“ชวน” ตั้งกระทู้ถามสดปัญหาย้ายอุเทนถวาย จี้ นายกฯ-กระทรวง อว.แจงปมงดรับ นศ.ปี 1 จัดหาพื้นที่ใหม่หลังคืนที่ดินให้ จุฬาฯ ชี้ อย่าเอาปัญหาจากไม่กี่คนทำลายความสำคัญของสถาบัน แนะ “เศรษฐา” ลงมาคุมจัดหาพื้นที่ด้วยตนเอง เน้นสมศักดิ์ศรี-ทันสมัย พร้อมขอให้เด็กปี 1 ได้เรียนที่เดิมระหว่างรอย้าย ด้าน นายกฯ รับห่วงปัญหานักศึกษาวิวาท 2 สถาบัน กำชับฝ่ายมั่นคงดูแลเป็นพิเศษ รับปากดูแล-ยกระดับ-จัดหาสถานที่ให้เหมาะสม ขณะที่ “รมว.อว.” เปิด 4 พื้นที่รองรับ ยันยังเปิดรับ นศ.ปี 1 แต่ปรับแผนรองรับไปที่วิทยาเขตอื่น เร่งผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำงบฯ
วันนี้ (8 ม.ค.) นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาจากนโยบายการแก้ปัญหาเทคโนโลยีราชมงคลอุเทนถวาย กับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ว่า ตนได้รับมอบหมายจากพรรค เนื่องจากเห็นว่าตนได้เกี่ยวข้องกับ 2 สถาบันนี้ มาตั้งแต่ต้น จากที่ได้เป็น รมว.ศึกษาฯ ได้ให้การสนับสนุนมาตลอด ตั้งแต่ 2 สถาบันยังสังกัดอาชีวศึกษา สอนระดับ ปวส. และช่วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แก้กฎหมายให้สอนระดับปริญญา สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สองสถาบันนี้ เป็นสถาบันหลักของชาติ ที่สร้างช่างฝีมือเยี่ยมนับแสนรายเป็นเวลานับร้อยปี ที่รับใช้บ้านเมือง เราต้องไม่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนไม่กี่คนทำลายความสำคัญของสถาบันเหล่านี้
นายชวน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนมีความกังวลจากการรายงานของผู้จัดการออนไลน์ ว่า น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สั่งให้งดรับสมัครนักศึกษาปี 1 มั่นใจสามารถแก้ปัญหาได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 สถาบัน โดยมั่นใจว่า จะสามารถแก้ไขได้ภายในปีนี้ และยังพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรี ว่า ได้แสดงความเป็นห่วง และกำชับให้เร่งทำ ซึ่งผลคือสิ่งที่สั่งไปอาจเพื่อให้จำนวนนักศึกษาลดน้อยลง เพื่อแก้ปัญหาง่ายขึ้น และความขัดแย้งระหว่างสถาบันอาจจะน้อยลง ส่วนการโยกย้ายตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่ให้คืนที่ดินให้จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และหาที่ใหม่นั้น ก็เข้าใจว่า ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตนก็สนับสนุน และให้กำลังใจ แต่หากจะงดรับนักศึกษาปี 1 ผลคือสถาบันจะไม่สามารถให้นักศึกษาจำนวน 600 คน เข้ามาเรียนได้ จะเป็นการสูญเสีย และในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีคำสั่งให้งดรับนักศึกษา ไม่ว่าสถานการณ์ชาติบ้านเมืองจะมีสงครามหรือเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น อย่างมากสุดส่งไปเรียนที่ไม่มีปัญหาเหมือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอดีต
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ รมต.ได้เปลี่ยนแนวคิดว่ายังคงรับนักศึกษาปี 1 โดยมีข้อแม้ว่าจะให้ไปเรียนตามวิทยาเขตต่างๆ จึงมีคำถามตามมาว่า ในส่วนของนักศึกษาปีอื่นๆ จะต้องย้ายด้วยหรือไม่ จึงต้องถามว่า ประเด็นเรื่องการสั่งงดรับนักศึกษาใหม่ตกลงรับหรือไม่รับ หากรับแล้วเรียนที่ไหน รวมถึงนักศึกษาปีอื่นๆ จะทำอย่างไร เพราะที่ระบุไว้มี 3 แห่ง บางแห่งก็อยู่ไกล เช่น จันทบุรี หากนักศึกษาที่อยู่ กทม.จะขอไปเรียนที่อื่นได้หรือไม่ จึงขอให้นายกฯทำให้เกิดความกระจ่าง และชัดเจน เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง และการย้ายสถาบันไปที่อื่นได้เตรียมสถานที่ และงบประมาณแล้วหรือไม่
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ไม่น้อย เพราะในฐานะที่เป็นพ่อของคน เห็นปัญหาเรื่องยกพวกตีกัน และทราบความรู้สึกของพ่อแม่ ญาติพี่น้องของผู้เป็นเหยื่อ ก็รู้สึกสะเทือนใจ และรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ และตระหนักดีว่า 2 สถาบันนี้ มีอายุยาวนาน และทำประโยชน์ให้ประเทศชาติเหลือล้น เพราะตอนตนไปหานักลงทุนต่างประเทศ เรื่องการผลิตช่าง หรือวิศวกรเป็นเรื่องที่ต่างประเทศต้องการอย่างมาก จากที่เราต้องมีการลงทุนข้ามชาติ หากไม่มี 2 สถาบันนีี้ ก็ไม่ตรงกับสายงานที่บริษัทใหญ่ๆ ต้องการ และยังเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ประชาชน จึงยืนยันจะให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่เรื้อรังมานานมากแล้ว จากปัญหาที่มีระยะทางใกล้กัน เราพยายามย้ายวิทยาเขต โดยหารือกับกรมธนารักษ์เพื่อสรรหาพื้นที่
ส่วนปัญหาเรื่องตีกัน ทาง รมต.อว. ก็มีการเก็บข้อมูลการศึกษาเพื่อใช้ในการติดตามกรณีที่มีการทะเลาะวิวาทในอนาคต เช่น ตั้งศูนย์แจ้งเหตุ และเฝ้าระวังระงับเหตุร้ายในสถาบัน โดยกำชับฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็อยู่ในบริเวณนี้ด้วยว่าให้เพิ่มกำลัง และดูแลเป็นพิเศษ
”เหล่านี้เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือและป้องกันเท่านั้น แต่ไม่ได้แก้ที่วัฒนธรรมที่เป็นเรื่องใหญ่ ความเชื่อที่สืบทอดกันมาเป็นค่านิยม แต่ยืนยันว่า เป็นค่านิยมที่ผิด ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราต้องตัดปัญหาด้วยการย้ายไปเรียนที่อื่น ก็จะลดการกระทบกระทั่งของ 2 สถาบันนี้ และย้ายการเรียนการสอนออกนอกบริเวณและปรับลดค่านิยม ลดการกระทบกระทั่งระหว่างรุ่นพี่ที่เป็นแกนนำ ตัดวงจรที่สืบทอดวัฒนธรรมที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง และกำชับกระทรวง อว.ให้ทำงานต่อไป” นายกฯ กล่าว
ด้าน น.ส.ศุภมาส รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้แจงว่า เรื่องการงดรับ นศ.ปี 1 เป็นความสับสนในการสื่อสาร ยืนยันว่า อุเทนถวายยังคงรับนักศึกษาเหมือนเดิม แต่ให้มีการบริการจัดการการเรียนการสอนให้สอดรับกับแผนการย้ายสถานที่ โดยได้ทำแผนการย้ายเข้าที่ประชุมแล้ว เป็นข้อเสนอของที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ย้ายสถานที่ไป 3 ตัวเลือก คือ วิทยาเขตบางพระ จ.ชลบุรี สถานที่ที่กรมธนารักษ์จัดหาให้ หรือสถานที่ที่อุเทนถวาย แจ้งว่า มีผู้สนใจบริจาคให้ และเห็นควรให้ปรับแผนการรับนักศึกษาใหม่ โดยเปิดรับในวิทยาเขตอื่นแทน โดยมหาวิทยาลัยต้องเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยให้อนุมัติแผนต่อไป โดย มทร.ตะวันออก ซึ่งเป็นต้นสังกัดได้ทำแผนการรับนักศึกษาในปี 2567 ในวิทยาเขตอื่นๆ และแนวทางบริหารจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 1,129 คน โดยจะมีการเสนอแผนดังกล่าวต่อสภามหาวิทยาลัยในวันที่ 10 ม.ค. นี้ ซึ่งทาง อว.ก็ได้กำชับได้ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
ส่วนเรื่องแผนการจัดหาสถานที่เรียนให้ นศ.ที่ต้องย้าย ทาง อว.ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อวางแผนรองรับ โดยเบื้องต้นมี 4 ที่ คือ วิทยาเขตบางพระ ชลบุรี เนื้อที่ 680 ไร่ อยู่ไม่ไกล กทม. เดินทางสะดวก วิทยาเขตจักรพงษ์ภูวนารถ ใน กทม. พื้นที่บริจาคที่มีนบุรี 24 ไร่ และ 4 พื้นที่ราชพัสดุ ที่สมุทรปราการ 150 ไร่ ส่วนงบประมาณมีการประสานไปยังอุเทนถวายเพื่อจัดทำงบประมาณและประสานสำนักงบประมาณเพื่อให้การสนับสนุนเรื่องต่างๆ อีกทั้งประสานกับจุฬาฯ ให้การจัดการศึกษาและช่วยเหลือกรณีชำระค่าเสียหาย ค่าขนย้าย ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยทางจุฬาฯพร้อมให้การสนับสนุนและนำเรื่องหารือกับสภามหาวิทยาลัยต่อไป
นอกจากนี้ ได้รับรายงานจากอุเทนถวาย ว่า มีการจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายบุคลากร จำนวน 125 คน โดยบางส่วนไปทำงานที่จักรพงษ์ภูวนารถ และเตรียมเคลื่อนย้ายคุรุภัณฑ์ 12 มี.ค. 27 และจัดทำโครงการก่อสร้างขยายเขตพื้นที่การศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรม บนพื้นที่ 24 ไร่ ที่มีนบุรี เพื่อรองรับการเคลื่อนย้านนักศึกษา และมีการเสนอของบปี 68 จำนวน 400 ล้านบาท
ด้าน นายชวน กล่าวว่า ตนฝากไปทบทวนเรื่องสถานที่ เพราะเมื่อนักศึกษาปี 2-5 ยังไม่ได้ย้ายไป เพราะยังไม่มีที่เรียน เราจะให้นักศึกษาปี 1 เรียนที่เดิมได้หรือไม่ ซึ่งแล้วแต่ดุลพินิจ ตนไม่คาดคั้นอะไร แต่มองในเชิงปฏิบัติ ปัญหากระทรวงอุดมศึกษาเป็นปัญหาที่สร้างสรรค์ เพราะเป็นการสร้างคน ดังนั้น นโยบายใดที่จะเป็นอุปสรรคในการให้โอกาสคน ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอันขาด เช่น การไม่ให้รับนักศึกษาไม่ควรจะมี เพราะจะเป็นการตัดโอกาสเขาไป ไม่ว่าใครในห้องนี้มีโอกาสเพราะได้รับการศึกษา ดังนั้นอะไรที่ส่งเสริมการศึกษาได้เราต้องช่วยกัน
“ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเราก็ลูกชาวบ้าน มีโอกาสมานั่งที่นี่พูดอะไรได้ เพราะเราได้เรียนหนังสือ จึงได้คิดโครงการให้ได้เรียนไม่ต้องไปอยู่วัด เพราะผมต้องไปอยู่วัดตอนเด็กๆ เพราะไม่มีทางไปอย่างอื่น แต่ตอนนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนแล้ว ท่านนายกฯอาจจะต้องช่วยเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะสถานที่ท่านต้องมาดูแลด้วยตัวเอง เพราะสถาบันมีเกียรติ ศักดิ์ศรีมายาวนาน หากจะใช้ที่ก็ต้องเหมาะสม และงบประมาณที่ให้เขามีโอกาสพัฒนา สร้างความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง “
ขณะที่ นายเศรษฐา ได้กล่าวขอบคุณนายชวนที่เตือน และสะกิดใจให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษา เชื่อว่า ตน และหลายคนที่นั่งในสภา มีรากฐานครอบครัวที่ต่างกันไป ตนเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการศึกษาและสำนึกตลอดว่าโชคดี ลูกของตนก็มีโอกาสไปเรียนในสถานที่ดีมีชื่อเสียงระดับโลก เราไม่เคยลืมตรงนี้และเห็นความสำคัญ ตนในฐานะตัวแทนประชาชน ก็อยากให้ลูกหลานประชาชนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เรียนที่วัด หรือที่ไหน ได้ยกระดับการศึกษาให้โชคดี มีที่เรียนอย่างเหมาะสม ขอยืนยันรัฐบาลจะไปหาสถานที่ที่เหมาะสมโดยกรมธนารักษ์ที่ตนดูแลจะไปเข้าดูให้เป็นพิเศษ