เปลี่ยนกฎใหม่ ไม่เอาแล้ว “เงินคนแก่” แบบ “ถ้วนหน้า” ต้อง “จนจริง” ถึงจะให้? นักวิชาการบอก ตลกร้ายที่ขำไม่ออก พิสูจน์ความ”จน” นั้นอะไรปัญหา!! แค่เรื่องพื้นฐานยังไม่ทำ หวั่นแก้ “ปัญหาสังคมผู้วัยไทย” ลำบาก
“เบี้ยคนชรา” ตลกร้ายที่ขำไม่ออก
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อ “รัฐบาลรักษาการ”เปลี่ยนเกณฑ์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ส.ค. 66
จากเดิมที่ “เบี้ยคนแก่” เริ่มใช้เมื่อปี่ 2552 คือเบี้ยยังชีพของคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปแบบ “ถ้วนหน้า” โดยใช้ระบบยืนยันสิทธิไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้ แต่มีเงื่อนไขเพียงว่า “จะต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการอื่นอยู่ก่อนแล้ว”
แต่ใน "ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566" มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิว่า
“เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” หรือถ้าให้เข้าใจง่ายๆ คือ ต้องพิสูจน์ความ “จน” นั่นเอง
เมื่อกลายเป็นประเด็นร้อน รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กไว้ว่า การปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ยืนยันว่ารายเดิมยังได้อยู่ ส่วนเกณฑ์ใหม่รอ “คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ” เป็นคนกำหนดพร้อมขอผู้สูงอายุที่มีฐานะเข้าใจรัฐบาล
“ขอผู้สูงอายุที่มีฐานะเข้าใจ เป็นการปรับเพื่อใช้งบกับกลุ่มที่จำเป็นหรือเดือดร้อนกว่า แก้ปัญหาอย่างพุ่งเป้า และสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ปี 2567 งบเบี้ยยังชีพแตะ 90,000 ล้านบาท จากก่อนหน้าที่ 50,000 ล้านบาท เพิ่มเรื่อยๆ เป็น 80,000 ล้านบาท”
“เป็นเรื่องตลกร้าย”คือมุมมองของ “จั๊ก” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทาง รัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยวิเคราะห์เอาไว้เกี่ยวกับเกณฑ์ที่เปลี่ยนไป
“เพราะว่าพวกเขาเนี่ย ขี้เหนียวและก็ใจร้ายกับคนแก่ กับเด็ก กับนักศึกษา กับประชาชน ถ้าให้ผมสรุปโดยง่ายนะครับ”
นักวิชาการด้านสวัสดิการท่านนี้บอกต่อว่า งบประมาณ 600 บาท แบบถ้วนหน้านี้ ตกปีละประมาณ 70,00 ล้านบาทคิดเป็น 2% ของงบประมาณรายจ่าประจำปี ซึ่งน้อยมาก ถ้าเทียบคิดเป็นแค่ 50% ของงบประมาทกระทรวงกลาโหม
“ก็จริงๆแล้ว ตัวเบี้ยผู้สูงอายุที่มีอยู่เนี่ย มันก็ไม่พอเนอะ 600บาท/เดือน 20บาท/วัน และว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเรื่องของงบประมาณ”
{จั๊ก - รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี}
กลัวคนจนไม่ได้ หรือ...?
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ให้ข้อมูลกับBBCไทย ว่า “รัฐกำลังประหยัดงบประมาณบนความเหลื่อมล้ำสุด ๆ ที่มีในประเทศ”
ความเหลื่อมล้ำเกิดจากงบประมาณที่แตกต่างกันระหว่าง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11 ล้านคน อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท” เทียบกับงบประมาณ “บำนาญข้าราชการไม่ถึง 1 ล้านคน อยู่ที่ 320,000 ล้านบาท”
และจะมีผู้สูงอายุที่ถูกตัดออกจาก เบี้ยยังชีพนี้ถึง 6 ล้านคน จาก 11 ล้านคน เพราะถ้าตามเกณฑ์ ใหม่นี้ กระทรวงการคลังจะเลือกจ่ายเบี้ยยังชีพ เฉพาะผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้น้อย) จำนวน 5 ล้านคน โดยรัฐอ้างว่าจะช่วยลดรายจ่ายงบประมาณไปได้ 30,000-40,000 ล้านบาท
และการพิสูจน์ความ “จน” มันเป็นปัญหาอย่างไร? กูรูรายเดิมช่วยอธิบายไว้ว่า ปัญหาคือ เกณฑ์ที่กระทรวงการคลังใช้นั้นมัน “ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง”
“ถ้าเอาตามเกณฑ์ของที่กระทรวงการคลังเคยใช้กับคนจนนะ แค่คุณมีที่ดินอยู่ต่างจังหวัด มีรถเพราะมันไม่มีขนส่งสาธารณะ มีบ้านที่ผ่อนมาหมดแล้ว อ้าว แล้วพอบอกว่า บ้านมูลค่าเกิน 1 ล้านบาท คุณถือว่าไม่จนแล้ว”
และยังมองว่า รัฐไทยชอบระบบสงเคราะห์มากกว่า เพราะมันสามารถสร้างบุญคุณและอำนาจต่อคนที่มอบให้ได้ อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือ “การทำแบบถ้วนหน้าโกงยาก” เพราะเงินส่งถึงมือประชาชนโดยตรง
“มันเป็นเรื่องที่มันโกงไม่ได้ มันเอาออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่อยากให้งบตัวนี้ มันพอกมากขึ้น มากเกินไป”
อีกทั้ง กระทรวงการคลังหรือนักสังคมสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)มองว่านี้เป็น “ภาระทางการคลัง”และอ้างปรากฎการณ์จาก“ยุโรป” ที่สวัสดิการคนแก่กำลังเป็นปัญหา
“เขาเป็นภาระทางการคลังในแง่ว่า เขาดูแลคนแก่ให้บำนาญเดือนละ 30,000-50,000 บาท/เดือน เราให้ 600 บาทมันเป็นภาระตรงไหน คิดว่าตรงนี้ไม่ใช้เลยนะครับ ขั้นแรกที่เราจะให้ 2,000-3,000 บาท เรายังไม่ให้เลย”
แค่พื้นฐานยังไม่ทำ อย่าหวังอย่างอื่น!!
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนนี้ “เราพูดกันแค่เบี้ยคนแก่” แต่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย”แล้วมีแค่เงินยังชีพคนชรา มันจะพอกับปัญหาสังคมผู้สูงวัย ที่ไทยกับจะเผชิญหรือเปล่า?ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเฉพาะทาง รัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา จึงช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติม
“เราจะไปคิดแบบในมโนทัศน์แบบของต่างชาติที่ คนแก่เขามีระบบสวัสดิการที่ดี แล้วก็มีมองเรื่องสร้างอาชีพ ผมว่าอันนั้นเป็นสิ่งที่ไกลไป หรือพูดถึงสงเสริมเรื่องการออมการอะไรแบบนั้น ผมว่านั้นคือสิ่งที่ไกล”
อาจารย์มองว่า แค่เรื่อง “เงินบำนาญแบบถ้วนหน้า”ที่เป็นเรื่องพื้นฐาน ยังไม่สามารถทำได้เลย การจะมองถึง สวัสดิการอื่นๆ เพื่อเตรียมรับกับสังคมผู้สูงอายุคงเป็นไปได้ยาก
“ไม่ต้องคิดซับซ้อนเลย บันไดก้าวแรกคือ บำนาญถ้วนหน้า ถ้าคุณให้บำนาญถ้วนหน้าเขาแล้ว ควรจะไปฝึกอาชีพส่งเสริมการออมอะไรก็ค่อยทำไป
แต่ว่าถ้าไม่มีบันไดก้าวแรก ผมคิดว่ามันไปไม่ได้ผมเคยไปรวมเวทีของกระทรวงการคลังก็ดี ของ พม.(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก็ดี พูดอะไรทีวิจิตรพิสดาร แต่เรื่องพื้นฐานไม่ทำ”
จั๊กยังเสริมเรื่อง “ประกันสังคมถ้วนหน้า” ที่อาจจะไม่แก้ปัญหานี้โดยตรง แต่ก็เกี่ยวพันกัน เพราะมันช่วยให้คนสามารถเตรียมตัวก่อนเข้าวัยเกษียณได้
จากงานวิจัยเรื่อง แรงงานสร้างสรรค์วัยใกล้เกษียณ ที่กำลังศึกษาอยู่ พบว่า คนมันจะมี “อุบัติเหตุทางชีวิต” ทำให้คนเสียรายได้ ในช่วงที่กำลังจะเข้าวัยเกษียณ หากมีการยกระดับประกันสังคม ก็จะสามารถช่วยคนเหล่านี้ได้
“มันจะทำให้พอถึงวัยเกษียณแล้ว แม้ว่าตัวประกันสังคมถ้วนหน้าตัวนี้ จะไม่ได้ครอบคลุม แต่ก็จะทำให้พวกเขาเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณได้ โดยพวกเขาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในช่วงที่พวกเขาใกล้จะไม่สามารถทำงานได้”
เรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ ไม่ได้กระทบแค่คนแก่ แต่มีผลต่อคนวัยทำงานและเด็กด้วย เพราะคนอายุ 30-40 เป็นคนที่เลี้ยงทั้ง พ่อ-แม่และลูก สวัสดิการของคนแก่ นั้นกระทบกับทุกวัยในสังคม
“ถ้าเรามุ่งหน้าเข้าสู่การตัดเบี้ยผู้สูงอายุ มันเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ใช้แค่คนแก่นะ มันคือกับคนวัยใกล้เกษียณกับคนวัยทำงาน”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **