xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ คนไทย “เที่ยวไป-ทำงานไป” สูงสุดในเอเชียแปซิฟิก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดผลสำรวจ คนไทย “มักแบกงานไปทำระหว่างเที่ยว” ชวนส่องแนวคิด “เที่ยวไป-ทำงานไป” มาจากไหน ตอบคำถาม ทำไมวันหยุดยังต้องทำงาน?

ทำงานได้ทุกที่ ≠ ต้องทำตลอดเวลา

เชื่อหรือไม่ว่า “คนไทย” มักแบกงานไปทำระหว่างเที่ยว จากผลสำรวจของ“Airbnb” บริษัทให้บริการด้านการจองที่พัก โรงแรม ออนไลน์ ร่วมกับ“YouGov”บริษัทข้อมูลและการวิจัยตลาดระดับโลก ได้ทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตและการทำงาน ในปี 2563

พบว่า 87%ของคนไทย สนใจ “เที่ยวไป-ทำงานไป” หรือ “Workcation” ถือว่าเป็นอันดับสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก และยังพบอีกว่า 51%ของพนักงานไทย “ทำงานอยู่ที่บ้าน” นับตั้งแต่ช่วง “โควิด” เป็นต้นมา

และคนไทยที่ทำแบบสำรวจของ “YouGov”ยังบอกอีกว่าการ “เที่ยวไป-ทำงานไป” ทำให้พวกเขาได้ชาร์จพลังให้กับชีวิตการทำงาน แต่มันจะเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ? เพราะมีหลายคนก็ “ไม่ได้ตั้งใจแบกงานไปทำตอนเที่ยว”



ทางทีมข่าวจึงติดต่อให้ โน้ต-ศรัณย์ คุ้งบรรพต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาและว่าจ้างบุคลากร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับเทรนด์ “เที่ยวไป-ทำงานไป”ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?

กูรูด้านทรัพยากรบุคคลรายนี้อธิบายว่า หลังช่วงโควิดทำให้เห็นประเด็นหนึ่งคือ “Work from anywhere” คือ เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งทำงานในออฟฟิศแต่การที่ทำงานที่ไหนก็ได้ “ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำงานตลอดเวลา”

Work from anywhereเป็นเรื่องของสถานที่ในการทำงาน แต่สิ่งคนกำลังสงสัยคือ “ทำไมวันหยุด ก็ยังต้องทำงานอยู่” อันนี้เป็นเรื่องของ “บริหารจัดการเวลา” ซึ่งเป็นคนละมิติกัน Work from anywhere

“แต่ถามว่าเทรนด์มาจริงไหม คนต้องแบกโน้ตบุ๊กไปทำงานตลอดเวลา ต้องบอกว่ามีส่วนจริง”

                                                        {“โน้ต”-ศรัณย์ คุ้งบรรพต}

และคำว่า “Workcation” มันก็มาจาก Work คือ “งาน” บวกกับ Vacation คือ “วันหยุด” เป็นรูปแบบการทำงานที่ ”ทำงานไปด้วย เที่ยวไปด้วย”

“ทุกวันนี้มันถูกเอามารวมกัน ไว้เหมือนเป็นคำที่แทนว่า หยุดแต่ทำงาน ซึ่งถามว่าเป็นเรื่องที่ เฮลตี้ ไหม ในโลกของอุดมคติ มันไม่ควรเป็นแบบนั้น”

แต่ก็มีคนที่ “มีความสุข” กับการทำงานรูปแบบนี้ เพราะ ”เขาสามารถบริหารจัดการเวลาได้ และตรงกับ ไลฟ์สไตล์” แต่ถ้าบริหารไม่ได้ “Workcation”ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้คนเข้าสู่ “Burnout” หรือ “ภาวะหมดไฟ” ได้เพราะ มันจะเหมือนเราทำงานตลอดเวลา

เส้นแบ่ง “ชีวิต-งาน” ที่หายไป

Workcationคือตัวเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิตทำงาน แต่หลายคนเองก็ “ไม่ได้เลือก” ที่จะต้องทำงาน ทั้งที่เป็นวันหยุด “โน้ต” วิเคราะห์สิ่งที่คนทำงานต้องเจอในยุคนี้ ว่าเป็นเพราะ...

“ณ วันนี้ เราถูกคาดหวังให้ ทำมากขึ้น เร็วขึ้น และก็เรียลไทม์มากขึ้น”

ปัจจัยที่ทำให้ “มนุษย์เงินเดือน” ดูเหมือนต้องทำงาน 24 ชม. คือ “ความคาดหวัง” จาก “ธุรกิจ” ที่ตอนนี้มีการแข่งขันกันสูงมากๆ เมื่อแข่งขันสูง ดังนั้น คนทำงานก็ถูกคาดหวังให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ นี่คือปัจจัยแรก

สองคือ “เทคโนโลยี” และ “โซเชียลมีเดีย” ที่ดีขึ้น สะดวกขึ้น เร็วขึ้น “ทำให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา” กลายเป็นว่า พนักงานก็ถูกคาดหวังให้ตอบสนองกับงานมากขึ้น

“คือ ปัจจัยในการผลิตงานมันพร้อมมาก จนทำให้การจะปฏิเสธงานทำได้ยาก คือมันอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ก็มันทำได้ มันสะดวกนี้ อินเทอร์เน็ตมี คอมพิวเตอร์มี แต่ก็ลืมนึกไปว่ามันคือ วันหยุด”



ธุรกิจที่ต้องแข่งขัน เทคโนโลยีที่สะดวกขึ้น ทำให้ส่งผลถึง “พฤติกรรมและความคาดหวังของคน” โดยเฉพาะหัวหน้างาน เมื่อ “การทำงาน” ถูกมองว่า “สะดวกและทำได้ทุกที่” บางคนก็หลงลืมเรื่อง “ความเหมาะสม” ไป

และปัจจัยสุดท้านคือ “ตัวพนักงานเอง”ที่ก็ยอมรับกับ “การทำงานแม้จะเป็นเวลาพักผ่อน” แต่เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ เนื่องจากตัวเทคโนโลยีเอง ที่ทำให้การทำงานสามารถทำได้ทุกเวลา และถูกหล่อหลอมจาก “วัฒนธรรมองค์กร” ว่าการทำงานแบนี้เป็นเรื่องปกติ

“มันกลายเป็นว่า ทุกอย่างมันสะดวก” จนเราไม่สามารถ “รักษาความเป็นส่วนตัวได้” ทำให้ตอนนี้ เส้นแบ่งระหว่าง งานและชีวิตส่วนตัวนั้นหายไป จากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา โน้ตบอกว่า ถ้าเรายังทำแบบนี้ต่อไป...

“สุดท้ายเราก็จะBurnoutเพราะเราไม่ใช่เครื่องจักร”

ทางออกของเรื่องนี้คงแก้ที่ตัว “ธุรกิจ” ไม่ได้ เพราะ “การแข่งขันของธุรกิจ มันไม่มีวันจบ” แต่อย่างหนึ่งที่เราทำได้คือ “บริหารจัดการตัวเอง” เราต้องรู้ก่อนว่า “ขอบเขตงานและการรับผิดชอบ” ของเราคืออะไร ตอนไหนควรทำอะไร ทั้งเรื่อง ส่วนตัวและเรื่องงาน



ต่อมาคือ “บริหารคนรอบข้างและความคาดหวัง” ต้องคุยกับ หัวหน้าหรือเพื่อนรวมงาน ว่าตอนนี้เราหยุด เราลาพักผ่อน ต้องเราวางแผน เช่น ถ้าเป็นงานตัวนี้เราสามารถฝากงานกับใครได้บ้าง แบ่งขอบเขตงานให้ชัดเจน

และเมื่อเรามี เทคโนโลยี ก็ควรเอามันมาใช้ ในการบริหารการทำงานของเราเหมือนกัน อย่าง ใน อีเมลบริษัทหลายที่ ก็สามารถตั้งแจ้งเตือนบอกกับทุกคนให้รู้ว่า ช่วงนี้เราหยุดพักผ่อน

“ในเมื่อเราไม่สามารถหยุดการแข่งขันทาง ธุรกิจได้ หรือเรายังไม่พร้อมลาออกมาเป็นผู้ประกอบการได้ อันนี้แหละคือสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการ”

“สุดท้ายแล้ว ชีวิตคนเราไม่เท่ากับงาน” เราต้องบริหารจัดการ หากปล่อยให้งานกัดดินชีวิตเราไปเรื่อยๆ มันจะทำให้มีอาการBurnout และภาวะนี้มันส่งต่อ “ความเครียด” และนำไปสู่ “ภาวะซึมเศร้าได้”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : brandinside.asia



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น