xs
xsm
sm
md
lg

เกือบ 4 ล้านตัว!! “หมา-แมวจรจัด” ปัญหาที่แก้ไม่ตก เพราะต่างคนต่างทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์ “หมาแมวจรจัด” เพิ่มขึ้นหลัง “โควิด” นักเคลื่อนไหวเพื่อสัตว์สะท้อน “ขาดแม่งาน” “หมาจร-แมวจร” ปัญหาซ้ำซ้อนที่ “ต่างคนต่างทำ”

จำนวนไม่น้อย เคยมีเจ้าของแต่ถูกทิ้งให้จรจัด

ภาพ “หมา-แมวจรจัด” ตามท้องถนนคงเป็นสิ่งที่หลายคนชินตา และเป็นปัญหาที่อยู่คู่บ้านเรามานาน แต่รู้หรือไม่ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ในปี 2559 บอกว่า จำนวน“หมา-แมวจรจัด”มีถึง “1,232,588 ตัว”

และข้อมูลในปลายปี 2562ระบุว่า มีหมาจรจัดราว 2.6 ล้านตัว และแมวจรอีก 1 ล้านตัว รวมกันทั้งประเทศหมา-แมวจรจัดเหล่านี้จะอยู่ที่ 3.6 ล้านตัว

ส่วนข้อมูลจาก “แผนที่แสดงจำนวนสุนัข-แมว (ปี 2562 รอบที่ 1)”สำรวจโดยองคกรปกครองท้องถิ่น จำนวน หมา-แมวจรจัด ไม่นับรวมกรุงเทพฯ มีเพียง “164,144 ตัว” ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างจากกรมปศุสัตว์อย่างมาก

                                                {แผนที่แสดงจำนวนสุนัข-แมว ปี 2562 รอบที่ 1}

แม้จำนวนประชากรของหมา-แมวจรเหล่านี้ยังไม่แน่ชัดว่า “มีเท่าไหร่กันแน่” แต่ที่แน่ๆ คือในช่วง “โควิด” ที่ผ่านมาทำให้ประชากรสัตว์จรจัดเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งจากการที่คนเลี้ยงเผชิญกับปัญหาเรื่องการเงิน เลี้ยงดูไม่ไหว หรือบ้างก็กลัวติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง เป็นเหตุให้หมา-แมวถูกทิ้งเพิ่มขึ้น

แล้วสรุปสถานการณ์ สุนัขและแมวจรจัด ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง? เก๋-ชลลดา สิริสันต์ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ “เดอะวอยซ์(เสียงจากเรา)”องค์กรช่วยเหลือสัตว์ยากไร้ในประเทศไทย ช่วยให้คำตอบเอาไว้

“สถิติ หมา-แมว ในไทย ไม่ได้ทำตั้งแต่ โควิด คือ ปี 62 เราเลยไม่รู้ว่า มีปริมาณเท่าไหร่”

ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า คนเริ่มตะหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องหมา-แมวจรจัดมากขึ้น และสถานการณ์ดีขึ้นกว่าช่วงโควิด แต่บางคนก็บอกว่าแย่ลง “ภาพรวมตอบยาก” แล้วจริงๆ จำนวนสัตว์จรเหล่านี้มีเท่าไหร่กันแน่?

                                                            {“เก๋” ชลลดา สิริสันต์}

“อันนี้เป็นตัวเลขที่เก่ามากแล้ว เราเคยคาดการณ์ว่ามีสุนัขจรจัดในกรุงเทพฯ ปี2559 ประมาณ 660,000 กว่าตัว ปัจจุบันยังไม่อยากคิดว่า มันจะเพิ่มมากกว่านี้หรือเปล่า”

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเดอะวอยซ์ยังเสริมอีกว่า ปัญหาที่เกิดจากหมา-แมวจรเหล่านี้ คือภาพลักษณ์เมืองที่ไม่ดี เวลาต่างชาติเข้ามา เขาก็มักสงสัยวาทำไม “เราจัดการปัญหานี้ไม่ได้”

ต่อมาคือเรื่อง “อุบัติเหตุ” เมื่อเหล่าหมา-แมวใช้ชีวิตอยู่ตามถนน เราก็มักเห็นอุบัติเหตุที่เกิดจากสัตว์จรเหล่านี้เสมอ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสงสารสำหรับพวกมัน เพราะนอกจากอุบัติเหตุแล้ว คนที่ไม่ชอบหมา-แมวพวกนี้ ก็มักเข้าไปทำร้ายมัน

“ปัญหา หมาจรจัด ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีที่สุด ซึ่งก็เชื่อว่าหลายฝ่ายก็อยาก เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ว่าอาจจะไม่ตรงจุดเท่าที่ควร”



“ต่างคนต่างทำ”จนแก้ไม่ตก

เนื่องจากปริมาณสัตว์จรจัดที่เยอะขึ้นทุกๆ วัน และประเทศไทยเองไม่มีการ “ทำการุณยฆาต”ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คนไทยยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว “ทำให้เราต้องรับเลี้ยงหมา-แมวพวกนี้จนสิ้นอายุขัย”

แต่ด้วยปริมาณที่เยอะเกิน และไม่สามารถควบคุมการเกิดได้ ทำให้ “ศูนย์กักกันสัตว์” มีจำนวนไม่พอ ซึ่งตอนนี้ก็มีการแก้ปัญหาโดยการสร้างศูนย์เพิ่มเติมแล้ว แต่มันก็ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ

“การทำหมัน คือการแก้ปัญหาที่เราจะควบคุมประชากรได้ แต่มันก็เป็นปลายเหตุอยู่ดี”

เก๋อธิบายว่า “นอกจาการทำหมัน” สัตว์จรเหล่านี้แล้ว “เรายังต้องควบคุมปริมาณสัตว์เลี้ยงก่อน” เพราะ หมา-แมวจรจัดหลายตัวก็เคยเป็นสัตว์บ้านมาก่อน แต่เจ้าของไม่มีความรับผิดชอบและเอามาปล่อย



และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ “ฟาร์มสัตว์” ตัวแทนจากมูลนิธิเดอะวอยซ์ คนนี้เล่าให้ฟังว่า มีหลายเคสที่ฟาร์มสัตว์ ผสมพันธุ์แล้ว “ลูก” ออกมาเป็นพันธุ์ทางไม่น่ารัก พวกเขาก็เอามาปล่อย โดยไม่มีการทำหมันอีกด้วย

“เราลงพื้นที่ เพิ่งทำมันไปเดือนที่แล้ว มีลูกหมามาใหม่อีกแล้ว ก็เหมือนเริ่มต้นใหม่อีก จริงๆ เรามีกฎหมายควบคุมการปล่อยสัตว์ในที่สาธารณะนะ มีโทษปรับขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท แต่ก็ไม่มีเคยมีคดีที่จับได้เลย”

ส่วนเรื่อง “การทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรค” หลายองค์กรมีการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง แต่มันยังไม่เป็นรูปธรรม เพราะไม่มีการเก็บสถิติ และไม่มีการจัดสรรพื้นที่ เป็นการ “ต่างคนต่างทำ” ทำให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน

การจัดการหมันสุนัข สำหรับตัวผู้นั้นดูง่าย สามารถดูได้จากอัณฑะ แต่ตัวเมียเป็นเรื่องยาก ต้องมีการ “อัลตร้าซาวด์” ถึงจะรู้ว่ามีการทำหมันไปหรือยัง



แต่เมื่อถึงหน้างาน การจะพาหมาจร ไปโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อเช็กก็เป็นเรื่องที่ลำบากและเปลืองงบ ทำให้บางครั้งก็เกิดการทำหมันซ้ำซ้อน และหมาเองก็ต้องเจ็บตัว 2 รอบ

“คือสิ่งที่ทำได้เบื้องต้น แน่นอนคือทำหมันตัวผู้ให้หมดก่อน ส่วนตัวเมียต้องอาศัยคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า ตัวนี้ทำหมันไปแล้วหรือยัง”

แต่ตอนนี้ ทางรัฐเองอย่าง “กทม.” ก็กำลังจะมีการจัดทำ “บัตรประชาชนสุนัข” ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการเช็คจำนวนประชากร และ “ก็ยังมีงบประมาณในการลงพื้นที่การทำหมันสำหรับหมา” แต่ของแมวยังไม่เห็นมี

อีกเรื่องคือ “การจัดสรรพื้นที่” ตอนนี้หลายหน่วยงานอยากช่วยจัดการปัญหานี้ “แต่ขาดแม่งาน” ที่จะเป็นคนค่อยจัดสรร พื้นที่ในการลงหน้างาน ทำให้เกิดการ “ลงทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน”



“คือถ้ามีหัวหน้างาน มาทำกับเรา แบ่งงานกับเรา เขตนี้ลงพื้นแล้วนะ ตรงนี้ยัง ถ้าเป็นแบบนี้ได้ก็คงจะดี จะได้ไม่ต้องไปลงพื้นที่เก้อ การลงพื้นที่ครั้งหนึ่ง ขั้นต่ำควรจะทำหมันได้ 150 ตัว แต่ลงไปได้แค่ 20-30 มันก็เปลืองพลังงานคนกับงบประมาณ”

ปัญหาเรื่อง สัตว์จรจัด เก๋ มองว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่ “เราต้องเริ่มทำอย่างจริงจังแล้ว” โดยเฉพาะ ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่ามมาของ โควิด ทำให้ปัญหาที่มีสะสมและเยอะมากขึ้น วอนว่า ภาครัฐให้มองว่า ปัญหานี้เป็นเรื่อสำคัญจริงๆ

“ต้องมีการจัดสรร หน้าที่ ให้คนที่ถนัดตรงนี้ มาดูแลจริงๆ และไม่ใช้แค่ใน กทม. ทุกพื้นที โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ ที่ก็มีปัญหาเรื่อง หมา-แมวจรจัดเยอะมากๆ”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.tcijthai.com , ฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว
ขอบคุณภาพ : ฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น