หรือนี่จะเป็นเพราะพิษโควิด-เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เดี๋ยวนี้คนหันไปเอา “หญ้า” มา “ทอดกิน” กันแล้ว แถมเจ้าของไอเดีย ยังทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ อยู่ที่ 4,000-5,000 บาทต่อวันเลยทีเดียว!!
** รู้ไว้!! “หญ้า” ไม่ใช่แค่อาหารของวัว-ควาย **
“เริ่มจะแย่งอาหารวัวควายแล้วล่ะ”
“หมดกัน วัว ควาย อดกินหญ้าแล้ว”
“ยุคลุงบริหารดีเกิน ประชาชนต้องกินหญ้าแล้ว”
“ยุคนี้ กินหญ้าแล้วหรือ?”
เห็นได้ชัดว่า comment ของผู้คนบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังมีกระแสข่าวฮือฮาของ “ธุรกิจหญ้าทอด” จากฝีมือ ป้าสุพัตรา ศรีขำ แม่ค้าวัย 45 ปี ที่ จ.ตรัง ออกมาดึงดูดความสนใจ
โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่มากถึง 4,000 – 5,000 บาทต่อวัน หลังจากขายได้เพียงแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น เพราะได้ผลตอบรับดี และมียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก
ส่วนแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นเอา “หญ้า” มา “ทอดขาย” นั้น มาจากสมัยก่อนที่ย่าของเธอ มักจะเอามาหญ้าทำอาหารให้ลูกหลานกินอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา ทั้งรักษาโรคภูมิแพ้ แก้หอบหืด และยังมีคลอโรฟิลล์สูงอีกต่างหาก
แต่คุณป้าก็ไม่เคยคิดหยิบมาสร้างกำไรอะไร กระทั่งมีวิกฤตโควิด-19 เข้ามา จึงบุกลุยเข้าไปในแปลงนาของตัวเอง ตัดเอา “หญ้าช้อง” ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มาชุบแป้งทอดจนกลายเป็น “เมนูพารวย” มาได้กว่า 2 ปีแล้ว
แต่เมื่อถูกสื่อสัมภาษณ์และเรื่องราวของคุณป้าถูกแชร์ต่อๆ กันออกไป เรื่องที่เคยมองว่าธรรมดา กลับฮือฮาขึ้นมา เพราะคนออกมาตั้งคำถามกับเรื่องนี้ว่า ทำไมคนหันมากินหญ้ากันแล้ว หรือนี่เป็นเพราะเศรษฐกิจช่วงนี้พังหรือเปล่า ส่วนคำตอบก็คือ “หญ้ากินได้” แต่กินได้เป็นบางชนิดเท่านั้น
โดยชนิดที่คุณป้าสุพัตราหยิบมาทอด คือ “หญ้าช้อง” หรือ “ผักฉ่อง” ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกว่า “หญ้ารวย” เป็นพืชประจำถิ่นที่พบมากที่สุดทางภาคใต้ของไทยเรา
ส่วนเหตุผลที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก จนเกิดดราม่าย่อมๆ เรื่อง “คนไม่ควรกินหญ้า” ขึ้นมานั้น เป็นเพราะหญ้าช้องเป็นพืชที่หาได้ยาก มีเฉพาะถิ่นของภาคใต้จริงๆ คาดว่าพบมากที่สุดใน จ.ระนอง และ จ.พังงา
จุดสังเกตที่แตกต่างจากหญ้าชนิดอื่นๆ คือ จะมีลักษณะใบที่บางและเรียวยาวเหมือนใบตะไคร้ สีออกน้ำตาลอมเขียว ส่วนดอกของมันเป็นสีคราม และมีช่อคล้ายดอกผักอ่อน
ที่สำคัญเมนู “หญ้าชุบแป้งทอด” ที่ทำผู้คนฮือฮาจากความไม่คุ้นชิน จริงๆ แล้วไม่ใช่ไอเดียใหม่ขนาดนั้น เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ชาวใต้ชอบนำหญ้าช้องมาชุบแป้งทอด จิ้มกินคู่กับน้ำพริก เป็นเมนูที่มีชื่อว่า “เบือทอดหญ้าช้อง” ซึ่งถือเป็นอาหารไทยโบราณอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ อีกมากมาย ที่คนโบราณนิยมใช้ “หญ้าช้อง” มาเป็นวัตถุดิบ ทั้งนำมาทำเป็นต้มยำ, เมนูผัด, แกงกะทิ, แกงส้ม และหยิบมาชุบแป้งทอด ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ว่าจะนำไปทำเมนูไหน
** รวยได้เฉพาะที่ เพราะขึ้นได้เฉพาะถิ่น **
อย่างที่บอกว่า ป้าสุพัตรา แม่ค้าขายหญ้าทอด จนมีรายได้หลักพันต่อวัน ไม่ใช่รายแรกที่ริเริ่มแบ่งปันความอร่อยจากเมนูนี้ เพียงแต่เป็นคนที่ช่วยเปิดหูเปิดตาคนยุคนี้ ให้มองเห็น “รายได้จากต้นหญ้า” อย่างจริงจังเท่านั้น
ลองย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว (2563) รายการชวนชิมชื่อดังอย่าง “ครัวคุณต๋อย” ก็เคยเชิญเจ้าของโรงแรม “Cloud 19 Panwa” จาก จ. ภูเก็ต มาเล่าที่มาที่ไปของเมนู “เบือทอดหญ้าช้อง” ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของทางโรมแรมด้วย
รวมถึงรายการ “ภัตตาคารบ้านทุ่ง” ก็เคยนำเสนอเรื่องราวของหญ้าช้อง ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นประจำ จ.พังงา เกี่ยวกับการรังสรรค์เป็นเมนูอาหารพื้นบ้านของชาวใต้ นี่ยังไม่ได้นับรวมในอีกหลายสื่อบนโซเซียลฯ ที่ผลัดกันบอกเล่าเรื่องราวของหญ้าช้องออกไป
ในเมื่อ “เมนูหญ้าปรุงรส” สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ขายได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนี้ เหตุใดเกษตรกรรายอื่นๆ จึงไม่นำไปแพร่พันธุ์ เพื่อทอดขายสร้างรายได้ตามแนวทางที่ผู้ประสบความสำเร็จแนะเอาไว้บ้าง?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ กูรูจากสถาบันชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า หนึ่งในชาวบ้านผู้มีภูมิปัญญาเรื่องหญ้าช้อง ช่วยไขข้อข้องใจเอาไว้ว่า หญ้าชนิดดังกล่าวเป็นพืชที่มีเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น เพราะจะเติบโตในระบบนิเวศน์แบบป่าเขา การจะเอาไปปลูกหรือขยายพันธุ์ เพื่อผลทางธุรกิจในภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากเกินความเป็นจริง
“ปลูกภาคอื่นได้ แต่มันจะไม่โต เช่น แถวภูเรือ ภูกระดึงเนี่ย ระบบนิเวศจะเป็นป่าเขาเหมือนกัน และมีความชื้นพอๆ กัน แต่มันไม่ใช่ระบบนิเวศน์ที่หญ้าช้องจะเกิดได้ เพราะทางใต้ทะเลจะคุมทั้งซ้ายทั้งขวา มรสุมอะไรต่างๆ มีผลต่อความชื้นหมดเลย
แต่บ้านเราทางเหนือหรือทางอีสาน ไม่มีทะเลแบบนี้ ทำให้หญ้ามันอาจจะขึ้นได้แค่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็จะตาย เพราะหญ้าช้องขยายพันธุ์ได้เฉพาะในระบบนิเวศน์แบบภาคใต้
ชาวบ้านเก็บกินกันเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงฤดูฝน แต่จะไม่เอาไปกินเพียวๆ อย่างลวกจิ้มกับน้ำพริก ที่เห็นเยอะๆ คือจะผสมกับแป้งโกกิทอดเป็นหลักเลย”
อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ จริงๆ แล้ว “หญ้าช้อง” ไม่ใช่ “ตระกูลหญ้า” อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็น “พืชน้ำ” ที่มีหน้าตาคล้ายหญ้า โดยเฉพาะช่วงลำต้น จึงทำให้คนอ่าวพังงา, ระนอง และชาวอันดามัน ตั้งชื่อมันไปแบบนั้น
“ลักษณะของหญ้าช้องจะเป็นเส้นยาวๆ เหมือนหญ้ามาก คนก็เลยเรียกว่าหญ้า เกิดในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย ไม่ใช่น้ำเค็ม อย่างในโซนระนอง พังงา หรือภูเก็ต จะเป็นป่าเขาเยอะ แล้วก็จะมีน้ำไหลตามลำห้วยต่างๆ หญ้าช้องมันก็จะขึ้น
เพราะหญ้าช้องจะเป็นตัวชี้วัดความสะอาดของแหล่งน้ำด้วย ถ้าพื้นที่ไหนที่มีน้ำสะอาด ไม่มีสารเคมี ไม่มีขยะ หญ้าช้องจะขึ้นเองตามธรรมชาติ
อย่างที่พัทลุง หรือนครศรีธรรมราชก็มี ซึ่งระบบนิเวศน์ของหญ้าชนิดนี้เป็นลำห้วย คลอง ที่ต่อมาจากภูเขาอีกทอดหนึ่ง เช่น ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง จะมีน้ำหลากมาในช่วงฤดูฝน ก่อนที่น้ำก็จะค่อยๆ เอ่อไหลลงน้ำทะเล ซึ่งหญ้าช้องจะเกิดขึ้นเยอะ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...ผ่าดราม่า "ธุรกิจหญ้าทอด" รายได้ครึ่งหมื่นต่อวัน!!...
>>> https://t.co/53AIVZOpDD
.
พิษโควิด-เศรษฐกิจพัง ทำให้เดี๋ยวนี้คนหันไปเอา “หญ้า” มา “ทอดกิน” กันแล้ว?
.
คำตอบก็คือ “หญ้ากินได้” แต่กินได้เป็นบางชนิดเท่านั้น โดยชนิดนี้คือ #หญ้าช้อง
.#หญ้า #หญ้าทอด #ธุรกิจ #SME #เกษตรกร pic.twitter.com/RlzTXLYy6g— livestyle.official (@livestyletweet) September 25, 2021
สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: dailynews.co.th และแฟนเพจ “โครงการฟื้นฟูพลับพลึงธารพืชอาศัยถิ่นเดียวในโลกที่ใกล้สูญพันธุ์”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **