xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยรับไม่ได้!! “กรุงเทพฯ = เมืองสุขภาพดีอันดับโลก” ทั้งฝุ่นพิษ-ประปาเค็ม-รถติด-โควิดระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนวิจารณ์หนัก เอาข้อมูลไหนมาจัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสุขภาพดี อันดับที่ 13 ของโลก นักสิ่งแวดล้อมวิเคราะห์ ถ้าแก้ด่วนระบบขนส่งมวลชน, ปัญหารถติด, ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ก็ยังมีโอกาสไปถึงจุดนั้น

จัดอันดับในโลกคู่ขนาน?

วิจารณ์หนักมาก เมื่อกรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับ เป็นเมืองสุขภาพดี อันดับที่ 13 ของโลก ประจำปี 2021 ทำเอาคนไทยวิจารณ์หนัก ทั้งน้ำประปาเค็ม ทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องพบว่าเกินค่ามาตรฐานเกือบทุกวัน ไหนจะเรื่องของโรคระบาดโควิด-19 อีก ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าเอาข้อมูลไหนมาจัดลำดับ

ผลงานวิจัย “The Healthy Lifestyles Cities Report” จากหน่วยงานทางสุขภาพของสหราชอาณาจักร ได้ทำการวิจัยเมืองสำคัญของโลก 44 เมือง พบว่า กรุงอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ มาเป็นอันดับ 1 นครซิดนีย์ มาเป็นอันดับที่ 2 เมืองเวียนนา อยู่อันดับที่ 3 และกรุงเทพมหานคร อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก

โดยเกณฑ์การวัดในครั้งนี้ ใช้เกณฑ์ในการวัดหลายอย่าง ทางทีมงาน “Lenstore” ทำการวิเคราะห์และสำรวจเมืองสำคัญ 44 เมืองทั่วโลก เพื่อหาว่าเมืองอะไรจะทำให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพดีที่สุด ผ่านเกณฑ์การวัด 10 ข้อ

1. เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น-ตก 2. ราคาน้ำดื่ม 3. ความน้ำหนักเกินของประชาชน 4. อายุไขเฉลี่ย 5. มลพิษ 6. เวลาการทำงานเฉลี่ย/ปี  7. ค่าความสุข 8. กิจกรรมกลางแจ้ง 9. สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 10. ค่าสมัครสมาชิกเข้ายิม/เดือน


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ช่วยวิเคราะห์ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้ ว่า หลายคนเข้าใจผิดความหมาย หากเป็นเมืองที่มีสุขภาพดีประเทศไทยคงไม่ติดอันดับ

“จริงๆ เขาไม่ได้บอกว่าเมืองสุขภาพดีนะ เขาบอกว่า เมืองที่มีสไตล์ที่จะทำให้สุขภาพดี เขาเรียก “Healthy Lifestyles City”  พูดง่ายๆ คือ เมืองที่มีวิถีชีวิตที่จะทำให้มีสุขภาพดี

เขาไม่ได้บอกว่าเมืองเราเป็นเมืองที่มีสุขภาพดีนะ แต่มีวิถีชีวิตอาจจะทำให้สุขภาพดี คนเข้าใจผิด ไปแปลว่า เป็นเมืองที่มีสุขภาพดี ไม่ใช่ นั่นเขาเรียก “Healthy City” แต่อันนี้มัน “Healthy Lifestyles City” คนละอันกัน ถ้าเป็นอันนั้นของไทยไม่ติดอันดับเลย

[สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ]
แต่ถ้าในแง่ของประเทศชาติ ผมก็มองว่า มันเป็นสิ่งที่ดี ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ มันก็จะทำให้คนแก่ หรือผู้ที่เกษียณอายุแล้ว ก็อยากจะมาอยู่เมืองไทย มาตั้งรกรากอยู่เมืองไทย เพราะเป็นเมืองที่มีสไตล์ที่จะมีสุขภาพดี มีปัจจัยทำให้สุขภาพดีเยอะ แล้วก็จะทำให้ต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น

ในแง่ความรู้สึกของคนไทย เราอาจจะไม่พอใจ เพราะเราก็มีปัญหาเรื่องน้ำประปาเค็ม ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีปัญหาเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ แต่นั่นก็เป็นปลีกย่อยที่เราจะต้องไปแก้ไข อันนี้อันดับ 13 ของกรุงเทพฯ นะ ไม่ใช่ประเทศไทย เพราะฉะนั้น กรุงเทพฯ มันมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 เพียงแค่ 3 เดือน”


เมื่อถามนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอีกว่า เกณฑ์แบบนี้ยังเรียกได้ว่า กรุงเทพฯ อยู่ในเกณฑ์เมืองแห่งสุขภาพดีได้อยู่หรือไม่ ซึ่งนักวิชาการรายเดิมก็ตอบกลับมาว่า อยู่ที่เกณฑ์ในการประเมิน แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศเกณฑ์แบบนี้เราก็ถือว่าดีกว่า

“เขาก็มีอยู่ 10 เกณฑ์ เรื่องของการมีแสงแดด โรคอ้วน ความสุขในการทำงาน อายุขัย คุณภาพอากาศ และน้ำ ประเทศไทยไปได้คะแนนที่มีแสงอาทิตย์มาก 2,624 ชั่วโมง อยู่ในเขตร้อนเยอะ เพราะฝรั่งเขาชอบแสงแดดใช่ไหม แล้วอีกอัน คือ น้ำขวด น้ำสะอาดมันราคาถูก ไม่เกิน 9-10 บาท แต่ว่าถ้าเป็นฝรั่งขวดนึงมัน 25 บาท มี 50 บาท ด้วยซ้ำไป อันนี้เขามองของเราว่าราคาถูก

ส่วนเรื่องโรคอ้วน เรามีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง อ้วนน้อย เพราะเรากินอาหารพวกธัญพืช ผัก มากกว่า หรือมังสวิรัติ ฝรั่งกินนม เนย แฮมเบอร์เกอร์ เขาก็จะอ้วนมากกว่า เราก็จะมีเรื่องโรคอ้วนน้อย


อีกอย่างเรื่องมลพิษเราก็น้อย ถ้าเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเรามีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ข้างนอก นิคมอุตสาหกรรมพวกนี้ไม่ได้อยู่ในเมือง แต่ว่าเราจะมีปัญหาเรื่อง PM 2.5 น้อยไงในช่วงเวลาแค่ 3 เดือน เพราะว่าฤดูหนาวเราแค่ 3 เดือน แต่ในต่างประเทศฤดูหนาวมันยาวนานมาก เขาเลยมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 เยอะ

แล้วเรื่องน้ำประปา เขาไม่ได้ดูตรงนั้น เขาไม่ได้ดูว่าน้ำประปาเค็มไม่เค็ม เขาดูว่าน้ำของเราราคาถูกไหม เกณฑ์มันต่างกัน เพราะฉะนั้นมันอาจจะขัดความรู้สึกของประชาชนหน่อยนึง ว่า มลพิษก็เยอะ อะไรต่างๆ ก็เยอะ แต่พอไปเทียบกับต่างประเทศแล้วของเรากลับดีกว่า”


แก้ด่วนรถติด หากอยากไปสู่เมืองที่ดี

เพื่อให้ไม่เป็นที่สงสัยที่หลายคนไม่ยอมรับว่า มีความต่างกันอย่างไร ในเมื่อความหมายก็คือ การนำไปสู่เมืองที่มีสุขภาพดี นักวิชาการรายเดิมก็ให้คำตอบว่า ประเทศยังไม่ไปสู่เมืองสุขภาพที่ดี แต่เป็นเพียงมีวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่เมืองแห่งสุขภาพที่ดีเท่านั้น
“ที่คนไม่ยอมรับ เพราะคนไปตีความ ก็คือ เมืองที่มีสุขภาพดี ซึ่งมันไม่ใช่ จริงๆ มันคือเมืองที่มีวิถีชีวิตที่จะมีสุขภาพดีในอนาคต

ก็คือว่า เรามีปัจจัยในกรุงเทพฯ พร้อมที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพดีในอนาคต แต่ถ้าเมืองดีสุขภาพดี คือ เมืองที่มีสุขภาพดีแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ ของเรามันไม่ใช่ ของเราห่วย ตกอันดับถ้าเป็นเรื่องอันนั้นนะ แต่เรามีโอกาสที่จะมีสุขภาพที่ดี ชีวิตความเป็นอยู่นำไปสู่การที่มีสุขภาพที่ดี ก็เรื่องแสงแดด น้ำถูก มลพิษน้อย อ้วนน้อย อะไรแบบนั้น

คงปัดตกเลยถ้าเป็น Healthy City เพราะว่าพื้นที่สีเขียวเราก็น้อย เราไม่ได้เป็น smart city พื้นที่สีเขียวเราน้อยกว่าองค์การอนามัยโลก เรามีแค่7 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลกมี 9 เปอร์เซ็นต์ สิงคโปร์ตั้ง 66 เปอร์เซ็นต์ Healthy City เขาดูพื้นที่สีเขียว แล้วก็ดูเรื่องมลพิษต่างๆ แล้วก็เรื่องขยะ น้ำเสีย อันนั้นเขาดูเข้มเลย แล้วก็ดูเรื่อง smart city มีดิจิทัลไหม มีรถเมล์ที่เป็นรถไฟฟ้าไหม ขนส่งมวลชนที่รองรับไหม ของเราแพ้หมด ตกหมด”


ไม่เพียงเท่านี้ หากจะนำไปสู่การแก้ไขที่ดี ทำให้เมืองไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่ดีในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะสุขภาพของผู้คนในประเทศ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมรายนี้ ก็แนะว่า สำคัญคือเรื่องปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องแก้ไขโดยด่วน คือ ปัญหารถติด

“ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม อันนี้ถ้าพูดถึงกรุงเทพฯ นะ อย่างแรกแก้ไขปัญหารถติด เพราะประเทศไทยรถติดอันดับ 2 ของโลก 64 ชั่วโมงต่อปี ที่อยู่บนถนน อันที่สองคือ ปัญหาเรื่องมลพิษจากรถยนต์ที่อยู่ริมถนน เพราะเราใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลเยอะ 2,800,000 คัน ที่นำไปสู่เรื่องฝุ่น PM 2.5 เรามีการก่อสร้างเยอะ และมีตึกสูงที่เกิน 23 ชั้น ประมาณ 2,810 แห่ง ตึกสูงเกิน 100 เมตร ประมาณ 99 แห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งติดอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 6 ของโลก อย่างนี้มันก็ทำให้มลพิษทางอากาศมันฟุ้งกระจายไมได้


และที่สำคัญ ระบบขนส่งมวลชนของเรายังรองรับไม่ครบ เรามีมอเตอร์ไซค์เยอะไป มีพื้นที่สีเขียวน้อยไป อันนี้คือเรื่องสิ่งแวดล้อมนะ ถ้าเรื่องสุขภาพ การสาธารณสุขของเราดีหมด แต่ว่าเรายังมีสลัม เรายังมีคนจน ความเหลื่อมล้ำของเรามันมากเกินไป คนที่มีรายได้น้อย คนที่มีรายได้มาก มันมีช่องว่างมาก ซึ่งต้องลดช่องว่างตรงนี้ให้ได้

คนที่อยู่กรุงเทพฯ ถ้าเราไปดูห้างใหญ่ๆ ที่เปิดใหม่ๆ ห้างใหญ่โต ที่ข้างๆ เป็นสลัม มันใช่ไหม มันขัดสายตา มันขัดแย้ง เหมือนคู่ขนาน อันนั้นคือเราต้องแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาเรื่องคมนาคม แก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพ มันถึงจะนำไปสู่ Healthy City แต่ถ้าเป็นเมืองที่มีวิถีชีวิตที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี เรามีโอกาส แต่มันยังไม่ถึง คนเข้าใจผิด”

ข่าว : ทีมข่าว MGR Live 


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น