xs
xsm
sm
md
lg

พลิกตำนาน “พระนางพญา” หนึ่งในเบญจภาคีเนื้อดิน-เข่าโค้ง ส่งแรงกระเพื่อมกรุแตกเกลื่อนเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - เปิดตำนาน..“พระนางพญา” หนึ่งในเบญจภาคี อิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่มีแต่สายอนุรักษนิยม จนถึงยุค “นางพญาเข่าโค้ง” ที่ส่งแรงกระเพื่อมกรุแตกเกลื่อนเมือง ส่วนสมัย "พระองค์ดำ-สมเด็จพระนเรศวร" ต้องนับ “พระเครื่องขุนแผนเคลือบ-อยุธยา ขุนแผนกรุบ้านกร่าง-สุพรรณบุรี” เป็นสุดยอด


“พระนางพญา” เป็น 1 ใน 5 พระเบญจภาคีเนื้อดิน ตำนานยุคแรกสุด คือ พระมารดาของพระนเศวร หรือพระวิสุทธิ์กษัตรีเป็นผู้สร้างพระนางพญาอันลือลั่น

แต่หากย้อนอดีตลึกไปกว่านั้น..นายทัศนัย กุลสุวรรณ หรือครูชา เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระสมเด็จโต พรหมรังสี พิษณุโลก เลขที่ 95/6 ถนนสิงหวัฒน์ ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก บอกว่า เซียนพระหลายคนมักไม่พูดถึง ไม่นิยม ไม่มีในสารบบสายพุทธพาณิชย์

แต่สายอนุรักษ์กล่าวไว้ว่า พระนางพญา มีมาตั้งแต่ยุคพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งทำพระเครื่องจากกระดูกช้างและขาช้าง ถัดมายุคพ่อขุนบางกลางท้าว เรียกว่า..นางพญายุคนครไทย หรือพระนางพญาวัดกลาง อ.นครไทย พิษณุโลก รูปทรงสามเหลี่ยมเนื้อสีเขียวๆ พอมีหมุนเวียนบ้าง

“ครูชา” ระบุว่า พระนางพญาเนื้อดิน เริ่มจากปี พ.ศ. 2120 พระมหาธรรมราชาปกครองสยามประเทศ พระวิสุทธิกษัตรีย์ เป็นมเหสี ทรงริเริ่มให้ฤษีเป็นผู้สร้างพระนางพญา เนื่องจากถูกพม่าล้อมเมือง จึงต้องหาเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ โดยนำทรายท้องแม่น้ำ ผสมว่าน-เกสรดอกไม้ เหมือนแร่ศักดิ์สิทธิ์ ลอยเห็นเด่นชัดรูปทรงสามเหลี่ยมในองค์พระ ทำพิธีปลุกเสก พระพญาในยุคแรกระหว่างศึกสงคราม

ลักษณะเด่น คือ มีเส้นบริเวณคอพิมพ์พระเครื่องนางพญา 3 เส้นด้วยกัน เรียกง่ายว่า “นางพญา สิงหรานี” ถือว่าหายากมาก เพราะสร้างจำนวนไม่มาก ไม่ถึง 1 ธรรมขันธ์ หรือ 84,000 องค์ เดิมราคาว่ากันที่หลักล้าน แต่ปัจจุบันหลักแสนถือว่าเพียงพอในเศรษฐกิจยุคนี้

เล่าขานต่อๆ มากันถึงกรุแตกครั้งแรกที่ "วัดนางพญา-วัดราชบูรณะ" ข้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร หรือวัดใหญ่ ครั้งที่พุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกได้มีการทูลถวายพระนางพญาและยังแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารอีกด้วย

ถัดมาอีกยุค เป็นการสร้างพระในยุคพระเอกาทศรถ ปี พ.ศ. 2153 เป็น “นางพญาเข่าโค้ง” ลักษณะเด่นคือ มีเส้นคอขีดบางๆ 2 ขีด ยุคนี้ถือว่าสงครามสงบ มีไพร่พลทหารเป็นคนสร้างพระเพื่อทำนุบำรุงศาสนา กดพิมพ์พระเครื่องนางพญา บรรจุลงเจดีย์หลายธรรมขันธ์ ไปยังวัดหลายแห่งทั่วพิษณุโลก ถือเป็นพระแท้ตรงยุค-ตรงพิมพ์ นิยมเช่าครอบครองในสายพุทธพาณิชย์ ราคาพุ่งหลักแสนหลักล้านจนคนธรรมดาๆ แทบจับต้องไม่ได้

กระทั่งไม่นานนี้เกิดผลสืบเนื่อง..วัดหลายแห่งในพิษณุโลกหยิบยกตำนานครั้งเก่า เล่าขานพระกรุแตกในวัดหลายแห่งทั่วเมืองพิษณุโลก แม้ว่าเซียนพระตรวจเช็กแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ถึงยุค แต่เป็นเพียงกระแสตื่นตูมรุมแห่ พาเงินเข้าวัดไม่น้อยในห้วงที่ผ่านมา

กล่าวถึง พิมพ์นางพญาแท้ๆ ยังพบว่าสร้างในยุครัชกาลที่ ๑, ๒, ๓ หลายธรรมขันธ์ เรียกได้ว่า นางพญายุครัตนโกสินทร์ แต่บรรดาเซียนพระมักไม่เล่น เนื่องจากรูปพิมพ์ไม่เหมือนยุคแรก สร้างกันจำนวนมาก ราคาไม่แพง อยู่ที่หลักพันบาท เนื่องจากพระเครื่องอายุประมาณเพียง 200 ปีเท่านั้น

เจตนาสร้างนางพญาเพื่อสืบทอดพุทธศาสนาต่อเนื่องถึงยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมา เป็นการสร้างบรรจุกรุเจดีย์ตามวัดต่างๆ บ้างก็นำพระกรุแตกในยุคต้นๆ เอาออกไปและสร้างพระนางยุคใหม่บรรจุกรุแทน หากมีรอยนิ้วมือกด ประเมินเบื้องต้นว่าเป็นพระสร้างในยุคหลังๆ

ย้อนกลับมา พ.ศ. 2133 ยุคสมัยพระนเรศวร กลับเมืองสยามประเทศ หลังจากเป็นเชลยที่พม่า โดยมีน้องหรือพระสุพรรณกัลยา สลับการแลกตัว แต่พอเห็นเมืองสองแควพังบูรณะไม่ไหว และเดินทางไปอยุธยาพบพระมหาธรรมราชา (พระบิดา) จากนั้นปี 2134 ได้รวบรวมพล เกณฑ์เป็นทหารชาย ไปยังวัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี เพื่อฝึกซ้อมการรบ และชนะศึก ทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชสำเร็จ จึงสร้างพระเป็นที่ระลึก

ปี 2135 สมเด็จพระนเรศวรได้สร้างเมืองสุพรรณให้รุ่งเรือง ตั้งป้อมปราการ สงครามพม่าและอยุธยาไม่มีการรบพุ่งประจัญบานเหมือนเดิม พระนเรศวรดำริให้พระพนรัตน์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระนเรศวร สร้าง "พระธรรมราชา" โดยตั้งใจทำแบบพิมพ์เป็นพระทรงธรรมราชาหรือพระบิดาพระนเรศวร ลักษณะซุ้มครอบด้านบน แต่ยุคหลังๆ กลับเรียกว่า "พระขุนแผน" แทน

นอกจากนี้ยังนำมวลสารผสมลงไปในองค์พระ ลักษณะน้ำยาสีคล้ำๆ เคลือบผิวป้องกันไว้ เรียกในยุคหลังๆ ว่า ขุนแผนกระเบื้องเคลือบอันโด่งดัง จัดสร้างปลุกเสกที่ "วัดป่าแก้ว" หรือวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันถือเป็นพระเครื่องยอดนิยม ราคาเช่าซื้อหากันหลักล้านบาท เนื่องจากยุคนั้นมีกำลังทหารน้อย กดแบบสร้างพระไม่มาก อาจเรียกว่าไม่ครบ 1 ธรรมขันธ์ด้วยซ้ำ

ส่วน “ขุนแผน วัดบ้านกร่าง ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี” ระบุว่าเป็นสถานที่ค้นและพบขุนแผนกรุวัดบ้านกร่าง (กรุแตกในปี 2447) ตำนานปี พ.ศ. 2145 ยุคที่บ้านเมืองสงบสุข สมเด็จพระนเรศวรดำริให้พระมหาเถรคันฉ่อง หรือพระพนรัตน์ สร้างขุนแผนพลายคู่ หรือ ขุนแผนพลายคู่ตัดเดี่ยว และอีกหลายพิมพ์ เพื่อทำให้คนในชาติรักกัน กดพิมพ์พระพุทธปางมารวิชัย มีซุ้มครอบ

บางตำนานสันนิษฐานว่าขุนแผนอาจสร้างปลุกเสกที่วัดเถรพลาย ที่อยู่ไม่ห่างกันนัก เนื่องจากปี 2146 เกิดโรคห่าระบาดและวัดบ้านกร่างเป็นสถานที่รวมพลและเป็นสนามรบ

อย่างไรก็ตาม คำว่า "ขุนแผน กรุบ้านกร่าง" นั้นกลายเป็นตำนานพระชื่อดังไปแล้ว ไม่ว่าจะสร้างพระขุนแผนวัดใด หากผู้ใดครอบครอง "ขุนแผนกรุบ้านกร่าง" วัตถุมงคลเก่าแก่ยุค "พระองค์ดำ" เชื่อกันว่าย่อมมีพุทธคุณ รุ่งเรืองการเงิน-การงาน คงกระพันชาตรี เสน่ห์มหานิยม
กำลังโหลดความคิดเห็น