xs
xsm
sm
md
lg

เจาะปรากฏการณ์ คนไทยกว่า 80% เหลือแค่ “เศษตังค์ในธนาคาร”!!? [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ใช่เพราะฟุ่มเฟือย ไม่ได้ออมไม่เป็น แต่เพราะชีวิตมันไม่ได้ง่าย หลายคนต้องเป็น “เดอะแบก” ของครอบครัว ภาระตัวเองไม่พอ ยังต้องรับหนี้สินคนอื่นมากอดไว้ สะท้อนภาวะ “คนไทยออมน้อย-หนี้เยอะ” ที่ไม่ใช่ปัญหาแค่ตัวบุคคล แต่คือช่องโหว่ระดับชาติ





“ออมน้อย-หนี้เยอะ” นี่แหละคนไทย

“81 ล้านบัญชีของคนไทยมีแค่เศษตังค์”กลายเป็นโพสต์ยอดนิยมที่ไหลเวียนอยู่ในโซเชียลฯ ตอนนี้ คิดดูว่าแค่กดเผยแพร่ออกไปวันเดียว ก็มียอดกดไลก์กว่าครึ่งหมื่น แชร์ไปอีกจำนวนไม่น้อย
เพราะส่วนใหญ่ “รู้สึกร่วม” ไปกับสถานการณ์นี้ ดูได้จากคำคอมเมนต์แนวขำขื่นที่พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “1 ในนั้นก็ตูคนนึง 4 บัญชีรวมกันไม่ถึง 100”บ้างก็บอก ไม่เห็นน่าตกใจเลย “เป็นอยู่แบบนี้จนชิน เลยไม่อึ้งเท่าไหร่”
                                                  { คนแห่แชร์ “คนไทยมีแค่เศษเงินติดบัญชี” }

เมื่อทางทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลดูจึงพบว่า โพสต์ที่กำลังถูกพูดถึงเป็นประเด็นร้อนอยู่นี้ คือข้อมูลเก่าตั้งแต่ปีที่แล้ว จาก “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)” ซึ่งผู้อำนวยการในขณะนั้นอย่าง ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเอาไว้กับสื่อ

โดยบอกไว้ว่า จากบัญชีของผู้ฝากเงินที่อยู่ใต้การคุ้มครองทั้งหมด 93.46 ล้านบัญชี พบว่าสถิติเงินฝาก ณ สิ้นเดือน ส.ค.66 มีอยู่ 81.93 ล้านบัญชี ที่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท และยิ่งไปกว่านั้น 80% ของบัญชีเหล่านี้ มีเงินฝากไม่ถึง 5,000 บาทด้วยซ้ำ

ทั้งยังคาดการณ์เอาไว้อีกว่า ปีนี้ (2567) สถานการณ์เงินออมจะดีขึ้น จากการท่องเที่ยวที่จะทำให้ GDP (Gross domestic product :ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เติบโตขึ้น



เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูล ทางทีมข่าวจึงได้พยายามติดต่อไปยัง “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” แต่เพราะอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งผู้อำนวยการ จึงไม่มีคนสะดวกเป็นกระบอกเสียงให้

หน้าที่วิเคราะห์ “ปรากฏการณ์เศษเงินในบัญชี”จึงตกเป็นของกูรูด้านเศรษฐ์ศาสตร์ อย่าง “รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ”อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับภาพรวมเงินออมในตอนนี้ของคนไทย

“มันอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะกลับไปมีเงินออมเยอะขึ้น เพราะเศรษฐกิจมันยังไม่ดีเนอะ แนวโน้มอาจจะดีขึ้นบ้าง แต่คงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดค่ะ”

เรื่อง “คนไทยออมน้อย-หนี้เยอะ” เป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งชาติพยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอด แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น จะพบว่านี่ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับบุคคล หรือโทษแค่เรื่อง “ไม่รู้จักประหยัด” เพียงแค่นั้น



“รายได้ – รายจ่าย = เงินออม”อาจารย์เศรษฐศาสตร์รายเดิมบอกว่า เหตุผลที่คนมีเงินออมน้อย เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.รายได้ที่น้อย และ 2.ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

“เราจะเห็นว่ารายได้คนในประเทศไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่ข้าวของแพงขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาตลอด 10-20 ปี เมื่อรายจ่ายสูงขึ้น รายได้เท่าเดิม เงินออมมันก็น้อย”

ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังบอกว่า “คุณภาพชีวิต” ของคนหลายคนในประเทศไทยกำลัง “มีปัญหา”จากปกติแล้วคนเราควรต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 3 เดือน หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้ขาดรายได้

“ถ้ามีเงินออมน้อย แล้วมีหนี้สินด้วย ปัญหาก็จะหนัก หมายความว่าความมั่นคงในชีวิตเขาก็น้อย ถ้าเกิดสถานการณ์แบบโควิดขึ้นมา คนกลุ่มนี้จะอยู่ได้ยังไง”

                                             { “ดร.​กิริยา​”นักเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ }

ไม่ได้ฟุ่มเฟือย แต่ชีวิตคือ “เดอะแบก”

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด คงหนีไม่พ้น “กลุ่มแรงงาน” โดยเฉพาะ “พนักงานโรงงาน”และ “แรงงานข้ามถิ่น”ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าเดินทาง ที่พัก บวกกับช่วงโควิดที่ผ่านมา จึงผลักให้ส่วนใหญ่ใช้เงินเก็บไปจนหมดแล้ว

“คนพวกนี้มีภาระหนี้ที่เยอะ การที่เราจะบอกว่าคุณต้องประหยัด คือเขาแทบไม่มีเงินให้ประหยัดแล้ว เพราะมีหนี้ทั้งจากพ่อ-แม่ หรือลูกที่ต้องส่งเรียน เราคงบอกไม่ได้ว่าคนกลุ่มนี้เขาฟุ่มเฟือย”

การที่คนไทยเหลือแค่เศษตังค์ในสมุดบัญชี ส่วนหนึ่งมาจากนิสัยการใช้จ่ายแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง แล้วมาน้ำตาตกตอนสิ้นเดือน แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า มันคือปัญหาเรื่อง “โครงสร้างเศรษฐกิจ”

กูรูด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง “ดร.กิริยา” ชี้ช่องทางออกไว้ว่า การเพิ่มทักษะงานและมองอาชีพเสริม เพื่อหารายได้พิเศษไว้หลายๆ ทาง เป็นวิธีเพิ่มเงินเก็บในระดับบุคคลได้ แต่ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจอาจยังไม่เพียงพอ

“รัฐต้องมีบทบาทให้มากกว่านี้ ทำยังไงให้เกิดการสร้างงาน ยกระดับมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจ ให้คนมีโอกาสในการทำงานที่ได้ผลตอบแทนสูงๆ ได้”

                                      {พนักงานโรงงาน-แรงงานข้ามถิ่น กลุ่มที่น่าเป็นห่วง}

เพราะตัวเลขที่น่าสนใจคือจากทั้งหมด93.46 ล้านบัญชี มียอดผู้ใช้คนไทย 11 ล้านบัญชี ที่มีเงินมากกว่า50,000 บาท
ส่วนอีก 81 ล้านบัญชี มีเงินต่ำกว่า50,000 บาท และคิดเป็นอัตราสูงถึง80%จากจำนวนนี้ ที่มีเงินติดบัญชีอยู่ไม่เกิน5,000บาท


สะท้อนให้เห็นถึงสถานะ “รวยกระจุก” ซึ่งแสดงถึง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “โอกาสทางเศรษฐกิจ” ที่หนุนชีวิตคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น

และการมีเงินเก็บมาก ก็หมายถึง “โอกาส” ในการเข้าถึง การลงทุนต่อยอดเพื่อผลตอบแทบที่สูงขึ้น ได้มากกว่าคนอื่นๆ ในสังคมเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้น ข้อมูลการวิเคราะห์ตรงจุดนี้ก็เป็นการเทียบจาก “จำนวนเงินออมในบัญชี” เท่านั้น

“คนรวยส่วนใหญ่เขาไม่ว่างเงินนิ่งๆ ไว้ในบัญชีธนาคาร จริงๆ เงินของพวกเขามันไปอยู่ในตลาดหุ้น ในอสังหาริมทรัพย์ มันก็ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากเข้าไปอีก ถ้าเทียบกับแค่เงินฝาก”



เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องลำบากกับภาระหนี้สิน และค่าครองชีพที่สูงสวนทางกับรายได้ จนเงินเก็บแทบจะไม่มี โอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเข้าไปลงทุน เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ก็เป็นไปได้ยาก

“คนจำนวนมากตอนนี้ มีชีวิตอยู่ไปวันๆ พยายามหารายได้เพื่อจะมาออม เรื่องการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูงขึ้น นี่แทบไม่ต้องคิดเลย”

การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่อง “ค่าแรง” ให้สูงพอกับ “ค่าครองชีพ” การลดทุนผูกขาด เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยได้เติบโต ก็จะส่งผลให้ผู้คนมีโอกาสสร้างรายได้ได้มากขึ้น ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์อย่าง “ดร.กิริยา” จึงเห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่อง “วินัยการออม” อย่างเดียว

“มันสะท้อนเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย เราไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงในชีวิตได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามแก้”







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...“81 ล้านบัญชีของคนไทยมีแค่เศษตังค์” ย้ำชัด "รัฐ" ต้องเข้ามามีบทบาท ช่วยเหลือให้มากกว่านี้... >>> https://youtu.be/prUPCZvuBBw . ถึงจะเป็นข้อมูลของปีก่อน แต่มาปีนี้ สถานการณ์ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่ . กูรูบอกว่า ไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่มีไลฟ์สไตล์ฟุมเฟือย แต่ภาระเยอะ แถมต้องเป็น "เดอะแบก" ของครอบครัว . #การเงิน #เงินฝาก #เงินออม #หนี้สิน #เศรษฐกิจ ♬ original sound - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.infoquest.co.th



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น