เพจ “อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก” วิจารณ์คุณภาพสื่อในประเทศไทย ตกต่ำ ไม่มีคุณภาพ หลังนำเสนอชีวิต “ลุงพล” ผู้ต้องหาคดี “น้องชมพู่” จนกลายเป็นคนมีชื่อเสียง ไอดอล มีแฟนคลับจำนวนมาก
จากกรณีที่ศาลจังหวัดมุกดาหารอนุมัติออกหมายจับ นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตของ ด.ญ.อรวรรณ วงศ์ศรีชา หรือน้องชมพู่ อายุ 3 ขวบ ตามหมายจับที่ 53/2564 ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ในข้อหาพรากผู้เยาว์ ทอดทิ้งเด็กให้ถึงแก่ความตาย และกระทำการใดๆ แก่ศพที่ทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ทำให้คดีนี้กลายเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง
ต่อมาเริ่มมีสื่อทีวีดิจิทัล 3-4 สำนักเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของลุงพลอย่างละเอียด และความสนใจวงการบันเทิง ทำให้สังคมเกิดความสงสาร และมีนักปั้นดาราอย่าง อุ๊บ วิริยะ พงษ์อาจหาญ นำตัวลุงพลเข้าสู่วงการบันเทิง ออกเอ็มวีเต่างอย ร่วมกับ จินตหรา พูนลาภ นักร้องหมอลำสาว เมื่อเดือน ก.ย. 2563 หลังจากนั้นลุงพล และนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น ภรรยา เริ่มมีชื่อเสียง มีทั้งงานเดินแบบ พรีเซ็นเตอร์สินค้า รวมทั้งมียูทูปเบอร์และแฟนคลับจำนวนมาก
สุดท้าย 1 มิ.ย. 2564 ศาลจังหวัดมุกดาหารอนุมัติหมายจับลุงพล ในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เตรียมแถลงข่าวในวันนี้ (2 มิ.ย. 2564)
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (2 มิ.ย.) เพจ “อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก” เพจดังซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน ออกมาโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อบางสำนัก ที่นำข่าวเชิดชูผู้กระทำผิด จนกลายเป็นคนมีชื่อเสียง มีแฟนคลับมากมาย โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
“มีคนบอกว่าสื่อสะท้อนคุณภาพประชาชน ผมเองก็ไม่ได้อยากเหมารวมอะไรอย่างนั้น ทุกๆ ครั้งที่ผมอ่านข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือความหดหู่ ผมไม่ได้ไปหดหู่อะไรกับข่าวอาชญากรรมหรอกครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเราควบคุมไม่ได้ แต่ผมหดหู่กับคุณภาพของสื่อบ้านเรา คดีน้องชมพู่เป็นคดีฆาตกรรม เด็กคนหนึ่งตายทั้งคน พ่อแม่และคนรอบข้างย่อมเสียใจ ประชาชนให้ความสนใจ แต่สื่อเลือกที่จะไปให้ความสำคัญต่อร่างทรง ไปให้ความสนใจหมอผีหิวแสง ไปจนถึงเหล่าคนหิวแสงก็ดาหน้าไปบ้านกกกอกเพื่อเกาะกระแสข่าว และก็มีตัวละครสำคัญชื่อ ลุงพล ปรากฏตัวขึ้นมา พร้อมกับแสงไฟก็พุ่งตรงไปหาลุงพลทันที
แก่นความดังของลุงพลที่คนให้ความสนใจในครั้งแรกคือ beauty privilege คือ ความหล่อ เพราะมีคนเอาภาพลุงพลสมัยหนุ่มๆ มาให้สื่อลง และคนก็เฮกรูกันไปกรี๊ดว่าลุงพลหล่อ จากนั้นสื่อก็ตามลุงพล จนลุงพลได้ออกงาน มีนักปั้นมาดันมาหางานให้ลุงพล สื่อก็ทำข่าวลุงพล ลุงพลกินข้าว ลุงพลกินก๋วยเตี๋ยว ลุงพลทำอะไรก็ลงข่าว จนถึงขนาดมีคนแต่งเพลงให้กำลังใจลุงพล ลุงพลทำพิธีสาบานก็ลงข่าว มี youtuber ตามไปลงพื้นที่ สื่อไปเกาะตามถึงหน้าบ้าน เฝ้ากางเต็นท์อยู่หน้าบ้านลุงพลเป็นเดือนๆ ปีๆ นักข่าวนำเสนอข่าวลุงพล คนอ่านข่าวก็อ่านข่าวลุงพลโดยอุทิศเวลาให้เบรคนึงไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ร เวลานั้น สื่อไม่กล้านำเสนอเลยว่าลุงพลมีพิรุธหรือมีความน่าสงสัยตรงไหน แต่เกือบทุกสื่อนำเสนอความน่ารักและนำเสนอลุงพลในแง่ความน่าเอ็นดู มีการเอาหมอเอานักจิตวิทยามาวิเคราะห์ภาษากายและบอกว่าลุงพลบริสุทธิ์ ตัดสินแทนไปเสร็จสรรพ จนลุงพลแทบจะกลายเป็นขวัญใจประชาชน มีแต่คนรักลุงพล จนลุงพลเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ
สื่อมวลชนไทยกระหายยอดไลก์ กระหายเอนเกจเมนต์จนเกินงาม นำเสนอแต่ข่าวที่ประชาชนอยากเห็น ไม่เคยคิดต่อยอดหรือตกตะกอนทางความคิด ไม่เคยให้ประชาชนได้เรียนรู้ หรือสร้างองค์ความรู้อะไรให้แก่ประชาชนเลย ไม่เคยให้ประชาชนเรียนรู้ถึงจิตสำนึกทางการเมือง ไม่เคยให้ประชาชนรู้จักความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งที่สื่อต้องการมีแค่ยอดคนดู ยอดคนแชร์ Youtuber ก็อยากได้เอนเกจเมนต์ เพราะมันจะได้เอาตัวเลขไปเสนอขายเอเยนซีมาลงโฆษณาได้
ทุกวันนี้มีคนบ่นว่าข่าวอภิปรายงบประมาณของรัฐบาลถูกข่าวลุงพลกลบหมด ผมไม่ได้อยากโทษข่าวนะครับ เพราะถ้าสังคมเราให้ความสนใจกับเรื่องรัฐบาลจริงๆ โมเมนตัมมันจะไปที่ข่าวรัฐบาลเอง แต่เราต้องยอมรับว่าสื่อให้ความสำคัญต่อข่าวที่คนอยากรู้มากกว่าข่าวที่ประชาชนควรรู้
ท่ามกลางกระแสที่เชี่ยวกราก สื่อขาดความกล้าหาญในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่อาจจะขัดใจประชาชน เพราะกลัวประชาชน Unlike เพจ เพราะกลัวคนไปรุมเอาทัวร์มาลง สื่อทำหน้าที่ได้เพียงตามน้ำ นำเสนอข่าวที่ประชาชนอยากเห็น ลุงพล ณ เวลานั้นอาจจะเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย แต่ก็มีคนพากันเชิดชู พากันเอาไปออกงาน เอาไปเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา รับทรัพย์นี่ต่ำๆ ก็หลักสิบล้าน จนมีเงินไปต่อเติมบ้าน ซื้อที่ทางใหญ่โต มีบริษัท เห็นหน้าเห็นหลังในเวลาไม่ถึงปี นี่หรือคือสิ่งที่สื่อมอบให้แก่ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม ประชาชนเรียนรู้อะไร นอกจากมีความรู้สึกว่าฉันต้องการแสงบ้าง เพราะถ้ามีแสงก็จะมีเงินอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นคืออาชีพ Youtuber เฝ้าบ้านและตามลุงพล หลายๆ คนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ทำหน้าที่สื่อไปด้วย แต่เป็นสื่อที่นำเสนอในสิ่งที่คนชอบใจและอยากเห็น แต่ไม่เคยนำเสนอข้อเท็จจริงได้ เอาจริงๆ เราไปโทษ Youtuber ก็คงไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่ใช่สื่ออาชีพ
สำนักข่าว ทีวี กลับมาทบทวนบทบาทตัวเองได้หรือยังครับ เราสร้างบาดแผลให้แก่สังคมมากขนาดไหน เราไปยกย่องผู้ต้องสงสัยให้กลายเป็นไอดอล แต่วันนี้ผู้ต้องสงสัยกลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับไปแล้ว คดีโดนบิดเบือนรูปคดีเพราะกระแสมหาชน จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำคดีด้วยความยากลำบากและล่าช้า อย่าคิดว่าสื่อไม่เกี่ยว เรื่องแบบนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อรูปคดี การไปลงพื้นที่มากมายมหาศาล นำฝูงชนเข้าไปในพื้นที่ มันจะมีผลต่อร่องรอยหลักฐานไหม ผมนึกสภาพไม่ออกเลย แต่ผมอยากจะบอกว่าคดีน้องชมพู่เละเทะและล่าช้าเป็นปี เราปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่ามาจากสื่อที่เข้าไปเล่นข่าวจนเละเทะขนาดนี้!!
ข่าวสะท้อนคุณภาพประชาชน เอาจริงๆ นะ ถ้าประชาชนเรากระหายใคร่รู้ข่าวรัฐบาล ข่าวการเมืองมากกว่าข่าวชาวบ้าน โมเมนตัมของสื่อมันจะย้ายไปทำข่าวงบประมาณของรัฐบาลเอง ไม่เชื่อลองเอาเอนเกจเมนต์ข่าวลุงพลกับข่าวรัฐบาลมาเทียบสิ คนอ่านอะไรมากกว่ากัน ปัญหาอีกส่วนคือสื่อเองก็ค่อนข้างจะเพิกเฉยต่อข่าวรัฐด้วย เพราะกลัวจะมีปัญหากับผู้ปกครองประเทศ รวมไปถึงเม็ดเงินโฆษณาจากผู้สนับสนุนที่บางครั้งก็ตกอยู่ในความกลัวที่จะมาสนับสนุนช่องที่ไม่โปรโมตผู้บริหารประเทศด้วย มันคือผลประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกัน คนไทยเองก็ชอบข่าวชาวบ้าน ข่าวไสยศาสตร์เป็นทุนอยู่แล้ว ไม่ต้องแปลกใจหรอกที่โมเมนตัมข่าวมันจะไปที่ลุงพล แต่ก่อนที่เราจะไปด่าเรื่องปั่นกระแสข่าว เราต้องถามตัวเองก่อนนะว่า ถ้ามีข่าวงบประมาณกับข่าวลุงพลมาอยู่คู่กัน คนไทยส่วนใหญ่จะอ่านข่าวอะไรก่อน เราอยากจะบอกว่าเราอย่าหยุดที่จะสนใจข่าวรัฐบาล ข่าวงบประมาณ เข้าไปอ่านเข้าไปแชร์ข่าวพวกนี้มากๆ ให้สื่อเขาอยากทำข่าวให้เราอ่านแทนข่าวอะไรแบบนี้ดีกว่าครับ
สื่อกลับมาย้อนดูการทำงานของตัวเองได้แล้วนะครับ เราจะปล่อยให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาในสังคมที่เต็มไปด้วยข่าวสารแบบที่คุณนำเสนอเหรอครับ พวกคุณเป็นสื่อกระแสหลัก คนจำนวนมากยังให้เครดิตคุณในฐานะสื่อกระแสหลักอยู่ คนเชื่อคนแชร์เพราะเขาให้คุณค่าพวกคุณนะครับ กรุณานำเสนอข่าวที่มันมีคุณค่าและให้ประโยชน์แก่สังคมบ้างเถอะครับ สร้างองค์ความรู้ สร้างภูมิปัญญาให้ประชาชนเถอะครับ อย่างน้อยควรเริ่มต้นด้วยการออกมาขอโทษประชาชนกับบทบาทที่เคยทำที่ผ่านมาให้ประชาชนหยุดสับสนก็ยังดีครับ”