xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนไทย “สายมู” สูญเงินกันไปเท่าไหร่ กว่าจะรัฐคุม “เครื่องราง-ของขลัง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ผลสำรวจเผยตัวเลข “ประชากรสายมู” มีจำนวนกว่า 52 ล้านคน หรือคิดเป็น 74% ของคนทั้งประเทศ นับเฉพาะธุรกิจเครื่องราง – ของขลัง มีเงินไหลเวียมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี 

อ้างอิงผล “สำรวจพฤติกรรมคนไทยสายมูเตลู” ของบริษัท Lucky Heng Heng ชี้ชัดว่าคนไทยส่วนมากสายมู ผลสำรวจเผยว่าประชากร 52.5 ล้านคน หรือ 75% เชื่อในเรื่องดูดวง แบ่งสัดส่วนตามเจเนอเรชั่น อันดับ 1 กลุ่ม Gen Y คิดเป็น 43.4%, อันดับ 2 กลุ่ม Gen Z คิดเป็น 21.6%, อันดับ 3 กลุ่ม Gen X คิดเป็น 17.4% และอันดับ 4กลุ่ม Baby Boomer คิดเป็น 6.7%

ขณะที่ข้อมูลจาก LINE ประเทศไทย เปิดอินไซต์พฤติกรรมผู้ใช้รวมกว่า 53 ล้านคนตลอดปี 2565 เปิดเผย 5 บริการมูเตลู ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 ดูดวง คิดเป็น 68.1%, อันดับ 2 ทำบุญ คิดเป็น 57.9%, อันดับ 3 เครื่องราง คิดเป็น 42.8%, อันดับ 4 สีและเลขมงคล คิดเป็น 36.9%, อันดับ 5 ผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดเป็น 27.5%

นอกจากนี้ ข้อมูลอินไซต์จากงานสัมมนา “Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น” โดยวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยนิยมมูเตลู ผลสำรวจระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องโชคลาง 5 อันดับความเชื่อโชคลางที่มีผลต่อคนไทยมากที่สุด คือ 1.พยากรณ์ โหราศาสตร์ ลายมือ ไพ่ยิปซี, 2.พระเครื่องวัตถุมงคล, 3.สีมงคล 4,ตัวเลขมงคล และ 5.เรื่องเหนือธรรมชาติ รวมทั้ง โลกดิจิทัลทำให้ช่องทางการเช็คดวงเช็คโชคลาง สามารถผ่านโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมาแรงเป็นอันดับหนึ่ง

จะเห็นว่าตลาดมูเตลูเมืองไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยเพราะความเชื่อในเรื่องของโชคลางนั้นเป็นผลมาจากสภาวะตึงเครียด ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เครื่องราง -ของขลัง จึงกลายมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจจึงเป็นตัวช่วยในการดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจของใครหลายคน

ขณะที่ภาคธรุกิจในไทยจับกระแสเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องโชคลางขลัง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เอาใจตลาด “สายมู" หรือ “มูเตลู” มีการผลิตวัตถุมงคลดีไซน์ร่วมสมัย จำพวกเครื่องประดับมงคลต่างๆ ให้เลือกซื้อหามาสวมใส่เพราะความเชื่อในโชคลางปฏิหาริย์ ทั้งเป็นการเสริมดวงและเสริมบุคลิกภาพ รวมทั้ว จำพวกเครื่องรางของขลังจากเกจิดังหรือวัดดังต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อนพุทธพาณิชย์เบ่งบานมาตลอดหลายปี

และปฏิเสธไม่ได้ว่า “เครื่องราง-ของขลัง” ผลิตภัณฑ์ที่ขายความเชื่อความศรัทธาบางอย่าง มีการปั่นกระแสทำให้ราคาพุ่งสูง กอบโกยกำไรบนพื้นฐานความเชื่อความศรัทธาประชาชน มีการอวดอ้างพุทธคุณสูงเกินจริง จวบจนในที่สุดภาครัฐมองเห็นถึงปัญหาและเข้ามาจัดการเพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้บริโภคสายมู

 นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์  เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่ามีการเตรียมออกร่างกฎหมายเข้ามาควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง อย่างจริงจัง หลังจากที่ผ่านมาพบว่าการขายสินค้าดังกล่าวมีการอวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง เช่น เสริมโชคลาภบารมี หรือทำให้หายจากการเจ็บปวด ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และเป็นอันตรายจากการใช้สินค้าและบริการดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการจากการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการจึงจำเป็นต้องมีกฏหมายเข้ามากำกับดูแล

โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกกฎหมายฉบับรองเป็นร่างกฎกระทรวง เพื่อนำมาใช้ควบคุมการโฆษณาขาย เครื่องรางของขลัง หรือให้บริการผ่านสื่อต่างๆ โดยที่ผ่านมา มีการโฆษณาอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่มักใช้ข้อความที่ยากต่อการพิสูจน์ อวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง เช่น เสริมโชคลาภบารมี หรือทำให้หายจากการเจ็บปวด จนทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและได้รับความเสียหายหรืออันตรายจากการใช้สินค้าหรือบริการดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันหรือระงับยับยั้งไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบหรืออาจเกิดอันตรายกับผู้บริโภค ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการจากการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง หรือให้บริการ สคบ. จึง ยกร่างกฎมายเข้ามาควบคุมการโฆษณาขายเครื่องราง ของขลัง ขึ้น

ล่าสุด สคบ. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. ....” โดยเนื้อของร่างกฎกระทรวง กำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. ....

 สาระสำคัญคือ ให้คำว่า “เครื่องราง” หมายความว่า สิ่งของหรือวัตถุที่โฆษณาว่าเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันอันตรายหรือทำให้รอดปลอดภัย และ “ของขลัง” หมายความว่า สิ่งของหรือวัตถุที่โฆษณาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีพลังหรือมีอำนาจบันดาลให้สำเร็จผลดังประสงค์ และคำว่า “บริการ” หมายความว่า การรับจัดทำการงาน หรือกระทำการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อื่น ที่โฆษณาว่าทำเพื่อคุ้มครองป้องกันอันตราย หรือทำให้รอดปลอดภัย หรือทำเพื่อให้มีความศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้สำเร็จผลดังประสงค์ เป็นข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม 

ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้ข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการ ที่เชิญชวนหรือชักจูงให้ผู้บริโภคซื้อเครื่องราง ของขลัง หรือรับบริการ โดยอาศัยความเชื่อหรือศรัทธาส่วนบุคคลของผู้บริโภคซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักเหตุผลหรือกระบวนการพิสูจน์ที่เป็นที่ยอมรับ ดังต่อไปนี้ 1) ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าสามารถป้องกันหรือบรรเทาอันตราย หรือทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ 2) ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้ได้มาซึ่งคนรักของรัก หรือทำให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลอื่นฝ่ายเดียวหรือทำให้เกิดผลดีแก่ตนเองฝ่ายเดียว หรือทำให้สามีหรือภรรยาหรือคนรักกลับมาคืนดีกัน 3) ข้อความที่สื่อสารในลักษณะทำนองว่าทำให้มีโชคลาภจากการพนัน หรือสามารถทำให้หลุดพ้นจากความยากจนหรือทำให้เกิดความร่ำรวยหรือความโชคดี

สำหรับรัฐบาลไทย มองเห็นปรากฎว่าการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ ความศรัทธา หรือที่นิยมเรียกว่าเที่ยวแบบมูเตลูได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในระยะหลายปีที่ผ่านมา สร้างโอกาสทางธุรกิจในท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมีความจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งที่พัก อาหาร บริการนำเที่ยว การขายของที่ระลึกต่างๆ

 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ากระแสเที่ยวแบบมูเตลูได้รับให้ความสนใจทั้งจากทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ส่งผลให้มีการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่ๆ เกิดกระแสในสังคมมีการชักชวนกันไปกราบไหว้ขอพร การท่องเที่ยวแบบมูเตลู จะมีลักษณะเป็นการท่องเที่ยวเพื่อขอพร บนบาน ชมสถานที่สำคัญ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงการบูชาเครื่องรางของขลัง ซึ่งถือเป็น Soft Power ที่หลายประเทศใช้ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรม และในส่วนของไทยก็มีศักยภาพ เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ที่มีประวัติความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานอยู่จำนวนมาก

 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2562 พบว่ามูลค่าการท่องเที่ยวสายบุญ “มูเตลู” นั้น สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากถึง 10,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ

ขณะที่รายงานของ Future Markets Insight ระบุว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาของทุกประเทศทั่วโลกปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นถึง 4.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2576 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าตัวภายในระยะเวลา 10 ปี 

กระแสมูเตลูเป็น Soft Power ของไทย นอกจากผลักดันให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวสายสูกระตุ้นเศรษฐกิ สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจนับหมื่นล้าน ขณะเดียวกัน ธุรกิจเครื่องราง – ของขลัง มีเงินเวียนกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 สุดท้ายแล้วเป็นความเชื่อส่วนบคุคล ศรัทธาได้แต่ต้องไม่หลงเชื่อด้วยความงมงาย สำหรับการทำคลอดกฎหมายคุมเข้มโฆษณา “เครื่องราง-ของขลัง” เรียกว่าเป็นการคุมครองผู้บริโภคสายมู ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหากินกับความเชื่อ 





กำลังโหลดความคิดเห็น