“เอ จักรพรรดิ” จากนักธุรกิจความงาม สู่วงการความเชื่อผู้ทรงอิทธิพลที่เหล่าลูกศิษย์แห่กราบไหว้ ชวนกูรูวิเคราะห์เบื้องหลังปรากฎการณ์
จากคน “ขายสบู่” สู่ธุรกิจ “ความเชื่อ”
ก็กลายเป็นไวรัลดังให้ผู้คนถกเถียงกัน เมื่อผู้ใช้ TikTok @emperor.place เดินลงจากรถ กับพรมแดงที่ปูไว้ต้อนรับท่ามกลางผู้คนที่นั่งพนมมือไหว้
เป็นเหตุให้โซเชียลฯ สงสัยว่า “ชายผู้นี้คือใคร? ทำไมคนถึงแห่กันไปกราบไหว้” ซึ่งบุคคลที่กำลังเป็นกระแส คือ “ธนกฤต โรจนตรีภูมิ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาจารย์เอ จักรพรรคิ”
คำถามต่อมาคือ เขาคือใคร? ก่อนจะเป็น “อาจารย์เอ จักรพรรดิ”และคำตอบที่ได้คือเจ้าของธุรกิจ “ขายสบู่ผิวขาว” ซึ่งตอนนั้นเขาใช้ชื่อจริงว่า “นกฤต ผ่องใส”และแน่นอนว่าเส้นทางกว่าจะถึงทุกวันนี้ย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
เพราะก่อนจะได้เป็นนักธุรกิจ เอเคยขาดทุนจนเป็นหนี้นอกระบบ ถูกโกงหมดตัว จนเหลือเงินทั้งชีวิตอยู่แค่60 บาทแต่เขาก็ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง ด้วยการบุกธุรกิจขายสบู่ เริ่มจากการขายออนไลน์ จนปั้นแบรนด์ที่มีรายได้ต่อปีถึง 400 ล้านบาท!!
แต่สุดท้ายก็เจอ “วิกฤตเศรษฐกิจและโรคระบาด”ก็ทำให้ธุรกิจที่เคยรุ่งเรืองต้องหยุดชะงัก ก่อนค่อยๆ มีแสงสว่างนำทาง จากคำแนะนำของ “ซินแส”ที่เอนับถือ ผลักให้เจ้าตัวเริ่มผันตัวเข้ามาสู่วงการ “สายมูฯ”มากขึ้น
ต่อมาเขาก็เริ่มเปิดแผงของขลัง ของมงคลต่างๆ ให้ผู้คนได้เช่าบูชา สร้างเทวาลัยพญานาค พระพิฆเนศ เพื่อให้คนที่ศรัทธาเข้ามากราบไหว้ขอพร
และยังมีการลง “นะหน้าทอง”เพิ่มเติมทำให้ปัจจุบันคนรู้จักเขาในนาม “อาจารย์เอ จักรพรรดิ” เจ้าของบริษัท “จักรพรรดิมั่งคั่ง”ผู้สร้างมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสภายใต้ชื่อ “บ้านนีออน”
{ “เอ จักรพรรดิ” }
ความไม่แน่นอน ทำให้เกิด “ผู้วิเศษ”
ปรากฏที่ผู้คนแห่ไปไหว้ นับถือบูชา บุคคล หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ที่น่าสนใจคืออะไรทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยังคงสานต่อมาจนถึงยุคแห่งเทคโนโลยี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ต้น”-อภินันท์ ธรรมเสนาผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ช่วยวิเคราะห์เอาไว้
“ในทางมนุษยวิทยา คนเราจะดีลอยู่ 3 เรื่องเท่านั้น คือระหว่าง 1.คนกับคน 2.คนกับสังคม และอีกอย่างคือ การดีลกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจากความกลัวหรือความไม่เข้าใจ”
การตกลงกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งเรื่องฝนฟ้าอากาศ หรือความไม่แน่นอนของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอยู่เดิมทุกสังคม แต่สังเกตว่าในปัจจุบัน ปรากฎการณ์แบบนี้จะเกิดทุกครั้งเมื่อ “สังคมมีความไม่แน่นอนสูง”
“แสดงว่าในช่วงนี้คนเริ่มรู้สึกว่า เราไม่มีความมั่นคงอะไรเลย ต้องพึ่งพาอะไรพวกนี้เยอะขึ้น ในแง่หนึ่งเราเป็นสังคมที่เปราะบางมาก จนไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง เราก็ต้องเชื่อเรื่องพวกนี้ไว้ก่อน”
{ “ต้น” จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร }
“มนุษย์” เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวสูงมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่สามารถเป็นที่พึ่งได้ เราก็จะทำแม้แต่เรื่องทางใจที่ไม่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมได้ “แต่ถ้าทำให้สบายใจ เราก็จะทำไว้ก่อน อันนี้ในเชิงจิตวิทยา”
อีกเรื่องคือจุดมุ่งหมายของการ “ปฏิบัติธรรม” ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไป จากสมัยก่อนที่เป็นการทำเพื่อ“หลุดพ้น” แต่ความหมายในการ “ปฏิบัติธรรมในยุคใหม่” มันเป็นการทำเพื่อสะสมอะไรบางอย่าง
“เพื่อทำแล้วเราหวังว่ามันจะรวยขึ้น ชีวิตเราจะดีขึ้น มันเป็นการสะสมบุญ” ซึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ คนส่วนใหญ่ที่เชื่อเรื่องเหล่านี้ มักเป็นคนที่ “ฐานะดี” เป็น“ชนชั้นกลางระดับบน”
ดูเหมือนว่าจะ “ยึดถือการปฏิบัติ” มากว่าพิธีกรรมแบบชาวบ้าน อย่างเป่าน้ำมนตร์ เสกคาถา ดูเหมือนว่าจะไม่งมงาย แต่วิธีปฏิบัติก็เพื่อการสะสมบุญ “เพื่ออยากมีชีวิตที่ดีขึ้น”
มันกำลังบอกเราว่า “ชนชั้นกลาง” กำลังเจอกับปัญหา “ความไม่แน่นอนของชีวิตที่สูงขึ้น” และด้วยคนกลุ่มนี้เข้าถึงสื่อได้มาก “ฉะนั้น มันเป็นเงื่อนไขให้ความเฟื่องฟูของระบบผู้ศักดิ์สิทธิ์แบบนี้เพิ่มมากขึ้น”
“ศรัทธา” กับ ”โลกทุนนิยม”
“ผู้วิเศษต่างๆ ก็มักเกิดมาในจังหวะสังคมที่เริ่มไม่ค่อยมีความมั่นคง การเกิดขึ้นแบบนี้คล้ายจะบอกว่า ฉันสามารถช่วยคุณ คล้ายกับว่ากำลังเล่นกับความศรัทธาของคน”
เรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่คู่ทุกสังคมมายาวนาน แต่ปัจจุบัน “ศรัทธา” ถูกโยงเข้ากับ “สังคมแบบทุนนิยม” มันก็ถูกเปลี่ยนเป็นเรื่อง “ธุรกิจ”
“ต้น” ผู้เชียวชาญด้านมานุษยวิทยา อธิบายว่า เดิมความศรัทธาถูกใช้เพื่อสร้าง “อำนาจ” และ ”บารมี” เมื่อมาอยู่ในโลกปัจจุบัน “บารมีอันนั้นมันสามารถแปลเป็นเงินได้ด้วย”
“ทุนความเชื่อ มันแปลเป็นทุนทางเศรษฐกิจได้ คนบางกลุ่มก็จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จากความเชื่อของคนได้เช่นกัน”
ไม่ใช่แค่เรื่อง “การทรงเจ้า-เข้าผี” ถ้าเรามองให้ไกลนั้น ก็ยังมีเรื่อง “พุทธพาณิชย์” “หมอดู” อย่าง การดูดวง แก้ชง ทั้งหมดนี้ “ความเชื่อ” มันก็กลายเป็นเรื่อง“เงิน”
“ในกรณีของอาจารย์เอ เราจะเห็นว่าแต่ก่อนเขาก็เป็นคนธรรมดา แต่วันหนึ่งเขาก็ใช้ทุนทางความเชื่อ ในการเป็นผู้ทรงศีล เขาก็แปลตรงนี้เป็นทุนทางเศรษฐกิจได้ และที่สำคัญกว่านั้น เขาขยับไปเป็นทุนทางสังคมได้อีก”
“ทุนทางสังคม” คือเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์” ในอนาคตเขาก็จะมีเครือข่ายเยอะขึ้น คนที่รายล้อมตัวเขาก็จะมีคนฐานะดีขึ้นเรื่อยๆ เขาก็จะมีโอกาสเข้าต้นทุนทางสังคมเหล่านี้ด้วย
“เรื่องนี้มันไม่ใช่ของใหม่ พระอาจารย์ดังๆ ในเมืองไทยก็รายล้อมไปด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ที่เข้าไปเป็นลูกศิษย์ และวัดนั้นก็จะไปรับการบูรณะอย่างดี หรือพระรูปนั้นอาจจะได้เลื่อนชั้นยศ เพราะว่ามีผู้ใหญ่ไปกราบไหว้บูชา”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “เอ จักรพรรดิ”, TikTok @emperor.place
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **