เปิดเบื้องหลังความทุ่มเทอาสากู้ภัย-กู้ชีพเสี่ยงตายช่วยชีวิตคนอื่นโดยไม่หวังสิ่งอื่นตอบแทน ท่ามกลางบรรยากาศในแม่น้ำเจ้าพระยา รอบกายมืดสลัว ความลึกเกือบ 20 เมตร กระแสน้ำเชี่ยว อุปสรรคเพียบ กว่า 38 ชม. ภายใต้คำกังขา “กู้ภัยมาช่วยช้า”
เพราะความมาช้า เป็นเหตุ!!?
"ชีวิตพวกผมเอาไปเสี่ยงอะไรก็ไม่รู้..กับเคสนี้ (ถึงบอกข้อมูลสำคัญมาก) ระดับความลึกเกือบ 20 เมตรเทียบเท่าตึก 8 ชั้น ดำขึ้นดำลง ผ่านมา 2 วันแล้ว ดูสภาพตาเส้นเลือดในตาแตก ระดับความลึกขนาดนั้นแรงบีบอากาศมาก
คือความรู้สึกของอาสาท่านหนึ่งที่ลงไว้ในเฟซบุ๊ก ถ้าตำแหน่งชัดเจนการค้นหาจะแคบลงและทำงานง่ายขึ้นปัญหาก็จะลดลง ขอส่งกำลังใจให้คุณเอนกทีมดำน้ำร่วมปทุมหายไวๆ นะคะ พวกเราทำดีที่สุดแล้ว กราบหัวใจพวกคุณจริงๆ"
นี่คือข้อความของ 'ต่าย - สายธาร นิยมการณ์' หนึ่งในจิตอาสาของมูลนิธิร่วมกตัญญู ที่ได้ออกมาพูดถึงการทุ่มเททำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย หลังปฏิบัติการดำน้ำในระดับความลึกเกือบ 20 เมตร เทียบเท่ากับตึกสูง 8 ชั้น เพื่อค้นหา “แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์” จนเส้นเลือดในตาแตก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง “เบียร์ ฝ-นเรศ ศรีใส” อาสากู้ภัยทีมนักประดาน้ำ มูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุ มาบอกเล่าถึงเบื้องหลังความทุ่มเททำงาน ที่กลุ่มเพื่อนบนเรือโทษว่า “กู้ภัยทำงานล่าช้า”
ท่ามกลางบรรยากาศในแม่น้ำเจ้าพระยา รอบกายมืดสลัว ที่มีความลึกเกือบ 20 เมตร และมีกระแสน้ำเชี่ยว เบียร์ ผู้เป็นจิตอาสามากว่า 20 ปี พบปัญหาถือเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือแตงโม คือกว่า 1 ชั่วโมงแรกที่ไปถึงแทบจะไม่ได้ข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการค้นหา จนกลายเป็นอุปสรรค ทว่าทั้งหมดถูกทำบันทึกลับ รายงานเป็นหลักฐาน ที่ระบุ “เวลา” สถานที่ ภาพถ่าย และประวัติการโทร.
“ถ้าในมุมมองของกู้ภัย เราได้ข้อมูลถูกต้อง และแม่นยำ หรือใกล้เคียงมากที่สุด มองว่าการช่วยเหลือ หรือการที่จะเจอ การค้นหามันจะทำให้รวดเร็วขึ้น และอาจจะเสร็จสิ้นภารกิจเร็วขึ้น ที่อาจจะไม่ต้องถึง 3 วัน มันไม่ชัดเจน ไม่ให้ข้อมูลอะไรเลย จะทำให้เราทำข้อมูลได้ยากขึ้น”
อย่างไรก็ดี สำหรับข้อพิพาทการเสียชีวิตของแตงโม ถึงความรวดเร็วในการช่วยเหลือของทางกู้ภัย ที่ถือเป็นกลุ่มสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่นี้ เพราะก่อนหน้านี้ “แซน วิศาพัชร” 1 ใน 5 เพื่อนร่วมสปีดโบ๊ตของแตงโม ได้ออกมาโต้แย้งไว้ “กู้ภัยมาช้ามาก โทร.หลายรอบ มีหลักฐานการโทร.ออกทุกอย่าง”
แต่ทว่าชุดกู้ภัยกลุ่มแรกอย่างเบียร์ได้เปิดใจให้ฟังว่า รู้สึกเสียความรู้สึก เพราะหลังจากได้รับแจ้งเหตุการณ์ตกน้ำที่เกิดขึ้นก็รีบเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด
“ในวันแรกผมเป็นทีม support ทีมที่คอยเก็บข้อมูล คอยดูแลทีม ที่ต้องสับเปลี่ยนกับทีมต่อๆ ไป เพราะว่ามันมีหลายชุด ชุดหนึ่งมี 4-5 คน มันต้องสลับกันขึ้นลง เพราะมีอุณหภูมิของน้ำที่เย็นมาก ไม่สามารถลงไปได้นานๆ
ผมมีข้อมูลหมด ที่เขาบอกว่ากู้ภัยไปช้า ผมมีหลักฐาน มีข้อมูลหมด เพราะผมจะคอยบันทึกทุกอย่างให้กับทีม ส่วนเรื่องการปฏิบัติงานในน้ำ ผมมาปฏิบัติการบนผิวน้ำกับทีมทั้งหมด เอาเจ็ตสกีมาลงวันสุดท้ายที่เจอศพ
มันเสียความรู้สึก แต่ท้อแท้ เลิกทำ มันไม่มีผลกระทบที่ผมได้ยินกับคำพูดที่ว่ามาช้า แต่ถามว่าเรามาช้าหรือไม่ ผมยืนยันว่าผมไม่ช้า แต่ถามว่ารู้สึกยังไงก็ไม่โอเค ไม่ happy กับคำพูดของเขา
เพราะว่าเราไม่ happy เรารีบไป ทำงานเต็มที่ แต่พวกคุณก็ไม่ให้ความร่วมมือกับพวกผม 100% มันเลยทำให้เราทำงานได้ช้า พอทุกอย่างจบ ก็กลายเป็นว่าไปถึงช้า ทั้งๆ ที่พวกผมไปถึงนานแล้ว แต่ไม่มีข้อมูล มันจึงทำให้ทำงานได้ช้าลง”
ไม่เพียงแค่นั้น ด้าน "ชาติชาย ถุงเงิน" ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม ได้ให้คำยืนยันกับทีมข่าวถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมถึงสิ่งผิดปกติในสิ่งที่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ถ้ามองในจุดที่เราอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น คือกู้ภัยไม่ช้า ตำรวจลงมาที่เกิดเหตุทันที ในระหว่างที่ผมเห็น ไม่เกิน 5 ทุ่มครึ่งตำรวจและกู้ภัยอยู่ ซึ่งเป็นหลังจากที่เกิดการรับแจ้ง
กู้ภัยมาเขาต้องการข้อมูลที่ชัดเจน แต่ปัญหาคือ การให้ข้อมูลของผู้เสียหาย หรือกลุ่มที่ได้มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ไป มันไม่ 100% หมายความว่ากลุ่มเพื่อนแตงโมให้การที่ไม่ตรงกัน สะเปะสะปะ ก็เลยทำให้เวลามันเนิ่นนานผ่านไป
พอไปถึงเราก็เห็นอยู่ประมาณ 3 คน แต่คนอื่นไม่เห็น อาจจะไม่สังเกต ที่สังเกตเห็นคือ คุณแซน คุณโรเบิร์ต (ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์) ที่ผมพยายามสอบถาม แต่เขาก็ไม่ให้ บ่ายเบี่ยงจนเดินออกไปจากท่าเรือ
ขณะเดียวกัน พอหันหน้ามาอีกที ก็พบว่าคุณปอ (ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์) ก็กำลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในลักษณะที่มีอาการคล้ายคนเมาสุรา พูดลิ้นรัว ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน คือสภาพลิ้นรัว แต่ยังคุยรู้เรื่องอยู่ พอหลังจากนั้นพักหนึ่งก็ไม่เห็นกลุ่มเพื่อนอีกเลย จะเห็นแต่เจ้าหน้าที่กู้ภัย เขาวางแผนอยู่”
เบื้องหลัง “อาสา” การทำดี ไม่สวยหรู
แน่นอนว่าหากจะพูดถึงงานอาสากู้ภัยนั้น ภาพเบื้องหน้าในมุมมองของคนส่วนใหญ่คือ การทำความดีที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม แต่สำหรับงานอาสากู้ภัย ภาพเบื้องหลังจริงๆ กลับไม่ได้สวยหรูเหมือนกับงานอาสาอื่นๆ
“อาสาสมัคร เป็นคนที่ทำงานที่ไม่มีเงินเดือน พอไม่มีเงินเดือน ถามว่าทำไปทำไม อย่างผมทำไปเพราะใจมันรัก ประสบการณ์ของผมอย่างน้อยคือ 20 ปีในวงการกู้ภัย ถ้าให้ผมเลิกทำ ผมก็เลิกทำไม่ได้เหมือนกัน อะไรที่เราทำได้ เรามีความสามารถ เราทำ อันไหนที่เราดูแล้วว่าประมาท เราไม่โอเค ร่างกายเราไม่พร้อมก็อย่าไปเสี่ยง
อย่างเช่น การดำน้ำ นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ แล้วเราต้องลงไปดำน้ำ อย่ามองว่ามันง่าย ทุกอย่างมันต้องผ่านการฝึกฝน การซ้อม มันมีอุปสรรคของมันอยู่แล้ว ทั้งความเย็น ความเชี่ยว ความลึก แรงกดอากาศ และหลายๆ สิ่ง ที่เราจะต้องให้ร่างกายเราพร้อมก่อน แม้กระทั่งการเคลียร์ร่างกายของตัวเอง ก็ต้องเคลียร์ เพราะแรงดันในร่างกาย มีแรงกดอากาศของใต้น้ำ ฉะนั้นอาจจะทำให้เราแก้วหูแตก ซึ่งผมผ่านประสบการณ์พวกนี้มาหมดแล้ว
ผมเคยแก้วหูแตกมาแล้วจากการดำน้ำ เพราะร่างกายเราพักผ่อนน้อย เราลงน้ำเร็ว มันหลายๆ สิ่งหลายๆอย่าง ที่ทำให้เราเลิกไม่ได้ ไม่ได้เงินเดือน แต่ทำไปทำไม ก็อย่างที่บอกเราคือจิตอาสา ใจรัก เพราะฉะนั้นเราทำอะไรได้ เราทำเท่าที่เราไหว ทำแล้วมีความสุข นั่นคืออาสาสมัคร ที่ไม่มีเงินเดือน ซึ่งส่วนมากที่มาช่วย คือเป็นอาสา”
นับว่าอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นความตาย เพราะนอกจากผู้ที่ทำงานต้องสละทั้งเวลา แรงกาย แรงใจแล้ว ยังต้องแบกรับภาระหน้าที่เพื่อแลกกับการช่วยเหลือชีวิตคน
“มันก็เหมือนหน้าที่ เพราะพวกผมเป็นอาสาสมัคร มันเป็นจิตอาสาอยู่แล้ว คืออะไรที่ทำได้ก็ต้องทำ เพราะเราคือจิตอาสา เรามีหน้าที่ทำ เรามีความสามารถ เราก็ทำ
มันไม่มีอะไรหยุดได้อยู่แล้ว ประเด็นมาช้ามาเร็วตอนนี้มันเคลียร์กันหมดแล้ว ฉะนั้นนั่นคือหน้าที่ของพวกผม คือรู้ว่าใครมีภัยก็ไป น้ำท่วม ตกน้ำ ไฟไหม้ก็ต้องไป แต่ถามว่าเรามีหน้าที่อะไร เรามีหน้าที่จิตอาสาในหน่วยงานขององค์กรร่วมกตัญญู ที่เราจะต้องไปช่วยกัน
ไม่ว่าจะสำเร็จในตอนนั้นหรือไม่ก็ตาม เหมือนภารกิจครั้งนี้ใช้ระยะเวลา 3 วัน กินนอนอยู่ที่ท่าน้ำ หรือที่รถ คือไม่กลับบ้าน ซึ่งหลายๆ คนคิดว่าถ้าไหนๆ มา ก็สู้กันเต็มที่ไปเลย”
ในฐานะเป็นตัวแทนหน่วยกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ในการค้นหา และประกอบด้วยการทำงานอย่างหนักตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นเวลานานกว่า 38 ชั่วโมง เขาได้ฝากขอบคุณทุกกำลังใจ รวมถึงการเล็งเห็นการตั้งใจทำงานของหน่วยกู้ภัย ที่ได้ทุ่มเทแรงกาย และใจปฏิบัติหน้าที่ โดยยืนยันว่าไม่เคยเลือกปฏิบัติ และจะยังคงตั้งใจเป็นจิตอาสาต่อไป
“ในกรณีนี้ก็มีคนที่เข้าใจ โดยที่เขารู้ เขาเข้าใจในมุมมองการทำงานของกู้ภัย เขาได้เข้ามาให้กำลังใจ หลังจากที่ผมโพสต์เฟซบุ๊กไป เป็นกำลังใจให้นะ สู้ๆ นะ พวกพี่เก่งมาก พวกพี่ทำดีแล้ว เราก็ต้องขอขอบคุณประชาชนที่เข้าใจในการทำงานของกู้ภัย ว่ากู้ภัยก็ต้องเซฟตัวเองเหมือนกัน ไม่ใช่ไปถึงกระโดดน้ำไปช่วย
ทุกอย่างจะต้องเซฟ เขาต้องมีการทำงานของมัน เชื่อว่าใครจะทำก็ได้ ใครมาถึงแล้วลงปฏิบัติงานก็ได้ ทุกอย่างเขาต้องมีทีม เพราะฉะนั้นมันไม่สามารถทำคนเดียวได้
บางทีเราไปถึงแล้ว มันไม่ใช่เราไม่อยากช่วย เราพร้อมที่จะช่วย แต่มันไม่มีข้อมูล ไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่เข้าใจ ที่เป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ อาสาจากอีกหลายๆ คน ผมก็ขอเป็นตัวแทนขอบคุณครับ”
สกู๊ปข่าว : MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก"Naret Srisai"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **