xs
xsm
sm
md
lg

อย่าหาทำอีก!! ไวรัล “คดีน้องชมพู่” ดัน “ผู้ต้องสงสัย” ให้เป็น “คนดัง” บทเรียนเคสลุงพลที่ห้ามลืม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชีวิตจริงยิ่งกว่ารถไฟเหาะ! กะเทาะเคส “ลุงพลฟีเวอร์” จาก “ผู้ต้องสงสัย” สู่ “ผู้ต้องหา” ในคดี “น้องชมพู่” ปิดฉาก “เซเลบบ้านกกกอก” ในชั่วข้ามคืน นักวิชาการเผย สื่อคือตัวแปรสำคัญ อย่าเน้นธุรกิจมากกว่าความน่าเชื่อถือ!

ทั้งดังทั้งดับในชั่วข้ามคืน!

เป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ที่คนในสังคมร่วมติดตามด้วยกันมาอย่างยาวนาน กับคดี “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ชาวบ้านกกกอก จ.มุกดาหาร ที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2563 จนนำไปสู่การเสาะหาความจริงว่าตกลงแล้ว ใครเป็นผู้ทำให้สาวน้อยคนนี้เสียชีวิต

นอกจากในเรื่องของคดีความแล้ว ยังมีอีกบุคคลที่กลายเป็นกระแสขึ้นมาควบคู่กัน ก็คือ ไชย์พล วิภา หรือที่รู้จักกันในนาม “ลุงพล” ผู้มีศักดิ์เป็นลุงเขยของเด็กหญิงผู้เสียชีวิต ในตอนนั้นเขาตกเป็น 1 ในผู้ต้องสงสัยของคดีนี้ ซึ่งตัวเขาก็ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้เป็นคนทำมาโดยตลอด พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในส่วนของคดีมาเสมอ



เมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตของผู้ต้องสงสัยรายนี้ ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเขาได้รับพื้นที่บนสื่ออย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นกระแส “ลุงพลฟีเวอร์” ขึ้นมาตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า ที่ยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้ เขาได้รับโอกาสต่างๆ ที่หยิบยื่นเข้ามามากมาย ทั้งรับรีวิว งานพรีเซ็นเตอร์ งานเดินแบบ

ได้ร่วมงานกับคนดังมากมาย ทั้ง อุ๊บ วิริยะ, ปิ๋ม ซีโฟร์, ยิ่งยง ยอดบัวงาม, หมอปลา มือปราบสัมภเวสี ตลอดจน MV เพลง “เต่างอย” ของ จินตหรา พูนลาภ และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งมีแฟนคลับคอยให้กำลังใจทุกฝีก้าว

ทว่า…ชื่อของลุงพล ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง นั่นก็เพราะเขากลายเป็น “ผู้ต้องหา” ในคดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” ตามหมายจับของศาลจังหวัดมุกดาหาร ในข้อหา 1. พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร 2. ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี และ 3. กระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป



เป็นการปิดฉากคนดังแห่งบ้านกกกอกเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเขาและครอบครัว แต่ยังรวมไปถึงบุคคลที่เคยร่วมงานกันในอดีต โดยกรณีสาวจินตหรา ถึงต้องลบ MV “เต่างอย” ที่ล่าสุด มียอดผู้เข้าชมสูงถึง 23 ล้านวิวทิ้ง เพราะทัวร์ลงอย่างหนัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วีรพล สวรรค์พิทักษ์ นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางการตลาด ได้ช่วยวิเคราะห์ผ่านทีมข่าว MGR Live ถึงปรากฏการณ์ จากผู้ต้องสงสัยสู่การกลายเป็นคนดัง ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ คือ สื่อ ทั้งสื่อมวลชนเอง และตัวของลุงพลที่กลายเป็นสื่อไปด้วย

“สื่อต่างๆ มันมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากสมัยก่อนเวลาเรารับข่าว เราก็เสพแค่วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แต่ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมาก เลยทำให้ข่าวต่างๆ มันแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม บุคคลใดทำอะไร สื่อโซเชียลฯ มันก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าไวรัลได้เร็วมาก



ปัจจุบันมันมีสิ่งที่เรียกว่า CGM (Consumer Generated Media) หรือสื่อที่ผู้บริโภคสามารถสร้างขึ้นได้เอง ยกตัวอย่าง ลุงพลก็เป็นคนธรรมดา พอมีกระแสขึ้นมา ขาก็สามารถทำตัวเองให้เป็นสื่อเองได้ CGM มันก็เป็นตัวสนับสนุน ไวรัลมันเกิดขึ้นได้เร็ว ก็จะเห็นว่าสื่อของลุงคนนี้ออกเต็มไปหมด มี MV มีเดินแบบ เกิดเป็นกระแสฟีเวอร์ในช่วงที่ผ่านมา

และพฤติกรรมการเสพสื่อดิจิทัลของคนไทยก็สูงขึ้น จากผลวิจัยของ We Are Social ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าอัตราการเติบโตของการเสพสื่อโซเชียลฯ ของคนไทยสูงขึ้นในทุกแฟลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Youtube, Twitter หรือแม้กระทั่ง Tiktok มันเลยทำให้ตัวไวรัลและ CGM มันแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไปอีก 3 ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นพื้นฐานที่ทำให้ จากคนธรรมดาที่เป็นผู้ต้องสงสัยกลายเป็นสื่อ”

วอนเสนอข่าวด้วยความจริงมากกว่าความเห็น

นักวิชาการอิสระผู้นี้ยังอธิบายต่อว่า ยิ่งลุงพลมีฐานของผู้ให้การสนับสนุนมากขึ้น จึงไม่แปลกที่สื่อต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจ ซึ่งในมุมของการตลาด เรียกเหตุการณ์นี้ว่า Cinderella Branding หรือการกลายเป็นที่สนใจในระยะเวลาอันสั้น

“ในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็น KOL (Key Opinion Leader) หรือเป็น Influencer คนนึง พอเริ่มมีผู้ติดตามเยอะขึ้นก็ค่อยๆ ไต่ระดับจาก Nano Influencer, Micro Influencer, Macro Influencer และ Mega Influencer ใหญ่ไปเรื่อยๆ สื่อต่างๆ ไปช่วยกันโปรโมต มี MV มีเดินแบบ มันก็เกิดเป็นกระแสฟีเวอร์ในช่วงที่ผ่านมา แน่นอนว่ากลายเป็นช่องทางหารายได้ของคนคนนึง หรือในมุมของแบรนด์ก็เหมือนกัน

เขาดังขึ้นเพราะสื่อ ทั้งสื่อมวลชนเองและเขาทำตัวเป็นสื่อด้วย จริงๆ ในมุมการตลาดทีคำนึงเขาเรียกว่า Cinderella Branding คือ แบรนด์ที่มันโด่งดังในชั่วข้ามคืนเหมือนซินเดอเรลล่า เคสลุงพลทำให้เอาคำนี้กลับมาใช้ได้ และสุดท้ายแล้วซินเดอเรลล่าจะเป็นเจ้าหญิงจริงมั้ย หรือกลับไปเป็นชาวบ้าน หรือเป็นผู้ต้องหาก็ต้องติดตาม”



เขากล่าวสรุปถึงบทเรียนจากหลายเหตุการณ์อดีต ผนวกกับสถานการณ์ของสื่อในปัจจุบัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรสื่อต้องมีจริยธรรมอย่างสูง และควรนำเสนอข้อมูลความถูกต้องมากกว่าเน้นที่ความนิยม

“ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องหน้าที่สื่อกับธุรกิจมันเข้ามารวมกัน เพราะถ้าทำแต่หน้าที่แล้วไม่ดูเรื่องธุรกิจ สื่อก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามองธุรกิจอย่างเดียวแล้วไม่ได้ดูหน้าที่ สื่อก็อาจจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือและอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ผมเชื่อว่าคนที่เป็นสื่อมวลชนทุกคนทำหน้าที่และต้องดูแลเรื่องของธุรกิจให้มันอยู่ได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะประสานหน้าที่กับธุรกิจ คือ เรื่องของ จริยธรรมสื่อ การรายงานก็ต้องรายงานข้อเท็จจริง ไม่ใช่รายงานสิ่งที่เป็นข้อคิดเห็นหรือกระแสสังคมเพียงอย่างเดียว สุดท้ายทุกอย่างในโลกนี้ที่เราใช้ชีวิตกัน มันตรวจสอบได้หมดว่าใครดีใครไม่ดี ผู้บริโภคมีข้อมูล ทุกอย่างมันต้องโปร่งใสมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจ จากทาง รศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด อาจารย์ประจำสาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม (หลักสูตรพิเศษ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในมุมสิทธิของผู้ต้องหาและมุมของการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชน



“ที่เขายินยอมให้เอาเรื่องมาเผยแพร่ เป็นเพราะเขาไม่รู้สิทธิของเขาหรือว่าเขาไม่ตระหนัก เมื่อก่อนไม่ควรจะให้เห็นหน้าเห็นตาด้วยซ้ำ ต้องปิดชื่อด้วย สมมติบางคนเขาไม่ได้ผิด กลายเป็นผู้ต้องหาของสังคมไปแล้ว อย่างเคสนี้ยิ่งเอามาทำเป็นเรื่องเป็นราว ก็ต้องให้ข้อมูลกับประชาชนด้วย ว่า การทำแบบนี้จะมีผลกระทบอะไรกับเขากับครอบครัวเขาบ้าง ก็เลยเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าต่อไปถ้ามีการทำอย่างนี้อีกมันโอเคหรือเปล่า เป็นกรณีศึกษา

และโดยจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ต้องเสนอข่าวโดยไม่ต้องต่อเติมหรือสร้างกระแสขึ้นมา เราควรจะให้ข้อมูลกับสังคมแบบตรงไปตรงมา บางครั้งจะเห็นว่าสื่อเป็นเชิงลึกมาก ถ้ามันทำให้เป็นการละเมิดสิทธิเขามันก็อันตราย ข้อเท็จจริงก็ต้องดูว่าแหล่งข้อมูลที่เราไปเอามา เป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้น ปฐมภูมิเลยมั้ย หรือเป็นแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ อ้างอิงตรงไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า และเวลาเสนอก็ต้องไม่บิดเบือน

คนดูก็มีหลายระดับด้วย คนดูที่มีความตระหนักรู้ เขาก็จะมีคำถาม หรือบางคนเขาอาจจะไม่มีองค์ความรู้มาขัดแย้ง ฟังอะไรปุ๊บก็เชื่อเลย เวลาคนเราจะดูข่าวเราก็ต้องตั้งใจดูว่าจะได้ข้อมูลอะไรจากตรงนี้ ถ้าดูแล้วเป็นข้อมูลที่ดี เชื่อถือได้ ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเกิดสื่อนั้นที่เราไปฟังมาเป็นข้อมูลที่มีการแต่งเติมเข้ามา มันก็จะมีอารมณ์ร่วมไปด้วย ตรงนี้เลยต้องมีความระมัดระวังค่ะ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น