ยังเชื่อถือได้แค่ไหน? กับ “มาตรฐานความปลอดภัย” รถยนต์แดนปลาดิบ ชวนกูรูวิเคราะห์ หลัง “5 แบรนด์ยักษ์” โค้งขอโทษยอมรับ “โกงผลทดสอบ” มาหลายปี
น่าตกใจ!!โกงกันเงียบๆ มาหลายปี
ก็กลายเป็นเรื่องร้อนๆ หนาวๆ นั่งไม่ติดเบาะกันเลยทีเดียว สำหรับคนใช้ “รถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัย” เมื่อสำนักข่าวญี่ปุ่นรายงานว่า “กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว แห่งญี่ปุ่น”(MLIT) สั่งระงับการส่งออกรถยนต์บางส่วนจาก “5 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น”
ด้วยเหตุที่ว่า พบการ “บิดเบือนผลการทดสอบเรื่องความปลอดภัย”ที่ทำการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 65 ได้แก่ Toyota , Mazda,Yamaha, Honda และ Suzuki
ล่าสุด “อากิโอะ โตโยดะ”ประธานบริษัท Toyotaก็ออกมาขอโทษ เกี่ยวกับกับการโกงผลทดสอบ เพื่อออกใบรับรองรถยนต์ของบริษัท ที่มีถึง 7 รุ่น และตอนนี้สั่งระงับการผลิตไปแล้ว 3 รุ่น
{ประธาน Toyotaน้อมรับความผิด}
ปัญหาการบิดเบือนผลทดสอบของToyotaเกิดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้งในช่วงปี 2014,2015 และ 2020 โดยครอบคลุมรถยนต์ 3 รุ่น ได้แก่ Corolla Fielder, Corolla Axio และ Yaris Cross
บริษัท Mazda เองได้ออกมายอมรับความผิดนี้เช่นกัน โดยหยุดการส่งมอบรถสปอร์ตอย่าง Roadster RFและ Mazda2 หลังพบว่า พนักงานบางคนทำการ “ดัดแปลง” ซอฟต์แวร์ที่ “ควบคุมผลการทดสอบความปลอดภัย”
นอกจากนั้น ในรถที่เลิกผลิตไปแล้วอย่าง Atenza และ Axela ก็มีการโกงระหว่างการทดสอบการชน โดยใช้การตั้งเวลาให้ถุงลมนิรภัยทำงาน แทนที่จะเป็นการทำงานจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมากับรถยนต์
เรื่องการราวโกงผลทดสอบครั้งนี้ “แดง” ขึ้นมาได้ยังไง? “หนุ่ม-อรรครินท์ ห้องดอกไม้” ผู้สื่อข่าวอาวุโส คอลัมนิสต์ ผู้คร่ำหวอดในวงการยานยนต์ มีคำตอบ
จุดเริ่มมาจากแบรนด์ “Daihatsu”ซึ่งอยู่ในเครือของToyota ที่ฝ่ายตรวจสอบภายในไปตรวจ แล้วเจอว่ามีการดัดแปลงรถยนต์รุ่นหนึ่ง เพื่อให้ผ่านการทดสอบ โดยที่สเปครถทดสอบกับรถจริง “ไม่ตรงกัน”
“อันนี้เป็นการตรวจสอบภายในของ Toyota แล้วก็มีข่าวออกมาToyota แถลง พอเกิดข่าวนี้ขึ้นมา นำมาซึ่งการตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐ”
ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นกลับไปตรวจสอบ เอกสารของบรรดารถยนต์ค่ายอื่นๆ ก็กลายเป็นว่า มีอีก 4 บริษัทที่ผลการทดสอบไม่ตรงกับของจริง นอกจากจะมีการ “บิดเบือนข้อมูล” แล้ว ยังมีการใช้ “วิธีทดสอบที่ล้าสมัย” เพื่อให้ผ่านการทดสอบด้วย
{“หนุ่ม-อรรครินท์” ผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านยานยนต์}
กูรูวงการรถยนต์รายนี้อธิบายว่า แม้ญี่ปุ่นจะมีการอัปเดตมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องนี้ตลอด แต่รัฐไม่ได้เป็นคนลงไปควบคุมทุกขั้นตอน เพียงแต่รับเอกสารผลทดสอบจากบริษัทมาตรวจดูเท่านั้น ทำให้ก็มีหลุดรอดสายตาไปบ้าง
ปลอดภัย แต่ “มาตรฐานใคร” ?
รถที่โกงผลทดสอบบางรุ่น “เลิกผลิตไปแล้ว” แปลว่าตอนนี้รถพวกนี้กำลังวิ่งอยู่บนถนนจริงๆ ซึ่งคำถามคือ มันมีจำนวนเท่าไหร่ และหลุดออกไปนอกประเทศญี่ปุ่นบ้างหรือเปล่า? และนี่คือความจริงจาก “หนุ่ม” ผู้สื่อข่าวอาวุโส
“โห..เนี่ยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้จริงๆ เพราะว่ามันมีทั้ง global model และ model ของญี่ปุ่น แล้วก็ชื่อรุ่นที่จำหน่ายในญี่ปุ่น กับที่อื่นๆ มันไม่เหมือนกัน”
เมื่อเกิดการปลอมผลมาตรฐาน ความน่ากังวลคือไม่มีใครรู้จริงๆ ว่า รถเหล่านี้สรุปแล้วมันได้มาตรฐานหรือไม่ แต่ก็ไม่นาเป็นอันตรายถึงชีวิต รถยังคงใช้งานได้ปกติ
“มันเป็นลักษณะของการที่ถ้าเกิดเหตุ แล้วความ safety ความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นเนี่ย มันไม่ได้ตามเป้า มาตรฐานที่เขากำหนด”
คำถามที่ว่า “รถญี่ปุ่น”ยังน่าใช้และปลอดภัยอยู่หรือเปล่า? หลังจากเหตุการณ์นี้ “บอม-อัษฎาวุธ อาสาสรรพกิจ”ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์อีกราย บอกกับทีมข่าวว่า “ผมว่าก็ยังมีความเชื่อมั่นได้นะครับ”
ค่ายรถมีการตรวจสอบ และออกมายอมรับว่ามีความผิดพลาด ถือเรื่องที่ดี แต่คงต้องบอกให้ชัดว่า มีรถรุ่นไหน ปีอะไรที่เกี่ยวข้อง และบอกให้คนรู้ด้วยว่าจะเจอปัญหาอะไร
“คือผมมองเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกในเรื่องของผลที่มันบิดเบือน เกี่ยวกับเครื่องยนต์นะครับ เรื่องอัตราสิ้นเปลืองอะไรพวกนี้ อันนี้อาจไม่ได้ส่งผลถึงในเรื่องความปลอดภัย”
ส่วนเรื่อง “ความปลอดภัย”ไม่ว่าจะเข็มขัดหรือถุงลมนิรภัย ไม่ใช่แค่ค่ายญี่ปุ่น ในอดีตฝั่งยุโรปเองก็มีเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้ง มันอยู่การรับมือ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ “การเรียกรถคืนกลับมาเพื่อทำการแก้ไข” ในรถที่ผลิตออกไปแล้ว
{“บอม-อัษฎาวุธ” ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์}
ปัญหาเรื่องนี้อาจจะอยู่ที่ “มาตรฐาน” ที่แท้จริง เพราะแม้ว่าประธานบริษัทToyota จะออกมาขอโทษ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า กฎเกณฑ์การทดสอบดังกล่าว มีมาตรฐานแตกต่างกันไปทั่วโลก และเพราะที่ญี่ปุ่นเข้มงวดไปหรือเปล่า จึงบีบให้เกิดการโกงอย่างที่เห็น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “บอม” กูรูด้านรถยนต์มองว่า ตอนนี้มาตรฐานโลกยานยนต์ มี 2 แบบ คือ “ฝั่งยุโรป” และ “ฝั่งเอเชีย” ดังนั้นจึงอาจจะต้องทำถามว่า เรากำลังวัดจาก “มาตรฐานของใคร?”
มาตรฐานเรื่องยานยนต์ ในแต่ประเทศก็แตกต่างกันไป รถบางคันอาจผ่านเกณฑ์ของ “ยุโรป” แต่พอมาฝั่ง “ญี่ปุ่น” อาจจะไม่ผ่านก็ได้
“ผู้ผลิตรถยนต์ อาจจะต้องถึงเวลามาคุยกันหรือเปล่าว่า จริงๆ standard ที่เราจะใช่รวมกันคืออะไร”
และเวลานี้เป็นเรื่องดีที่จะหาข้อตกลงเรื่องนี้ เพราะเรากำลังมือผู้ผลิตมือใหม่ และเป็นเจ้าใหญ่ที่เจ้าอย่าง “จีน” กำลังโดนเข้ามาในวงการนี้ “บอม” บอกว่า หากไม่หาจุดรวมกัน อนาคตเราจะมี 3 มาตรฐานแน่นอน
“ถ้าเราจะลดไอ้ความผิดพลาดในอนาคต ที่มันอาจเกิดการบิดเบือนข้อมูลแบบนี้ เพื่อให้มันผ่านมาตรฐานที่มันแตกต่างกัน ผมว่าคีย์สำคัญเลยคือ มันต้องกลับมาหามาตรฐาน standard ร่วมกัน”
เรื่อง : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรรณ์
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **