“ติวเตอร์” กับการเรียน เพื่อ “พิชิตข้อสอบ” คือปัญหาการศึกษาในห้องเรียนที่ “ล้มเหลว” ชวนตั้งคำถามสังคมไทย “เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก” มากแค่ไหน?
“ติวเตอร์” ภาพปัญหาของ “ห้องเรียนไทย”
ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายข่าวที่แสดงให้ถึง “ผลการศึกษา” ของเด็กไทยที่ตกต่ำ ทั้งการประกาศผลสอบของ “PISA” ที่สอบครั้งล่าสุดเมื่อ 2565 พบว่า คะแนนสอบของไทย “ลดลงทุกด้าน”ถ้าเทียบกับครั้งก่อนในปี 2561
หรือจะเป็นการจัดอันดับ “ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษประจำปี 2023”ของ “Seasia Stats” ที่ไทยตกไปอยู่อันดับ 101 จากทั้งหมด 113 ประเทศ แม้จะมีหลายคนบอกว่า ผลการเรียนที่ลดลงเป็นกันทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำการเรียนการสอนหลายประเทศต้องประสบปัญหา
แม้ดูภาพรวมว่าผลการเรียนของไทยนั้นตกต่ำ แต่รู้หรือไม่ว่าจากพบสำรวจของ “ผลสำรวจเยาวชน 2022” โดย “คิดforคิดส์” มี 35%ของนักเรียนไทย มีการเรียนพิเศษ หรือ“กวดวิชา” เพิ่มเติมจากระบบการศึกษาปกติ
และที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เรียนมากที่สุด ไม่ใช่เด็กกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล แต่เป็น “เด็กนอกเมือง” และพบว่า เด็กที่อยู่ใน “ครอบครัวยากจน” เป็นกลุ่มที่ทุ่มเททรัพยากรด้านเวลา เพื่อเรียนพิเศษมากกว่ากลุ่มอื่น โดยใช้เวลาเรียนพิเศษเฉลี่ย “11-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”
{สถิติการเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย ผลสำรวจเยาวชน2022 โดย "คิดforคิดส์”}
บวกกับ “ครูเคท” ดร. เนตรปรียา ชุมไชโย ผู้อำนวยการ รงเรียนสอนภาษาครูเคท ที่เคยให้ความเห็นกับทีมข่าวว่า ปัญหาของการศึกษาไทยอย่างหนึ่งคือ “เราเรียนเพื่อสอบ”
แล้วทำไมเด็กจึงต้องขวนขวาย หา“ติวเตอร์” หรือ “สถานที่กวดวิชา” เพื่อต้องการ “พิชิตการสอบ” ทีมข่าวจึงชวน “ครูทิว” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน ช่วยวิเคราะห์ว่า ภาพเหล่ามันสะท้อนให้เห็นอะไร?
“มันก็จะสะท้อนความเป็นจริงของชั้นเรียน”
เราอาศัย “การสอบ” เพื่อ “แข่งขัน”เด็กก็ตั้งเป้าหมายที่ “การสอบ”เด็กจำนวนหนึ่งที่มีทุน จึงไปหา “โรงเรียนกวดวิชา” เพื่อยกระดับผลการเรียนของตัวอง หรือเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ
“นั้นหมายความว่า มันกำลังสะท้อนการศึกษาในห้องเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การเรียนการสอนที่ มันล้มเหลว ที่มันไม่ตอบโจทย์กับเขา”
“กวดวิชา” มันคือ “การเรียนโดยอัธยาศัย”ใครจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ ซึ่งก็มีหลายระดับ บางคนเรียนเพื่อเพิ่มทักษะของตัว โดยไม่เกี่ยวกับการสอบก็มี
“แต่ส่วนใหญ่ที่เด็กไทยเรียนเนี่ย มันคือเรียน เพื่อเอาไปสอบ”
ถ้าเรามองลึกลงไป จะเห็นโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง ที่เด็กได้รับการศึกษาที่สูง กับอีกกลุ่มที่ได้รับการศึกษา “ไม่ถึงมาตรฐาน” ทำเด็กต้องขวนขวายไปเรียน“กวดวิชา”
“ถ้าดูในโรงเรียน รัฐบาล หรือเอกชน เราก็จะเห็นสภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน”
{ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล}
“เรียนเพื่อสอบ” สังคมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
“ครูทิว” เสริมต่อว่า “การสอบไม่ใช่จำเลยของเรื่องนี้” เพราะการศึกษาจำเป็นต้องมีตัววัดผล เพื่อจะได้ทราบว่า หลังจากจัดการเรียนการสอนไปแล้ว เด็กมีความรู้ความสามารถ ตามที่เราตั้งเป้าหมายไว้หรือเปล่า
“แต่คำถามคือ การสอบ สอบอย่างไร มันหลากหลายมากเพียงพอ แล้วมันตรงกับสิ่งที่เราต้องการให้เกิด กับตัวผู้เรียนแล้วหรือยัง”
การสอบเป็นแค่ปลายทาง แต่ระหว่างการเรียน ระบบการศึกษา จำนวนนักเรียน ภาระงานของครู มันเอื้อให้ “ครู” เข้าไปพัฒนาเด็กได้อย่างทั่วถึงหรือเปล่า
เมื่อการเรียน คือ “เรียนไปเพื่อสอบ” ทำให้ใจความสำคัญของการศึกษาหายไป คือ“การเรียนรู้” เป้าหมายของการสอนคือการที่เด็กสามารถเรียนรู้ เข้าใจและใช้ชีวิต อยู่ในสังคมนั้นๆได้
“ถ้าเราให้ความสำคัญ กับการสอบโดยหลงลืมการเรียนรู้ หมายความว่า ทำข้อสอบได้ ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ตรงเนี่ยจึงเป็นปัญหา”
เรากลับให้ความสำคัญกับ “การทำกระดาษข้อสอบ” ซึ่งมันก็วัดทักษะด้านอื่นอย่าง การฟัง การพูด การเขียน ได้น้อย การสอบเป็นเพียงการวัดว่า “เราอยู่ในระดับไหน”ต้องพัฒนาตัวเองอีกมากน้อยแค่ไหน
“คือยังไงก็มีการ สอบ แต่เราให้น้ำหนัก การสอบ กับการเรียนรู้อย่างไหน มากกว่ากัน”
เรื่องนี้ ไม่ได้สะท้อนแค่การจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างเดียว อีกมิติหนึ่งคือ ต้นทุนทางสังคมของเด็กด้วยครูทิวบอกว่า เด็ก 2 คน แม้จะเรียนที่เดียวกัน ครูคนเดียวกัน แต่ก็มีผลรับที่แตกต่างกัน
ครอบครัวหนึ่ง พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ได้ตามวัยของเขา แต่กับอีกครอบครัวที่ไม่ทรัพยากรเพียงพอ ในการส่งเสริมพัฒนาการของลูก ผลรับในเรียนของเด็กทั้ง 2 ครอบครัวก็ต่างกันแน่นอน
ครูทิวบอกว่า ในสังคมที่การเรียนการสอน มีต้นทุนและการแข่งขันที่สูง เด็กกลุ่มหนึ่งก็จะพยายามหาวิธี เพื่อที่จะเพิ่มทักษะของตัวเองให้สามารถไปแข่งขันกับคนอื่นได้
แต่ก็มีเด็กส่วนหนึ่งที่ไม่มีต้นทุนในชีวิต พวกก็จะมองว่า พยายามแค่ไหนก็สู่คนอื่นไม่ได้ จนกลายเป็นว่า ยอมแพ้ “เป็นเท่าที่เป็น เรียนเท่าที่มี” มันจึงเป็น การตีกรอบโอกาสของตัวเอง เพราะเขาต้องพยายามมากกว่า คนอื่นที่มีต้นทุนชีวิตสูงกว่าตัวเอง ซึ่งเด็กเหล่านี้เป็นเด็กส่วนใหญ่ในระบบการศึกษา
“สุดท้ายที่สำคัญที่สุด มันไม่ใช้แค่โรงเรียน หรือโรงเรียนกวดวิชา แต่มันคือ สังคมไทย ทั้งสังคม ว่าเราสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กมากแค่ไหน”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : kidforkids.org
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **