xs
xsm
sm
md
lg

PISA-2022 สะท้อนว่าเด็กไทยเก่งมากน้อยเพียงใด ? / ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากที่สุดเครื่องมือหนึ่งของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในมิติใด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

แต่การประเมินผลการจัดการศึกษาว่าดีมากน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก มีความแตกต่างหลากหลายในวิธีการประเมินมาก
การที่จะบอกว่าการจัดการศึกษาของประเทศใดดี หรือมีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใดนั้น จึงมักมีข้อถกเถียงและโต้แย้งอยู่เสมอ

OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งมีประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป ก็ได้จัดให้มีการประเมินคุณภาพของการศึกษาประเทศต่างๆที่เรียกว่า PISA และได้รับการยอมรับอยู่ในระดับสูง


วันนี้เราจะมาสรุปและทำความเข้าใจแบบครบถ้วนและเข้าใจง่าย เกี่ยวกับการประเมิน PISA 2022 กันดังนี้

1) PISA : Programme for International Student Assessment เป็นการประเมินความสามารถของนักเรียนที่อายุ 15 ปี (สำหรับประเทศไทยคือจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี คือสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ม.3)

2) เป็นการประเมินการใช้ความรู้และทักษะ 3 ด้านด้วยกันคือ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านการอ่าน

3) OECD จัดให้มีการประเมินทุก 3 ปี เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2000 แต่เนื่องจากมีโควิด-19 จึงทำให้การจัดล่าช้าไปหนึ่งปี

4) เป็นการประเมินนักเรียนกว่า 690,000 คน จาก 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวแทนนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 29 ล้านคน

5) ประเทศไทยเราได้ดำเนินการจัดสอบหรือประเมินเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 (คศ.2022) มีนักเรียนไทยเข้าร่วม 8495 คน จาก 279 โรงเรียนครอบคลุมโรงเรียนในทุกสังกัดของประเทศไทย

6) สัดส่วนของนักเรียนที่เข้ารับการประเมินนั้น มาจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ) 62% สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ) 19% สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช) 12% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) 6% โรงเรียนสาธิต 1% สังกัดกรุงเทพมหานคร 0.5% และโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ 0.3%

7) การประเมินในครั้งนี้ สัดส่วนข้อสอบจะเน้นทางด้านคณิตศาสตร์ 60% วิทยาศาสตร์ 20% ด้านการอ่าน 20% รวมทั้งได้จัดให้มีการประเมินทางด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย

8) นักเรียนจะเข้าทำการทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ทั้ง 4 ด้าน รวมใช้เวลา 2 ชั่วโมง แล้วตอบแบบสอบถามอีก 45 นาที ส่วนตัวผู้บริหารโรงเรียนจะทำแบบสอบถาม 45 นาที








9) ผลการประเมิน ประเทศที่ได้อันดับสูงสุด 10 อันดับแรกของโลกได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดาและเนเธอร์แลนด์

10) สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดทั้ง 3 ด้านคือ คณิตศาสตร์ 575 คะแนน(ค่าเฉลี่ย 472 คะแนน) วิทยาศาสตร์ 561 คะแนน (ค่าเฉลี่ย 485 คะแนน) การอ่าน 543 คะแนน(ค่าเฉลี่ย 476 คะแนน)

11) ผลการประเมินการจัดการศึกษาของไทย ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสามด้านคือ คณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน การอ่าน 379 คะแนน

12) เมื่อเปรียบเทียบคะแนนการประเมิน PISA 2 ครั้งล่าสุด ระหว่างปี 2018 / 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านของประเทศต่างๆทั่วโลกลดลงในด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ส่วนวิทยาศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง ของประเทศไทยเรานั้นลดลงทั้ง 3 ด้าน

13) เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมี 8 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมินนั้น มีสิงคโปร์เพียงประเทศเดียวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนที่เหลืออีก 7 ประเทศล้วนแต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ทั้งสิ้น


14) โดยประเทศไทยได้ลำดับที่ 5 จาก 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง 3 ด้าน ตามหลังเวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และได้คะแนนการประเมินสูงกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชาตามลำดับ

15) แนวโน้มคะแนน PISA ของนักเรียนไทย ตั้งแต่ปี 2000 2003 2006 2009 2012 2015 2018และ 2022 ได้คะแนนในลักษณะทรงตัวและลดลงเล็กน้อยมาโดยตลอด

16) ที่น่าสนใจมากคือ นักเรียนกลุ่มช้างเผือกที่หมายถึงนักเรียนที่มีฐานะยากจน โดยรายได้ครอบครัวอยู่ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 แต่สามารถทำคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มสูงคือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป ซึ่งค่าเฉลี่ยทั้งโลกจะมีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10% แต่ของประเทศไทยมีมากถึง 15% จัดเป็นอันดับ 12 จาก 81 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ

17) นั่นย่อมหมายความว่า เด็กไทยที่มีฐานะยากจนมีศักยภาพโดยธรรมชาติสูง สามารถที่จะมีผลการเรียนรู้ได้คะแนนดี ทั้งที่ขาดปัจจัยสนับสนุนด้านต่างๆที่มีเหตุจากฐานะยากจนและด้อยโอกาส

18) โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ อาทิเช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ ได้คะแนนคณิตศาสตร์สูงมากถึง 589 คะแนน วิทยาศาสตร์ 581 คะแนน การอ่าน 531 คะแนน ซึ่งสูงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าประเทศสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยกลุ่มโรงเรียนสาธิตที่สังกัดมหาวิทยาลัย

19) ส่วนกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD เป็นกลุ่มที่สังกัด สพฐ. สอศ. รวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

20) มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันมาก ระหว่างผลการประเมินของกลุ่มนักเรียนที่สังกัดโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์และสาธิต กับนักเรียนที่สังกัดกับหน่วยงานที่เหลือ โดยในกลุ่มแรกได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ส่วนกลุ่มหลังได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก

21) ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรก มักจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมีพลเมืองน้อย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี


สรุปได้ว่า :


1) การประเมินผล PISA ปี 2022 พบว่าความสามารถของนักเรียนในการเรียนรู้ทั่วโลกลดลง น่าจะเกิดจากผลของโควิด-19 ทำให้การจัดการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่


2) ประเทศไทยมีคะแนนที่ลดลงเช่นกัน แต่มีนัยสำคัญค่อนข้างมาก


3) ความสามารถของนักเรียนไทยแตกต่างเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยมีกลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิตที่ได้คะแนนสูงกว่าโรงเรียนในสังกัดอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ


4) ประเทศไทยมีนักเรียนในกลุ่มช้างเผือกสูงถึง 15% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ 10%


5) ประเทศที่มีขนาดเล็กและมีพลเมืองน้อย มักจะมีผลการประเมินที่สูง

สำหรับประเทศไทยคงต้องมาพิจารณาว่า ปัจจัยใดหรือประเด็นใดมีความสำคัญมากน้อยกว่ากัน ที่จะส่งผลถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่ประเมินด้วยผลของ PISA ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยมาจากตัวคุณครู ตัวนักเรียนเอง หลักสูตร ผู้บริหาร และทรัพยากรการศึกษารวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ


ผลการประเมินของ PISA ดังกล่าวพอที่จะบอกในเบื้องต้นได้ว่า นักเรียนไทยมีศักยภาพที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนช้างเผือก


ถ้ามีการบริหารจัดการระบบการศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะได้ผลการศึกษาที่ดี เฉกเช่นเดียวกับนักเรียนในกลุ่มเรียนวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิตได้เช่นกัน


บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
สมาชิกวุฒิสภาไทย, อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

อ้างอิง

ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
(blockdit.com)



กำลังโหลดความคิดเห็น