xs
xsm
sm
md
lg

#สมรสเท่าเทียม อิน ไทยแลนด์ ก้าวสำคัญ “ประเทศแรกในอาเซียน” ที่ยังมีช่องโหว่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.“เห็นด้วย 400 ต่อ 10 เสียง” น่าชื่นใจ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม “ผ่านแล้ว” รอแค่ ส.ว.คอนเฟิร์ม แต่แม้จะน่าดีใจ กฎหมายนี้ก็ยังมีช่องโหว่ คืออาจรับรองการแต่งงาน แต่ไม่รับรองเรื่องบุตรและการสร้างครอบครัว!!

ประวัติศาสตร์สำคัญของ “ความเท่าเทียม”

ไทยกำลังจะได้เป็น “ประเทศแรกในอาเซียน” และ ”ประเทศที่ 3 ในเอเชีย”ที่มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ถือเป็นก้าวแห่งประวัติศาสตร์ และความสำเร็จครั้งใหญ่สำหรับผู้ที่มี “ความหลากหลายทางเพศ” หรือกลุ่ม “LGBTQ+” ที่จะมีสิทธิ์จดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย

หลังผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่าง “พ.ร.บ.กฎหมายสมรสเท่าเทียม” วาระที่ 2-3 ด้วย คะแนนเสียง “400 ต่อ 10 เสียง” โดยเนื้อหาใจความคร่าวๆ ของร่างนี้ระบุไว้ว่า...

จากเดิม “การหมั้น” และ “กาสมรส” เขียนว่า จะทำได้ต่อเมื่อ “หญิงและชาย” มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ก็เปลี่ยนเป็น ”บุคคลทั้งสองฝ่าย” มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ 



เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทางทีมข่าวจึงขอให้ ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และประธานมูลนิธิซิสเตอร์ ช่วยวิเคราะห์

“ระดับแรก มันคือการให้สิทธิคนที่เป็นคู่รักเพศหลากหลาย หรือคู่รักเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย”

และนี่เป็นประตูบานแรกเรื่อง “สิทธิความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศ” ในเชิงกฎหมายและนโยบาย ซึ่งจะเป็นช่องทางให้นำเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีก
“การมีกฎหมายนี้ เป็นการสร้างพื้นที่ในเชิงนโยบาย ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นนะคะ”

ที่น่าสนใจคือ ไทยเป็นประเทศที่ต่างชาติมองว่า เปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่เมื่อรู้ว่าเรายังไม่มีกฎหมายรับรองเรื่องเหล่านี้ “เขาก็รู้สึกประหลาดใจ”

“การที่ไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมตัวนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศโอบรับความหลากหลายทางเพศ และทำได้จริง โดยมีกฎหมายนี้เป็นตัวอย่างค่ะ”

                                    {“ณชเล” จาก “มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน”}

ความสำเร็จนี้มาจากการร่วมกันของทั้งภาคประชาชน รัฐบาล ฝ่ายค้าน แต่จุดเริ่มของเรื่องนี้มาจากประชาชนเพราะมันเป็นความต้องการของประชาชน จนนำไปสู่การทำงานร่วมกันในที่สุด

“ถ้าเกิดขึ้นจริงนะ สมรสเท่าเทียมนี้ ตอนนี้ยังไม่ถือว่ามี”
เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอน แม้ขณะนี้ ส.ส.จะโหวตให้กฎหมายนี้ผ่าน แต่สุดท้ายก็ยังต้องส่งต่อให้ ส.ว. ตัดสินไม้สุดท้าย ด้วยการเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้

ข้อมูลจาก “iLaw” ระบุว่า “วุฒิสภา”(ส.ว.) ไม่มีอำนาจ ‘ปัดตก’ หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว “หายไป” ทำได้แค่ 3 อย่างคือ “เห็นชอบ” “ไม่เห็นชอบ” และ “แก้ไขเพิ่มเติม”

ถ้า ”เห็นชอบ” ก็เตรียมนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศใช้ ส่วนถ้า “ไม่เห็นชอบ” ก็สามารถ “ยับยั้ง” และส่งร่างกฎหมายกลับไปให้ ส.ส. แก้ไข ก่อนนำกลับมายื่นใหม่ได้ หลังผ่านไป 180 วัน

กรณีที่ 3 “แก้ไขเพิ่มเติม” ส.ว.จะส่งร่างที่แก้ไขแล้วกลับไป ถ้า ส.ส.เห็นด้วย ก็ประกาศใช้ร่างนั้น แต่ถ้า ไม่เห็นด้วย ให้ตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม”(กมธ.) ของ2สภาขึ้นมา เพื่อพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง



ร่างนี้ยังมี “ช่องโหว่”

ท่ามกลางความน่ายินดีก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า แม้ร่างนี้จะให้สิทธิคนที่มีความหลากหลายทางเพศ “แต่งงาน” กันได้อย่างถูกกฎหมาย แต่กลับไม่ได้ครอบคลุม “การสร้างครอบครัว”
เพราะในเนื้อหาใช้คำแทน “ผู้ที่ให้กำเนิดบุตร” ว่าคือ“บิดา-มารดา” เท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่กินขอบเขตกว้างกว่าคำแทนค่า “เพศชาย-เพศหญิง”เท่านั้น

ทาง “ภาคประชาชน” จึงได้เสนอให้เพิ่ม คำว่า “บุพการีลำดับแรก”ในหมวด “ความสัมพันธ์ระหว่าง บิดา มารดาและบุตร”จากเดิมที่เขียนแค่ “บิดา-มารดา”แต่ก็ถูกปัดตกไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กมธ.พิจารณา ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน ช่วยวิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า การไม่มีคำว่า “บุพการีลำดับแรก”ในหมวดนี้จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง?

หลักๆ คือคำว่า “บิดา-มารดา” เป็นคำที่ “ไม่มีความเป็นกลางทางเพศ” ทำให้คนที่มีเพศหลากหลาย ไม่สามารถบอกสถานะของตัวเองได้ว่า เป็นอะไรกับบุตร เพราะไม่ตรงกับนิยามของ “บิดา-มารดา” ผู้ให้กำเนิดตามกฎหมายดังนั้น
“เขาจะไม่ได้รับสิทธิในฐานะ ผู้ให้กำเกิด ผู้ดูแล ลูกของเขา อยากปกติสุขได้”

                                       {“นัยนา” จาก “มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ”}

สอดคล้องกับมุมมองของ “ณชเล” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่บอกไว้ว่า การไม่เพิ่มคำนี้ลงไป จะทำให้เกิด “ความไม่ชัดเจนในการตีความกฎหมาย” กับคู่สมรสที่มีความหลากหลานทางเพศ หรือ คู่สมรสเพศเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น

“สมมติเป็นคู่หญิง-หญิง ถ้า เขามีลูกที่เกิดขึ้นจากคนใดคนหนึ่งในคู่สมรส จะมีมารดาผู้กำเนิดตามกฎหมายคนหนึ่ง แต่อีกคนจะไม่ใช่แม่ตามกฎหมาย ”

“ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดปัญหาแน่นอน” นัยนา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เสริมว่า ในกฎหมาย ถ้าพ่อ-แม่เสียชีวิตจากการกระทำของผู้อื่น ลูกมีสิทธิ์เรียกร้องค่าไร้อุปการะจากคนคนนั้นได้ แต่กฎหมายกลับเขียนไว้แค่ว่า “บิดา-มารดา”

“ถ้าเขาไปประสบอุบติเหตุเสียชีวิต เขาจะใช้ฐานะอะไร เพื่อให้ลูกเขาเรียกร้องสิทธิ์นี้ กฎหมายไม่ให้นะ เพราะถือว่าคุณไม่ใช่บิดา และคุณก็ไม่ใช่มารดา”



ถ้ากฎหมายนี้ถูกนำไปใช้ “ครอบครัวเพศหลากหลาย” ก็จะต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ “นัยนา” ย้ำว่า “ร่างนี้ยังมีช่องโหว่อีกเยอะ” ซึ่งตรงกับความเห็นของ “ญชเล” ที่มองว่านอกจากเรื่อง “บุพการีลำดับแรก” แล้ว ยังมีอีก 2 จุดใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหา

อย่างการ “รับบุตรบุญธรรม” ที่ใครก็สามารถทำได้ โดยผ่านกระบวนการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากกฎหมายเขียนเพียง “บิดา-มารดา” ในคู่ที่เป็นเพศหลากหลาย เขาก็ไม่มีสิทธิ์ทางกฎหมาย “แต่ถ้าเป็นคำว่า บุพการี ทั้งคู่ก็สามารถเป็นบุพการีได้”

อีกเรื่องหนึ่งคือ “การเข้าถึงเทคโนโลยีในการตั้งครรภ์” ซึ่งตอนนี้มี พ.ร.บ. ของกรมอนามัยออกมาแล้ว แต่ก็เป็นสิทธิ์เฉพาะ “คู่สมรสชาย-หญิงเท่านั้น” ยังไม่ได้ครอบคลุมคู่สมรสที่เป็นเพศหลากหลาย หรือเพศเดียวกัน

จากช่องโหว่เหล่านี้ “นัยนา” จึงได้ทิ้งคำถามที่น่าสนใจเอาไว้ว่า “กฎหมายนี้ให้เขาสมรสกันได้ มีบุตรได้ เหตุใดจึงไม่ให้เขามีครอบครัวแบบปกติสุขได้ เขาไม่สามารถมีสถานะในสังคม ในกฎหมาย โดยมีฐานะเป็น บุพการี ผู้ให้กำเนิด เหมือนๆ กับครอบครัวอื่นๆ”



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.ilaw.or.th



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น