xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองข้ามความอับอาย!! “ถูกประจานต่อหน้าเพื่อน” เรื่องที่เด็กไทย “เกลียดที่สุด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อันดับ 1” ที่นักเรียนไทยลงคะแนนว่า “เกลียดที่สุด” จากบรรดาบทลงโทษทั้งหมดคือ “ถูกประจาน” เจาะลึกสิ่งที่สร้าง “ปมในใจให้เด็กไทย” คุณครูชี้ แขวนคะแนน โชว์ผลสอบ ก็ไม่ต่างกับถูกประจาน!!

ไม่มีใครอยาก “ถูกประจาน”

จากผลสำรวจของ “Rocket Media Lad”เรื่อง “เด็กไทยอยากได้อะไรจากระบบการศึกษา?” ก็ทำให้เรามีหลายเรื่องได้ถกเกียงกัน อย่าง 96% ต้องการให้ “ปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน”

หรือ “กฎที่ไม่ชอบที่สุดในโรงเรียน”คือ การกำหนดทรงผม รองลงมาก็เป็น การยึดโทรศัพท์ก่อนเข้าเรียน และการแต่งหน้าหรือจะเป็นคำถามว่า อยากให้มีวิชาอะไรสอนคำตอบคือ การเงินและการลงทุน มาเป็นอันดับ 1

คำตอบจากผลสำรวจนี้อย่าง การยึดโทรศัพท์ กำหนดทรงผม หรือการปรับปรุงห้องน้ำ ส่งให้มีผู้คนในโซเชียลฯ ออกมาถกเถียงกันอย่างมาก แต่ประเด็นหนึ่งที่คนไม่ค่อยได้พูดกันคือ “การลงโทษอะไรของครู ที่เด็กไทยเกลียดที่สุด” 39% ของคำตอบคือ “การถูกประจานต่อหน้าเพื่อน”



                                                          {ผลสำรวจ ของ Rocket Media Lad}

วันนี้ทีมข่าว MGR Live จึงชวน “ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอนมาคุยกันว่า การทำโทษอย่าง “การประจานต่อหน้าเพื่อน”มันส่งผลต่อเด็กยังไงบ้าง?

“เราน่าจะเคยเห็นกันเนอะ การประจาน มันก็จะมีตั้งแต่ระดับ หน้าเสาธง หรือหน้าชั้นเรียน หรือต่อว่าต่อหน้าคนเยอะๆ”

ในความรู้สึกของ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ทุกคนล้วนต้องการสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ “การยอมรับจากสังคม”การทำโทษด้วย “การประจาน”นอกจากจะทำให้เสียหน้าแล้ว มันยังทำให้การยอมรับจากสังคมเสียไปด้วย และการทำแบบนี้ “สุดท้ายมัน ก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”

ในมุมมองของครู อยาก “ทิว”เข้าใจว่า “เมื่อทุกคนกลัวที่จะถูกประจาน”การลงโทษแบบนี้ก็ทำให้ เด็กไม่กล้าฝ่าฝืน ไม่กล้าทำผิดตั้งใจทำทุกอย่างที่ครูหรืออำนาจสั่ง แต่เรื่องนี้สร้างปมในใจของเด็กแน่นอน

                                                        {“ครูทิว” จาก กลุ่มครูขอสอน}

เราจะเห็นว่าปัญหาของ เด็กไทย ไม่กล้าแสดงออก” ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป เราอาจเห็น เด็กไทยกล้าแสดงมากขึ้น แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้าแสดงออก และปมส่วนมากก็มาจากเรื่องนี้

”เขารู้สึกว่า ไม่อยากขึ้นมามีตัวตนในสายตาคนอื่น เขากลัวเกินกว่าจะยกมือตอบครูในชั้น”

เพราะถ้าถูกว่า ถูกตำหนิ ต่อหน้าคนในชั้นเรียน มันทำให้เด็กอาย สุดท้ายเขาก็เสียความมั่นใจในตัวเอง ไปในที่สุด และการประจานมันก็ไม่ได้มาในรูปแบบการลงโทษอย่างเดียว

“แม้แต่เวลาที่จะประกาศคะแนนเด็กอะไรแบบนี้ เขาไม่ได้ประกาศรายบุคคล เขาก็แขวนเลย แล้วทุกคนก็เข้าถึง ข้อมูล ได้ว่าใครได้คะแนนเท่าไหร่ ใครตกใครไม่ตก”



มุมมองที่ “ผู้ใหญ่มองข้าม”

“การโชว์คะแนน หรือโชว์ผลสอบ” ก็เหมือเป็นการประจานอย่างหนึ่ง เด็กหลายคนอาย และรู้สึกว่า “โดนเปรียบเทียบ” ครูทิวบอกว่า มันก็เหมือนการเปรียบลูกกับเด็กข้างบ้าน “ไม่มีเด็กคนไหนรู้สึกดีกลับวิธีการนั้น”

“การแขวน คะแนนอย่างนี้ มันอันอาย โดยเฉพาะเด็กเล็ก หรือเด็กมัธยมที่ต้องการได้รับการยอมรับจากเพื่อน ต้องการได้รับการยอมรับจากครู มันก็เลยทำให้เขาเสียความมั่นใจ”

แต่เรื่อง “ประกาศคะแนนหรือผลการเรียน” ให้ทุกคนเห็น บางคนก็มองว่า มันเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ “เด็กกระตือรือร้นในการเรียน” คุณครูท่านนี้จึงตั้งคำถามกลับว่า “มันให้เป็นอย่างนั้นจริงๆหรือ”

“เราก็พยายามแล้วนะ แต่มันได้แค่นี้ แต่พอไปดูของเพื่อน เพื่อนได้ยังงั้นยังงี้ เราถูกเอาไปเปรียบเทียบอะ มันก็ทำให้เด็กบางคนก็รู้สึกว่า งั้นฉันไม่น่าจะสู้คนอื่นไหว งั้นชั่งมันดีกว่า”

ถ้าไม่เปรียบเทียบ แล้วจะพัฒนาตัวเองได้ยัง” ครูทิวตอบประเด็นนี้ว่า “ใบประกาศผลสอบ” บอกเราแค่ว่า เด็กคนไหนอยู่ในระดับ ใครทำได้-ทำไม่ได้ โดยอาจจะไม่ได้ดูว่า “จริงๆแล้วเด็กเขามีปัญหาอะไร” ทำไหมเขายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ หรือทำไมยังได้คะแนนน้อยอยู่



ดังนั้น ตัวประเมินผลมันควรสะท้อน ให้เด็กแต่ละคนเห็นจุดด้อยของตัวเองจะได้เรียนรู้และปรับปรุงตัวเองได้ แต่ด้วยจำนวนภาระงานของครู หลายครั้งมันก็ไม่เอื้อต่อ การประเมินผลและบอกกลับเด็กเป็นรายคนได้ว่า ควรปรับปรุงตัวเองยังไง

เรื่องพวกนี้ทั้งเรื่อง “การประจาน หรือการแขวนผลการเรียน”เป็นสิ่งที่ ครูและโรงเรียนต้อง มาทบทวนกับใหม่ เพราะมันคือ “จิตวิทยา”ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งแนวคิดทางจิตวิทยาก็มีหลายสาย อย่าง

พฤติกรรมนิยม ที่เน้น การวางเงื่อนไข สร้างแรงผลักดัน แรงจูงใจ ให้เด็กมีพฤติกรรมบ้างอย่าง หรือ มนุษยนิยม ที่มองเห็นว่า มนุษย์ มีความซับซ้อน ที่ต้องทำความเข้าใจ พฤติกรรมของเด็กเกิดจากอะไร และเขาต้องการอะไร

“ผมคิดว่าโรงเรียนควรจะทบทวนวิธีคิด หรือมุมมองต่อพฤติกรรมของผู้เรียน และการเรียนรู้ของผู้เรียนกันใหม่ ว่าสุดท้ายแล้วอะไรที่จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ และเติบโตได้อย่างสมบรูณ์”



หากโรงเรียนยึดเอา การเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ คำถามที่ควรจะตั้งคือ สิ่งที่เราทำไปแต่ละอย่าง ไม่ว่าเป็น การลงโทษ กิจกรรม วิชาเรียน หรือนโยบายที่ออกมมา “เด็กได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ และจะเกิดผลอะไรกับเด็กบ้าง”

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากผลสำรวจนี้คือ เราต้องรับฟังเสียงของพวกเขา ให้เด็กได้มีโอกาส นำเสนอสิ่งที่พวกรู้สึก เรื่องที่พวกเขาต้องการ เพราะบ้างอย่าง...

“มันอาจจะเป็นมุมมองที่ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ เนี่ย มองข้ามไป และไม่ได้นึกถึง”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : rocketmedialab.co



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น