คนไทยครึ่งประเทศบอก มีปัญหาการเงินเข้าขั้น “วิกฤติ” กูรูวิเคราะห์ตัวเลขอาจ “เยอะเกินจริง” แต่ที่แน่ๆ มันบอกว่าเรามี “ปัญหา” ถ้าไม่รีบแก้ “วิกฤติเศรษฐกิจ” รออยู่
50% เข้าขั้นวิกฤติ!!?
“คนไทยกว่าครึ่ง” บอก “เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤติ” จากผลสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” เรื่อง “จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน” ที่รวบรวมตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวน 1,146 ราย จากทุกสาขาอาชีพ
“50.5 %”บอกว่า เงินในกระเป๋าตัวเองอยู่ในขั้นวิกฤติ และถ้าแบ่งตามภูมิภาค “คนอีสานส่วนใหญ่” หรือ77.9%บอกว่า “เงินในกระเป๋าตัวเองวิกฤติ”ลองลงมาเป็นภาคใต้ที่ 66%,ภาคกลาง 47%,ภาคเหนือที่ 35% และน้อยสุดที่คิดว่า เงินตัวเองอยู่ในขั้นวิกฤติของ “คนกรุงเทพที่ 30%”
และ “เมื่อประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทยอายุ 16-85 ปี” ที่จำนวนทั้งหมดราว 53 ล้านคน จะพบว่า “คนที่คิดว่าเงินในกระเป๋าตัวเองเข้าขั้นวิกฤติ” มีถึงครึ่งต่อครึ่ง หรือประมาณ 27 ล้านคน
ชวนไข้ข้อสงสัยกับ “รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ผลสำรวจที่ออกมามันกำลังบอกอะไรเรา?
“สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจมันไม่ดี แต่ว่าตัวเลขมันจะขนาดว่า ประชากรครึ่งประเทศ 50% มีเงินในกระเป๋าเข้าขั้นวิกฤติเนี่ย อาจจะมากกว่าความเป็นจริง”
กูรูรายนี้มองว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่เพียง 1,000 กว่าคน ผลสำรวจอาจเข้าไปถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ไปจนถึงสูง “มันอาจไม่สะท้อนว่า คนครึ่งประเทศมีปัญหาขนาดนั้น”
ที่ผลสำรวจอาจเข้าไม่ถึง “คนที่มีรายได้สูง”เพราะไลฟ์สไตล์การทำงาน การใช้ชีวิต เช่น ทำงานออฟฟิศ เดินทางด้วยรถส่วนตัว จึงไม่มีช่องว่างให้เข้าไปสำรวจ หรือบางทีก็ “ไม่ได้เปิดโอกาส” ให้ไปเก็บข้อมูลทางสถิติ
“ปกติเวลาสำรวจก็จะเป็นกลุ่มที่เข้าถึงได้ง่าย คนที่อยู่ตามท้องถนน อะไรแบบนี้ค่ะ”
{ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ }
แม้โพลนี้อาจจะไม่ได้สะท้อนตัวเลขที่ 100%แต่มันก็กำลังบอกว่า “เศรษฐกิจเราไม่ดี” และ “คนระดับกลาง-ล่าง” กำลังมีปัญหา เพราะกลุ่มตัวอย่างที่เข้าถึงง่ายที่ในการเก็บข้อมูล คือคนกลุ่มนี้
“คืออาจารย์คิดว่า ไอ้ตัวเลข 50กว่าเปอร์เซ็นต์ มันคงจะมากเกินกว่าที่เป็นจริง เพราะว่าการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างมันค่อนข้างBIAS (เอนเอียง) ก็คือเข้าถึงกลุ่มคนข้างล่างมากกว่า”
แต่การที่เข้าถึงกลุ่มคนระดับล่างมากกว่า มันแสดงว่าคนเหล่ามีปัญหาจริงๆ เขาถึงสะท้อนมาเป็นแบบนี้ เพราะถ้าดูจากGDP เศรษฐกิจเราโตก็จริง แต่มันน้อยกว่า 1%และไม่ 2%เลยตลอดเวลาที่ผ่านมา
ถ้าลองสำรวจในกลุ่มแรงงานอย่าง “หนุ่ม-สาวโรงงาน” จะพบว่าหลายคนไม่ได้ค่า “โอที” ซึ่งทำให้รายได้เขาลดลงกว่าครึ่ง แต่ยังต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แล้วก็เป็นที่รู้กันว่า บ้านเรามี “ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง”
“มันสะท้อนปัญหาทั้งรายได้ที่น้อย กับหนี้สินที่มีอยู่เยอะ เศรษฐกิจไม่ดี แต่ว่าเราจะเห็นระดับบนยังมีการจับจ่ายใช้สอยอยู่ เนื่องจากไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง บางคนอาจจะไม่กระทบ”
“สัญญาณเตือน” ถ้าไม่แก้ “วิกฤติแน่”
สิ่งบอกได้จากผลโพลนี้คือ คนระดับล่างกำลังมีปัญหา และเศรษฐกิจเราไม่ดี แต่เรื่องหนึ่งที่คนถกเถียงกันมาตลาดตั้งต้นปีคือ สรุปแล้ว “เศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติหรือไม่”? กูรูด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง ดร.กิริยา ตอบว่า
“คือถ้ามองตัวเลข ของGDPมันก็ยังโตอยู่ ยังไม่ขนาดติดลบ ถ้าเป็นวิกฤติ จริงๆ ต้องเป็นอย่างวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือโควิดที่ตอนนั้นเราเห็นตัวเลข มันติดลบเลย”
คำว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” มันต้องระดับที่GDP ติดลบ เศรษฐกิจไม่โต ระดับคนตกงานเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าตกต่ำ ซึ่งยังเรายังไม่เห็นภาพระดับนั้น “ฉะนั้น ในแง่ของคำถามว่า วิกฤติไหม ยังไม่ได้วิกฤติในภาพรวม”
“ในภาพใหญ่บางธุรกิจยังคงเติบโตได้” แต่ระดับบุคคล โดยเฉพาะคนระดับล่าง “ที่มีหนี้สินสูง” มันก็อาจเป็น "วิกฤติ” ในบางกลุ่มของประชากร
“ในภาพรวมมันยังไม่วิกฤติ ถ้าดูตัวเลขต่างๆ แต่ในอนาคตถ้าเราไม่แก้ปัญหาพวกเชิงโครงสร้าง มันจะทำให้GDPเราหดตัวไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีกลายเป็นวิกฤติได้”
เรื่องนี้กำลังส่งสัญญาณว่า “เศรษฐกิจเราอ่อนแอ”ปัญหามี 2 ส่วนคือ 1.เศรษฐกิจไทยเอง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทอื่นได้เพราะต้นทุนที่แพง และ “สินค้า” ที่เราผลิตไม่ค่อยที่เป็นต้องการของตลาดโลกแล้ว
“สมัยก่อนเรามี น้ำมัน อะไหล่รถยนต์ ที่ยังส่งออกได้ แต่มาดูคำสั่งซื้อของพวกนี้ มันก็ลดลงเรื่อยๆ”
ทุกวันนี้ไม่ใช่เทรนด์ของโลกอีกแล้วเพราะหลายที่กำลังให้ความสนใจกัน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ คอมพิวเตอร์ มือถือ แต่ของเหล่านี้ที่โลกต้องการ เราไม่สามารถผลิตเองได้
2. คือ “เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว”จากทั้งโลกระบาดและสงคราม ทำให้เราค้าขายลำบาก และส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ทำให้การท่องเที่ยวไม่ได้ดีเหมือนก่อน
“ภาคท่องเที่ยวยังคงเป็นอะไรที่ฉุดให้ประเทศยังโตขึ้น ณ วันนี้ที่เศรษฐกิจมันยังไม่แย่ ก็เพราะท่องเที่ยวช่วยอยู่ แต่ในภาคอุตสาหกรรม เราไม่ได้มีอะไรที่จะขายแข่งกันคนอื่นได้”
เราคงจะหวังพึ่งแต่การท่องเที่ยวคงไม่ได้ เราต้องหาสินค้าใหม่ๆ ที่โลกต้องการ อย่างพวกสินค้าด้านเทคโนโลยี ตามเทรนด์ของโลก แต่การที่ไทยผลิตสินค้าพวกนั้นได้ เราต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูง และพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรม ซึ่งเราเองก็มีปัญหาในสร้างคน เริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา ทำให้แรงงานไม่มีทักษะที่ตลาดต้องการ
นี่เป็น “ปัญหาทางโครงสร้าง”และการจะแก้มันก็ต้องใช้เวลา เราต้องเร่งผลิตแรงงานทักษะสูง หาอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์และขายได้ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหลาย
“ถ้ายังไม่แก้มันก็จะลุกลามไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวิกฤติได้”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : www.superpollthailand.net
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **