xs
xsm
sm
md
lg

คอนเฟิร์ม!! “2021” โควิดสร้าง “ยุคทองออนไลน์” เผยทางรอดธุรกิจ “ต้องมีมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





โอกาสท่ามกลางวิกฤต!! “เป็นจังหวะที่ดีของการขายของ” เปิดใจแม่ค้าออนไลน์ ไลฟ์ขายของ-ปรับตัวตามกระแส ไม่ย่อท้อ ต่อโชคชะตา ในยุคโควิด-19 กูรูการตลาดเผย “มีแพลตฟอร์มอันเดียวมีสิทธิเจ๊ง”




พลิก “โควิด-19” เป็นโอกาส สร้างรายได้โลกออนไลน์!!


เรียกได้ว่าท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้ ถือเป็นปีทองของการขายของออนไลน์ โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยสถานการณ์ที่ทำให้คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และด้วยปัจจัยการกลัวติดเชื้อโรค การสัมผัสมือผู้อื่น แน่นอนว่า การซื้อของออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น

“ไม่มีอะไรที่ขายไม่ได้เลยในช่วงโควิด-19 ต้องเรียกว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีของการขายของออนไลน์ รวมถึงพี่ต้องขอบคุณการขายของออนไลน์นะ พี่เชื่อว่าหลายคนมีเป็นอาชีพอย่าง Entertainment นักร้อง พนักงานประจำ หรือหลายๆ คนที่ตกงาน หรือได้พักงานช่วงนั้น

คือ มาเข้าสู่วงการขายของออนไลน์มันเป็นการสร้างงาน เป็นช่องทางหารายได้ของคนหลายคนที่กำลังหมดหวัง สิ้นหวัง หรือกำลังแย่ พี่ว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับการขายของออนไลน์”


พี่เจี๊ยบ วัย 40 ปี แม่ค้าขายออนไลน์ เจ้าของเพจ Fashion Intrend by Varis ที่มีคนติดตามกว่า 21,225 คน เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live และสะท้อนถึงการค้าขายในยุคโควิด-19 ที่ถือเป็นปีทองของการขายของออนไลน์ จนทำรายได้กว่า 7 หลัก

“พี่เจี๊ยบลาออกจากงานมาขายเลยค่ะ เดิมพี่เจี๊ยบเป็น HR Manager อยู่ แล้วทำขายของออนไลน์มา 8 ปี คู่กับงานประจำ แล้วลาออกเพื่อมาขายของออนไลน์โดยเฉพาะเลย ตอนนั้นก็เงินเดือน 6 หลัก แต่ออกมาขายของออนไลน์

พี่เจี๊ยบขายเสื้อผ้าเป็นหลัก เราเรียกว่า Fast Fashion คือ เป็นแฟชั่นที่มาไวไปไว ขายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นไซส์ตั้งแต่ 32 จนไปถึง 50+ เลย คือ ขายทุกไซส์ จะเป็นฟรีไซส์ ขายเสื้อผ้าแฟชั่นเป็นหลัก”

[“เจี๊ยบ” เจ้าของเพจ Fashion Intrend by Varis]
ประสบการณ์กว่า 8 ปี ที่ขายของออนไลน์ ยอมรับว่า ต้องปรับตัวต่อผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยในปีที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับการขายของออนไลน์อย่างมาก ซึ่งนอกจากการขายเสื้อผ้าในร้าน แต่ยังมีการปรับเปลี่ยนขายอาหารอื่นๆ มาเสริมทัพอีกด้วย

“ขายดีขึ้นมาก (เน้นว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ) ต้องบอกว่าขายดีขึ้นจากเมื่อก่อนมาก คือ พี่เชื่อว่าโควิด-19 มีกระทบกับหลายๆ คน คือสำหรับแม่ค้าที่เป็นหน้าร้าน คือ ไม่ต้องพูดถึงเลยคือเจ๊ง แล้วร้านเจ๊งจริง

แต่ถ้าโควิด-19 สำหรับแม่ค้าออนไลน์เป็นช่วงจังหวะที่ดีมากๆ เพราะว่า 1.พี่เจี๊ยบไปอยู่ต่างจังหวัด คือ หนีไปอยู่ที่เพชรบุรี ไปอยู่บ้านสามีที่เพชรบุรี แทนที่จะได้ขายผ้าอย่างเดียว คือ ขายผ้าดีอยู่แล้ว เพราะคนไม่ได้ออกไปไหน คนไม่ได้ใช้สตางค์ คือ ยอดขายเพิ่มขึ้น ต้องบอกว่า 2-3 เลยดีกว่า ขายดีมาก


ที่สำคัญ คือ เราสามารถแตกไลน์การขาย นอกจากการขายเสื้อผ้า เรายังขายของกินได้ด้วย คือ พี่เจี๊ยบไป Live ขายของกิน ตั้งแต่ขนมหวาน หมูแดดเดียว น้ำพริก ทุกอย่างคือขายได้หมด”

แต่ขณะเดียวกัน เธอยังเล่าว่า ถึงจะเป็นยุคทองของการขายออนไลน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ลูกค้ามีตัวเลือก เพราะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น และทำให้กำไรลดน้อยลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญในการค้าขายในยุคนี้ คือ การรักษาตัวตน และไม่หยุดพัฒนา

“สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่แม่ค้าเยอะขึ้น คือ เราทำกำไรได้น้อยลง คู่แข่งเยอะขึ้น กำไรต่อตัวเราน้อยลง เราต้องแข่งด้วยราคาส่ง เช่น อย่างพี่เจี๊ยบส่งฟรีเลย เพื่อที่จะไปแข่งในตลาดได้ ตอนนี้ขายของออนไลน์เป็นทะเลเดือดของเรื่องราคา

สำหรับเจ้าเล็กๆ ที่ขายของมือ 2 ไม่ค่อยจะพบมาก คนที่ขายเป็นอาชีพ หรือขายแบบจริงๆ มันจะมีผลกระทบในแง่ของการที่จำนวนแม่ค้าเยอะขึ้น ลูกค้ามีทางเลือกเยอะขึ้น และทุกคนกระโดดลงไปใน Red Sea เพื่อจะแข่งราคา แข่งกันลด แข่งกันถูก แข่งกัน sell มันก็เป็นข้อดีของผู้บริโภค

แต่แม่ค้ากันเอง ขายดีแต่เจ๊งก็เยอะ พี่พูดตรงๆ เลยนะ ถ้าเกิดไม่รักษาสิ่งเหล่านี้ ไม่รักษาคาแร็กเตอร์ ไม่ขายความเป็นตัวเอง


ทำไมพิมรี่พายดัง นินิวดัง ทำไมแม่ค้าหลายๆ คนดัง คือ มีคาแร็กเตอร์ Live ไม่เหมือนกัน Live ต่างจากแม่ค้าที่เป็นสายยิง Ads การขายของมันจะมียิง Ads แล้วไม่ Live เลย แต่การขายของออนไลน์มันมีหลายช่องทาง ทั้ง IG Lazada shopee

แต่อย่างพี่เจี๊ยบเป็นแม่ค้าสาย Live สด Live เท่านั้น ในเรื่องของการขายของออนไลน์ มันจึงมีความแตกต่าง สายยิง Ads ก็แข่งกันยิง Ads แต่ตลาดที่โตในตอนนี้ มันจะโตใน IG ไปโตใน TikTok ช่องทางมันเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน แม่ค้าก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน”




กูรูแนะปรับตัวเพิ่มช่องทางหารายได้!!


เมื่อมีมุมมองผู้ประกอบการแล้ว ในมุมมองของ “อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” นักวิชาการด้านการตลาดชื่อดัง แนะอย่าพึ่งพาแพลตฟอร์มเพียงอันเดียว ในการขายของออนไลน์ 2021

อีกทั้งมองว่าหากไม่มีช่องทางออนไลน์อาจจะทำให้เจ๊ง เพราะในปีนี้การขายของออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องคำนึงถึงหลักการตลาด 4P เป็นหลัก คือ ผลิตภัณฑ์ (Product), ราคา (Price), ช่องทางการจำหน่าย (Place or Distribution Channel) และการสื่อสารการตลาด (Positioning)

[นักวิชาการด้านการตลาด]
“ถามว่าจะเยอะขึ้นรึเปล่า คือ การขายออนไลน์มันจะเยอะขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน Lazada, Shopee เรียกว่า หลายเท่า อย่างเอาผมเป็นตัวอย่างก็ได้ คือ ก่อนหน้านั้น ผมก็ไม่ค่อยซื้อออนไลน์ แต่จากหลังโควิด-19 รอบแรก ทุกอย่างที่เป็นไปได้ ผมก็ซื้อผ่าน Lazada, Shopee

โดยเฉพาะตอนหลังยิ่งซื้อ Shopee เพราะไม่ต้องเดินทางไป คือ ไม่ต้องเดินไปซื้อ ไปเสี่ยง แล้วตอนนี้ โควิด-19 รอบใหม่มันกลับมาอีกครั้ง เพราะฉะนั้นคนที่เคยออกไปซื้อก็อาจจะต้องกลับมาซื้อทางออนไลน์เยอะขึ้น


คือ P ตัวที่ 3 (ช่องทางจำหน่าย) คนที่ไม่มีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ จะต้องเข้ามาสู่ออนไลน์ทั้งหมด

คือ ก่อนหน้าโควิด-19 คุณอาจจะไม่มีก็ได้ รวมทั้งร้านอาหารด้วย คือ ก่อนหน้านี้ คุณอาจจะไม่มีออนไลน์ก็ได้ ร้านอาหารอาจจะไม่ต้องมีเรื่อง Grab, Gojek, Lineman

อย่างตอนนี้อาจจะมีการปิดอีกครั้งหนึ่ง เพราะคราวที่แล้วมีการปิดเมือง คุณไม่มี คุณเจ๊ง คือ ร้านอาหารก็ไม่ได้ปิด แต่เขาห้ามกิน ถ้าคุณไม่มี Grab, Gojek, Lineman เพราะฉะนั้นทุกคนต้องทำ

ดังนั้น เป็นตัวอย่างว่าออนไลน์ในแง่ของผู้บริโภคก็จะ move เข้าสู่ออนไลน์เยอะ หมายถึงซื้อทางออนไลน์ เพราะว่าโดนบังคับ ออกไปข้างนอกบ้านไม่ได้ คือ ตอนนี้ออกได้ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นไปได้ ก็ออกให้น้อยที่สุดในที่ชุมชน

ในแง่ความจำเป็นของผู้บริโภคจะง่ายขึ้น เพราะว่ามีการโอนเงินผ่านแอป และทุกคนก็มีมือถือ มีแอปธนาคาร เพราะฉะนั้นการซื้อของมันจะง่าย และแพลตฟอร์มจะการันตีด้วยว่าถ้าซื้อของ ก็จะต้องโอนเงินให้เขา


โลจิสติกส์ก็จะหลากหลาย และเร็ว การบรรจุของที่บอกว่าโยนแล้วแตก มันก็ไม่ได้มีแล้ว พูดง่ายๆ คือ ครึ่งหนี่งคนซื้อ อาจจะมาซื้อออนไลน์ ดังนั้น ในตัวพ่อค้าแม่ค้าจะเข้ามาเยอะ บริษัทก็จะเข้ามาเยอะ จะเข้ามาตั้งร้านเอง โดยเฉพาะใน Lazada ใน Shopee ซึ่งจะเป็นช่องทางหลัก ดังนั้น การแข่งขันมันจะสูงมาก”

อ.ธันยวัชร์ ยังกล่าวต่อไปในทางกลับกันว่าด้วยเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีกลยุทธ์ของธุรกิจ เรียนรู้การปรับตัว พร้อมแนะถึงการปรับตัวให้อยู่รอดในยุค 2021

“ต้องทำคอนเทนต์ มีวิดีโอ คนซื้อก็จะไปตรวจดูใน Lazada, Shopee มีไหมสินค้าแบบนี้ และถูกกว่าอย่างน้อยที่สุด 50% เพราะฉะนั้นเฟซบุ๊กที่มันขึ้นมาโฆษณา ว่าของแบบนี้ขาย ถ้าซื้อก็ไปซื้อใน Lazada, Shopee

คือ ถ้าสินค้ามันขายไม่ได้ หรือว่ามันขายลดลงให้รีบหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะ Customer (ลูกค้า) หรือ Competitor (คู่แข่ง) Company (บริษัท)


ถ้าเป็น C บริษัทอาจจะเป็นเพราะว่าเราตอบช้า เพราะตัวเราเอง คือ สินค้าไปได้ แต่เพราะพฤติกรรมเราเอง ทำให้เราไปต่อไม่ได้ ร้านพวกนี้ในอนาคตจะอยู่ได้ยาก สินค้าส่งไว แพกเกจจิ้งดี แต่กลับส่งสินค้าผิด คนก็ไม่เอา ผมก็ไปซื้อที่มันแพงกว่านิดหน่อย และส่งเร็วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่แพกเกจดี การส่งไว มันกลายเป็นพื้นฐานของธุรกิจประเภทออนไลน์


หันกลับมามองในมุมมองของ พี่เจี๊ยบ แม่ค้าออนไลน์ ยังฝากเตือน และส่งกำลังใจไปยังเพื่อนร่วมอาชีพอีกว่า ในยุคนี้จะต้องเรียนรู้ปรับตัวไปตามกระแส และวางแผน หากมีโควิด-19 ระลอกใหม่ เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง จะรับมือเช่นไร

“คือ เราจะต้องเป็นแม่ค้าที่ปรับไปตามกระแสนิยม ปรับให้ทันแฟชั่น ปรับให้ทันราคา ปรับให้ทันคู่แข่ง ตัวเราเองต้องพัฒนาวิธีการ Live ระบบการ Live หลังบ้านของการ Live พี่เจี๊ยบเองก็ลดราคาจนเกือบจะเจ๊งเหมือนกัน


สิ่งที่พี่อยากจะบอกมากที่สุดสำหรับแม่ค้าออนไลน์ ไม่ว่าคุณจะเป็นสาย Live สายไหน สายใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดจากนี้ไป คือ เรื่องภาษีจากการขายของออนไลน์ที่แม่ค้าอย่างพี่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สิ่งที่สำคัญกว่าการขายของกลยุทธ์ต่างๆ ในปีหน้า คือ วางแผนภาษีให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด

คือ ความถูกต้องมันไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเสียเยอะเสมอไป คือ ถ้าเราวางแผนดีๆ เรามีค่าใช้จ่าย เราหา Vat หารายได้สรรพากรเขาก็คือ เขาแค่ทำให้เราเข้าระบบเท่านั้นเอง เขาอยากให้แม่ค้าออนไลน์เข้าระบบ คือ เราไม่ต้องไปกลัว ตอนแรกพี่ก็เครียดมาก นอนไม่หลับ 2-3 อาทิตย์ จนมาศึกษา ทำใจยอมรับว่าโอเค มันเป็นสิ่งที่เราต้องจ่าย

และอยากจะฝากถึงแม่ค้าที่โดนเรียกภาษีย้อนหลัง สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือ ทำใจ แล้วตั้งสติ ยอมรับ หาหลักฐานที่เรามีว่าต้นทุนเรามันสูง มันไม่ได้กำไร หาหลักฐานที่เรามี แล้วไปชี้แจงกับเขา มันสามารถเจรจาผ่อนผันได้”




ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น