ดรามาหนักฉลองวันแห่งความรักกับ “งานจดแจ้งคู่สมรสเพศเดียวกัน” แต่ไม่มีผลทางกฎหมาย กูรูสะท้อน
งานนี้จัดมาเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ หรือจัดมาสนองแรงผลักขายฝันเพื่อใคร?
ไม่มีผลทางกฎหมาย แค่นโยบายเล่นขายของ?
โซเชียลฯ เสียงแตก หลังจากกรณีที่ สำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ได้ประชาสัมพันธ์ถึงการจัดงาน
“บางขุนเทียน แสงเทียนแห่งรัก” ในวันวาเลนไทน์
นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ได้ร่วม การบันทึกจดแจ้งคู่สมรสเพศเดียวกัน และถือเป็นการขับเคลื่อนในเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่การจดแจ้งในครั้งนี้ จะไม่มีผลต่อกฎหมายใดๆ เหมือนทะเบียนสมรส
หลายเสียงต่างวิพากษ์วิจารณ์แตกต่างกันออกไป บางคนบอกว่า แม้ไม่มีกฎหมายมารองรับ แต่ก็เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเรื่องนี้
“ถึงแม้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็ยังดีที่สังคมค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ การค่อยๆ เริ่มต้น ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานตามสไตล์ไทยแลนด์ ดินแดนไดโนเสาร์ แต่ก็ยังดีที่มีคนเริ่ม”
แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มองว่า เมื่อจดทะเบียนไปแล้ว ไม่มีกฎหมายมารองรับ แล้วจะจดไปทำไม เป็นนโยบายเล่นขายของหรือเปล่า?
“ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หากินเอาคอนเทนต์ จาก LGBTQ+ นี่แหละกะลาแลนด์ ขายขำไปเรื่อย”
เมื่อกลายเป็นประเด็นร้อน ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ตัวแทนการผลักดันกฎหมายและเสริมสร้างสังคมด้านสิทธิความเสมอภาคของเพศหลากหลายมาโดยตลอด จึงได้ออกมาโพสต์ในแฟนเพจ “เตอร์ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ - Nateepat Kulsetthasith” ชวนให้ผู้คนในสังคมหันมาขบคิดถึงเบื้องหลังการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
“แต่ปัญหาคือ เนื้อแท้ของกิจกรรมนี้คืออะไร? เป็นไปได้หรือไม่ ว่า กิจกรรมนี้คือการสร้างภาพลวงตา ด้วยการพยายามหลอมให้สังคมเข้าใจว่า รัฐกำลังผลักดันเรื่องนี้ และกิจกรรมนี้ คือ สัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้น
ส่วนพวกเรานั้น ควรจะพึงพอใจ และหยุดเรียกร้องถึงสิทธิพื้นฐานที่เราพึงได้เสียที หรือรัฐวางกับดักให้หลงดีใจไปว่าสิ่งที่โดนกดทับมาตลอด วันนี้กำลังจะถูกปลดล็อก และจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้กับเรื่องนี้แล้ว”
ทั้งยังทิ้งท้ายว่า หากเขตบางขุนเทียน เห็นคุณค่าของความเท่าเทียม และตั้งใจจะจัดงานนี้ให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยควรให้ความเชื่อมั่นว่า เขตบางขุนเทียน จะเป็นเขตนำร่องในการสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม และไม่ปล่อยให้งานนี้เป็นแค่ “งานจดทะเบียนสมรสปลอม”
หลังจากนั้น แฟนเพจ “สำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร” ก็ออกมาชี้แจง “การจดแจ้งสมรสคู่รักเพศเดียวกัน” ในครั้งนี้ ว่า กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่ของกลุ่ม LGBTQ+ ในระหว่างการรอกฎหมายที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในอนาคต และเป็นการแสดงออกเพื่อส่งเสียงให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากพอสมควร เพราะพวกเขายังรอความเท่าเทียมทางกฎหมายอยู่
เสียงดังขึ้นแค่ไหน แต่กฎหมายไทยก็ยังไม่เอื้อ
แม้ว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะบอกอย่างชัดเจนว่า การจดแจ้งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ แต่หลายคนก็ยังมีความหวังว่า งานนี้จะสามารถช่วยแสดงถึงสิทธิและเพิ่มเสียงของกลุ่ม LGBTQ+ ให้ดังพอที่จะสามารถเปลี่ยนเป็นการจดแจ้งการสมรสแบบมีกฎหมายที่รองรับได้ในอนาคต
อุ้ม-อภิญญา ผดุงโชค อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มีมุมมองต่อ กิจกรรมจดแจ้งสมรสเพศเดียวกัน ในครั้งนี้ ว่า กิจกรรมนี้น่าจะ เป็นอีกกิจกรรมที่สามารถเปล่งเสียงของ LGBTQ+ ให้ดังขึ้นไปในอีกระดับหนึ่งได้ และทำให้เห็นว่า คนเรามีสิทธิที่จะสมรสได้กับทุกเพศ ไม่จำเป็นต้องมีแค่คู่หญิง-ชาย
“ในรัฐสภาที่ได้อภิปรายเรื่องสมรสเท่าเทียม เขาอาจจะรับพิจารณา แต่ก็เหมือนจะเอาไปดองไว้ การที่จะมีกิจกรรมนี้ขึ้น ก็อาจจะทำให้เป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ว่า เราต้องการความเท่าเทียมในการสมรสจริงๆ ถ้ามัวแต่รอว่าให้เขาออกมาพูดชัดเจนว่าจะปัดตก หรือจะรับไปแก้ไข มันอาจจะนาน”
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนหลากหลายทางเพศเยอะ แล้วเขาก็มีความประสงค์ที่อยากจดทะเบียน เพื่อที่จะใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันได้เหมือนคู่ชาย-หญิง “ถ้ามีที่หนึ่งเริ่มทำ ก็จะเป็นแรงกระเพื่อมให้ที่อื่นอยากเริ่มทำด้วย”
เพราะถ้าเท้าความไปเมื่อปีที่แล้ว จากการทำงานในองค์กรเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ การผลักดัน หรือการขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ก็มีส่วนช่วยให้เรื่องนี้พัฒนาขึ้นได้ แม้จะช้าแต่ก็ “ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เสียงเริ่มดังขึ้น คนยอมรับมากขึ้น”
ในเรื่องของสิทธิที่คู่สมรสเพศเดียวกัน ควรจะได้รับก็ต้องเหมือนกันทุกประการ อย่างที่คู่สมรสทั่วไปเขาได้รับ ต้อง “เท่าเทียมกันทั้งสิทธิเสรีภาพ ครอบครัว การตั้งถิ่นฐาน แม้แต่ระบบประกันสุขภาพ” ก็ควรจะได้รับเท่ากัน เพราะถ้าวันหนึ่งเขาได้อยู่กินแบบชีวิตครอบครัวจริงๆ ก็ควรจะได้รับสิทธิให้เท่ากับชาย-หญิง ที่สมรสกัน
“ยกตัวอย่างจากเคสที่อุ้มเคยพบ มีคนๆ หนึ่ง เป็นหญิงข้ามเพศ มีแฟนอยู่กันมาเกือบสิบปี วันหนึ่งแฟนเขาปวดท้องมาก ต้องผ่าตัดไส้ติ่ง แล้ววันนั้นต้องเข้าโรงพยาบาล
แต่คนที่ต้องเซ็นได้ตามกฎหมายต้องเป็นคนในครอบครัวเท่านั้น แต่เขาติดต่อครอบครัวไม่ได้เลย คนที่จะต้องเซ็นให้ได้ในตอนนั้นก็มีแค่พี่คนนี้ แต่เขาไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่ใช่คู่สมรสกัน ก็จะเห็นว่า อะไรต่างๆ มันไม่ได้เอื้อให้พวกเขาเลย”
แม้จะมีคนมองว่า เพศเดียวกันจะใช้ชีวิตคู่ได้ไม่ยั่งยืน แต่อัตราการหย่าของคู่ชาย-หญิง ในแต่ละปีก็มีไม่น้อย นั่นก็แปลว่า มีความไม่ยั่งยืนเหมือนกัน และการหย่ากัน ก็ถือเป็นเรื่องปกติ นั่นก็เป็นสิทธิที่ต้องทำได้ทั้งคู่
ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม
แต่สุดท้ายแล้ว ในเรื่องของกฎหมายการสมรสเท่าเทียมนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐ ถ้ารัฐยอมรับและเปิดมุมมองเรื่องนี้ได้จริง ก็น่าจะผ่านตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะคนไทยขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานมาก แต่เหมือนเรื่องนี้ยังคงถูกปิดกั้น และทำให้คนรับรู้และเข้าถึงได้น้อยที่สุด ถ้าดูจากการอภิปรายในครั้งที่แล้วมา
“ตั้งแต่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มา อุ้มเห็นว่าประเทศไทยเรายังวนอยู่กับเรื่องนี้เป็นวงกลมมาเกือบสิบปี แน่นอนว่า ในวงวิชาการ หรือการทำงานด้านนี้ เขาก็จะพูดอยู่ตลอด ว่า ควรจะออกจากวงกลม หรือกรอบที่เคยมีได้แล้ว มันต้องขับเคลื่อน สร้างกฎหมายให้มันเป็นรูปธรรมมากกว่าที่มีอยู่
ดูจากต่างชาติที่เขาออกกฎหมายให้สมรสระหว่างเพศเดียวกันได้ แต่ในไทยกลับยังวนลูปเดิม อยากให้ทุกเพศเขาได้สิทธิในขั้นพื้นฐาน คิดว่า การขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ มันอาจจะทำให้เขาใจอ่อน และยอมรับได้”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “สำนักงานเขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร” และ “iLaw”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **