ธงสีรุ้งสะบัดว่อนสภา หลัง ส.ส.รับหลักการร่าง กม.เท่าเทียมทางเพศทั้ง 4 ฉบับ พร้อมตั้ง 25 กมธ. พิจารณา “ธัญวัจน์” หลั่งน้ำตา ฝาก ส.ส.สร้างสมรสเท่าเทียม กระดุมเม็ดแรกที่จะกลัดเพื่อความเสมอภาค
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะ (พรรคก้าวไกล) ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ ครม.เสนอ, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ และคณะ (พรรคประชาธิปัตย์) โดยต่างมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ กำหนดให้บุคคลทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะทางเพศอย่างไร ได้รับรองสิทธิต่างๆ เช่น การจดทะเบียนสมรส การหมั้น การจัดการทรัพย์สินคู่สมรส การรับรองบุตรบุญธรรม ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุผลความแตกต่างความหลากหลายทางเพศ ทันทีที่เริ่มประชุมก็เกิดการถกเถียงกันวุ่นวาย เพราะ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ ไปพร้อมกัน เนื่องจากมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านรุมคัดค้านอย่างหนัก
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการพิจารณาวิปรัฐบาล โดย นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาลได้เสนอให้เลื่อนวาระและรวมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ขึ้นมาพิจารณาพร้อมกัน แต่ฝ่ายค้านได้คัดค้านว่าเป้นการทำผิดข้อบังคับการประชุม แลเสนอให้พิจารณาตามปกติ แต่ในที่สุดเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นควรให้พิจารณารวมทั้ง4 ฉบับ แต่ตอนลงมติให้แยกกันลงทีละฉบับ
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยเสนอให้ออกกฎหมายแยกเฉพาะแทนการแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ดูแล้วย้อนแย้ง เพราะในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ ครม.เสนอก็นำบทบัญญัติบางมาตราใน พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาอ้างอิงงานวิจัย โดยใช้ความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงร่าง พ.ร.บ.นี้คือ การเลือกปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ งานวิจัยนี้มีคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้ว เอาความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงเพื่ออะไร แต่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องประชาชน แค่พื้นฐานจะใช้ชีวิตกับใคร ก็ยังไม่มีสิทธิมนุษยชนแบบ 100% แม้จะยอมรับแต่มีเงื่อนไขการยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิ แต่สิทธิเหล่านี้ถูกพรากไป ทั่วโลกต่อสู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศ แต่ประเทศไทยกลับกดความเสมอภาคทางเพศไม่ให้เกิดขึ้น อย่าให้ประชาชนสิ้นหวังกลไกระบบรัฐสภา ครม.ที่ยกร่างร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอาจคิดเป็นชัยชนะตัวเอง แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ LGBT เพราะสิ่งที่ยัดเยียดให้คือ ความไม่เสมอภาค
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า เพื่อให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนในสังคม ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสเป็นคู่ชีวิต เพราะกฎหมายแพ่งพาณิชย์ระบุให้เป็นการสมรสชายกับหญิงเท่านั้น จึงควรมีกฎหมายรับรองความสัมพันธ์การเป็นคู่ชีวิต
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์ มีหลักคิดแตกต่างจากฉบับ ครม. เพราะกระทรวงยุติธรรม มองว่า คู่สมรสต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น การแต่งงานของเพศอื่นถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต จึงถูกกลุ่ม LGBTQ+ ต่อต้าน เพราะมองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่กฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกทุกคู่ชีวิตทั้งชาย-ชาย,หญิง-หญิง รวมทั้งชาย-หญิง คำนิยามคู่ชีวิตของครม.เขียนว่า “คู่ชีวิต” คือ บุคคล 2 คน เป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และจดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ให้นิยาม “คู่ชีวิต” คือ บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตาม พ.ร.บ.นี้ อยากให้ใช้ร่างพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างหลัก เพราะมีมิติพัฒนาความสัมพันธ์ พัฒนาครอบครัว เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมซื้อเวลาของผู้มีอำนาจที่มักบอกขอกลับศึกษาผลกระทบก่อน เป็นการประกาศใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อนำไปสู่การสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจต่อไป ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ มองคนเท่ากัน ให้โอกาสทุกคน ทุกเพศ เลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเองได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นความหวังของทุกคู่ชีวิต
ทั้งนี้ สมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.ฝ่ายค้านสนับสนุนให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล เพื่อให้สิทธิความเป็นธรรมกับกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับหรือเลือกจะสมรสกับใคร โดยไม่นำเพศสภาพ หรือเพศกำเนิดมาเกี่ยวข้อง และเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม. มีเนื้อหาและหลักการไม่ตรงกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่สามารถนำมาแทนกันได้
ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มองว่า การไปแก้ไขนิยามเรื่องคู่สมรสในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาไปกระทบกับกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.มีความคล้ายคลึงกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในหลายประเด็น หากประเด็นใดที่เห็นไม่ตรงกันสามารถไปแก้ไขในชั้น กมธ.ได้
นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของ ครม.ไม่ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ อยากให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปก่อนแล้วไปแก้ไขในชั้น กมธ.อีกครั้ง ร่างของพรรคก้าวไกลแก้แค่ 3คำ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือ 1.การสมรสชาย-หญิง แก้เป็นการสมรสระหว่างบุคคล-บุคคล 2. สามีภริยา เป็นคู่สมรส 3. บิดามารดา เป็นบุพการี ไม่มีความยุ่งยากอะไร อย่ามองแค่กฎหมายนี้เสนอโดยพรรคก้าวไกล แต่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนหลายล้านคน อยากให้รับหลักการเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.แทนร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลที่ไปตัดคำว่า "ชาย-หญิง" ออกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กระทบสิทธิประชาชนที่เป็นชายหญิงทั่วประเทศ เมื่อเทียบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จาก 17 ประการ มีความเหมือนกัน 15 ประกัน ทั้งการสมรส การรับรองบุตรบุญธรรม การยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิที่จะได้จากรัฐในฐานะคู่สมรส มีต่างกันอยู่ 2 ข้อ คือ การหมั้นกับการอุ้มบุญที่สามารถไปเพิ่มเติมเนื้อหาในชั้น กมธ.ได้ ถือเป็นทางออกดีที่สุดในการรักษาสิทธิทุกฝ่าย โดยไม่กระทบสังคมส่วนใหญ่ การออกกฎหมายใดๆเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ต้องไม่กระทบสิทธิคนกลุ่มอื่น หากร่างกฎหมายมีผลสัมฤทธิ์เหมือนกัน ต่างกันแค่ชื่อ วิธีบัญญัติกฎหมาย ก็น่าจะยอมกันได้
ในช่วงอภิปรายสรุป นายธัญวัจน์ อภิปรายตอนหนึ่งพร้อมน้ำตาคลอเบ้าว่า หากสภารับหลักการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ถือว่าใจกว้าง และเป็นชัยชนะของประชาชนไม่ใช่ของพรรคใด ทั้งนี้ น้ำตาที่ไหลไม่ใช่ของตนแต่เป็นน้ำตาประชาชนที่รอ ส.ส.โหวต ขอฝากว่าสมรสเท่าเทียมคือกระดุมเม็ดแรกที่จะกลัดเพื่อความเสมอภาค
จากนั้นที่ประชุมมีมติรายฉบับ เริ่มจาก ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของนายธัญวัจน์ และคณะ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยคะแนนเสียง 212ต่อ 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... ของคณะรัฐมนตรี เสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่... พ.ศ... ครม.เป็นผู้เสนอ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 169 เสียง งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน เสียง 1 เสียง
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... ที่เสนอโดย นายอิสระ และคณะ พรรคประชาธิปัตย์ เสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 25 คน พิจารณาทั้ง4 ฉบับ ใช้เวลาแปรญัตติ 15 วันโดยใช้ร่างของครม.เป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการพิจารณา ส.ส.ในห้องประชุมต่างชูธงสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมทางเพศ และหลังจากมีมติรับหลักการทั้ง4 ฉบับ นายธัญวัจน์ ได้สวมกอดกับเพื่อน ส.ส.เพื่อแสดงความยินดีด้วย