xs
xsm
sm
md
lg

ย้าย “อุเทนถวาย” ไม่ช่วยลดตีกัน ถ้าไม่หยุดวัฒนธรรม “ล่อง-ล่า สถาบันอริ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คงไม่จบง่ายๆ ปมย้าย “อุเทนถวาย” ออกจากพื้นที่ของ “จุฬาฯ” นายกฯ บอกจำเป็นต้องย้าย เพื่อลดการตีกัน? ส่วนจะแก้ได้แค่ไหน ต้องเจาะลึกไปตั้งแต่เหตุผลที่ “อาชีวะไทย” ทำไมถึงตีกัน?

จำเป็นต้องย้าย ลดการตีกัน?

จากมหากาพย์ปมเรื่องที่ดินของ “อุเทนถวาย”กับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”เจ้าของพื้นที่ใจกลางเมืองกรุง ซึ่งมีคำสั่งให้ทางอุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ เหตุปัญหานี้ยืดเยื้อมาหลายสิบปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนทุกวันนี้ ขอพิพาทก็ยังไม่จบ
ล่าสุดมีการรวมตัวกันของ “บรรดาศิษย์อุเทนถวาย” ออกมาเดินขบวนคัดค้านคำสั่งย้ายจากพื้นที่เดิม ส่งให้เรื่องนี้ดูจะต้องยืดเยื้อกันต่อไปอีก

ที่น่าสนใจคือ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการตั้งกระทู้ถามนายกฯ จนได้คำตอบว่า การย้ายครั้งนี้จำเป็น “เพื่อลดเหตุตีกัน”ระหว่าง 2 สถาบันคือ “อุเทนถวาย” กับ “เทคโนโลยีปทุมวัน”


                                                      {การเดินขบวนของ “อุเทนถวาย”}

แน่นอนนอกจากอุเทนถวาย จะเป็น “สถาบันอาชีวะ” ที่อยู่คู่กับเมืองไทยมานาน และคนที่จบจากที่นี่ ก็เป็นที่ยอมรับในวงการสายงานอาชีพ แต่เรื่องหนึ่งที่จะเป็นข่าวคู่ขนานกันกับชื่อเสียงคือ “เหตุการณ์ยกพวกตีกัน”

อย่างเมื่อปีที่แล้วก็มีเหตุการณ์ นักศึกษาอุเทนถวาย ถูกโรงเรียนคู่อริไล่ยิง จนอาการสาหัสและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แต่เรื่องน่าเศร้ายังไม่หมด เพราะจากเหตุไล่ยิงครั้งนั้นเอง ส่งให้ครูจากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ถูกลูกหลง กระสุนเข้าหน้าผาก เสียชีวิตทันที

การย้ายไม่ให้สถาบันอยู่ใกล้กัน จะช่วยลด “เหตุยกพวกตีกัน” ได้จริงหรือ? เพราะที่ผ่านมาหลายคนคงเคยเห็นกันมาแล้วว่า เหล่านักเลงประจำสถาบันเหล่านั้นจะมีการ “ล่อง” ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปตระเวนหาโรงเรียนคู่อริ หรือ การออกล่าโจทย์ ในวันสถาปนาโรงเรียน



เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้น ทางทีมข่าวจึงขอให้ ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ช่วยวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้ปัญหานักเรียนอาชีวะ ตีกันยังคงไม่หมดไปจากประเทศไทย

คำตอบคือถ้าอยากจะเข้าใจปัญหานักเรียนอาชีวะตีกัน ต้องมองเรื่องนี้เป็น 3 ชั้น ชั้นแรกคือ “ความรุนแรงทางกายภาพ”ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นกันชัดที่สุด อย่างการยกพวกไล่ฟัน ไล่ยิงกัน

“แต่ที่อยู่ข้างใต้ มันเป็นความรุนแรงอีก2ชั้น คือชั้นโครงสร้าง และชั้นทางวัฒนธรรม”

มองลึกลงมาที่ชั้นที่ 2 อย่างโครงสร้างคือ “โครงสร้างสังคม” ความยากจน สภาพแวดล้อมที่ไม่ดีที่เด็กโตมา และพื้นฐานของครอบครัว พ่อ-แม่ ไม่มีเวลา ขาดความรัก-ความอบอุ่น และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

                                    {“ดร.ชลัท” นักวิชาการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลฯ}

“ความรุนแรงที่เขาเห็น ในชุมชน ในบ้านที่เห็นพ่อ-แม่ ทะเลาะกัน ตีกัน เขาเห็นสิ่งนี้ซ้ำๆ ทุกวัน พอเขาเห็นแบบนี้เขาก็เอาไปใช่กับที่อื่นด้วย เพราะมันเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ”

เมื่อเข้าไปในสถาบัน ทั้งหมดเหล่านี้ก็จะไปรวมกับ ชั้นที่ 3 “การปลูกฝังวัฒนธรรมความเชื่อ” เรื่อง ศึกแห่งศักดิ์ศรี ศัตรูของสถาบัน มันก็กลายเป็นความคิดที่ว่า “เราเป็นศัตรูกัน ถ้าเราไม่ทำเขา เขาก็ทำเรา”

“ศัตรู” จาก “การปลูกฝัง”

ปัญหายืดเยื้อนี้ส่วนหนึ่งเริ่มจาก“ครอบครัว”แต่ปัจจัยหลักของการ “ตีกันระหว่างสถาบัน”คือ “การปลูกฝังความเกลียดชัง”จากรุ่นพี่โดยใช้ “ระบบรับน้อง” หรือ “โซตัส”

“การรับน้องก็มีความเข้มข้นต่างกัน ในมหาวิทยาลัยอาจจะเบาบางกว่า ระบบโซตัสก็ถูกใช่ในอาชีวะด้วย ซึ่งมันก็จะเข้มข้นกว่า”

เหล่ารุ่นพี่ก็จะถ่ายทอดความเชื่อเรื่องศักดิ์ศรี “นี่เป็นสถาบันของเรานะ สถาบันที่เรารัก”มีการจับคู่กับว่า สถาบันเราเป็นศัตรูกับใครบ้าง แต่การปลูกฝังแบบนี้ไม่ได้มาจากตัวสถาบัน “เป็นแค่จากคนบางคนบางกลุ่มเท่านั้น”

“เป็นกลุ่มที่เรียนไม่จบนะ เป็นกลุ่มที่ไม่ดี แต่บังเอิญว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพลัง มีอิทธิพลสูง และสังเกตว่าเด็กเขาจะฟังมากกว่าพ่อ-แม่ เด็กเขาจะฝังรุ่นพี่มากกว่าครูอาจารย์”

ถ้าถามว่าทำไมเด็กถึง “เชื่อรุ่นพี่มากกว่าพ่อ-แม่” ก็ต้องย้อนกลับที่ “พื้นฐานของครอบครัว” เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อครอบครัวให้ความรักเขาไม่ได้ เขาก็จะเลือกอยู่กับกลุ่มที่เขาคิดว่า รักเขามากกว่าอย่าง “เพื่อน” หรือ “รุ่นพี่”



และอีกอย่างเด็กเหล่านี้คือ “วัยรุ่น” เป็นกลุ่มที่ต้องการ “การยอมรับ” เมื่อเขารู้สึกว่าครอบครัวไม่เห็นค่าในตัวเขา แต่พอไปอยู่กลับกลุ่มเพื่อน เวลาเขาสามารถจัดการสถาบันอริได้ ยึดหัวเข็มขัด เสื้อช็อป “ทุกก็ปรบมือยอมรับ”

“ตรงนี้ก็ยิ่งเป็นแรงเสริม ถ้าอยากได้การยอมรับจากรุ่นพี่ ก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ แล้วคุณจะได้รับการยอมรับ”

“ดร.ชลัท” ยอมรับว่า วัฒนธรรมการปลูกฝังแบบนี้ เป็นเรื่องที่แก้ยากที่สุด ต้องไม่ให้มีการรับน้อง ประชุมเชียร์ ในสถาบัน และต้องมีเครือข่ายติดตามเฝ้าระวังว่า เขาแอบไปทำกันที่ไหน ซึ่งก็ยาก เพราะมันอยู่นอกโรงเรียน

การแก้ปัญหาการยกพวกตีกันของอาชีวะ ต้องเริ่มจากข้างในก่อน คือ “ตัวสถาบัน” ครูและผู้บริหารในโรงเรียน ศิษย์เก่า ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสถาบัน หากมีเหตุรนแรงเกิดขึ้น ก็ต้องหาคนทำมาให้ได้

“อันนี้เด็กเราทำนะ ต้องบอกตำรวจอย่าไปปิด ต้องประชุมกันระหว่างสถาบัน ทำผิดจริงก็ไม่ละเว้น ต้องแจ้งตำรวจ ดำเนินคดีไปตามกระบวนการยุติธรรม”



อีกอย่าง “ตำรวจเองก็ต้องจริงจัง” ถ้าเกิดมีการก็เหตุแล้ว กระบวนการยุติธรรมมาช้า เด็กเขาก็จะทวงความยุติธรรมด้วยตัวเองคือ “การออกไปล่าล้างแค้น”

ปัญหานี้นั้นต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ตัวสถาบัน กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาล หรือตัวกฎหมาย เพราะนี้เป็นเรื่องของเยาวชนที่ต่ำกว่า 18 ไหม จะมีปัญหาทางสังคมอย่างเรื่องครอบครัวอีก

“จะเอาตรงไหนก่อน ผมคิดว่ามันก็เลยต้องเป็นวาระแห่งชาติ ในการเข้ามาดูแลร่วมกัน”

การยกพวกตีกันและระหว่างสถาบันอาชีวะ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลฯ บอกว่า “จะแก้ให้หายขาดคงเป็นไปไม่ได้” เพราะมันอยู่กับสังคมไทยมานาน แต่มันสามารถทำให้บรรเทาเบาบางได้ หากเราจริงจังและทำอย่างต่อเนื่อง

ถ้าเอาจริงเอาจัง สังเกตว่าเหตุเกิดที่หนักๆ จะหายไปหลายปีเลย เพราะว่ามีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสถาบัน มีความต่อเนื่อง แต่บางช่วงมันหายไปไงครับ พอมันหายไป เหตุมันก็เกิดต่อเนื่องอีก”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น