางร่างมาพร้อมกับเรื่องราวที่ชวนหดหู่สะเทือนใจ และบางร่างก็มาพร้อมกับซึ้ง ๆ โรแมนติก กินใจ แน่นอนว่า การให้ตัวละครไปอยู่ในร่างคนอื่น เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ต้องแคสต์นักแสดงที่จะมารับบทเป็นร่างต่าง ๆ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ดาราชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซออินกุก คิมแจอุค , อีโดฮยอน , ชเวซีวอน , อีแจอุค , ซองฮุน , คิมจีฮุน , โอซองเจ , จางซึงโจ , คิมคังฮุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โกยุนจอง จาก Moving ก็มาเฉิดฉายเจิดจรัสในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย เช่นเดียวกับ พัคโซดัม ที่รับบท “ความตาย” ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับขับเคลื่อนเรื่องราวให้ก้าวไปข้างหน้า
อย่างไรก็ดี การดีไซน์เรื่องราวแบบให้ตัวละครต้องไปอยู่ในร่างคนอื่นอย่างหลากหลายที่มาและอาชีพเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เหมือนจะมีเป้าหมายของคนแต่งเรื่องที่ต้องการใช้สอยตัวละครเหล่านี้ทำหน้าที่นำพาให้ไปรับรู้และมองเห็นปัญหาหลากหลายด้านที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนเป็นด้านที่ดำมืดและดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้นไป เช่น การบูลลี่และความรุนแรงในสถานศึกษา การทารุณกรรมเด็ก อาชญากรรม หรือแม้กระทั่งเรื่องของกลุ่มทุนใหญ่หรือมหาเศรษฐีที่มีอำนาจล้นฟ้า ถึงขั้นสามารถสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงได้
ทั้งนี้ เฉพาะตัวละครนำตัวแรก อย่าง “ชเวอีแจ” ตอนยังมีชีวิต ก็ทำให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลีอยู่เรื่อย ๆ นั่นก็คือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ และสาเหตุแห่งปัญหาอย่างหนึ่งก็อย่างที่อีแจต้องเผชิญ นั่นคือความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต แม้จะดิ้นรนเพียงใด ก็มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ประเด็นหนึ่งซึ่งได้รับการถกเถียงกันมากในโลกโซเชียลเกี่ยวกับเว็บตูนและซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ มันเป็นผลงานที่ดูจะด้อยค่า Loser อยู่กลาย ๆ เหมือนกัน ซึ่งหลายเสียงก็บอกว่า การตัดสินใจจบชีวิตของคนบางคน เพราะมันถึงทางตันจริง ๆ และน่าจะต่างจากการไม่เห็นคุณค่าชีวิตจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายมันผิดด้วยเหรอเมื่อคนเรามันมองไม่เห็นหนทางชีวิตข้างหน้าอีกต่อไป ... นี่ก็คืออีกหนึ่งมุมมองที่น่าคิดเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดแบบเข้าข้างซีรีส์ ก็ต้องบอกว่า นี่คืองานที่มีเจตนาของตัวเองเด่นชัดในการนำพาตัวละครค่อย ๆ เรียนรู้คุณค่าและความหมายของชีวิต โดยที่ไม่ได้ออกเสียงสั่งสอนหรือเทศนาออกมาโต้ง ๆ ตรง ๆ แต่เรื่องราวที่ดำเนินไป จะทำให้ตัวละคร รวมถึงคนดู ค่อย ๆ รับรู้และสัมผัสได้ถึงความงดงามในชีวิตที่อาจจะเคยมองข้ามหรือไม่ทันสังเกตเห็น และซีรีส์ก็สื่อออกมาเป็นศิลปะที่ผสมระหว่างความสนุกและเนื้อหาที่เข้มข้นหนักหน่วงและซึ้งใจ ให้คนดูเห็นความงามและความหมายของชีวิตได้ดังเจตนา เรียกว่าเป็นความงดงามที่งอกงามจากความตายก็ว่าได้
“ฉันใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวมาตลอด กลัวโลกจะไม่ยอมรับ กลัวจะตามไม่ทันคนอื่น กลัวว่าจะถูกปฏิเสธ ฉันจบชีวิตของตัวเองเพราะความหวาดกลัว โดยไม่ทันได้เห็นชีวิตที่เบ่งบาน แต่พอตายไปฉันถึงได้รู้ถึงความจริงที่ว่า แค่การมีชีวิต ก็คือโอกาสแล้ว” คือถ้อยคำของชเวอีแจ ที่คิดว่าน่าจะเป็นบทสรุปของซีรีส์เรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้ว