“เราได้รับความเจ็บปวดกับคำนำหน้าชื่อทุกครั้ง ที่มีใครมาขานชื่อเรา”เปิดใจคนเบื้องหลังผู้ผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศ กับมุมผลกระทบเรื่อง “กฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านาม” ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง
กฎหมายไทยมีแค่ 2 เพศ?
จากความคืบหน้าสภาคว่ำร่างกฎหมาย “เปลี่ยนคำนำหน้านาม”ให้สามารถ ระบุเพศ-คำนำหน้าชื่อ ตามเจตจำจงได้ส่งให้เกิดการวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ว่า ผลของทางเลือก “ล้าสมัย”ไปหรือไม่
ย้อนกลับไปก่อนหน้า เพิ่งมีดราม่าเรื่องคำนำหน้าชื่อ จากกรณีสลิปโอนเงินของดาราสาวข้ามเพศอย่าง “ปอย”ตรีชฎา หงษ์หยกมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส และมิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน2004ที่โอนเงินให้กับ “ฟิล์ม” ธัญญรัศม์ จิตประภาจิณ มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน 2007
{“ปอย-ตรีชฎา” มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน2004}
ปรากฏคำนำหน้าชื่อของ “ปอย” ว่า “คุณ” ตรีชฎา หงส์หยก แต่ของ “ฟิล์ม” กลับเป็น “นาย” ธัญญรัศม์ จิตประภาจิณ จนกลายดราม่าถกเถียงกันเรื่อง ความเท่าเทียม
{สลิปต้นเรื่องประเด็นดราม่า “คำนำหน้าชื่อ”}
{“ฟิล์ม-ธัญญรัศม์” มิสอินเตอร์เนชั่นแนลควีน 2007}
เพื่อให้เข้าใจความสำคัญเรื่อง “คำนำหน้าชื่อ” ผ่านสายตากลุ่มความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ในโลกทุกวันนี้ที่ “เพศไม่ได้มีแค่หญิงหรือชาย”ทางทีมข่าวจึงชวนคุยกับ ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และประธานมูลนิธิซิสเตอร์
“ถามว่า มันสำคัญไหม เราไม่แน่ใจว่า มันสำคัญจริงไหม เพราะว่าทุกครั้งที่เราไปติดต่อกับราชการ หรือกับธนาคาร เราก็ไม่สามารถเลือกไม่ใช้คำนำหน้าชื่อได้เนอะ”
คำถามคือมันสำคัญต่อระบบราชการจริงๆ หรือ กฎหมายไทยยังคงเป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับ “ระบบ 2 เพศ”คือแค่ หญิง-ชาย กันแน่?เกี่ยวกับเรื่องนี้แหล่งข่าวมองผ่านในมุมที่เป็นทั้งนักกิจกรรมและคนข้ามเพศว่า...
“เราได้รับความเจ็บปวดกับคำนำหน้าชื่อทุกครั้ง ที่มีใครมาขานชื่อเรา ที่นำหน้าด้วย นาย หรือ เด็กชาย ใน ขณะ ที่เราไม่ได้รู้สึกว่า ตัวเองเป็น ผู้ชาย”
เรื่องนี้เป็นคำถามที่ต้องตั้งกับสังคมไทยว่า “เราสามารถเป็นเพศอื่นได้ไหม”ในกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญไทย เมื่อเราบอกกับสังคมว่า เราไม่ใช่ผู้หญิง หรือไม่ใช่ผู้ชาย
“ซึ่งคำตอบ ณ ปัจจุบันคิดว่า ยังไม่ได้ เพราะว่ากฎหมายไทยมันยังไม่เอื้อ ยังไม่เปิดรับ ยังเห็นคนแค่ 2 เพศ คือ หญิง-ชาย เท่านั้น”
{“ณชเล” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ}
หลายประเทศ “เลิกใช้กันแล้ว”
เทียบกับนานาประเทศเขา “เลิกใช้คำนำหน้านาม” กันไปแล้ว ในบางประเทศยังคงเหลือเพียง การระบุเพศในบัตรประชาชน แต่คนก็มีสิทธิ์ที่จะสามารถเลือกเพศเองได้
โดยประเทศที่ให้ “คนข้ามเพศ” สามารถทำเรื่อง “ขอเปลี่ยนเพศ” หรือ “คำนำหน้านาม” ปัจจุบันมีกว่า 30 ประเทศ แต่ที่ก้าวหน้าที่สุดในเรื่องนี้จะมีหลักๆ 3 ประเทศ คือ มอลตา, อาเจนติน่า และไอซ์แลนด์
มีออกกฎหมายคล้ายๆ กันคือ “กฎหมายการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ” โดยให้คนสามารถ “ขอเปลี่ยนเพศ” หรือ “คำนำหน้าชื่อ” ในเอกสารทางการได้ โดยไม่ต้องมีการรับรองจากแพทย์หรือยืนยันจากจิตแพทย์
และจากการศึกษาผลกระทบของ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ จากทั้ง 3 ประเทศของมูลนิธิ “เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย” และภาคีเครือข่าย ณชเล บอกว่า..
“พอเราศึกษาจริงๆ กลับไม่พบผลกระทบในทางลบ สิ่งที่เราพบก็คือว่า สังคมได้เกิดการเรียนรู้ ถึงเรื่อง ความเป็นเพศที่หลากหลาย ในโรงเรียนก็มีบรรยากาศของความปลอดภัย”
ผลกระทบที่เกิดใน 3 ประเทศ “เป็นไปในทางบวกมากกว่าลบ” บรรยากาศของสังคม มีการยอมรับและเข้าใจ เหล่าคนที่มีเพศหลากหลายมากขึ้น
“กฎหมาย มันนำมาซึ่งพื้นที่ในการพูดถึง พื้นที่ในการเคารพ แล้วพื้นในการให้สิทธิที่เท่าเทียมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศค่ะ”
ทั้งนี้กฎหมายของทั้ง 3 ประเทศนี้ได้ถูกเอามาเป็นต้นแบบ ร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางของ ภาคประชาชน ที่กำลังรวบรวมรายชื่อ เพื่อเสนอเข้าสภาในเร็วๆ นี้
คืน “ทางเลือกของชีวิต”
แล้วใจความหลักของการพยายามเสนอกฎหมายที่ให้ “บุคคลข้ามเพศ” สามารถเปลี่ยน “เพศ” หรือ “คำนำหน้าชื่อ” ได้ มันคืออะไร?
“ประเด็นสำคัญของมันจริงๆ ก็คืออการที่ อนุญาตให้คนได้สามารถที่จะเป็นตัวของตัวองและสามารถถูกรับรู้ในสิ่งที่ตัวเองเป็น นี้คือประเด็นสำคัญ”
หลายครั้งคนข้ามเพศ “มักไม่ถูกให้ความเคารพ ในสิ่งที่พวกเขาเป็น” เพราะมันติดอยู่ที่ “คำหน้าชื่อ” หรือ “เพศ” ในบัตรประชาชนของพวกเขา “ทำให้คนไม่มองเรา ตามสำนึกเพศที่เราเป็น”
“กฎหมายนี้จะมอบสิทธิ ให้คนได้เป็นตัวของตัวเอง จะมอบสิทธิในการกำหนดชีวิตของตัว ซึ่งเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้วนะคะ”
ณชเล ย้ำว่าเรื่องนี้เป็น “สิทธิ์ขั้นพื้นฐาน” หลายคนอาจจะคิดว่า กฎหมายนี้เป็นเพียง สิทธิพิเศษสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น การให้คนสามารถเลือกระบุเพศของตัวเองได้มันคือ “การมอบสิทธิที่เขาสามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้”
“คุณเป็นผู้ชาย-ผู้หญิง คุณอาจไม่เข้าใจความรู้สึก คุณไม่เคยโดนตั้งคำถาม เกี่ยวกับความเป็นเพศของคุณเอง คุณมีสิทธิกำหนดชีวิตของคุณเองโดยที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม”
ในทางกลับกัน กลุ่มคนข้ามเพศ มักจะโดนตั้งถาม กับตัวตนและสิ่งที่เขาเป็นอยู่ ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ใช่เป็น สิทธิพิเศษ แต่เป็นการ คืนสิทธิ์ให้กับคนข้ามเพศ ให้เขากำหมดชีวิตตัวเองได้ และได้รับความเคารพจากคนอื่น
กฎหมายนี้จะให้กลุ่มคนข้ามเพศอย่าง กะเทย, ทอม , คนที่เป็นNon-Binary คือคนที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่ใช้ทั้ง ผู้หญิงหรือผู้ชาย และคนที่มีกายภาพแบบ 2 เพศ หรือโครโมโซม 2 เพศ “คนเหล่านี้จะได้รับการรับรองในความเป็นเพศ”
แต่ “ไม่ใช่ทุกคนอยากจะเปลี่ยน” ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่LGBTQ+ทุกคนต้องการเปลี่ยน “เพศ” หรือ “คำนำหน้าชื่อ” อย่างกลุ่มเกย์เขาก็อยากเป็นผู้ชาย ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนไปเป็น นางสาว หรือเลสเบี้ยน เขาก็ไม่ได้อยากใช้คำว่า นาย นำหน้า
“กฎหมายนี้จะเป็นทางเลือก คือเรามอบทางเลือกให้คน ถ้าคุณรู้สึกว่าเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ จากการที่มีคำนำหน้านาม หรือเพศในเอกสารราชการที่ไม่ตรงกับเรา เราสามารถเปลี่ยนได้ นี่คือทางเลือกในชีวิต”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **