จากสภาพทิชชูในห้างฯ สู่การเล่าประสบการณ์ “ติดเชื้อ” จาก “ห้องน้ำสาธารณะ”แอร์โฮสเตสบอกห้องน้ำเครื่องบินก็เหมือนกัน เรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ ไม่ชวนคุณหมอมาหาคำตอบ ไม่ได้แล้ว!!
ตลกร้าย ติดเชื้อเพราะอยากสะอาด
สยอง!! สภาพทิชชูในห้างฯ แห่งหนึ่ง จากกลุ่มเฟซบุ๊ก “พวกเราคือผู้บริโภค”พร้อมบรรยายภาพว่า “แกขอนอกเรื่องหน่อยนะ ทิชชูหากพอที่จะพกได้ ก็เอาติดไปด้วยนะ เราเห็นแบบนี้แล้วสยอง ณ ห้างแห่งหนึ่ง”
ด้วยสภาพที่แสนสกปรก หลายๆ คนจึงเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และหนึ่งในนั้นคือประสบการณ์ตรงที่เห็นมากับตาว่า “ผมขายของในห้างฯ อยากบอกว่า แม่บ้านก็วางม้วนกระดาษ กับพื้นห้องน้ำเลยนะครับ”
ยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า หลายที่มักเก็บสต๊อกทิชชูไว้ในห้องน้ำ ที่ทั้งอับ ทั้งชื้น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคและนี่คืออีกหนึ่งประสบการณ์ที่ชวนหวั่นวิตกไม่น้อย
“เพื่อนของเพื่อนเคยติดเชื้อราในช่องคลอด ผลตรวจในใบรับรองแพทย์ มาจากกระดาษทิชชูในห้องน้ำของห้างฯ”
{ภาพทิชชูที่เป็นประเด็น}
สอดคล้องกับอีกเคส ที่คุณแม่ของผู้เล่าเหตุการณ์มีอาการ “ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ” ทุกครั้งหลังจากเข้าไปใช้ห้องน้ำสาธารณะ
ล่าสุด เพิ่งมีแอร์โฮสเตสสาวและTikTokerชื่อดังอย่าง “เซียร่า มิสท์” (Cierra Mistt)ออกมาเผยเรื่องน่าตกใจว่า “กระดาษชำระบนเครื่องบิน” จริงๆ แล้วก็ไม่ควรใช้ เพราะ “คุณภาพไม่ดี”
ตรงกับคำบอกเล่าของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคนดังอีกรายอย่าง “เบรนด้า โอเรลัส” (Brenda Orelus)ที่เคยออกมาพูดเรื่องนี้เหมือนกันว่า กระดาษชำระบนเครื่องบินมักจะติดอยู่ใต้อ่างล้างมือ
และบนเครื่องบินมักมีแรงสั่นสะเทือน ทำให้แบคทีเรียจากห้องน้ำ กระเด็นเข้าสู่พื้นที่โดยรอบได้แถมเธอยังบอกอีกว่า บนเครื่องบินเองก็ไม่ได้ทำความสะอาดอย่างทั่วถึง เพียงทำความสะอาดแบบเร็วๆ อย่างการเก็บขยะ หลังจากแต่ละเที่ยวบินเท่านั้นเอง
{“เบรนด้า โอเรลัส” ที่ออกมาแชร์เรื่องราว}
{“เซียร่า มิสท์” แนะ ทิชชูบนเครื่องบินไม่ควรใช้}
ดึงออกก่อนใช้ ไม่ก็พกไปเอง
รู้หรือเปล่าว่า กระดาษชำระที่เราเห็นๆ กันตามห้องน้ำสาธารณะนั้น จริงๆ แล้วส่วนใหญ่มันทำมาจาก “เยื่อไม้”หรือ “เยื่อกระดาษรีไซเคิล”แต่ “ทิชชู”จะเป็นสาเหตุที่ทำให้คนติดเชื้อจากห้องน้ำได้แค่ไหน “พญ.จุฑาธิป พูนศรัทธา”สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเวชธานี มีคำตอบ
“ถามว่าเกิดจากทิชชูหรือเปล่า คือทิชชูมันมีเชื้อโรคอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในห้องน้ำ”แต่ไม่ใช่ว่าเชื้อหรือแบคทีเรียทุกตัว จะทำให้เกิดโรค หรือเป็นอันตรายกับคนได้ เชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดโรคได้ ก็ต่อเมื่อมันเข้าไปสัมผัสเฉพาะจุด
“การติดเชื้อจากห้องน้ำเนี่ย ไม่ได้เกิดขึ้นเยอะ”เพราะจุดสัมผัสเวลาเรานั่งชักโครก คือบริเวณ“ขา” หรือ“แก้มก้น” เราไม่ได้นำอวัยวะเพศไปสัมผัสโดยตรง
{“พญ. จุฑาธิป” สูตินรีแพทย์รพ.เวชธานี}
“แต่ถ้าเป็นทิชชู หรือที่ฉีดน้ำที่มาสัมผัสโดยตรง ถามว่ามีโอกาสไหม ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้เหมือนกัน ถ้าทิชชูตรงนั้น มีเชื้อที่สามารถเข้าไปติดในร่างกายได้ค่ะ”
ในบริเวณ “อวัยวะเพศ” หรือ “ท่อปัสสาวะ” จะมีกลไกลป้องกันเชื้อโรคอย่าง “ผิวหนัง” และ “เยื่อบุ” แต่ถ้าบริเวณนั้นมี “รอยถลอก” อย่างการที่ถูกทำความสะอาดแรงไป เชื้อก็อาจเข้าสู่ร่างกายได้
“มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหม ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน” อย่างเคสที่บอกว่า “ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ” หลังจากใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ จนทำให้ “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ”นั้น คุณหมอวิเคราะห์ไว้ดังนี้
“มันอาจจะเกิดได้ ถ้าคนก่อนหน้าเราเป็น แล้วไปจับโดนทิชชู และทิชชูแผ่นนั้นยังอยู่ บวกกับถ้าบริเวณนั้นของเรามีรอยถลอก แล้วเราใช้ทิชชูนั้น มันก็อาจติดเข้ามาได้ แต่โอกาสเกิดมันน้อย”
แต่ในบางคนอาจมีปัญหา “กระเพาะปัสสาวะอักเสบง่าย” อยู่แล้ว ด้วยอายุที่มากขึ้น หรือมีอาการ “ช่องคลอดแห้ง” ก็จะมีโอกาสติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่า
“คำถามคือยังสามารถใช้ทิชชูตามห้างฯ ได้อยู่ไหม ก็สามารถใช้ได้ แต่ถ้ากังวล เราอาจจะดึงออกไปสักแผ่น 2 แผ่นก่อน แล้วค่อยใช้ หรือพกไปเอง แต่อย่างที่บอก โอกาสจะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจากกะดาษทิชชู ค่อนข้างน้อยค่ะ”
คุณหมอรายนี้ยังบอกว่าเรื่อง “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” สำหรับ “ผู้หญิง” ต้องระวังมากกว่า “ผู้ชาย” เพราะ ผู้หญิงมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า และเวลาเข้าห้องน้ำจะมีจุดสัมผัสกับชักโครกมากว่าผู้ชาย
“ผู้หญิง ถ้าติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะ แป๊บเดียวก็เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแล้ว จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ชายค่ะ”
“เชื้อโรค” ของ “ห้องน้ำสาธารณะ”
แม้จะบอกว่าโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจากห้องน้ำสาธารณะ เกิดขึ้นได้น้อย แต่ก็อดทำให้หลายคนสงสัยไม่ได้ว่า เชื้อหรือโรคอะไรบ้างที่อาจอยู่ในห้องน้ำเหล่านี้?
จากการรวบรวมข้อมูลของทีมข่าวพบว่า เชื้อที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องน้ำสาธารณะ อาจทำให้เกิดอาการ “ตกขาว” จากการติดเชื้อในช่องคลอด,“เริม” และ“โรคในระบบทางเดินอาหาร” อย่าง “ท้องร่วง”และ “ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ”
รวมถึง “พยาธิในช่องคลอด” เพราะพยาธิอาจติดต่อจากการสัมผัสจากฝารองชักโครกที่ “เปียกชื้น-สกปรก” และสามารถพบใน “ผู้ชาย” ได้ด้วย มันจะทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง อักเสบบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บปวดขณะปัสสาวะ
แต่แพทย์หญิงรายเดิมก็ได้ให้ข้อมูล ช่วยให้คลายกังวลไปอย่างหนึ่งว่า “โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์” อย่าง “หนองใน” “หนองในเทียม”หรือ“ไวรัสHPV” ที่เป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูก ไม่สามารถติดต่อผ่านการใช้ห้องน้ำได้
“เชื้อเหล่านี้จะอยู่นอกร่างกายของคนได้ไม่นาน พูดง่ายๆ ก็คือต่อให้มีคนก่อนหน้าเรา มีสารคัดหลั่ง แล้วเกิดปนเปื้อนอยู่บนฝาชักโครก เชื้อเหล่านี้เขาต้องการHost พอออกมาอยู่ด้านนอก แป๊บเดียวก็จะตาย”
และจริงๆ แล้ว โรคที่พบบ่อยจากการใช้ห้องน้ำสาธารณะ มักเป็นโรคผิวหนังจากแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและลำไส้ อย่างอาการท้องร่วง
อย่างไรก็ตาม แม้การติดเชื้อหนักๆ จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่คุณหมอก็บอกว่า “มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้” ดังนั้น การใช้ห้องน้ำสาธารณะก็ควรระหวัง โดยต้องทำความสะอาดฝารองนั่งก่อนทุกครั้ง รวมถึงการปิดฝาชักโครกก่อนกด และล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้ง จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ภครวรกร สิริมงคลจันทร์ฉาย”,TikTok @flightbae.b , @cierra_mistt, nypost.com, paddleyourownkanoo.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **