เซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) ประกาศผลสำรวจเรื่องการใช้งานปัญญาประดิษฐ์แบบสร้างคอนเทนต์ออกมา หรือ generative AI ในประเทศไทย พบ 65% ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้ generative AI ในการทำงาน โดยกว่า 84% ของกลุ่มนี้ยังอุบเงียบ และนำเสนองานที่ AI ทำขึ้นเป็นงานของตัวเอง ตอกย้ำความจำเป็นเรื่องใช้งาน AI ในองค์กรต้องโปร่งใสและไว้ใจได้ เพื่อต่อยอดธุรกิจอย่างเต็มประโยชน์สูงสุด
รบส สุวรรณมาศ ผู้นำด้านนวัตกรรม เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย กล่าวว่า generative AI ถูกยกให้เป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งชัดเจนว่าพนักงานไทยยอมรับถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้น ธุรกิจจึงไม่ควรมองข้ามประโยชน์ที่ generative AI สามารถสร้างให้แก่องค์กรและพนักงาน โดยการที่ธุรกิจจะสามารถนำ generative AI มาสร้างเป็นกลยุทธ์นั้น ควรมีพื้นฐานอยู่บนความไว้วางใจ (trust) เพื่อที่จะป้องกันความเสี่ยงซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ สิ่งนี้เริ่มต้นได้ด้วยการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อถือได้ ปลอดภัย มีแนวทางและนโยบายที่ชัดเจนในการใช้งาน เสริมด้วยการฝึกอบรมให้พนักงานรู้จักวิธีการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและปลอดภัย
“นวัตกรรม AI ในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสร้างความไม่มั่นใจให้แก่ธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เซลส์ฟอร์ซในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม AI ที่เน้นการสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญในทุกๆ ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้น เราพร้อมที่จะมอบแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ให้แก่ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ผ่านการใช้งานเทคโนโลยีที่พวกเขาไว้ใจ”
เซลส์ฟอร์ซวางตัวเองเป็นบริษัท AI CRM อันดับ 1 ของโลก ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับบริษัทวิจัย YouGov ดำเนินการสำรวจเรื่องการใช้งาน generative AI ในประเทศไทยโดยศึกษามุมมองและพฤติกรรมการใช้งาน AI ในที่ทำงานของพนักงานไทยจำนวน 1,000 คนจากทุกอุตสาหกรรมใน 5 ด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ด้านจริยธรรมและความปลอดภัย ด้านการเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าในหน้าที่ทำงาน รวมถึงด้านการสร้างความดึงดูดและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร
จากการสำรวจพบว่า พนักงานไทยเห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากการใช้งาน generative AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และโอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ อย่างไรก็ตาม พนักงานไทยหลายคนยังคงมีข้อจำกัดด้านความรู้ ความเข้าใจในการใช้ AI ให้ปลอดภัยและมีจริยธรรม จนนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ AI ที่น่ากังวล
***ไม่ได้โมเมครั้งเดียว
หนึ่งในตัวอย่างพฤติกรรมการใช้ AI ที่น่ากังวลคือการที่พนักงานไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่า วิธีการทั้งหมดของการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรม (94%) หรือใช้ให้ปลอดภัย (90%) มีอะไรบ้างและ 84% ของพนักงานไทยที่ใช้ generative AI ในที่ทำงานยอมรับว่าเคยนำเสนองานที่ทำขึ้นโดย AI ว่าเป็นงานของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น 67% ของกลุ่มนี้ยอมรับว่าเคยทำมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าพนักงานทั้งในสิงคโปร์และออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนการอ้างสิทธิงานที่ AI ทำเป็นของตัวเองที่ 76% และ 73% ตามลำดับการนำเสนองานที่ทำขึ้นโดย AI ว่าเป็นงานของตัวเองอาจสะท้อนถึงความเข้าใจที่จำกัดในเรื่องของการใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและปลอดภัย จุดนี้ รบส ให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่เข้มงวดกับประเด็นจริยธรรม และการอ้างสิทธิในการนำเสนองานเท่าประเทศอื่น แต่ในมุมของผู้ใช้ที่เป็นองค์กร บริษัทมองว่าองค์กรควรต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และควรบอกให้ผู้บริโภคทราบว่าเนื้อหาส่วนใดที่เป็น AI เจเนอเรต หรือสร้างขึ้นมา แล้วจึงนำมาต่อยอดงานขององค์กรต่อไป
“การนำไปใช้งานจะต้องแจ้งให้ชัด เช่น แชตบอต ที่มักไม่มีบริษัทใดเคลมว่าเป็นมนุษย์ตอบ แต่ควรแจ้งว่าเป็นการตอบโต้โดยระบบ AI ซึ่งทั้งหมดควรมีมนุษย์ในกระบวนการทำงานตลอดเวลา ก่อนที่จะส่งออกเนื้อหาใดออกไป”
นอกจากนี้ จำนวนพนักงานไทย 2 ใน 3 (64%) ที่ใช้ generative AI ในที่ทำงาน ยอมรับว่าได้แอบใช้แพลตฟอร์ม generative AI ที่นายจ้างสั่งห้ามไม่ให้ใช้ในองค์กร โดย 77% ของพนักงานไทยกล่าวว่า บริษัทของตนไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการนำ generative AI มาใช้ในการทำงาน และเก้าในสิบ (90%) กล่าวว่า พบอุปสรรค หรือข้อจำกัดในการนำ generative AI มาใช้งานในที่ทำงาน ทั้งการไม่ได้รับการฝึกอบรมการใช้ generative AI ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (34%) ขาดการสนับสนุนจากนายจ้างในการใช้ generative AI (29%) และกลัวว่าการใช้ generative AI จะนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านข้อมูลของทั้งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบริษัท (28%)
***AI เสี่ยงแต่มีประโยชน์
จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน พบว่า 90% ของพนักงานไทยใช้ AI ในงานทั่วไปที่ทำในแต่ละวัน โดยมี 65% ที่ใช้ generative AI เพื่อทำงานให้เสร็จ โดยเกือบทุกคนในกลุ่มนี้หรือ 99% ที่ได้ใช้งานและกำลังใช้ generative AI อยู่แล้ว (ไม่ใช่ 99% ของกลุ่มตัวอย่างรวม) ยอมรับว่า generative AI ช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย 92% ลงความเห็นว่า generative AI ช่วยสางปมให้งานที่ทำอยู่ง่ายดายยิ่งขึ้น
พนักงานไทยมากกว่า 60% ยังมองว่า generative AI เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ โดย 60% เชื่อว่า หากมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในเรื่อง generative AI ในการทำงานจะส่งผลให้มีความก้าวหน้าหรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งในองค์กร
อีก 63% เชื่อว่า หากมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในเรื่อง generative AI ในการทำงาน จะส่งผลให้พวกเขาเป็นที่ต้องการในบริษัทต่างๆ และ 62% เชื่อว่าจะได้รับค่าตอบแทนมากกว่าผู้ที่ไม่มีความรู้หรือเชี่ยวชาญในเรื่อง generative AI
อย่างไรก็ตาม พนักงานไทยมากกว่าสองในห้า (44%) มีความกังวลว่าพวกเขาจะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการใช้ generative AI ในที่ทำงานได้ และอาจทำให้พวกเขาตามไม่ทันเพื่อนร่วมงาน และเกือบหนึ่งในสี่ (23%) รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อต้องเปรียบเทียบความสามารถในการใช้ generative AI กับเพื่อนร่วมงาน
ในมุมของนายจ้าง ธุรกิจสามารถรักษาและดึงดูดพนักงานผู้มีความสามารถ รวมถึงประสิทธิภาพและการเติบโตของธุรกิจได้ โดยการนำ generative AI มาใช้ในองค์กร เพราะพนักงานไทย 37% บอกว่าพร้อมจะย้ายองค์กร หากองค์กรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันไม่มีการฝึกอบรมการใช้งาน generative AI แก่พนักงาน
ในขณะที่พนักงานไทยส่งเสียงต้องการรับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้ตามทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสำรวจพบว่าองค์กรไทยยังขาดการฝึกอบรมการใช้ generative AI อย่างมีประสิทธิภาพ (34%) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พนักงานไทยไม่สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย ขณะที่ 64% ของพนักงานไทยยังไม่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้ generative AI อย่างมีจริยธรรมและปลอดภัยจากนายจ้าง
นอกจากนี้ 63% ของพนักงานไทยยอมรับว่าบริษัทที่มีนโยบายเชิงรุกและมีความก้าวหน้าในด้าน generative AI เป็นองค์กรที่น่าร่วมงานมากกว่าองค์กรที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ด้วย