“หวย” สร้างความเชื่อ เผื่อความหวัง เจาะเหตุผลเบื้องหลังทำไมคนไทยถึงชอบเล่นหวย? พร้อมตีแผ่ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ไปกับอาชีพ “คนขายหวย”
“หวย” ตรรกะแห่งความหวัง พลังแห่งความเชื่อ
“เราเชื่อเรื่องผลบุญจากชาติที่แล้ว รวมไปถึงเรื่องดวง น้อยครั้งมากที่เราจะบอกว่า การถูกหวยเป็นเรื่องบังเอิญ อีกอย่าง ถ้าถูกหวยแล้วก็อย่าลืมไปทำบุญ”
[ “ป้าแดง” ผู้ถูกหวย 300 งวด ]
นี่คือความเชื่อ และเคล็ดลับที่น่าทึ่งจาก ป้าแดง-ธนวรรณ สกุลเชื้อ ผู้ที่เคยถูกหวยมาแล้วถึง 300 งวด จนได้รับฉายาว่า “คนดวงเฮง”
โดย ครั้งแรกในชีวิตของป้า ที่คิดจะซื้อหวย มาจากการไปดูดวง แล้วมีหมอดูทักว่าจะถูกหวย พอลองซื้อตามที่เขาบอกดู ก็ถูกจริงๆ
[ เปอร์เซ็นต์ของการถูกหวยในแต่ละงวด ]
แต่เรื่องดวงอย่างเดียวคงไม่พอ คอหวยต้องมีเซนส์ด้วย? “มีครั้งหนึ่งไปสอยมะม่วงมากิน ก็เห็นตัวเลขขึ้นที่ผลมะม่วง เลยไปซื้อหวยตามเลขที่เห็น ก็ถูก เลยคิดว่าตัวเองเป็นคนมีเซนส์”
เคสอันน่าประหลาดใจของป้าแดงนี้ ถูกหยิบยกมาแสดงในงานนิทรรศการ “หวยแหลก แตกประเด็นคนเล่นหวย” และถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อใน “ศาสตร์แห่งตัวเลขและเหตุแห่งความหวัง” ของคนไทยไว้อีกด้วย
แล้วอะไรคือความคาดหวังของคนไทย? เมื่อโอกาสถูกรางวัลที่หนึ่งมีเพียงแค่ 0.0001% แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะเสี่ยงโชค และหวังว่าจะถูกรางวัลสักครั้งหนึ่งก็ยังดี
[ “ทวีศักดิ์” ภัณฑารักษ์นิทรรศการฯ ]
ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร ภัณฑารักษ์นิทรรศการฯ ช่วยวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ว่า แม้โอกาสถูกหวยจะมีน้อยมาก แต่ความคาดหวังที่ว่า “สักงวดต้องเป็นของเรา” นี่แหละที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยยังซื้อหวยอยู่
ที่น่าสนใจคือ ความนิยมในเรื่องหวยของคนไทย มักควบคู่มากับกระแสความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้บูชาผี เทพเจ้าจีน พญานาค หรือสัตว์ประหลาดอัศจรรย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน
[ จำลองการขอหวยจากต้นตะเคียน ]
“ถึงแม้มันยากที่จะคาดเดารางวัลในแต่ละครั้ง แต่ก็ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ลี้ลับของมนุษย์ กับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผ่านการตีเลขและการขอหวยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์”
เจ้าของนิทรรศการรายเดิม ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยเปิดเผยว่า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมเดินทางไปขอหวย หนึ่งในนั้นคือ “วัดมหาบุศย์ จ.กรุงเทพฯ” เพราะมีศาลย่านาค และต้นตะเคียน คนจึงนิยมไปถูหาตัวเลขจากต้นตะเคียน บางคนก็จะจับสลากเสี่ยงทายตัวเลขในกล่องที่วางไว้ตรงศาลนั้นเลย
[ ตะเคียนผูกผ้าเจ็ดสี “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของไทย ]
นอกจากเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว คนไทยยังเชื่อในเรื่องความฝัน คอหวยจำนวนไม่น้อยจึงโยงพลังงานแห่งความฝัน เข้ามาช่วยในการทำนายตัวเลขด้วยเช่นเดียวกัน
มุมมองของ ทวีศักดิ์ เชื่อว่า ทุกคนเคยฝัน แล้วพอตื่นมาเราก็จะคิดว่าฝันแบบนี้จะเป็นอะไรหรือเปล่า? ก็จะเอาความฝันนั้นก็ไปเชื่อมโยงกับความเชื่อ รวมถึงไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสนับสนุนความมั่นใจในเรื่องการตีหวย
[ ทำนายตัวเลขจากความฝัน ]
“ส่วนตัวเคยฝันว่า น้ำท่วมบ้าน พอเดินออกมาไปเจอตัวเงินตัวทองเล่นน้ำอยู่หน้าบ้าน ตื่นมาก็เข้าดูทำนายฝันในโทรศัพท์ เขาตีเลขเป็นเลข 14 แต่ไม่ได้ซื้อ ปรากฏว่า หวยออก 14 จริงๆ”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความหวัง ความฝัน และความเชื่อของคนไทยในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่แฝงเร้นอยู่ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า หวย มาอย่างยาวนาน และการเล่นหวยก็ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของคนในสังคมไทยเลยก็ว่าได้
จากเงินในตุ่มฝังดิน สู่หวยแสนล้าน
กว่าจะมาเป็นหวยมูลค่าแสนล้านในปัจจุบัน ถ้าไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์มาก่อน คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่าการเล่นหวยเกิดขึ้นในยุคข้าวยากหมากแพง คนนำเงินไปฝังดิน รัชกาลที่ ๓ จึงได้หาวิธีทำให้คนไทยนำเงินออกมาจับจ่าย เพื่อหมุนเวียนเศรษฐกิจ โดยให้ “หง” เจ้าภาษีนายอากรชาวจีน จูงใจให้คนไทยขุดเงินใต้ดินที่ฝังเอาไว้ขึ้นมาเล่น จึงเกิดเป็น “หวย ก ข” ขึ้น
[ “หวย ก ข” สมัยรัชกาลที่ ๓ ]
การเล่น “หวย ก ข” เป็นการนำพยัญชนะไทยถึง 36 ตัว มาใช้ในการทายหวย ส่วนวิธีการออกหวยนั้น จะมีทุกเช้าและเย็นของทุกๆ วัน เรียก “หวยโรงเช้า-หวยโรงเย็น” และออกหวยด้วยวิธีการ “เอาหวยใส่กระบอก ถึงเวลาออก ก็ดึงกระบอกลงมา”
วิธีการออกหวยนี้ถูกบอกเล่าต่อกันมาจากเพลงยาวในอดีต โดยภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ ได้หยิบยกมานำเสนอให้เห็นว่าคนไทยในสมัยนั้นนิยมเล่นหวยรูปแบบนี้ในสมัยนั้น
[ ลอตเตอรี่ที่ขายในยุคปัจจุบัน ]
แต่ในขณะที่การเล่นหวยเติบโตขึ้น กลายเป็นว่าประชาชนในประเทศกลับจนลง ทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคมขึ้นอีก จนสุดท้าย “หวย ก ข” ก็ถูกยกเลิกไปในช่วงรัชกาลที่ ๖ จากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบการเล่นหวย การออกหวยเรื่อยมา จนกลายเป็น “ลอตเตอรี่” ที่ออกรางวัลทุกวันที่ 1 และ วันที่ 16 ของทุกเดือน อย่างที่เห็นกันในยุคนี้
[ จากพยัญชนะไทย เปลี่ยนมาเป็น “ตัวเลข” ]
การเล่นหวยอยู่กับสังคมไทยมานาน กระทั่งวิธีการออกหวย ขายหวย ได้พัฒนาขึ้นไปตามยุคและสมัย จึงนำมาสู่การหาวิธีจูงใจคนไทยในรูปแบบใหม่เช่นเดียวกัน โดยการจูงใจผ่านสื่อ
วรกานต์ วงษ์สุวรรณ ภัณฑารักษ์นิทรรศการฯ อีกรายหนึ่งมองเรื่องนี้ ว่า ถึงแม้บางคนจะไม่เคยซื้อหวยเลย แต่ก็ต้องเคยสัมผัสเรื่องหวยมาบ้าง ไม่ก็ต้องเคยเห็นตามพาดหัวข่าวในสื่อต่างๆ
[ “วรกานต์” อีกหนึ่งภัณฑารักษ์ประจำงาน ]
“จากวลี หรือประโยคเด็ดๆ ในการพาดหัวข่าว เลขเด็ด งวดนี้มาแน่ พรุ่งนี้รวย”
และยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การนำเสนอของสื่อทำให้เห็นถึงนัยสำคัญ ที่เชื่อมโยงความเชื่อของคนกับเรื่องหวยไว้เป็นอย่างดี
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อสื่อนำเสนอว่า มีคนถูกหวยจากที่ไหน คนก็จะแห่ไปขอหวยจากที่นั่น”
[ พาดหัวของสื่อ สะท้อนสังคมผ่านการเล่นหวย ]
การหยิบยกพาดหัวข่าวจากสื่อต่างๆ ที่ถูกจัดแสดงขึ้นในนิทรรศการ “หวยแหลก แตกประเด็นคนเล่นหวย” สะท้อนให้เห็นว่า การนำเสนอของสื่อผ่านการพาดหัวข่าวที่เกี่ยวกับหวย เป็นอีกหนึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้ที่ทำให้คนไทยหันมานิยมเล่นหวยกันมากยิ่งขึ้น
มอง “ความเหลื่อมล้ำ” ผ่านเรื่องหวย
นอกจากหวยจะสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความหวังและความเชื่อในศาสตร์ด้านตัวเลขแล้ว ยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เห็นได้จากอาชีพคนขายหวย เช่นเดียวกับชีวิตที่สุดทรหดของ ลุงบุญนันท์ ไพบูลย์ ผู้พิการทางสายตา อดีตคนขายหวย
[ สะท้อนอาชีพ “คนเร่ขายหวย” ]
“สมัยนั้นลุงทะเลาะกับรถเมล์ประจำ เพราะเขามักจอดให้ลงกลางถนน เคยโดนขโมยหวยหลายครั้ง โดนทำร้ายชกตีแล้วเอาเงินหวยไปก็หลายที เพื่อนก็เคยโดนแท็กซี่หลอกพาไปทิ้ง แล้วเอาเงินหวยไปทั้งหมด 4 หมื่น จนตัดสินใจเลิกทำอาชีพคนเร่ขายหวย”
แม้แต่ วรกานต์ ภัณฑารักษ์นิทรรศการฯ ก็มองเห็นปัญหาในเรื่องนี้ และช่วยสะท้อนเพิ่มเติมว่า คนตาบอดกับการขายลอตเตอรี่นั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากจะยกเลิกโควตาของคนตาบอดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
[ การทาย “ตัวเลข” อยู่ที่จินตนาการของแต่ละคน ]
“โควตาของคนพิการ มันอาจเป็นสิ่งที่เริ่มต้นด้วยความหวังดี แต่ก็ลงท้ายด้วยอะไรบางอย่างที่ขลุกขลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกอยู่เหมือนกัน”
ความเหลื่อมล้ำอีกหนึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นกับคนขายหวย คือ ปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย อย่างช่วงโควิดรายได้หายถึง 2 หมื่น เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลประกาศหยุดออกรางวัลถึงสองงวด ทำให้ขายหวยไม่ได้
[ ตู้บริจาค “ความหวัง” ของคนไทย ]
สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนขายหวยในสังคมไทย อาชีพนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และโครงสร้างของลอตเตอรี่ในแต่ละงวด หากขายไม่หมด หวยก็จะเป็นเพียงเศษกระดาษ และขาดทุนไปในที่สุด
และแม้อาชีพนี้มีมาถึง 30 ปี แล้ว แต่ ภัณฑารักษ์เจ้าของนิทรรศการฯ รายเดิม เผยกับทีมข่าว MGR Live ว่า “ประเทศไทยแทบจะเหลือเพียงประเทศเดียว ที่มีการพาหวยเดินไปหาคนซื้อ”
[ “สื่อ” อีกหนึ่งเหตุผล ช่วยกระตุ้นให้คนเล่นหวย ]
ถ้ามองในเรื่องพัฒนาการของสังคมไทย การเล่นหวยถึงจะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แต่เห็นได้ถึงการพัฒนาวิธีการออกหวย ขายหวย และซื้อหวย ในแต่ละยุคสมัยไป แต่อาชีพคนขายหวยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในปัจจุบัน
ส่วนเรื่องความเชื่อถือเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือดคนไทย ตราบใดที่การพนันยังอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายยังเชื่อมโยงกับความเชื่อของคอหวย การเล่นหวยก็คงไม่มีวันหายไป
[ “เลขโหราศาสตร์” ทำนายฝัน ]
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ปิยะธิดา อุดมชาลี
ภาพ : มัลลิกา เหลาเกตุ
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “Museum Siam”, ยูทูบ “2020 ENTERTAINMENT”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **