ดรามาเกิด เมื่อภาครัฐประกาศเตรียม “ยกเลิกสิทธิรักษาโควิด-19 ฟรี” ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นไป กูรูด้านต่างๆ พร้อมใจวิเคราะห์ “ไม่เห็นด้วย” และ “มองเห็นแต่ผลเสีย” ไม่คุ้มค่าภาษีประชาชน!!
รักษาตัวที่บ้าน ทำคนรอบข้างตื่นตระหนก
เมื่อมีประกาศจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ว่า “จะยกเลิกสิทธิรักษาโควิด-19 ฟรี” ออกจากบริการของ “UCEP (ยูเซ็ป)” หรือ การให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ และให้คนไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป จึงส่งให้เกิดกระแสดรามาต่อเรื่องนี้หนักมาก และนี่คือ ตัวอย่างเสียงสะท้อนบางส่วนจากโลกโซเชียลฯ
“ถ้ายกเลิกไปอาจทำให้มีปัญหาในหลายเรื่องตามมา ทั้งเรื่องคนล้นระบบโรงพยาบาลตามสิทธิ บวกกับช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นเท่าตัว จึงอยากให้ทาง ศบค. ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง”
“ป่วยอยู่กรุงเทพฯ แต่ต้องไปหาหมอที่บ้านเกิดหรือยังไง 700 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 10 ชม. เลยนะ ทำไมล้าหลังจัง”
“ตัวอยู่ชลบุรี แต่สิทธิบัตรทองอยู่สารคาม ถ้าต้องกลับไปรักษาตามสิทธิ จะไม่ตายก่อนเหรอ”
“แล้วถ้า รพ. ตามสิทธิไม่รับล่ะ ทั้งๆ ที่ผลเป็นบวก ประชาชนทุกคนจะได้รับการรักษาทั่วถึงทุกคนไหม?”
“งั้นสิทธิบัตรทองควรใช้ได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐนะ ไม่ใช่ระบุไว้แค่โรงพยาบาลเฉพาะสิทธิของเรา ควรรันข้อมูลของผู้ป่วยทั่วประเทศได้ในทุกๆ โรงพยาบาล”
หลังจากเกิดกระแสดรามาอย่างหนัก คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า ให้กระทรวงสาธารณสุข “ชะลอการประกาศยกเลิกสิทธิ” ในครั้งนี้ออกไปก่อน เพราะจะต้องมีการทำความเข้าใจ และซักซ้อมการให้บริการ รวมถึงปรับการบริการผู้ป่วยให้ดีขึ้น ก่อนที่จะใช้ระบบ “การรักษาตามสิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล”
ภูวกร ศรีเนียน รองประธานกรรมการมูลนิธิเส้นด้าย ได้สะท้อนถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการยกเลิกสิทธิจากบริการของ UCEP (ยูเซ็ป) ในครั้งนี้ ว่า หากต่อไปประกาศใช้ระบบการรักษาตามสิทธิ ถ้าเกิดว่ามียอดผู้ติดเชื้อล้นไปอีก ซึ่งจะยิ่งผลักให้เกิดปัญหาขึ้นตามมาอีกเป็นขบวน
“สิ่งที่เราเป็นห่วงมาก ก็คือ ถ้าหากใช้ระบบการรักษาตามสิทธิ ก็จะมีกลุ่มผู้ป่วยอยู่ส่วนหนึ่ง คือ ‘กลุ่มเปราะบาง’ หรือกลุ่มที่อาการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จากสีเหลือง แล้วกลายเป็นเหลืองแก่ แล้วกลายเป็นแดงได้ภายในชั่วข้ามคืน
[ “ภูวกร” รองประธานกรรมการมูลนิธิเส้นด้าย ]
คนเหล่านี้ ถ้าหากไม่มี ‘ช่องทางพิเศษ’ ให้ หรือถ้าหากให้ไปต่อคิวตามระบบ มันอาจจะมีปัญหาต่อสุขภาพของเขาอย่างจริงจังได้”
พอต้องใช้สิทธิแบบนั้น ก็ต้องมั่นใจว่า เตรียมระบบรองรับไว้เพียงพอแล้ว ถ้าสมมติโรงพยาบาลแห่งหนึ่งคนไปใช้สิทธิเยอะมาก ปรากฏว่า โรงพยาบาลนั้นคนเต็ม หรือคนล้น แล้วผู้ป่วยควรสามารถจะ ‘ข้ามไปใช้สิทธิที่อื่น’ ได้เช่นเดียวกัน
“หลังจากถ้ามีการยกเลิก สมมติว่า เราต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วกว่าเราจะได้รักษาตามสิทธิมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อีกอย่างถ้าโรงพยาบาลบาลตามสิทธิของเรามันเต็มอีก จะทำอย่างไร ปัญหานี้เกิดขึ้นแน่”
ส่วนในเรื่องการรักษาตัวเองที่บ้าน มันเหมาะกับแค่บางคนที่อายุไม่มาก, ฉีดวัคซีนแล้ว, ไม่มีภาวะเสี่ยง และบ้านมีลักษณะที่สามารถแยกคนอื่นอยู่ได้เท่านั้น ซึ่งก็ยังมีอยู่ส่วนน้อย เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่สภาพบ้านอยู่ในชุมชนแออัด ไม่สามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ กลุ่มนี้ก็ต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์ CI ที่รัฐเปิดรับรอง
[ ส่งตัวผู้ติดเชื้อที่มีภาวะเสี่ยงเข้ารับการรักษา ]
“แต่ผลกระทบจากการรักษาตัวเองที่บ้าน คือ อาจมีคนตื่นตระหนก เพราะตอนนี้ในเรื่องความรู้สึกของคน ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนแล้ว ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มโรคเสี่ยง หรือไม่ได้อายุมาก แต่ในความตื่นตระหนกเมื่อเห็นคนติดเชื้อ มันก็จะส่งผลให้คนรอบข้างไม่ไว้ใจ เพราะกลัวว่าจะมาแพร่เชื้อใส่หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ก็ยังมีอยู่”
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้คนจำนวนมากยังต้องการระบบโรงพยาบาลของเอกชนมารองรับอยู่ เพราะว่าถ้าติดขึ้นมา ก็จะไม่ส่งผลต่อคนใกล้ตัว อีกอย่างการได้ไปกักตัวที่อื่นจะได้ไม่ต้องถูกคนรอบๆ บ้านกังวลอีกด้วย
“จะเห็นได้ว่า ความตระหนกของคนก็ยังมีอยู่มาก อย่างตอนนี้ทางเราได้ประสานงาน ส่งผู้ป่วยในหลายๆ ที่ บางที่ก็เต็ม บางที่เขาก็ไม่อยากรับแล้วเพราะกลัวในเรื่องการเปลี่ยนผ่านของการเบิกเงิน”
“เข้าใจว่า วันหนึ่งมันต้องมาถึงจุดนี้ แต่ว่ามันเร็วไปหน่อย ถ้าต่อระยะเวลาไปอีกสักหนึ่งเดือน ให้มีการเตรียมตัวมากกว่านี้ก่อน มันน่าจะดีกว่านี้ นี่คือผลกระทบที่เราเจอ”
ยกเลิกเมื่อไหร่ สิทธิไม่ทั่วถึงเมื่อนั้น
นอกจากในเรื่องของปัญหาและภาระที่จะเกิดขึ้น ยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิการเข้าถึงการบริการ หรือการรักษาของระบบสาธารณสุขก็จะตามมาอีกเช่นกัน และอาจทวีเพิ่มขึ้น
ในเรื่องนี้ เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ อาสาแนวร่วมประสานงานส่งผู้ติดเชื้อมองว่า การยกเลิกสิทธิการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ของ UCEP นั้น เป็นเรื่องที่น่าตกใจพอสมควร เพราะว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาและสัปดาห์นี้ ยอดผู้ติดเชื้อทะยานสูงขึ้นมาก
[ “เพ็ญพิสุทธิ์” อาสาแนวร่วม ประสานส่งผู้ติดเชื้อ ]
หากเป็นไปได้จึงยังคงอยากให้รัฐกับเอกชนร่วมกันแก้ไขในเรื่องนี้เหมือนเดิม เพราะการที่ไปตัดขาข้างใดข้างหนึ่ง ด้วยการที่เห็นว่าสิ่งนั้นไม่จำเป็น อาจจะเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องดูแลกันเอง แต่อย่าลืมว่าประชาชนต้องมีสิทธิที่จะเลือกการรักษา เพราะนั่นคือ “ภาษีที่คนไทยทุกคนที่จ่ายไป” เมื่อยามเจ็บป่วย ทุกคนควรจะได้สิทธิต่างๆ เท่ากัน
“ณ จุดนี้เรายังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก ทางเราเข้าใจว่ามีผู้ป่วยล้นระบบการรักษา จึงทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เรามองว่าประชาชนควรจะได้รับรัฐสวัสดิการในการดูแล หรือการช่วยเหลือในระบบสาธารณสุข เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”
ถ้าหลังจากการยกเลิกไป คนที่จะสบายขึ้นหน่อย ก็คือ คนที่มีประกันสุขภาพ เพราะเขาสามารถเข้ารักษาในระบบของเอกชนได้ แต่ปัจจุบันทั้งค่าครองชีพเราก็สูง ทั้งเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดนี้ มันก็จะกลายเป็นภาระของประชาชนทุกคนอยู่ดี
[ ความเหลื่อมล้ำที่พบในชุมชนแออัด ]
การหาวิธีมารองรับการยกเลิก อย่างการรักษาตัวที่บ้าน ถ้าพูดถึงในเรื่องทฤษฎีมันก็ดีอยู่ แต่ว่าในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงแล้ว มันไม่สามารถแยกคนหนึ่งออกจากคนในบ้านได้ เพราะถ้าเขามีห้องน้ำเพียงห้องเดียว ห้องทานอาหารเพียงที่เดียว มันก็จะเกิดปัญหาขึ้น
“เราต้องนึกถึงสภาพความเป็นจริงว่า คนในชุมชนที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันหลายคน ถ้าในบ้านนั้นมีเด็กนักเรียน เขาก็จะต้องไปโรงเรียน ถ้าคนในบ้านติด เมื่อเด็กไปโรงเรียนก็อาจทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่อีก มันก็จะวนเป็นงูกินหางอยู่แบบนี้ ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น”
ถ้าการบริการประชาชนในเรื่องสุขภาพ มันไม่ทั่วถึง สำหรับคนที่ลำบากอยู่แล้วในเรื่องสิทธิการเข้าถึงการรักษา ปัจจุบันมันยิ่งจะลำบากกันไปใหญ่ ประชาชนก็จะเดือดร้อนไปตามๆ กัน
อีกเรื่องคือ เมื่อไม่มีการอำนวยความสะดวก ในเรื่องของการรับ-ส่งผู้ป่วยเหมือนที่แล้วมา บางคนที่เขาไม่มีรถส่วนตัว เขาจำเป็นจะต้องใช้รถสาธารณะ ยิ่งถ้าเขามีอาการ เช่น ไอ แล้วต้องอยู่บนรถเมล์ที่แออัด ภาพแบบนั้นไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
“มันทำให้รู้สึกว่าสวัสดิการดีๆ ที่ประชาชนควรจะได้เมื่อเกิดการเจ็บป่วยมันไปอยู่ไหน อีกอย่างถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น จะเป็นการไปเพิ่มยอดผู้ติดเชื้อขึ้นอีกด้วย”
ปกติเวลาทางเราไปช่วยเหลือชุมชน หรือคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เราก็พบผู้ติดเชื้อในชุมชนอยู่ตลอดในทุกๆ วัน และคนที่ขอความช่วยเหลือส่วนมาก เป็นคนที่ไม่สะดวกจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เพราะเรื่องข้อจำกัดต่างๆ อยากให้ช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะสิ่งที่เขาควรได้รับ คือ การเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่รวดเร็ว และรู้สึกปลอดภัยกับชีวิตที่สุด
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : fb.com/zendai.org
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **