สภาพัฒน์ชงเรื่องขึ้นค่า ”VAT”จาก 7% เป็น 10% ออมไว้ให้คนไทยใช้ตอนแก่ ตั้งคำถามจำเป็นต้องเก็บ ”ภาษีเพิ่ม” เพื่อสวัสดิการจริงๆ หรือ? นักวิชาการบอก เพิ่มค่า VAT ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
ขึ้น VAT ได้ แต่ยังไม่จำเป็น
เป็นเรื่องให้สังคมต้องถกเถียงกันอีกแล้ว เมื่อ “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.)”ชงให้ขึ้นภาษีมูลค้าเพิ่ม(VAT)เป็น 10%โดยในส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจะใช้เป็นเงินออม “ให้ประชาชนใช้ในวัยเกษียณ”
วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช. กล่าวในงานเสวนา “ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย” ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบรูณแล้ว ตอนนี้พบว่า ผู้สูงอายุ 78.3%มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังมีเงินออม “ไม่พอใช้ในวัยเกษียณ”
และเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี ในการปรับขึ้นภาษีมูลค้าเพิ่ม จาก 7%เป็น 10% โดยส่วนที่ปรับขึ้น 3% อาจให้รัฐออกกฎหมายเฉพาะ ให้ส่วนนี้เป็นเงินออมให้คนใช้ในวัยเกษียณ
แค่ทำท่าจะปรับขึ้น ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ล่าสุด พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ต้องออกมาชี้แจ้งในประเด็นนี้
“กระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดดังกล่าว”
เราจำเป็นต้องขึ้นภาษี VAT เพื่อมาเป็นเงินสำหรับ สวัสดิการผู้สูงวัย ในอนาคตจริงๆ หรือ? รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ตอบคำถามนี้กับทีมข่าวว่า
“เราต้องมีระบบสวัสดิการผู้สูงอายุถ้วนหน้า ที่สามารถรองรับผู้สูงอายุทุกคน ที่อยู่นอกเหนือระบบบำนาญกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคม แต่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องขึ้นVATเพื่อนำมาใช้สำหรับสวัสดิการผู้สูงวัยโดยเฉพาะ”
เ
เพราะการที่ต้องการเพิ่มVATเป็น10% แล้วจะกันเงินที่เก็บเพิ่ม มาใช้ในสวัสดิการผู้สูงอายุ แบบนี้เรียกว่า การเก็บภาษีเพื่อใช้จ่ายเฉพาะเรื่อง(Earmarked Tax) ซึ่งประเทศที่มีวินัยทางการคลังเข้มงวด ไม่นิยมใช้วิธีการแบบนี้
“ประเทศส่วนใหญ่พยายามไม่ใช้Earmarked Taxเพราะขัดต่อหลักวินัยการคลัง แต่หลายประเทศก็ใช้หากมีความจำเป็น แต่การทำเช่นนั้นทำให้ความยืดหยุ่นในการบริหารงบประมาณลดลง”
การเก็บภาษีเพิ่ม ควรเข้าสู่ระบบงบประมาณ แล้วค่อยจัดสรรมาเป็นสวัสดิการของประชาชน ให้เป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลังมากกว่า จะได้มีประสิทธิภาพในการบริหารงบในการดูแลประชาชนที่ดีกว่า
“หากต้องการทำเช่นนั้น ต้องออกแบบให้มีการเก็บข้อมูลว่า ใครเป็นคนเสียภาษีVATก็จะได้เงินคืนในรูปสวัสดิการหลังเกษียณแล้ว จึงจะลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารภาษีและบริหารงบประมาณใช้จ่าย”
{รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ}
และยังมองว่า ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีVATตอนนี้ หากขึ้นตอนนี้อาจเกิดแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการบริโภค และชะลออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงได้
“VATประเทศไทย”1ในอัตราต่ำที่สุดในโลก
แต่ในมุมหนึ่ง ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มองว่า การขึ้นภาษี VAT มีความจำเป็นระดับหนึ่ง เพราะสังคมสู้วัยและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ”จำเป็นต้องใช้เงิน”
“ภาษีที่เรามีอยู่มันต่ำมาก เพราะปัญหาคือเราเก็บภาษีจากคนรวยน้อยเกินไป แล้วตัวVATก็ต่ำเกินไป 7% อยู่ในระดับที่ต่ำสุดในโลกประเทศหนึ่งนะ”
ดร.สมชัยอธิบายให้ฟังว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)เป็นการเก็บภาษีที่มีประสิทธิมากที่สุด และการเลี่ยงภาษีนี้เป็นไปได้ยาก
“ตามข้อเสนอของ สศช. เก็บเพิ่ม 3% แล้วเอาเงินส่วนเพิ่มมาใช้เพื่อการเกษียณเท่านั้น ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ในระดับหนึ่ง”
ดร.สมชัย เห็นด้วยกับการเก็บภาษีเพิ่ม “เพื่อเอาไปใช้ในเรื่องเฉพาะ” แต่ควรจะมองภาพใหญ่มากกว่านี้คือการนำเงินตรงนี้ไปช่วยกลุ่มเปราะบาง อย่างกลุ่มยากจน “ไม่ใช่เฉพาะคนแก่อย่างเดียว”
“เพราะฉะนั้น ข้อเสนอผมVATมันจะต้องขึ้นอย่างน้อยก็ต้อง 10% แต่ไม่ใช้ต้องขึ้นทันทีนะ อาจจะปีละ 1% และการเพิ่มขึ้นมาเนี่ย ก็บอกเลยว่าใช้สำหรับคนระดับล่าง ใช้เพื่อคนจนเท่านั้น แต่ว่ารูปแบบมันอาจจะมีหลากหลาย”
{ดร.สมชัย จิตสุชน}
ยกตัวอย่าง “ญี่ปุ่น”ในปี 2019 ที่มีไอเดียในการเสนอขึ้นภาษีVATคล้ายกับไทยในตอนนี้ ซึ่งมีการระบุอย่างขัดเจนว่า เงินที่ถูกเก็บเพิ่มจะนำไปใช้อะไรบ้าง
ดังนั้น กูรูท่านนี้จึงมองว่า ขึ้นภาษีVAT แล้วนำเงินตรงนั้นไปช่วยคนจน ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และการมองว่า VATเป็นภาระของคนจน อาจไม่ถูกเสียทั้งหมด “ในแง่เม็ดเงินมันออกจากกระเป่าคนรวยมากกว่านะครับ”
“ถ้ารัฐเก็บภาษีเพิ่มได้ 100 บาท ประมาณ 80 บาทมาจากกระเป๋าชนชั้นกลางกับคนรวยนะครับ มี 20 บาทเท่านั้นเองที่มาจากคนจน ถ้าตามข้อเสนอผม 100 บาททีรัฐเก็บมาเนี่ย ทั้งหมดเอามาใช้กับคนจน มันก็ลดความเหลื่อมล้ำได้”
และยังย้ำว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลดีมากกว่าเสีย ทั้งเรื่องรายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้น การช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และการที่บอกว่าการขึ้นภาษีจะทำให้เกิด “เงินเฟ้อ” และเศรษฐกิจซบเซา นั้นไม่จริง
“จะมีบางคนคิดว่าข้อเสียคือ คุณไปเพิ่มVATทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพราะของจะแพงขึ้น เงินเฟ้อจะขึ้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ถ้าคุณเพิ่ม VAT เงินเฟ้อมันจะขึ้นแค่ปีเดียว
ของมันแพงขึ้นแค่แบบเดียวในปีที่เก็บ พอเข้าปีที่สองราคามันไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมันเก็บไปแล้ว เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็น”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Somchai Jitsuchon”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **