เปิด gallery มุมส่วนตัว ของศิลปินวัย 26 คนนี้ ที่ขายภาพ NFT ทะลุ 2 แสน ที่มีนิยามของตัวเอง พัฒนา - มุ่งสู่ความฝัน พร้อมสะท้อนงานศิลปะ ท่ามกลางการพิสูจน์ตัวตน และนี่คำตอบของศิลปินในนาม “Paerytopia”
ร่างความฝัน สู่โลกความเป็นจริงเงินแสน!!
“งานชิ้นแรกค่ะ ที่ขายได้ 1.75 ETS ถ้าเป็นค่าเงินตอนนี้ อาจจะประมาณ 2 แสนบาท”
มุมห้องเล็กๆ กลับเต็มไปด้วยความฝัน แรงบันดาลใจ ขีดๆ เขียนๆ ของผู้หญิงสวมเชิ้ตสีขาว กระโปรงสีน้ำตาล เจ้าของห้องอย่าง “แพร - พิมพ์ชนก ทีปพงศ์” หรือที่ใครหลายคนรู้จักในนาม “Paerytopia” ศิลปินรุ่นใหม่วัย 26 ปี ที่ เจ้าของผลงานอาร์ตกลิ่นอายยุค 80’s จนสร้างผลงาน ทำรายได้จาก NFT หลักแสนบาท แถมเคยวาดแฟนอาร์ตจนเจนนี่ BLACKPINK อัปลง IG story มาแล้ว
นักวาดภาพอิสระที่มีลายเส้น และผลงานชวนให้เราหลุดไปในดินแดนแห่งความฝัน ได้เปิดห้องคุย สะท้อนตัวตนผ่านผลงาน โดยเฉพาะการทำบางสิ่งที่ใครหลายคนอาจมอดดับไป ทำให้เกิดแรงบันดาลใจบางอย่างแก่สังคม
“อย่างไอเดียของเรา ช่วงนั้นเกิดการล็อกดาวน์ เราเบื่อ เราไม่มีอะไรทำ วันๆ เราก็อยู่แต่ห้องวาดรูป ถ้าเห็นภาพนี้เราก็วาดห้องตัวเองนี่แหละค่ะ เพียงแต่ว่าเราวาดในรูปแบบของ Lo-Fi girl มันจะเป็น youtube ที่เป็นเด็กผู้หญิงนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะ
แล้วเราก็เลยได้ inspiration มา ว่าเราอยากจะทำตัวเองเป็น Lo-Fi girl บ้าง เพราะเรารู้สึกว่าห้องเราตอนกลางคืน มันมี feeling เราชอบทำงานตอนกลางคืน เราก็เลยเอามาเป็น concept ว่า I love to draw at night คือ ชอบวาดรูปตอนกลางคืน ก็ครีเอทมาเป็นภาพนี้ ที่แรงบันดาลใจมาจากอยากวาดตัวเองเป็นแบบ Lo-Fi อยากวาดห้องทำงานของตัวเอง และช่วงเวลาที่ตัวเองชอบทำงาน
จริงๆ ระหว่างทางที่สร้างงานชิ้นนี้ คือ ตอนแรกอยากท้าทายตัวเองด้วย เพราะปกติ เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบวาดฉากเท่าไหร่ ชอบตัวละครมากกว่า แต่งานนี้พอเราได้ลองวาด เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราก็ทำได้ ถ้าเราตั้งใจเราก็ทำได้ ซึ่งเราจะเห็นในภาพมันมี detail เล็ก detail น้อย
เราก็ใช้เวลาตัดเส้น ลงสีนานอยู่เหมือนกัน แต่อย่างที่เห็น คือ ตัวภาพก็วาดมาจากของในห้องที่มีอยู่จริง มันจะมี make ขึ้นมานิดหน่อย อย่างโคมไฟสีขาว แต่ในภาพเป็นสีแดง”
ต้องยอมรับเลยว่า “NFT” หรือ “Non-Fungible Token” ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และก็ได้เห็นศิลปินจากต่างประเทศสามารถทำงานได้มากมายจากการขายงานศิลปะผ่านโลกดิจิทัล และในอนาคตอาจจะเกิดการทำธุรกรรมประเภทใหม่ ท่ามกลางการลงทุนใหม่ๆ จำนวนมาก สร้างรายได้ ให้คนในวงการศิลปะลืมตาอ้างปาก
“บอกตรงๆ ก็ดีใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด ความรู้สึกขายงานชิ้นนี้ออก คือ เราก็ดีใจ เพราะว่าตอนที่ลงภาพนี้ ลงไปใน NFT คือ ขายไม่ออกประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนานมาก สำหรับเรา
ในตอนนั้นเราก็มีท้อ เพราะว่าคนรอบตัวขายออกเกือบหมดเลย แล้วมันเหมือนเป็นความกดดันค่ะ ว่าหรือเราทำชิ้นนี้ได้ยังไม่ดีพอ หรือเราตั้งราคาสูงไป ในตอนนั้นมีหลายคำถามเข้ามา แต่เรารู้สึกว่า เรามั่นใจในผลงานของเรา ว่าเราทำได้ดี และเรารู้สึกว่าเราอยากรอ ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ในช่วงที่ขายไม่ออก เราก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง ไปทำของขาย physical บ้าง และไปทำงานอื่นๆ บ้าง แล้วทิ้งไว้ เพราะตอนนั้นก็ยังค่อนข้างใหม่ เราไม่ค่อยรู้วิธีโปรโมต และวิธีขายงาน เพราะว่ามันยังเหมือนใหม่ๆ มาก สำหรับเรา
ถึงแม้ว่าเราจะมีคนติดตามเยอะ แต่พอมาทำ NFT มันเหมือนเรา start ใหม่ตั้งแต่ 0 เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ global เหมือนเรายังไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียง แบบในสำหรับสากลขนาดนั้น ก็เหมือนต้องเริ่มใหม่หมดเลยค่ะ
จริงๆ เรามองว่า NFT เหมือนเป็นช่องทางในการลงงานช่องทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากอันอื่นๆ เท่าไหร่
มันเป็นงานที่ Mint (การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน) ไปลง Blockchain (เทคโนโลยีเบื้องหลังของบอตคอยน์) ซึ่งพอ Mint ไปลง Blockchain คือ มันจะสามารถตรวจสอบได้ว่า อันนี้เป็นของแท้ไหม และใครเป็นเจ้าของ และมีใครซื้อขายไป มันตรวจเช็กได้หมดเลย คือจะค่อนข้างโปร่งใส และมันจะมีระบบของมัน ซึ่งเราก็มองว่ามันเป็นที่ใหม่มาก สำหรับวงการศิลปะ
เพราะว่าก่อนหน้านี้ เราก็จะขายงาน ส่วนใหญ่เราจะขายเป็น physical แล้วก็อาจจะขายเป็นดิจิทัลบ้าง งานลูกค้าส่งไฟล์ภาพไป แต่อันนี้เราสามารถทำงานที่เราชอบได้ และขายได้ด้วย มีเงินหาเลี้ยงชีพได้ค่ะ”
จุดเสี่ยง “NFT” โดนแฮกเกอร์ขโมย-ฟอกเงิน!?
ทว่า ความพิเศษของงาน NFT คือ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำ หรือคัดลอกได้ ต่อให้ถูกลอกเลียนไป แต่ต้นฉบับก็จะมีเพียงหนึ่งเดียว
แน่นอนว่า ในทางกับกัน ทางโลกโซเชียลก็เกิดการตั้งคำถาม ถกเถียง จนเกิด #สายผลิตไม่เอาNFT เมื่อ ศิลปินเจ้าของงาน ถูกขโมยงานเอาไป Mint เป็น NFT โดยไม่ได้ขออนุญาต โดยมองว่าสิ่งนี้คือช่องโหว่ และทำให้ศิลปินโดนละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการฟอกเงิน เพราะ ทาง NFT ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ งานศิลปะต่างๆ จึงสามารถจดลิขสิทธิ์ได้
ทางด้านผู้มีประสบการณ์ ขายงานได้หลักแสน มองว่า งานจะไม่มีมูลค่าถ้าหากไม่ใช่ศิลปินต้นฉบับเป็นผู้นำไปลง
“เรามองว่าการทำงานทุกแบบ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสียหมดเลย เพียงแต่ว่าของ NFT ประเด็นส่วนใหญ่ที่คนพูดกัน ก็เป็นเรื่องการใช้พลังงาน และการโดนขโมยผลงาน เอาไปลงในแพลตฟอร์ม อันนี้ขอพูดไว้ก่อนว่าไม่ได้จะ normalize การ copy ใดๆ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นแพลตฟอร์มนึง ในการลงผลงาน ซึ่งโอกาสที่คนจะเอาไปลง มันมีได้อยู่แล้วก็จริง
มันเป็นแพลตฟอร์มนึงที่เหมือนกับ Facebook, Twitter,Shopee เป็นแพลตฟอร์มที่เราลงผลงาน แพลตฟอร์มที่เราสามารถลงผลงานที่จะซื้อขาย เพียงแต่ว่ามันเกิดการ copy ขึ้น
สิ่งที่จะบอก คือ ผลงานที่โดน copy ไปลง โดยคนที่แอบอ้าง ถ้าไปอยู่ Blockchain หรือในวงการ NFT มันจะไม่มีมูลค่าเลยค่ะ เพราะว่าผลงาน NFT มันมีมูลค่าด้วยที่มันเป็นของแท้ ถ้าเราตรวจสอบแล้วว่า มันไม่ใช่จากศิลปินที่เป็นเจ้าของงานโดยตรง ผลงานชิ้นนั้นจะไม่มีมูลค่า และโดน report ไปในที่สุด
เพราะเรามองว่า คนที่เขาโดนทำแบบนี้ เขามีสิทธิ์รู้สึกไม่ดีอเพราะต้องเหนื่อยมาตาม report ที่ถูกขโมยไป เรารู็สึกว่าเพราะมันเป็นแพลตฟอร์มที่ยังใหม่ด้วยเลยยังมีคนไม่เข้าใจในระบบต่างๆ อยู่เยอะ แต่สิ่งที่เจอนี้ไม่ต่างจากการที่เราเจอคนเอาผลงานเราไป copy ลงในแพลตฟอร์มอื่นๆ มัน คือ ปัญหาเดียวกัน แต่ใน NFT ืุทุกครั้งที่พบเจอปัญหานี้ ผู้คนใน community ต่างช่วยกัน report กันเสมอ
มันก็เลยออกมาในทิศทางนี้ ซึ่งเราเข้าใจ เราตามอ่านคนที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน ซึ่งมันเป็นคน 2 กลุ่มที่อาจจะมี mindset ที่ไม่ตรงกัน ซึ่งเรามองว่าถ้าอยากทำความเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ บางทีต้องลองลงมาทำด้วย อย่างเราลงมาทำแล้ว เลยรู้สึกว่าเราเข้าใจว่า ข้อดี ข้อเสียมันคืออะไร ซึ่งเราว่าสิ่งนี้มันเป็นอนาคต เพราะว่าในอนาคตมันก็จะมีปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก”
ในสังคมต่างมองว่าอาชีพนี้จุดจบ คือ “ศิลปินไส้แห้ง”เธอในฐานะที่เป็นศิลปิน ที่สามารถทำลายคำเหล่านี้ คิดว่าตราบใดที่ศิลปินมีเส้นทางของตัวเอง และไม่หยุดพัฒนางาน ศิลปินคนนั้นยังคงมีเส้นทางเดินไปต่อ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน “NFT” เป็นการเพิ่มช่องทางในการหารายได้จากงานศิลปะเธอ รวมถึงคนในวงการศิลปะ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน
และยังสามารถรับรายได้เพิ่มเติมจาก NFT เนื่องจากจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ทุกครั้งที่ NFT เปลี่ยนมือ หลังจากการขายครั้งแรก
“ตอบกันตามตรงเลยว่า ที่ทำให้ลืมตาอ้างปากได้ เป็นเรื่องจริง เพราะว่าในไทย ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่สนับสนุนการทำงานศิลปะเท่าไหร่ แม้จากส่วนภาครัฐเองหรือส่วนอื่นๆ เอง หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง
คือ มันมีกลุ่มคนที่ support งานศิลปะ ซื้องานศิลปะอยู่ แต่มันก็มีกลุ่มคนที่รู้สึกว่าเขาต้องหาเลี้ยงชีพ เขาไม่มีเงินมาใช้ในสิ่งสวยงาม สิ่งฟุ่มเฟือยเหล่านี้เรารู้สึกว่า มันก็มีคนที่ไม่เห็นด้วย ว่าสิ่งนี้มันไม่ดีนะ มันทำลายโลก แต่ในมุมเรารู้สึกว่า NFT เป็นการขายงานที่เปิดกว้างมากเลย เราพูดจากมุมคนที่ทำของขาย physical มาก่อนด้วย และมีฐานคนตามงาน
แต่อย่างเรามีคนตามงาน มีฐานคนซื้องาน บางทีเราขายงานที่เป็น physical ยากเลย เพราะว่ามันไม่ใช่ว่างานเราจะโดนตลาด
ต้องคิดก่อนว่าในไทยตลาดคนชอบงาน มันไม่หลากหลายเลย ถ้าเกิดชอบงานอะไร เขาจะชอบเป็น type เดียวกัน อย่างเช่น น่ารัก กุ๊กกิ๊ก เกาหลี ก็จะมีสไตล์ที่คนชอบกันอยู่ แต่ไม่ใช่ศิลปินที่วาดรูปทุกคน ที่จะทำงานสไตล์นั้น เพราะแต่ละคนมีความชอบ มี passion อะไรที่ต่างกัน
คำถาม คือ ถ้าเราไม่ใช่ศิลปินที่อยู่ในสายเป็นงาน mass เป็นงานที่คนเขาชอบกันอยู่แล้ว แล้วเราจะหาเลี้ยงชีพจากสิ่งที่เรารักได้ยังไง อันนี้เป็นคำถามที่น่าเศร้าใจมากเลยนะคะ เพราะว่าคำตอบก็คือ มันยากมาก เพราะว่าความชอบที่ไม่หลากหลาย ในการที่ทำ NFT มันทำให้เรารู้สึกว่ามุมมองของตรงนี้มันเปลี่ยนไป
เพราะว่าต่อให้คุณจะทำให้สไตล์ไหน แนวไหน คุณมี audience (ผู้ชม)ของคุณแน่นอน ใน NFT เพราะว่ามันกว้างมาก มันมีคนที่ชอบงานหลากหลายประเภท แม้กระทั่งผลงานของบางคน ที่มาขาย physical ทำเป็น print out กลับขายไม่ได้
แต่ว่าคนที่อยู่ใน NFT เห็นค่างานเขา เราว่าตรงนี้ที่มันทำให้หลายๆ คนลืมตาอ้างปากได้ ไม่ว่าจะทำงานสไตล์ไหน แนวไหน ไม่ได้ทำงานสไตล์นิยม มันคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงวงการจริงๆ คือมันจะทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
จากที่ตอนแรกรู้สึกว่า หรือว่าเราต้องเปลี่ยนสไตล์ของตัวเอง ไปเป็นแบบที่สังคมชอบ แล้วถึงจะขายงานได้ แต่อันนี้คือสิ่งที่ทำให้คุณเป็นตัวเองได้ และลืมตาอ้างปากได้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ดีมากๆ กับศิลปิน
เพียงแต่ว่ามันต้องใช้ความเข้าใจ ในการศึกษาเยอะ อะไรคือผลเสีย อะไรคือข้อดี ข้อเสีย มันต้องดู และต้องชั่งน้ำหนักกันไป แต่เรามองว่านี่แหละเป็นจุดที่จะเปลี่ยนให้หลายๆ อย่างมันดีขึ้น”
ไม่เพียงแค่นั้น ศิลปินอิสระในวัย 26 ปี ยังเปรียบเทียบการนำผลงานไปขายใน NFT จะสามารถพลิกวงการศิลปะได้อีกด้วย
“บางคนมองว่าการทำ NFT มันเป็นการเหมือนกับว่าปั่น เก็งกำไร คนจะมองว่าคอลเลกเตอร์ (collector) เขาจะซื้อเพราะเพราะจะไปเก็งกำไรต่อ แต่เราจะบอกว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป แต่สำหรับเราคอลเลกเตอร์ที่มาซื้องานเรา ไม่ได้มีความสัมพันธ์ซื้อขายแล้วจบ
มันจะเป็นการเหมือนเราได้เพื่อนคนใหม่ เรามีการคุยกัน เป็นความสัมพันธ์ดีๆ ที่เราคิดว่าเราคงไม่ได้ ถ้าเราไม่มาทำ และการที่เขามองเห็นคุณค่าในงานคุณ และเอาไปเก็งกำไรต่อ มันแปลว่าผลงานคุณมีมูลค่า เขาถึงอยากจะเอาไปเก็งกำไร ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี มันคือเรื่องดี อย่าไปมองว่าทำศิลปะ ต้องทำด้วยใจรักเท่านั้น ต้องห้ามเอาไปเก็งกำไร ต้องซื้อเพราะชอบเท่านั้น
จริงๆ มันไม่ต่างอะไรจากคนซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม มีทั้งคนซื้อเพราะชอบแบรนด์ มีทั้งคนซื้อเพราะอยากจะเก็งกำไร แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น คือ มันมีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ...มันมีคนให้ค่างาน เป็นใครๆ ก็อยากทำ แต่เราคิดมาตลอดว่าเราไม่ได้อยากพูดเชื้อเชิญคนอื่น มาขายฝัน มาทำ NFT สิ ได้เงินเยอะนะ ได้เงินเป็นแสนๆ นะ
เราคิดว่าเราไม่อยากพูดแบบนั้น เพราะว่ามันต้องลงมาทำจริงๆ ถึงจะรู้ว่ามันไม่ได้มีช่วงขายงานได้ตลอด ทุกคนมีอุปสรรคในช่วงที่ขายไม่ออก เราก็มีเหมือนกัน แม้กระทั่งตอนนี้ เรายังมีผลงานที่ขายไม่ออกอยู่เหมือนกัน และมีผลงานที่ขายออกด้วย คือ ทุกคนมันมีขึ้นมีลง มันไม่ใช่ว่าเราจะได้ แล้วได้ไปตลอด”
เติมเต็มแรงบันดาลใจ หมดไฟ-ต้องพัก!! “ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ มีมาตลอด มันเป็นไปไม่ได้ ที่ทำงานสร้างสรรค์ แล้วไม่มีความรู้สึกท้อ หมดไฟ อย่างที่รู้กัน ทุกวันนี้คนเก่งๆ มีเยอะมาก และมีขึ้นมาตลอดด้วย ถ้าเราหยุดพัฒนามันมีคนมาแทนที่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องพยายาม active ตัวเองตลอด ต้อง push ตัวเองตัวเองว่า เราต้องขยัน เราต้องเก่งขึ้น ซึ่งมันไม่ใช่ไม่ดีนะคะ แต่เราแค่รู้สึกว่า ถ้ามากไปมันจะเป็นสิ่งที่กดดันตัวเอง และทำให้อาจจะเป็นผลเสียต่อตัวเองด้วย รู้สึกว่าบางทีต้องค่อยเป็นค่อยไปกับสิ่งนี้ด้วย ทุกวันนี้ที่ทำงานมาก็มีช่วงเวลาหมดไฟ มีบ่อยด้วย เพราะว่าพอเป็นศิลปินมันทำงานกับอารมณ์ บางทีที่เราเจอคอมเมนต์ที่ไม่ดีหรือกระแสลบ มันทำให้เราไม่อยากทำงานไปเลย แต่สิ่งนั้นต้องตอบคำถามกับตัวเองว่า คุณวาดรูปเพื่อใคร เพื่อเอาใจคนอื่น หรือว่าเพื่อตัวเอง สำหรับเรา เราวาดรูปเพื่อตัวเอง และคนที่ชอบผลงานเหมือนๆ กับเรา เพราะฉะนั้นบางทีมีกระแสในแง่ลบ คอมเมนต์ในสิ่งที่ไม่ดี เราฟังแล้วเราก็จะเก็บเอาไปคิด เอาไปปรับปรุง ในอันที่มันเป็นประโยชน์ แต่อันไหนที่ไม่ได้ประโยชน์ เราก็จะพยายามจะปล่อยผ่าน มันยากแต่ว่าไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ เราก็ไม่สามารถก้าวเดินต่อได้ เรารู้สึกว่าวิธีที่แก้ปัญหาอาการหมดไฟ บางทีเราต้องเสพงานเยอะๆ ด้วย เหมือนเราต้อพักบ้าง เพราะว่าเราต้องเป็นมนุษย์ เราต้องออกไปเที่ยว ฟังเพลงดูหนัง อ่านการ์ตูนบ้าง เรารู้สึกว่าการได้เสพอะไรที่เราชอบ มันจะสามารถทำให้เราปิ๊งไอเดีย ในการสร้างผลงานชิ้นต่อไปขึ้นมาได้ บางทีเราคิดงานไม่ออก เราก็จะชอบดูหนัง ฟังเพลง หรือไม่ก็ดูหนังสือ reference, Art book ที่เราชอบซื้อมาเยอะๆ เพื่อที่จะฝึกงานของเขา เพื่อจะเติมไฟ สำหรับเราการเห็นงานคนอื่นที่เก่งๆ มันเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองเหมือนกันให้เรารู้สึกว่า เราอยากทำได้แบบเขา และมันทำให้เรารู้สึกมีไฟในการทำงานมากขึ้น” |
บทเรียนราคาศิลปะ “copy-แรงบันดาลใจ”
นอกเหนือไปจากนั้นการสร้างสรรค์งานประเภทศิลปะนั้น บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็นงานชิ้นหนึ่ง “คล้าย” กับงานอีกชิ้นหนึ่ง หรืออาจจะเป็นงานในกลุ่มเดียวกัน
จนกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงในแวดวงบ่อยครั้ง สำหรับการขีดๆ เขียนๆ ได้รับแรงบันดาลใจ หรืออาจจะซึบซับผลงานมาโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าหากดูดีๆ จะพบว่าสิ่งที่ไม่เหมือนกันนั้นคือ “เอกลักษณ์” ที่เจ้าของผลงานบรรจงใส่ไว้
สำหรับศิลปินอย่างแพร แรงบันดาลใจสร้างสรรค์งาน คือ เริ่มต้นจากสิ่งที่เธอชอบ หรือเรื่องใกล้ตัว
“ส่วนใหญ่แรงบันดาลใจ เราเกิดว่าเป็นสิ่งที่ชอบ บางทีก็เป็นเพลงบ้าง หนังบ้าง หรือเป็นการ์ตูนบ้าง เวลาเราทำงาน เราก็จะเปิดเพลง หาอะไรดูเพื่อให้มีไอเดีย พอได้ไอเดียเราก็จะเริ่ม research reference ดูสิ่งที่จะวาด อย่างเช่น คาแรกเตอร์ เราจะให้ใส่ชุดประมาณยังไง ทรงผมจะเป็นยุคไหน เราก็ดู reference เพื่อฉากต่างๆ ประกอบกัน สร้างสรรค์เป็นชิ้นงานชิ้นใหม่ค่ะ
คือ หลายๆ คนอาจจะคิดว่า วาดรูปมี reference ดู reference ศึกษา reference ใหม่ๆ จริงๆ เราคิดว่ามันทำได้นะ เหมือนเราทำเพื่อดู เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ๆ มันคือเป็นสิ่งปกติเลย เพียงแต่เราอาจจะต้องใช้ reference ให้ถูกทาง
สำหรับเรารู้สึกว่าการมี reference เป็นสิ่งที่เหมือนทำให้ งานของเราออกมาสมบูรณ์มากขึ้น อย่างเช่นเราจะวาดรูปคนนั่ง ทำท่าทางที่เราไม่ถนัด ถ้าเราไม่ดู reference เราวาดออกมา มันอาจจะผิดสัดส่วน เพราะฉะนั้นบางทีเราต้องศึกษา ซึ่งบางทีเราก็มีถ่ายรูปตัวเองบ้าง ว่าท่านี้ต้องวาดยังไง เพื่อที่จะศึกษา และวาดออกมาให้เป็นงานที่สมบูรณ์ที่สุด”
ถึงอย่างนั้น เราก็ยังคงมีประเด็นถกเถียงกันในประเด็นลิขสิทธ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแต่ก่อน เพราะด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนไป ตามยุคสมัย และศิลปะกลับมามีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น คำถามที่ว่า “copy” หรือ “ได้รับแรงบันดาลใจ” แน่นอนว่าคำถามเหล่านี้ ยังคงเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป วนเวียนอยู่ในวงการศิลปะมานับครั้งไม่ถ้วน
ตั้งแต่การนำเอารายละเอียดจากจุดนั้นจุดนี้ไปประกอบเป็นของตัวเอง หรือการรู้ไม่ถึงการจนประมาท ไม่ระมัดระวังจนเกิดดรามาภายหลัง
รวมทั้งการนำผลงานไป repost ใหม่ หรือเอาผลงานไปใช้ในสื่อต่างๆ แบบไม่ขออนุญาตศิลปินที่เป็นเจ้าของภาพก็ตาม
“ถ้าเป็นตอนที่วาดผลงานแฟนอาร์ต เจอค่อนข้างบ่อยอยู่แล้ว เจอจนปลงเลย แต่หลังๆ เราไม่ค่อยวาดแฟนอาร์ตเท่าไหร่แล้ว เพราะว่าเราอยากโฟกัสในการสร้างผลงานของตัวเองมากกว่า
เราอยากสร้างตัวตนให้คนชอบเรา ที่เป็นเราด้วย ไม่ใช่แค่ว่าที่วาดแฟนอาร์ตใครสักคน หรือหนังสักเรื่อง แต่ก็ยังชอบวาดแฟนอาร์ตอยู่นะคะ
เราต้องบอกก่อนว่า มุมมองของเรามันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วย คือ เหมือนเมื่อก่อนเราเคยมองแบบนึง แต่ปัจจุบันนี้เราก็มีมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิมเหมือนกัน
เมื่อก่อนเรามีความรู้สึกที่ว่า เราไม่ค่อยโอเคกับการที่เห็นคน ที่มาวาดใกล้เคียงเรา คล้ายเรา คือ บางทีเราอาจจะไม่ได้รู้สึกเอง แต่ชอบมีคนมาบอก ทำให้เรารู้สึกเหมือนไม่พอใจ ว่าทำไมต้องทำแบบนี้เรื่อยๆ ซึ่งมันก็ทำให้เราเคยไม่พอใจ ทำสิ่งที่ไม่ค่อยโอเคลงไป
คือ อาจจะไปคิดว่าเขาพยายามที่จะลอกเลียนเรา แต่ความจริงแล้วพอเราเจอหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เรารู้สึกว่า นั่นคือความคิดที่ใจแคบด้วย ตอนนี้เราพยายามมีความคิดที่เปิดกว้างขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว มันก็คือ สไตล์นึง ซึ่งเป็นการสร้างผลงาน
เราคิดว่าคนๆ นึง ไม่สามารถลอกเลียน ตัวตนของคนอื่นได้ไปตลอด ถึงเขาทำได้แต่เขาต้องเกิดคำถามว่า แล้วเขามีความสุขไหม กับการที่สมมติเขาสร้างงาน แล้วเขาโดนบอกว่าเป็นคนอื่นตลอดเวลา เราว่าเขาก็คงไม่ happy สุดท้ายเราก็เลยรู้สึกว่า มันจะเกิดการ develop (พัฒนา) ให้เป็นตัวเองมากขึ้นทีละน้อย หรือบางคนไม่เกิด เขาก็ต้องอยู่กับสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ
ซึ่งความคิดของเรา มันก็ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เพราะว่าเราเจอหลายๆ เหตุการณ์ที่มันทำให้เรารู้สึกว่า... แล้วสุดท้ายใครเป็นคนบอกว่าสิ่งนี้มันถูก หรือมันผิด หรือว่าบางสิ่งที่มันไม่ผิด ถ้าสังคมบอกว่าผิด มันก็คือผิด
ทุกวันนี้ก็เลยพยายามมองกว้างๆ และไม่ไปคิดเรื่องนี้ว่าใครมาคล้ายเรา เราไปคล้ายใคร เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องตั้งใจทำผลงานของเราต่อไป ถ้าเรามั่นใจผลงานของเรา”
เมื่อได้ถามถึงประสบการณ์ และบทเรียนที่ผ่านมา
...บทสัมภาษณ์หลังจากนี้คือการเปิดใจของเธอ กับเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่เธอบอกกับผู้สัมภาษณ์ไว้ว่า เป็นเรื่องที่กระทบจิตใจ และไม่ใช่เรื่องง่าย ในการสร้างงานต่อ พร้อมเปรยให้ฟังว่าต้องใช้เวลา ทุกวันนี้ยากที่จะกลับไปทำหลายๆ อย่างให้ได้เหมือนเดิม
“สำหรับเราในการสร้างผลงาน แน่นอนว่า เราวาดรูป เราเรียนออกแบบมา ย่อมได้เรียนรู้ว่าเท่าไหนที่สามารถทำได้โดยที่ไม่ผิดตามหลัก และแบบไหนที่ผิด แต่บางครั้ง การสร้างสรรค์ผลงานโดยที่เรารู้อยู่แล้วและคิดว่าทำได้ในสายตาบางคนอาจจะดูผิดได้เช่นกันจึงต้องรอบคอบในการทำงานให้มากๆ
บางทีเราอาจจะคิดในตอนที่สร้างสรรค์งานว่าสิ่งที่ทำมันทำได้ ไม่มีเจตนาในทางที่ไม่ดี เพราะศึกษามาแล้ว แต่มุมมองคนมันหลากหลายมาก ไม่ผิดถ้าจะมีคนคิดว่าลอกเลียนมาหากไม่รู้ที่มาที่ไปในการทำงานขอบเรา
แต่สุดท้ายเรารู้สึกว่าถ้าเราทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆมีประเด็นอะไรเกิดขึ้น เราพร้อมจะมาชี้แจง และบอกให้เองหมดเลยว่าแต่ละส่วนเราได้แรงบันดาลใจจากอะไร เราวาดอันนี้เพราะอะไร แล้วจะเห็นได้ว่า หลายๆ อย่างที่เราวาดมันมีที่มาที่ไปยังไงบ้าง
และสิ่งไหนที่เราได้รับแรงบันดาลใจมาเราก็กล้าที่นะบอกตรงๆ ถ้าหากมีคนมาถามก็ไม่เคยคิดจะปิดบังค่ะ เพราะบางสิ่งเราไม่สามารถเคลมเป็นของตัวเองได้อยู่แล้ว และ การยอมรับตรงๆว่าได้อิทธิพลมาจากศิลปินคนอื่นไม่ใช่เรื่องหน้าอายหากเราตระหนักเสมอถึงต้นฉบับที่ inspire มาทุกขั้นตอนที่เราสร้างสรรค์ และผสมผสานกับการใส่ความเป็นตัวเองลงไปในผลงานนั้นๆด้วย
แต่ถ้าคนบอกว่าสิ่งนี้มันผิด สิ่งนี้มันไม่โอเคเราก็พร้อมที่จะรับฟังค่ะ และเรียนรู้ ใครบอกว่าไม่โอเค เราก็โอเคชิ้นนี้ไม่โอเคใช่ไหมที่เป็นแบบนี้ เราก็พยายามที่จัดการ และรับผิดชอบกับสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้ดีที่สุด
แต่มันก็ยังมีอีกหลายๆ คน ที่ไม่เข้าใจว่า บางอันมันไม่ผิด มันทำได้ ... มันไม่ได้ผิดในเชิงกฎหมาย แต่มุมคนมองอาจจะรู้สึกไม่ดี เหมือนเวลาที่เรารู้สึกเองว่างานคนอื่นมาคล้ายเรา แล้วเรารู้สึกไม่พอใจ มันจะเป็นความรู้สึกนั้น มันทำให้เราได้เกิดการเรียนรู้กับตัวเอง
...เราเป็นคนคิดยังไงก็แสดงออกไปอย่างนั้นเลย เราไม่พยายามเป็นอีกคนที่ตอนเราโพสต์อะไร หรือว่าทำอะไรไปอันนั้นก็เป็นตัวตนเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีต หรือปัจจุบัน แต่ก็อยากให้รับรู้ไว้ว่าเราตั้งใจทำผลงานทุกผลงานจริงๆ
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา มันทำให้ยากลำบากนะคะ แต่มันทำให้เราโตขึ้น คิดเยอะขึ้น แล้วเรารู้สึกว่าไม่อยากให้สิ่งนี้มาหยุดความฝันเรา สุดท้ายเราก็ทำต่อไปอยู่ดี เพราะว่าทั้งหมดมันคือตัวตนของเรา และเราก็ไม่เคยคิดที่อยากจะทิ้งมัน
ถึงแม้ว่าจะมีใครคิดว่าเราเป็นคนอย่างนู้น อย่างนี้ แต่ว่าเราเป็นเรา และไม่เขวต่อคำพูดของคนอื่น ที่จะมาเปลี่ยนเรา เพราะสุดท้ายเราก็แค่ต้องทำงานต่อ ต้องก้าวเดินต่อ มันสำคัญที่ตรงนี้ว่าหลังจากเกิดปัญหาเราจะก้าวเดินต่อยังไง เรารู้สึกว่าเราทำตรงนี้ไม่ได้หรอก
ถ้าเรายังไม่มีคนที่พร้อมจะสนับสนุนเรา และเชื่อใจเรา ซึ่งเราก็อยากขอบคุณหลายๆ คน ที่เป็นแฟนผลงาน เชื่อมั่นมาเสมอ และเราอยากบอกว่าเราก็เป็นอย่างนั้นแหละ เราไม่เคยโกหก ตอนที่เราแสดงออกไปค่ะ”
ใส่ตัวตน สะท้อน “ศิลปะ”ผ่านตัวเอง “เป็นผลงานชื่อว่า The Lost girl ค่ะ เป็นผลงานที่เราสร้างขึ้น หลังจากที่เราผ่านช่วงเวลายากลำบากต่างๆ มา แล้วเราก็รู้สึกว่า เราอยากให้ผลงานชิ้นนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเราออกมาด้วยผ่านผลงาน เราพยายามจะใส่ concept ใส่อะไรต่างๆ เข้าไปในงานของเราด้วย เพื่อให้คนมองยิ่งรู้สึกว่านี่คือตัวเรา อย่าง concept ของภาพนี้ เราจะแสดงถึงช่วงเวลาที่ตัวเราเอง ความรู้สึกสับสน หลงทาง เราอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จักเรา ผู้คนสามารถคิดอะไร ยังไงกับเราก็ได้ เหมือนบางทีเราก็รู้สึกว่าสูญเสียความเป็นตัวเอง จากคำพูดของคนอื่น งานนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นแบบนั้นก็ตาม แต่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จักเราในเมืองใหญ่ เราก็ยังมีป้ายไฟ มีแสงไฟที่ส่องสว่างอยู่เหนือเรา เราพยายามจะสื่อถึงตัวแฟนคลับ และคอย support ผลงานเราเรื่อยมา เหมือนตอนที่เราหลงทาง เรายังมีคนที่เขา support เรา เป็นคนชี้นำทางให้เรา ดึงเราขึ้นมาจากจุดนั้น และมีกำลังใจในการสร้างผลงานต่อค่ะ ซึ่งในป้ายไฟต่างๆ เราเอาคำ ภาษาญี่ปุ่นมาใส่ บางอันก็จะเป็นคำให้กำลังใจ เป็นโค้ตที่ทำให้รู้สึก cheer up เราก็ใส่แฝงๆ ไปในบางป้ายด้วย เพราะอยากจะสื่อสารออกไป ชิ้นที่ 2 เป็น The hidden moon เราค่อนข้างชอบมากๆ จริงๆ มันเป็นงานชิ้นที่เหมือนพยายามเอาผลงานชิ้นเก่ามาต่อยอด วาดขึ้นมาใหม่ แล้วเราก็เลยใส่ concept เข้าไปใหม่ The hidden moon เป็นพระจันทร์ที่ถูกซ่อนอยู่ คือ เหมือนเราเอาพยายามเอาคำมาเล่นด้วย อย่างในวงการ NFT ส่วนมากเขาจะพูดว่า to the moon ก็เป็นการที่เราขายได้ในราคาสูง ขายได้ moon ไปแล้ว คือ เหมือนไปถึงดวงจันทร์ มันเป็นศัพท์ในวงการ แต่เราเอามาเล่นว่าเป็น The hidden moon จะสื่อถึงคนที่ยังทำงาน ยังขายไม่ออกเลย หรือยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งเราจะสื่อว่าจริงๆ แล้ว ผลงานของทุกคน มันมีความโดดเด่น และความสวยงามของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า บางคนเขายังไม่ถูกค้นพบ เหมือนอย่างผลงานของเราผลงานแรก ถ้าเกิดสมมติว่า คอลเลกเตอร์ที่เขามาประมูลเป็นคนแรก เขาไม่มาค้นพบเรา เราก็คิดว่า เราก็ไม่มีวันนี้เหมือนกัน เพราะเขาเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา ทำให้เรามีคนมาสนใจผลงานมากขึ้น ขายงานออก อันนี้เราเลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เราได้รับ” |
พลังแห่งรัก สร้างฝันได้ทุกอย่าง!!
เมื่อหวนรำลึกกว่าที่เธอจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ จุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะของเธอ เริ่มจากการชื่นชอบและสนุกกับศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อเติบโตขึ้นจึงตัดสินใจ มุ่งเรียนคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งกว่าจะพิชิตฝันอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเส้นทางชีวิตของเธอเต็มไปด้วยอุปสรรค และการฝึกฝน
“จริงๆ ค่อนข้างยากลำบากมากเลยค่ะ เพราะเราเหมือนวาดรูปมาทั้งชีวิต ตั้งแต่เด็กเล็ก เพราะค่อนข้างรู้ตัวเองชัดเจน ตั้งแต่อนุบาล ว่าชอบวาดรูป เพราะสมัยก่อนชอบขีดๆ เขียนๆ อยู่แล้ว แล้วพอเราอยู่ประถม อยู่ ม.ต้น เราก็เริ่มจริงจังขึ้น
ฝึกวาดรูป มีวาดการ์ตูน ทำการ์ตูน แล้วพอช่วง ม.ต้น น่าจะเป็นช่วงแรกที่เริ่มวาดแบบจริงจัง ซื้ออุปกรณ์ คุณพ่อซื้อ tablet ให้ แล้วเราได้วาด และได้โพสต์ลงในอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่ตอนอายุ 13-14 เลย
คือทำแบบนั้นมาเรื่อยๆ ไม่หยุดเลย จนถึงปัจจุบัน ตอนแรกเริ่มจากแพลตฟอร์ม อย่างเมื่อก่อนมีบล็อก ขยับมาเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ก็ค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ แล้วเราก็เรียนต่อในสายนี้อยู่แล้ว
คือไปสอบเข้า คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คือ จะเป็นตรงสายเลยเกี่ยวกับการออกแบบภาพประกอบ ...ถ้าเห็นในห้องนี้ ก็จะเห็นว่ามีหนังสือเยอะมาก ทั้งหนังสือการ์ตูนด้วย หนังสือ Art book ด้วย เพราะว่าเราเป็นคนชอบ research ชอบดู reference เมื่อก่อนที่จะมี youtube ก็จะหัดวาดรูปตามหนังสือ how to
อย่าง How to draw Manga ,How to CG คือก่อนที่ youtube จะมา เราต้องเรียนรู้เองจากหนังสือ เปิดดู วาดตาม อ่านการ์ตูน ศึกษางานและวาดตาม มันจะเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ จนมาถึงยุคนี้ ทุกอย่างมันก็ง่ายขึ้น เพราะว่ามีวิดีโอ มีทางที่เราสามารถที่จะหาความรู้ได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องซื้อหนังสือเลยก็ได้ แต่เราก็ยังชอบหนังสือ เพราะว่ารู้สึกว่าเป็น reference นึงที่ดีเหมือนกัน ก็ซื้อหนังสือมาเก็บไว้ ก็เลยซื้อหนังสือต่างๆ มาเก็บไว้ เพื่อดูเป็นแรงบันดาลใจ เป็นไอเดีย
ถ้าเป็นเมื่อก่อนวาดทุกวันเลยค่ะ แต่พอตอนโตขึ้นมา ก็งานที่อาจจะทำให้เราเครียด หรือไม่ได้วาดรูปทุกวันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ตอน ประถม-ม.ต้น บอกได้เลยว่าวาดทุกวันเลย เพราะว่าเราชอบ อย่างตอนประถม 3 กลับบ้านมา ก็คือมาถึงก็วาดการ์ตูน วาดจนถึง 3 ทุ่ม แล้วเข้านอน ทำแบบนี้ทุกวันจนได้เป็นเล่ม”
เรียกเธอเป็นที่จับตามองในฐานะศิลปิน ในวงการศิลปะ ใครหลายคนอาจจะมองเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน ไม่เชื่อมั่นว่าศิลปะจะสร้างรายได้ และสามารถยึดอาชีพ “ศิลปิน” เป็นอาชีพหลัก
ด้วยเอกลักษณ์ และลายเส้นที่ชัดเจนในแบบ 80’s จึงกลายเป็นจุดแข็งในภาพวาดของศิลปินคนนี้ คือ การเล่าเรื่องผ่านของลายเส้นที่ชัดเจน และการไม่หยุดพัฒนาของแพร
“เราว่ามันเกิดจากการทำซ้ำๆ เป็นเวลานานค่ะ ถ้าทำมาเรื่อยๆ คนก็จะเห็นตัวเราชัดเจนมากขึ้น อย่างตอนแรกๆ ที่เรารับงานให้แบรนด์ ย้อนกลับไปมองเราก็รู้สึกว่า ยังทำไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราเริ่มจับจุดได้ เรารู้สึกว่าแบรนด์คงเห็นในตัวเรา
แล้วเขาก็เชื่อมั่นในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่า เรารู้สึกดีมากที่คนรู้สึกแบบนี้ด้วยกับงานเรา แล้วก็อยากร่วมงานกับหลายๆ แบรนด์ เพราะว่าเวลาเราทำกับแบรนด์ไหนก็ทำเต็มที่ทุกงานเลย
การใช้คาแรกเตอร์ การใช้สีลงแสงเงา บางครั้งมันคือหลายๆ องค์ประกอบกัน แต่บางทีเราไม่ได้บอกคนอื่นว่าเราทำงานนี้ เราก็เคยรับงานลูกค้ามา แต่ไม่ได้บอกเพื่อน แล้วเพื่อนจำได้ เราก็รู้สึกดีเหมือนกัน เหมือนลายเซ็นอยู่ตรงผลงานแล้ว เหมือนต่อให้เราไม่ใช้ชื่อนี้ แล้วเราก็ไปทำ ก็มีคนรู้ว่านี่คือผลงานของเรานะ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เหมือนมันต้องสะสมมาเรื่อยๆ ต้องทำไปเรื่อยๆ คนก็จะดูออกว่านี่คือเป็นผลงานของเรานะ”
นอกจากนี้ ฝีมือ และเอกลักษณ์เฉพาะตัว แพรยอมรับว่า การ present ผลงานของตัวเอง ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้งานศิลปะที่เธอสร้างสรรค์ มีคนรู้จักมากยิ่งขึ้น
“เราคิดว่าสำคัญนะคะ สำคัญมากด้วย คือ มันไม่ใช่เรื่องของงาน มันคือเรื่องของการนำเสนอผลงานยังไงด้วย ให้คนรู้สึกสนใจ ซึ่งเราก็พยายามคิดตลอด ว่าต้องโพสต์ ต้องพิมพ์ยังไง คนถึงสนใจผลงาน
แต่ของพวกนี้มันไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนเสมอ เพราะรู้สึกว่าคนเรามีจุดที่สูงสุด และมีจุดช่วงดาวน์เหมือนกัน ซึ่งเราผ่านมาหมดแล้ว ทั้งช่วงขึ้น ช่วงลง เราก็เลยรู้สึกว่าสุดท้ายเราก็ต้องตั้งใจทำสิ่งที่เราชอบต่อไป
ถ้าเกิดคนที่เขาติดตามจริงๆ เขาก็จะเห็นว่า ผลงานเรามันตอบแทนตัวเราไปหมดแล้ว โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลย เราก็เลยคิดว่า ไม่ว่าต่อให้เราเจอกระแสในทางที่ไม่ดี หรือแย่ยังไง แต่เราก็ยังอยากตั้งใจทำผลงานต่อไป เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารักค่ะ”
เพราะการฝึกฝน มุ่งสู่ฝัน และไม่หยุดพัฒนาของตัวเอง พร้อมมีมุมมองที่เปลี่ยนไปตามประสบการณ์ ส่งให้แพรยังคงก้าวเดิน ในเส้นทางศิลปะนี้อย่างสวยงาม
ในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ แพรยังมองอีกว่า ปัจจุบันแวดวงศิลปะไทยยังมีโอกาสดีๆ มากมายให้เด็กรุ่นใหม่ได้แจ้งเกิด และเติบโต รวมถึงมีงานแสดงศิลปะดีๆ เข้ามา ทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายขึ้นพร้อมแนะนำ และให้กำลังใจผู้ที่กำลังหาตัวตน ตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนรัก
“เรารู้สึกว่าทุกคนที่ทำงานศิลปะ หลายๆ คนก็เคยผ่านจุดนี้ แม้กระทั่งคนแบบเราที่บ้านสนับสนุน แต่เราก็ยังมีช่วงเวลาที่เราสับสน หลงทาง เราจะทำมันเป็นอาชีพได้จริงๆ ไหม ทุกคนต้องเคยผ่านจุดนี้ เราก็อยากให้กำลังใจน้องๆ ที่กำลังค้นหาตัวตน กำลังสับสนอยู่ว่าเราควรจะทำยังไงต่อไปดี
เราอยากให้ลองทำดูก่อน บางอย่างเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า เราจะประสบความสำเร็จไหม จนกว่าเราจะได้ลองจริงๆ ซึ่งระหว่างอาจจะมีดีบ้าง แย่บ้าง มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องเจอ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : วชิร สายจำปา , ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @paerytopia.art, ทวิตเตอร์@paerytopiaa, @Paerytopia_NFT และแฟนเพจ "Paerytopia"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **