ฉะเชิงเทรา - มาแล้วเครื่องกั้นทางรถไฟบ้านแขวงกลั่น หลังเหตุโศกนาฏกรรมใหญ่ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าพรุ่งชนรถทัวร์บุญกฐิน 19 ศพ เมื่อเกือบ 4 ปีก่อน แม้ขณะนี้ยังไม่เปิดใช้งานจริงแต่สร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอย
วันนี้ (20 ก.พ.) น.ส.นฤมล คงทน หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการขนส่ง จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายวันชนะ หร่ายเจริญ ผู้ช่วยหัวหน้า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภัทรพล พรกัน วิศวกรกำกับการกองบำรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย เขต จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้ง น.ส.ภูษณิศา เชื้อปั้น ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงเมืองฉะเชิงเทรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันตรวจสอบการใช้งานเครื่องกั้นทางรถไฟที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ
และได้นำมาติดตั้งจุดตัดทางข้ามรางรถไฟ ใกล้สถานีรถไฟร้างคลองแขวงกลั่น ม.7 ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งานจริง เนื่องจากยังต้องรอการตรวจรับ และส่งมอบงานจากผู้รับเหมาให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้ ท่ามกลางความคาดหวังและดีใจของชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงซ้ำซากขึ้นอีก
หลังเมื่อวันที่ 11 ต.ค.63 ได้เกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ จากเหตุขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า (ตู้คอนเทนเนอร์) พุ่งชนรถบัสที่บรรทุกผู้โดยสารซึ่งเป็นคณะทัวร์บุญกฐินของหนุ่มสาวโรงงานจาก จ.สมุทรปราการ ที่มีจุดหมายปลายทางที่วัดบางปลานัก ใน ต.บางเตย แต่สุดท้ายไม่ทันได้ทำบุญต้องประสบอุบัติเหตุจนทำให้มีเสียชีวิตมากถึง 19 คน รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 43 คน
นายชุมพล ฟักทอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.บางเตย บอกว่ารู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อได้เห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาก่อสร้างเครื่องกั้นทางรถไฟให้ เนื่องถนนสายนี้มีรถสัญจรเป็นจำนวนมากเพราะเป็นเส้นทางลัดจากถนนสาย 34 บางนา-ตราด ผ่านด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ใน อ.บางปะกง เพื่อไปถนน 304 สุวินทวงศ์
นอกจากนั้น ยังมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะรถไฟขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และขบวนรถสินค้า
“ส่วนความล่าช้าในการก่อสร้างเครื่องกั้นรางรถไฟ ที่ปล่อยเวลาเนิ่นนานกว่า 3 ปี หลังจากเกิดเหตุร้ายแรงในพื้นที่เข้าใจว่าเขาต้องมีขั้นตอนที่าอาจจะมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลา แต่ยังดีที่ได้มาแล้ว เพราะทำให้ชาวบ้านสบายใจขึ้นเวลาเดินทางข้ามทางรถไฟ”
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.บางเตย ยังบอกอีกว่าหลังเกิดโศกนาฏกรรมใหญ่ ยังพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบริเวณดังกล่าวอีกประมาณ 2-3 ครั้ง รวมทั้งกรณีขบวนรถไฟเฉี่ยวชนคนเดินเท้า
ด้าน นางสวิง สุขสำอาง เจ้าของร้านค้าอาหารตามสั่งริมทางรถไฟ บอกว่าเจ้าหน้าที่ได้เริ่มเข้ามาก่อสร้างเครื่องกั้นรางรถไฟตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค.67 จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านรอคอยมานาน โดยเฉพาะตนที่มีร้านค้าอยู่ติดกับจุดตัดทางข้ามรางรถไฟที่พบเห็นเหตุการณ์น่าหวาดเสียวเกิดขึ้นหลายครั้ง และเกือบจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก
เนื่องจากทางรถไฟในบริเวณนี้มีถึง 3 ราง และมักจะมีรถไฟวิ่งสวนกันอยู่เป็นประจำ จึงทำให้คนข้ามไม่ทันระมัดระวังขบวนรถไฟขบวนที่ 2 ที่จะวิ่งผ่านสวนทางมา จึงขับรถข้ามไปจนเกือบเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง
ขณะที่ น.ส.ภูษณิศา ปลัดอำเภอ และนายเลอสรรค์ ผู้อำนวยกองช่าง อบจ.ฉะเชิงเทรา บอกว่าหลังการก่อสร้างเครื่องกั้นรางรถไฟแล้วเสร็จยังเหลือในส่วนงานที่ อบจ.จะต้องรับผิดชอบ คือ การจัดทำลูกระนาดรับเบอร์ซิป เพื่อเตือนผู้ใช้ทางบนผิวจราจรให้ชะลอความเร็ว รวมทั้งการจัดทำป้ายจราจรบางส่วนตามที่ทาง รฟท.ร้องขอ
“การสร้างเครื่องกั้นใช้เงินงบประมาณการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ทราบจำนวนตัวเลขที่แน่ชัด แต่การสร้างพื้นผิวจราจรบนทางข้ามเป็นโครงการของ อบจ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากสำนักงานขนส่งจังหวัด จำนวน 550,000 บาท” น.ส.ภูษณิศา กล่าว