xs
xsm
sm
md
lg

โพสต์ "กฎ Facebook/Meta ใหม่" พระครูธรรมโชติยุคเมตาเวิร์ส กูรูไอทีห่วงตกเป็นเหยื่อในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online : คอลัมนิสต์ด้านไอทีชี้มีคนแห่โพสต์ข้อความ "กฎ Facebook/Meta ใหม่" แค่ข้อความหลอกลวงประเภทหนึ่ง เปรียบจดหมายลูกโซ่ พระครูวิจิตรธรรมโชติในตำนาน ทั้งที่เฟซบุ๊กและเมตาไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้ เตือนอาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในอนาคตได้ แต่น่าห่วงโพสต์ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ในคอมเมนต์ชิงโชค อันตรายมากกว่า

วันนี้ (23 พ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากแห่กันโพสต์ข้อความว่า "กฎ Facebook/Meta ใหม่จะเริ่มในวันพรุ่งนี้ซึ่งพวกเขาสามารถใช้รูปภาพของคุณได้ อย่าลืมกำหนดเวลาคือวันนี้! สามารถใช้ในคดีฟ้องร้องคุณได้ ทุกสิ่งที่คุณเคยโพสต์จะถูกโพสต์ในวันนี้ แม้กระทั่งข้อความที่ถูกลบไปแล้ว ไม่เสียค่าอะไร แค่ก๊อปแล้วโพสต์ ดีกว่ามาเสียใจทีหลัง" และอ้างกฎหมาย Uniform Commercial Code หรือ U.C.C. ของสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ Facebook/Meta หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องใช้รูปภาพ ข้อมูล ข้อความหรือข้อความ ทั้งในอดีตและในอนาคต ห้ามเปิดเผย คัดลอก แจกจ่ายหรือดำเนินการอื่นใดโดยเด็ดขาด อ้างว่าเนื้อหาในบัญชีนี้เป็นข้อมูลส่วนตัวและเป็นความลับ การละเมิดชีวิตส่วนตัวอาจถูกลงโทษตามกฎหมาย และยังระบุอีกว่า ตอนนี้ Facebook/Meta เป็นองค์กรสาธารณะ ผู้เข้าร่วมทุกคนควรโพสต์ข้อความในลักษณะนี้ อ้างว่าอัลกอริธึมใหม่ถูกเลือกโดยคนกลุ่มเดิมประมาณ 25 คนที่จะอ่านโพสต์

ข้อความดังกล่าวถูกแพร่สะพัดจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงแค่ข้อความหลอกลวง หรือ ฮอกซ์ (hoax) เคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 2012 ตอนนี้อัปเดตเพิ่มเติมชื่อ Meta เข้าไปเพื่อให้ทันสมัย ในช่วงที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมตา (Meta) หากใครโพสต์ข้อมูลอาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากเป็นสแปมรูปแบบหนึ่ง ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กได้เคยออกมาปฏิเสธ แต่คนก็ยังหลงเชื่ออยู่

"ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online" สอบถามไปยัง นายวรทรรศน์ วงษ์ไทย คอลัมนิสต์ด้านไอที เจ้าของเว็บไซต์ Trendy 2 Mobi ระบุว่า กรณีดังกล่าวเปรียบเทียบเหมือนจดหมายลูกโซ่ พระครูวิจิตรธรรมโชติในตำนาน แต่อันนี้เป็นชาวต่างชาติเขียน แล้วมีคนไทยนำมาแปล เคยมีวนมาแล้วรอบ สองรอบ พอคราวนี้กลับมาอีกรอบก็มีการดัดแปลงข้อความเล็กน้อยว่าเป็น "Facebook/Meta" ส่วนเนื้อความอื่นๆ เหมือนเดิม เท่าที่มอนิเตอร์ส่วนใหญ่ผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวจะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป โพสต์และแชร์เรื่องนี้ ส่วนคนที่มีอายุ 30-40 ปีก็จะรู้สึกแปลกใจ มีความสงสัยเล็กน้อย ก็เข้ามาสอบถามเรื่องนี้

"กรณีนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นการกระจายผ่านไลน์หรือยังไง แต่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยเยอะ คนที่มีอายุ 30-40 ปีจะรู้สึกงงเล็กน้อย" นายวรทรรศน์กล่าว

วรทรรศน์ วงษ์ไทย
นายวรทรรศน์อธิบายว่า เฟซบุ๊กหรือเมตา (Meta) ไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้เลย อยากให้ทุกคนรู้ว่าเวลาที่โพสต์รูปภาพหรือข้อความใดๆ สุดท้ายลิขสิทธิ์ก็ยังเป็นของผู้ใช้งานนั้นๆ ไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มไหนก็ตาม ก็มีหน้าที่แค่เป็นผู้เผยแพร่เท่านั้น ซึ่งในทางเทคนิค เมื่อโพสต์ไป ระบบก็ไม่ได้สนใจ เพราะข้อกำหนดในการใช้งานถูกระบุไว้ตั้งแต่สมัครเข้าไปในระบบแล้ว อีกอย่างทางเฟซบุ๊กไม่ได้ต้องการเอาเรื่องนี้มาเป็นรายได้ เพราะปกติก็มีรายได้จากผู้ใช้เช็กอินสถานที่ (โลเกชัน) ตรงไหน หรือมีความสนใจเรื่องอะไร แล้วเอาไปขายโฆษณาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องนี้เลย

ส่วนคนที่โพสต์ข้อความดังกล่าวจะมีอันตรายต่อผู้ใช้งานหรือไม่ นายวรทรรศน์กล่าวว่า ตนสังเกตว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (User) ในไทยมักจะเชื่ออะไรตามๆ กัน และหวงข้อมูลส่วนตัวแบบผิดที่ผิดทาง กรณีนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหา เต็มที่ก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อได้นิดหน่อยในอนาคต แต่ที่น่าห่วงคือ ก่อนหน้านี้เคยเกิดกระแสการแจกรางวัล เช่น โทรศัพท์มือถือ แล้วขอชื่อ นามสกุล ที่อยู่ แล้วจะส่งของรางวัลไปให้ นึกภาพว่าเวลาจะซื้อมือถือสักเครื่อง เล็งแล้วเล็งอีก แล้วทำไมต้องให้ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ถ้ามีคนที่ไม่ประสงค์ดีเขียนบอต (Bot) หรือคัดลอกข้อมูลรวดเดียว จะมีข้อมูลประชาชนตัวเป็นๆ ยืนยันตัวตนได้จำนวนมาก กรณีนี้น่าเป็นห่วงกว่า

เมื่อถามว่า แสดงว่าคนที่โพสต์ข้อความนี้ไปเหมือนประจานตัวเอง (ทำนองว่าเชื่อคนง่าย) นายวรทรรศน์กล่าวว่า ใช่ อาจจะทำให้เราสังเกตได้ว่าคนที่โพสต์ข้อความนี้อาจจะตกเป็นเหยื่อในอนาคตได้ เพราะโดยปกติแล้วหลายคนอาจจะไม่ได้ลงข้อมูลส่วนตัวมากเท่าไหร่ แต่ถ้ามีการลงข้อมูลส่วนบุคคล ก็อาจจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพซึ่งมีหลายระดับ แต่ระดับนี้เป็นระดับล่างสุด

ส่วนการตั้งค่าส่วนบุคคล ผู้ใช้มีวิธีตั้งค่าหรือไม่ นายวรทรรศน์กล่าวว่า การตั้งค่าส่วนบุคคล ตัวเฟซบุ๊กมีไกด์บุ๊กในหน้าเว็บไซต์ ในหน้าขอความช่วยเหลือ (Help) อยู่แล้ว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้าสงสัยจริงๆ ให้เข้าไปที่หน้าช่วยเหลือ (Help) เพราะเฟซบุ๊กเป็นบริษัทที่พยายามทำคู่มือภาษาไทยให้คนเข้าใจง่าย แต่เรื่องนี้เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ไม่เคยแสดงออกว่าอะไรควรหรือไม่ควรโพสต์ นอกจากจะละเมิดมาตรฐานชุมชน อาจจะมีบอต หรือการรุมแจ้งรายงาน (Report) ทั่วไป บางอันจะมีระบบเอไอ (AI) บ้าง มีเจ้าหน้าที่คนไทยส่วนหนึ่ง ก็ต้องแยกกันเป็นเรื่องๆ ไป

อนึ่ง รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับพระครูวิจิตรธรรมโชติ เป็นตัวละครในจดหมายลูกโซ่ ที่คนสมัยก่อนมักจะหลงเชื่อ เขียนจดหมายติดแสตมป์แล้วส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้รับต่างๆ หลายคน เนื้อหามีลักษณะตั้งแต่ทำนายว่า หากส่งจดหมายกี่ฉบับ ภายในกี่วัน แล้วซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจะโชคดี ได้ถูกรางวัลที่ 1 หรือไม่ก็ขู่ว่า หากไม่ส่งจดหมายกี่ฉบับ ภายในกี่วันก็จะเกิดอาเพศ ชีวิตจะหายนะ หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น