xs
xsm
sm
md
lg

“Work-Life Balance” ความฝันลมๆ แล้งๆ ในประเทศที่โครงสร้างสังคมไม่เท่าเทียม!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อยากสำเร็จ “ต้องถวายชีวิตให้งาน” แนวคิดที่เด็กยุคใหม่อาจ “ส่ายหัวให้” อะไรทำให้ค่านิยมเรื่อง“การทำงาน” และ “ความสำเร็จ” เปลี่ยนไป ถกหนักประเด็น“Work-Life Balance” บางคนทำไม่ได้ เพราะชีวิตยังต้องกินต้องใช้

เมื่อโลกเปลี่ยน ค่านิยมก็เปลี่ยน

“อยากประสบความสำเร็จต้องทุ่มเทชีวิตให้กับงาน” คือคำพูดจาก “ไลฟ์โค้ช” หรือ “ผู้บริหารใหญ่” ที่หลายคนคงเคยได้ยิน แต่บางคนก็อาจส่ายหัวกับแนวคิดนี้ แล้วให้ความสำคัญเรื่อง “Work-Life Balance” มากกว่า

เราก็จะเห็นภาพชีวิตการทำงาน 2 แบบหลักๆ ที่สวนทางกันอย่างมาก คนประเภทหนึ่ง พยายามให้งานและชีวิตส่วนตัวสมดุลกันกับคนอีกประเภทหนึ่ง ทุ่มเททำงานแบบถวายหัว หอบงานกลับมาทำด้วย แม้จะเป็นวันหยุดหรือเวลาส่วนตัว

ชวนหาคำตอบกับ “โน้ต” ศรัณย์ คุ้งบรรพต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาและว่าจ้างบุคลากร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ช่วยวิเคราะห์ว่า งาน ชีวิต ความสำเร็จของคนในยุคนี้ มีมุมมองที่เปลี่ยนไปแค่ไหน?

“ค่านิยมของคนแต่ละ Gen ไม่เหมือนกัน”กูรูด้านทรัพยากรบุคคลอย่าง “โน้ต” อธิบายว่า ในคนกลุ่ม “GenX” และ “Baby Boomers” เขาจะเชื่อในเรื่อง “การทำงานหนักจะพาเราไปสู่ความสำเร็จ”



เรื่องนี้เกี่ยว “บริบท” และ “ค่านิยม” ในยุคนั้นของกลุ่มคน Baby Boomers และ GenX ที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนักและการเติบโต

“เราจะได้ยินในยุคก่อนๆว่าการมีความภักดีต่อองค์กร เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ทุ่มเทให้องค์กร เป็น สิ่งที่อยู่ใน Gen ของคนที่มีอายุเยอะ ตอนนี้เราแทบไม่ได้ยินแล้วนะ”

ถ้าถามว่า ทำไมคนยุคหลังๆ ตั้งแต่ GenY ขึ้นมา ถึงไม่มองอย่างนั้น เพราะ GenY เขาเห็นพ่อ-แม่ ที่เป็น GenX ว่า ทุ่มเทกับงาน ทำงานหนัก แต่ชีวิตกลับไม่มีความสุขเลย“พวกเขาก็ไม่อยากใช้ชีวิตแบบนั้น”

และอีกอย่าง“โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป” ชีวิตมีหลายมิติที่มากกว่างาน ทั้งเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเยอะมาก ทำเหล่า GenY, GenZ หรือคนที่เด็กลงมาว่านั้น “เขารู้สึกว่า ชีวิตมันวุ่นวายมากๆ อยู่แล้ว”

ยุคที่เปลี่ยนไป มุมมองที่ว่า “ชีวิต = งาน”มันน้อยลงเรื่อยๆ คนเริ่มประเมิน “คุณค่าของงาน”และ “คุณค่าของการใช้ชีวิต”ไปพร้อมกัน และนิยามของคำว่า “ความสำเร็จ” แต่ละคนนั้นก็ไม่เหมือนกัน

                                                   {“โน้ต” กูรูด้านทรัพยากรบุคคล}

คนที่สำเร็จ ชีวิตไม่มีบาลานซ์?

“ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง “บิทคับ” แพลตแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตฯ ได้บอกในบทสัมภาษณ์ของ กรุงเทพธุรกิจ ว่า…
“ผมยังไม่เคยเห็นใครที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ย แล้วบอกว่าWork-Life Balanceดีสักคน”

เขายกตัวอย่าง บุคคลดังๆ มากมาย ทั้ง “คริสเตียโน โรนัลโด”และ “อีลอน มัสก์”ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับงานที่ตัวเองทำ พร้อมแนบเหตุผลไว้ว่า แนวคิดเรื่องการทำงานนั้น “ขึ้นอยู่ว่าคุณอยู่ในช่วงไหนของชีวิต”

“ช่วงชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราต้องใช้กลยุทธ์ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง ทั้งหมดอยู่ที่เป้าหมาย และนิยามความสำเร็จของเราว่าคืออะไร”

                                                              {“ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา}

“อยากประความสำเร็จ” หรือ “บาลานซ์ชีวิต” ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เราต้องเลือกสักทาง แต่ในความเห็นของ “โน้ต” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาและว่าจ้างบุคลากร บอกไว้ว่า..

“ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งหนึ่งที่คนพยายามจะสร้าง เพื่อให้คนที่จะได้ยินต้องเลือกไปในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น”

หากบอกว่า “ต้องทำงานหนัก ถึงจะประสบความสำเร็จ”แต่ถ้าทำงานหนักแล้ว “ป่วย-ซึมเศร้า-ไร้ความสุข” อย่างนี้จะเรียกว่า “ประสบการสำเร็จ”ได้หรือเปล่า? อาจต้องมาหานิยามของคำคำนี้

“บางคนจะบอก ผมมีครอบครัวที่มีความสุข มีเงินใช้ ดูแลตัวเองได้ ผมโอเคแล้ว แต่บางเขาอาจจะบอกว่า ไม่ ผมต้องเป็นผู้บริหารระดับสูง ต้องเป็น CEO เท่านั้น ซึ่งมันไม่เหมือนกัน”



ดังนั้น จะเลือก “Work-Life Balance” หรือ “มอบชีวิตให้กับงาน” มันก็อยู่ที่เราตั้งธงเป้าหมายในชีวิตไว้ตรงไหน เพราะคนเรามีความหลากหลาย รวมถึง “ความฝันของแต่ละคนด้วย ทุกคนอยากจะประสบความสำเร็จในแบบตัวเอง”

แรงผลักสำคัญ“ต้องกินต้องใช้”

ในอีกมุมหนึ่ง หลายคนอาจ “ไม่ได้อยากทำงานหนัก แต่ชีวิตมันต้องกินต้องใช้” แปลว่าภาระและโครงสร้างของสังคม ทำให้บางคนไม่สามารถ Work-Life Balance ได้หรือเปล่า?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กูรูด้านทรัพยากรบุคคลรายเดิมบอกว่า บางคนงานกับชีวิตของเขา มันผสมกันเป็นเนื้อเดียว และเขาก็ชอบมัน แต่บางคนก็มีเหตุผลมาจาก “ความจำเป็น”

“มันไม่มีทางเลือก ก็ต้องทำงานหนัก เรายังอยากได้ เรายังอยากเงยหน้าอ้าปากขึ้นมา เราอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็ต้องทำงานหนัก”

เรื่องการเลือกว่า จะใช้ชีวิตการทำงานแบบ “Work-Life Balance” หรือ “ควรจะทุ่มเทกับมัน” เพื่อสิ่งต้องการ อาจไม่ใช่แค่เพียงสะท้อนวิธีการใช้ชีวิต แต่เรื่องนี้เกี่ยวพันถึง “โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่ากัน”



หมายความว่าถ้าคนเราไม่ต้องนั่งต่อสู้เรื่องปาก-ท้อง หรือไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยายาล ประกันอุบัติเหตุ หรือต้องมากลัวว่า ตอนแก่จะมีเงินพอที่จะดูแลตัวเองไหม

“เราก็ไม่ต้องกังวล เราจะมีเรี่ยวแรงไปทำอย่างอื่นได้ ทำสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้”

แต่หลายคนไม่มีอะไรมารองรับชีวิต ถ้าวันหนึ่งล้มขึ้นมา มันจะเป็นการล้มแบบหน้าฟาดพื้น ไม่มีฟูกมารองรับ แถมคนเหล่านี้ยังต้องพยายามต่อสู้ เพื่อให้ชีวิตได้ความสุขเพิ่มขึ้น เพื่อให้เงยหน้าอ้าปากได้เพิ่มอีก

ในสังคมที่ดูแลคนของตัวเองได้อย่างเช่น หลายๆ ประเทศในยุโรป หรือแถบสแกนดิเนเวียนที่พื้นฐานเรื่อง สวัสดิการสังคมดีมากนั้น

“คนมีหน้าที่แค่ทำงาน แล้วใช้ชีวิต สร้างคุณค่าให้สังคม เสียภาษี แต่ไม่ต้องกังวลว่า ตอนแก่ฉันจะไม่มีใครมาดูแล”



แต่ในบ้านเรา ถ้าไม่อยากกังวลว่า อนาคตจะมีเงินใช้ไหม เกิดอุบัติเหตุจะมีเงินพอจ่ายค่ารักษาไหม หรืออยากมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ เราต้องดิ้นรนทำงานหนักขึ้นเพื่ออะไรเหล่านี้ ฉะนั้น คำถามที่สำคัญคงไม่ใช่ว่าจะบาลานซ์ชีวิตยังไง

แต่โน้ตบอกว่า “ทำยังไงให้ทุกๆ คนมีตัวช่วย มีฟูกอันนั้นที่ทำให้เขายืนได้สูงพอๆ กัน และเวลาล้ม เขาก็รู้สึกปลอดภัย”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ท๊อป จิรายุส - Topp Jirayut”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น