xs
xsm
sm
md
lg

“กัญชา” สู่ “หม้อชาบู” คนท้องเสี่ยงแท้ง-โรคหัวใจอันตราย!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปรากฏการณ์นำกัญชามาใส่ชาบู ต่อยอดเมนูให้น่าสนใจ สังคมสงสัยรสชาติดีขึ้น-อารมณ์ดี เพราะเสพติดจริงหรือ ผู้เชี่ยวชาญแนะหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเสี่ยงชิม เพราะเสี่ยงแท้งลูก!!






กัญชาในชาบู อร่อยขึ้น เพราะเสพติด!?


กลายเป็นที่พูดถึงกันอยู่ไม่น้อย เมื่อธุรกิจอาหารอย่าง “ร้านชาบูอินดี้” ใน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผุดเมนูใหม่ ใส่ใบกัญชาสดเสิร์ฟใส่หม้อเป็นเจ้าแรกของจังหวัด พร้อมกับเมนูกัญชาชุบแป้งทอด และยังมีเมนูหมูบะช่อพันใบกัญชา เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยอีกด้วย

ทันทีที่มีกระแสแชร์ออกไป แน่นอนว่า ต่างเป็นที่สนใจของนักชิม รวมทั้งการตั้งคำถามของสังคม ว่า การนำกัญชามาเป็นวัตถุดิบอาหาร เมื่อกินไปจะมีผลต่อร่างกายอย่างไรหรือไม่


ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ได้ให้คำตอบว่า การกินอาหารกัญชาสามารถกินได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ผู้บริโภคจะไปกินร้านไหนก็แล้วแต่ ต้องขอข้อมูลจากร้านค้านั้น

“อย่างแรก คือ แหล่งที่มา ถ้าหากใบกัญชาของร้านชาบู หรือร้านอะไรก็แล้วแต่ สามารถอธิบายกับลูกค้าได้ว่า แหล่งที่มาของกัญชาได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย


ลูกค้าต้องมั่นใจว่า เขานำต้นกัญชาที่ได้รับการปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีผลต่อทางด้านโภชนาการ คือ การออกฤกษ์ของกัญชาในแต่ละประเทศ ในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ถ้าหากในดินที่ไม่ได้รับการอนุญาต ไปแอบปลูกมีสารอื่น ที่ส่งเสริมทำให้ฤทธิ์ของกัญชามีมากขึ้น หรือน้อยลงไป มันก็จะได้ผลแตกต่างกันไป

คือ ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ ที่เราจะไปอุดหนุนร้านที่มีส่วนผสมของกัญชา เราก็ต้องดูก่อนว่ากัญชาถูกต้องตามกฎหมายไหม และถามว่าส่วนที่นำมาใช้นั้น มันเป็นส่วนไหน ถ้าเป็นส่วนใบใช้ได้”


ในส่วนในแง่ที่หลายคนกังวลว่า หากกินอาหารที่มีวัตถุดิบกัญชาเข้าไปแล้ว อาจจะทำให้เกิดการเสพติด อีกทั้งทำให้รสชาติดี จนมีประโยคให้ได้ยินบ่อยๆ “กินร้านนี้บ่อยเพราะใส่กัญชา” เป็นเรื่องที่ไม่จริง และเข้าใจผิดโดยอ้างอิงจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ว่า เป็นเพราะการได้รับกลิ่นกัญชา ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้อยากอาหาร

“สารเสพติดที่อยู่ในใบไม่ติดค่ะ ไม่ได้เป็นยาเสพติด แต่ที่จะติด คือ กลิ่นที่หอม เวลาเรากินอะไรอร่อย รูป รส กลิ่น เสียง มันทำให้เรารู้สึกสัมผัสต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้อร่อย

รับรองว่าไม่ติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากร้านนั้นเป็นร้านที่สามารถชี้แจงต่อลูกค้าได้ว่า ร้านของเราใส่กัญชาเพียงเล็กน้อย อย่างเช่น ผัดกะเพราใส่กัญชาไปแค่ 1 ใบ หรือครึ่งใบ ที่เขาใส่ไปแค่นั้น หรือใส่ในคุกกี้ที่มีส่วนผสมของกัญชา ถ้าในฐานะผู้บริโภค เราก็ต้องถามทางร้านก่อนว่าใส่กัญชามากน้อยขนาดไหน และใช้ในส่วนไหน”


ขณะเดียวกัน ด้าน สุภัทรา ดวงงา วัย 34 ปี เจ้าของร้านและแฟรนไชส์ ร้านชาบู เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชีสารเสพติด ร้านชาบูอินดี้ จึงนำกัญชามาทดลองปรุงอาหารเป็นเจ้าแรกของจังหวัดพิษณุโลก เริ่มจากปรุงเป็นน้ำซุปอารมณ์ดี มีทั้งน้ำซุปแบบน้ำดำ และน้ำซุปปกติ เพื่อให้ลูกค้าได้ทดลองชิม

โดยกัญชาที่ทางร้านนำมาเสิร์ฟเป็นใบสด เพื่อให้ลูกค้าเลือกนำมาใส่ในน้ำซุปเพื่อเพิ่มอรรถรส เพิ่มความหวานให้น้ำซุปกลายเป็นน้ำซุปอารมณ์ดีตามชื่อที่ทางร้านตั้งชื่อไว้ ส่วนสายพันธุ์กัญชาที่ร้านนำมาใช้มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ซาติวา (Pure Sativa) เป็นกัญชาแบบใบใหญ่ และ สายพันธุ์หางกระรอก เป็นกัญชาใบที่มีขนาดเล็ก สั่งจากผู้ที่ได้ขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้อง จากแหล่งปลูกทางภาคเหนือ




อันตรายสำหรับ เด็ก-หญิงตั้งครรภ์ !!


ถึงแม้ว่า “กัญชา” จะมีคุณประโยชน์ในทางโภชนาการ แต่นักโภชนาการคนเดิมก็ปฏิเสธว่า หากผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตับและไต รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์รับประทานเข้าไป ก็เสี่ยงอันตราย สามารถส่งผลให้กับเด็กที่อยู่ในครรภ์ได้

“อย่างเราไปกินชาบูกลางวัน ตอนบ่ายไปทำงาน ถ้าหากเราไม่เคยกินกัญชามาก่อนเลย เรากินตอนกลางวันแล้วไปทำงาน อาจจะทำให้การทำงานของเราประสิทธิภาพลดน้อยลงไป


ส่วนทางร้านก็ต้องมีข้อควรระวัง ต้องแปะไว้หน้าร้านว่า ผู้ที่ควรจะหลีกเลี่ยงการใช้ คือ ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี


ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ให้กิน และให้นมบุตรไม่ควรกิน คนที่เตรียมแผนตั้งครรภ์ไม่ควรไปกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเลย

ส่วนผู้ที่มีภาวะตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ควรกิน มันจะทำให้ส่งเสริมคนที่กินยาที่เกี่ยวกับไตและไตมีคุณภาพที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม จากที่คุณหมอวางแผนไว้และทำให้ตับและไตทำงานหนักมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีการปลดล็อกอนุญาตให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชา ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดได้ ในมุมมองของนักกำหนดอาหารวิชาชีพ ยังมีความเป็นห่วงเรื่องของประมาณการกินให้พอเหมาะ

“โดยหลักๆ ใช้ส่วนใบ แต่สิ่งที่เราจะห่วง คือ เรื่องของปริมาณของใบกัญชา ตอนนี้ยังไม่มีออกมาเลยว่า กัญชาใส่เท่าไหร่จึงจะเหมาะต่อสุขภาพ


แต่เราใช้ภูมิปัญญาไทยสมัยก่อน ว่า อาหารที่จะต้องใช้ใบกัญชาหรือกัญชง อยู่ที่ปริมาณที่เหมาะสม คือ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม อยู่ที่ 5-7 ใบ

ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ในตำราแพทย์ของไทย ได้เขียนเอาไว้ว่า การกินกัญชา โดยใช้ใบแก่นำมาตากหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ายิ่งผ่านความร้อนแล้วใบแก่ ฤทธิ์ของกัญชาในส่วนดีๆ ของสุขภาพของเราจะมีมากขึ้น

สมัยก่อนใช้ 5-7 ใบ โดย 5-7 ใบนี้ ไม่ได้ระบุว่า ใบแก่ ใบอ่อน ใบใหญ่ ใบเล็ก เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นปริมาณคร่าวๆ แต่ละวันไม่ควรเกิน 5-7 ใบ

ถ้าทางร้านเขาสามารถบอกได้ว่า น้ำในชาบู หรือชาบู 1 หม้อ เหมาะแก่การกิน 3-4 คน แล้วกะมาแล้วว่าใบกัญชาของเขา ใส่มาปริมาณที่ไม่เกินคนละ 5-7 ใบต่อวัน อันนี้ก็ปลอดภัยค่ะ

เพราะในปัจจุบันไม่มีปริมาณที่เหมาะสมว่า ใบกัญชาแค่ไหนจะปลอดภัย เพราะในส่วนของใบกัญชา สารเมามันจะน้อย ถ้ามันจะเยอะจะอยู่ตรงส่วนดอก ซึ่งส่วนดอกไม่ให้ใช้เด็ดขาด ไม่ว่าจะที่ไหนก็แล้วแต่

ที่แน่นอนที่สุด ที่งานวิจัยชัดเจน คือ ยาละลายลิ่มเลือด ที่เรียกว่า วาร์ฟาริน มันจะทำให้ผลของยา ทำให้ฤทธิ์ของยามันมีมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่สนใจนำกัญชามาใช้ประกอบอาหาร ให้ฟังอีกว่า จะต้องไปขออนุญาต และซื้ออย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมชี้แจงต่อผู้บริโภค

ต้องขออนุญาตก่อน และต้องไปซื้อใบกัญชาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และควรจะแจง บอกให้ผู้บริโภครู้


ถ้าหากร้านค้าสามารถเขียนประกาศไว้ ว่า ร้านเราใส่กัญชามีประโยชน์ คือ มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายของเรา ทำให้อาหารอร่อย และเราใส่ในประมาณที่เหมาะสม


และถ้ามีเด็กเล็กๆ เข้ามาในร้านก็ห้ามเลยว่า ห้ามเด็กเล็กทุกคนกิน ต่ำกว่า 25 ปี ไม่ควรกินอาหารที่ประกอบด้วยกัญชา”








ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



ข่าว: ทีมข่าว MGR Live
ตัดต่อ: อิสสริยา อาชวานันทกุล



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น