จากเคส “นักร้อง(เรียน)” มือหนึ่งของไทย กลายเป็นผู้ต้องสงสัย “คดีข่มขู่เรียกรับเงิน” ชวนนักกฎหมายหาทางแก้ช่องโหว่ เมื่อ “การร้องเรียน” ที่เคยเป็นเครื่องมือเพื่อ “ช่วยเหลือ” ตรวจสอบการทุจริต กลับกลายเป็นช่องทาง “หากิน”
หลายพันเคสเข้าข่าย “ตกทรัพย์”?
กลับตาลปัตร เมื่อ “นักร้อง(เรียน)” อันดับหนึ่งของเมืองไทย กลายมาเป็น คนถูกร้องเรียน และเป็นผู้ต้องหา “คดีข่มขูเรียกรับเงิน”อย่าง“ศรีสุวรรณ จรรยา” ถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงิน 1.5 ล้านบาทจาก “อธิบดีกรมการข้าว”
โดยพฤติการณ์คือ “เรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่รัฐ แลกกับการไม่ยื่นเรื่องร้องเรียน” แต่โดนซ้อนแผนล่อซื้อ เป็นเหตุให้ถูกตำรวจบุกรวบตัวคาบ้านพัก ซึ่งเรื่องคดีตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็กำลังดำเนินการสืบสวนกันอยู่ แต่ที่น่าสนใจคือบนเส้นทางนักร้องมืออาชีพของ ศรีสุวรรณ เขาเคยยื่นร้องเรียนมาแล้วกว่า 3,000-4,000 เรื่อง
คำถามคือจู่ๆ “การร้องเรียน” ถูกใช้เป็นเครื่องมือ “ตกทรัพย์”ได้อย่างไร ทีมข่าวจึงชวน “พีท”ดร.พีรภัทร ฝอยทองทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย มาช่วยหาคำตอบ
ต้องย้อนไปที่ รัฐธรรมนูญ ปี 60 มาตรา 63 ที่เขียนว่า “รัฐ” ต้องส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต และจัดให้กลไกลที่คนจะสามารถ “ชี้เบาะแส” เรื่องการทุจริตและประพฤติมิติ โดยได้รับความคุมครองจาก รัฐ ตามกฎหมาย
“เช่น เรามีเรื่องนักการเมืองทุจริต เราก็ไปร้องที่ ป.ป.ช. ถ้าเป็นเรื่องข้าราชการท้องถิ่น ก็ไป ป.ป.ท. ฉะนั้น กฎหมายมันมีช่องทางให้คนไปชี้ เรื่องของการปราบทุจริตอยู่แล้วครับ”
เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ คือส่งเสริมให้ประชาชนมีเครื่องมือในตรวจสอบ หน่วยงานรัฐมากขึ้น ผ่านการร้องเรียน ไม่ได้ส่งเสริมให้มีอาชีพนักร้องแล้วอะไรทำให้เกิดช่องโหว่ จนกลายเป็นเกิดการเรียกรับเงินขึ้น?
{“ดร.พีรภัทร” ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย}
“กฎหมายดี แต่ผมว่าสิ่งที่ไม่ดีคือคน ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า สื่อก็เป็นเครื่องมือ หรือเป็นตัวที่ร่วมกระบวนการกับเขาด้วย”
“สื่อ” กลายเป็นเครื่องมือได้อย่างไร “พีท” อธิบายว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะพิพากษา แต่ในความจริง เราจะเห็นแถลงข่าวต่างๆ จากข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะคดีความหรือเรื่องร้องเรียนต่างๆ
“เปรียบเสมือนคนนั้นเนี่ย กระทำความผิดไปแล้ว กลายเป็นคนนั้นโดนกล่าวหาจนเสียชื่อเสียงไปแล้ว”
“การทำให้เสียชื่อเสียง” ผ่านการออกสื่อนี่เอง ที่เป็นเครื่องในการรีดทรัพย์ของเหล่านักร้อง อย่างในเคสนี้ที่มีคลิปเสียงขมขู่ว่า ไม่ว่าจะถูกหรือผิด กว่าจะพิสูจน์ได้ คุณก็เสียชื่อเสียงไปแล้ว พอเป็นแบบนี้ สุดท้ายก็อาจไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง
“คนเรามันก็รู้สึกว่า อย่างนี้มันไม่คุ้ม ยอมจ่ายตังค์เพื่อให้เรื่องมันจบอาจจะง่ายกว่า”
ทนายพีทบอกว่า สื่อนั้นสำคัญในต่างประเทศคดีเหล่านี้ มักไม่ระบุตัวคนของคนร้องและผู้ถูกร้องอย่างชัดเจน และจะมีการออกมาเผยข้อมูลกันเฉพาะหลังคดีสิ้นสุดแล้วเท่านั้น
กฎหมายต้องช่วยปราม “ฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง”
การที่มีช่องทางให้ ค่อยจับตามอง และสามารถร้องเรียนการทุจริต เป็นเรื่องที่ดี แต่มันกลับถูกมาใช้หาผลประโยนชน์และกลั่นแกล้ง แบบนี้จะเราแก้ไขกันยังไง “พีท” ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายบอกกับเราว่า
“การแจ้งเบาะแสการทุจริต” เป็นเรื่องที่ดี แต่คนที่ร้องเรียน “ทุกวันนี้เขาแทบไม่ต้องรับผิดชอบอะไร” คนถูกร้องต้องมาพิสูจน์ความจริง หากไม่ผิดและการร้องนั้นเป็น “การกลั่นแกล้ง” จะฟ้องกลับก็ต้องมาเสียเวลาจ่ายทนาย แล้วฟ้องคดีกันใหม่
“ถ้าการร้องเรียน มองว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง ให้ศาลลงโทษเลยได้ไหม โดยไม่ต้องมีคนไปไล่ฟ้องเขากลับ”
อนาคตอาจจะต้องมีกฎหมายที่ว่า ใครฟ้องกลั่นแกล้ง สุดท้ายแล้วถ้าศาลตัดสินว่าอีกฝ่ายไม่ผิด ให้ศาลสามารถลงโทษคนมาฟ้องได้เลย “อันนี้เป็นไอเดียนะ ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ไหมในทางกกฎหมาย”
หมายความว่า หากศาลตรวจสอบแล้วว่า มูลพยานไม่เพียงพอ และเชื่อได้ว่าเป็นการ กลั่นแกล้ง ให้ศาลลงโทษได้เลย คนจะได้เกิดความกลัว ในการเอาความเท็จไปร้องเรียน
แต่การเพิ่มกฎแบบนี้ จะทำให้ประชาชนไม่กล้า ชี้เบาะแส หรือร้องเรียน เรื่อง ทุจริต เพราะหากเรื่องนั้นไม่ผิดจริง ก็อาจถูกลงโทษเสียเอง ทนายพีท ขยายความให้เข้าใจว่า...
“ผมจะบอกว่า การร้องนั้นมีมูลหรือเปล่า ไม่ได้หมายความว่า การไปร้องทุกเคสจะต้องผิด มันอาจจะไม่ผิดก็ได้ แค่มันพอมีมูลให้ไปร้อง แต่ถ้าไม่มีมูลเลยแล้วไปร้องเนี่ย อันนี้ต้องมีมาตรการลงโทษกับเขาแล้วละครับ”
ทนายพีท บอกต่อว่า กฎหมาย มันมีกลไกลที่สมบรูณแล้ว คือ ฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ร้อง แต่ถ้าร้องผิดก็ถูกลงโทษได้ ต้องดูเจตนาในการร้องเรียนว่า เจตนาทุจริตไหม ซึ่งกฎหมายก็มีบทลงโทษ ทั้งฐานหมิ่นประมาท หรือแจ้งความเท็จ
“แต่คำถามคือ สิ่งที่เป็นกระแสในสังคมอยู่ทุกวันนี้ เนี่ย มันไม่ได้ใช้ช่องทาง ทางกฎหมาย แต่มันใช่สื่อ ใช้โซเชียลฯ อะไรต่างๆ มาสร้างกระแสได้อยู่แล้วไงครับ”
กระบวนการตกทรัพย์ เรียกรับเงินของเหล่า นักร้อง คือใช้สื่อเพื่อทำให้ชื่อเสียง ในการเรียกรับเงิน ซึ่งการกระทำแบบนี้ มีมานานแล้ว ที่คนเหล่ายังยึดอาชีพนักร้องได้เพราะว่า...
“เขาสามารถดึงดูดสื่อได้ ถ้าสื่อเลิกให้ค่าให้น้ำหนักกับคนเหล่านี้ มันก็จะช่วยได้เยอะพอสมควรนะครับ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **