โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
เราอยู่กับโควิด-19 มาตลอดทั้งปีนี้และอีกไม่กี่วันจะถึงปีใหม่แล้ว ผู้เขียนรู้สึกเวลาผ่านไปรวดเร็วจริง ๆ ชีวิตหลายคนหยุดชะงักจากผลกระทบที่เกิดขึ้น และอีกหลายคนกำลังค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ภายใต้วิกฤติการณ์นี้
“พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” เหมือนจะเป็นคำที่ใช้ได้ดีเสมอมา การปรับตัวต้องมีอยู่ตลอดเวลา ในบทความนี้ผู้เขียนจะเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องของอาชีพเกิดใหม่จีนภายใต้วิกฤติโควิด-19 นั่นคือ “ไลฟ์คอมเมิร์ช” มืออาชีพ
“ไลฟ์คอมเมิร์ช” อาชีพเกิดใหม่นี้ในจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจีนมีพื้นฐานอีคอมเมิร์ชที่แข็งแกร่งอยู่เป็นทุนเดิม พร้อมกับการที่ทุกคนต้องปรับตัวจากโควิด-19 ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อต่างมาเจอกันบนออนไลน์มากขึ้น เพราะเหตุนี้เองทำให้ผู้ค้าต่าง ๆ ต้องคิดวิธีการที่จะให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้รอบด้านมากขึ้นเหมือนกับเดินมาดูที่ร้าน นี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการขายของแบบไลฟ์สดซึ่งทางแพลตฟอร์มก็ต้องพัฒนาฟังชั่นนี้ให้เข้ากับความต้องการของทั้งคนซื้อคนขาย
ไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพถือกำเนิดขึ้นในสังคมจีนอย่างรวดเร็ว และมีไลฟ์คอมเมิร์ชสดหลายคนทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากอาชีพนี้
ไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพระดับท็อปของประเทศ สามารถมีรายได้มหาศาลจนคนทั่วไปที่ได้ยินต้องอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว อาชีพไลฟ์คอมเมิร์ชถูกขึ้นเป็นหนึ่งรายชื่อในอาชีพใหม่ในประกาศของกระทรวงแรงงานจีนในวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พนักงานขายสินค้าออนไลน์”
จากสถิติฯ ปัจจุบันมีคนที่ประกอบอาชีพไลฟ์คอมเมิร์ชมากกว่า 8 ล้านคน และในปีนี้ทั้งปีจะมีคนที่เข้ามาทำอาชีพนี้ 15 ล้านคน ถึงแม้ว่าจะมีคนหันมาทำอาชีพนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยในปีนี้ “Online Economy” เติบโตมากกว่าปีที่แล้ว 3.6 เท่า คนที่สมัครทำอาชีพไลฟ์คอมเมิร์ชก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.4 เท่า
การเติบโตอย่างรวดเร็วของไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพ ทำให้หลายคนมองว่าควรมีกระบวนการจัดระเบียบและมีระบบมาตรฐานเข้ามาดูแล เพราะการเกิดใหม่อะไรหลายสิ่งหลายอย่างยังไม่เข้าที่เข้าทาง การร้องเรียนของผู้บริโภคมีอยู่ตลอด โดยในช่วงการตรวจสอบระหว่างวันที่ 1-20 มิ.ย. มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับไลฟ์คอมเมิร์ชทั้งหมด 1.2 แสนครั้ง โดยประเด็นส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนมีดังนี้
1. ผู้ขายไม่มีใบอนุญาตการค้าที่ถูกต้องและไม่แสดงให้ผู้บริโภคเห็น
2. ไลฟ์คอมเมิร์ชบางคน โดยเฉพาะพวกดารานักแสดงมีการโฆษณาสินค้าเกินจริง โน้มน้าวผู้บริโภคไปในทางที่ผิด
3. สินค้าที่โชว์ออนไลน์ไม่เหมือนกับของจริง เป็นสินค้าไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐานสินค้าที่ได้รับการรับรอง
4. ไลฟ์คอมเมิร์ชทำตัวเลขผู้ชมปลอม ทำให้ผู้ซื้อจริงเข้าใจผิด
5. ไม่มีบริการหลังขาย
ผู้เขียนมองว่า ปัจจุบันไม่ใช่ทุกคนที่ชอบดูไลฟ์คอมเมิร์ชเพื่อซื้อของเพราะหลายครั้งเสียเวลาต้องมานั่งรอสินค้าที่ตัวเองต้องการ เพื่อนคนจีนที่ผู้เขียนรู้จักส่วนใหญ่ไม่เคยดูไลฟ์สดและซื้อสินค้าเลย ส่วนใหญ่คือการเข้าไปร้านค้าออนไลน์และดูสินค้าด้วยตัวเอง
ปัจจุบันก็มีสินค้าหลายตัวที่นอกจากจะมีภาพนิ่งแล้วยังมีวีดีโอสั้นประกอบให้ดูสินค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในความคิดของคนหลายคิดว่าดูสินค้าผ่านวีดีโอสั้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบดูและตัดสินใจซื้อสินค้าจากไลฟ์คอมเมิร์ช โดยเฉพาะในปัจจุบันมีไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพระดับท็อป 3 ของประเทศจีนที่มีคนติดตามและทำรายได้มหาศาลจากการไลฟ์สดขายสินค้าคือ เวยย่า(Viya)หลี่เจียฉี(Austin)และสยวยลี่(Cherie)โดยทั้งสามคนต่างเติบโตมาจากแพลตฟอร์มเถาเป่า ในจีนเองปัจจุบันมีแพลตฟอร์มสองเจ้าที่ไลฟ์คอมเมิร์ชเติบโตได้ดีคือ เถาเป่า (Taobao) และไคว่โฉ่ว (Kuai Shou) มียอดขายรวมจากไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพของจีน 50 อันดับแรกในเดือนต.ค. จำนวนถึง 2.5 หมื่นล้านหยวน
ยอดขายจากไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพระดับท็อป 3 ของประเทศอย่าง เวยย่ามียอดขายเดือนเดียว 2.7 พันล้านหยวน จำนวนสินค้าที่ขายออก 20+ ล้านชิ้น ลำดับที่สอง หลี่เจียฉีมียอดขายเดือนเดียว 1.3 พันล้านหยวน จำนวนสินค้าที่ขายออก 12+ ล้านชิ้น ลำดับที่สาม สยวยลี่มียอดขายเดือนเดียว 600 ล้านหยวนเลยทีเดียว
จากตัวเลขคร่าว ๆ ของยอดขายรายเดือนของไลฟ์คอมเมิร์ชนี้ ทำให้เราเห็นว่าตลาดกำลังโต ทำให้มีไลฟ์คอมเมิร์ชหน้าใหม่ขึ้นมาตลอดแน่นอนว่าการแข่งขันก็รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไลฟ์คอมเมิร์ชเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการที่ทุกคนออกนอกบ้านกันไม่ได้ โดยข้อมูลจาก iiMedia รายงานถึงตัวเลขตลาดไลฟ์คอมเมิร์ชในปี 2019 มีเพียง 4.3 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าขึ้นมาเป็น 9.6 แสนล้านหยวนในปีนี้
ไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพระดับท็อปของประเทศจีนอย่าง เวยย่า และ หลี่เจียฉี ปีนี้ต่างเนื้อหอมและโกยเงินมหาศาลจากงานไลฟ์สดขายสินค้า โดยบริษัทผู้ผลิตเทเงินลงมาจำนวนมาก เพื่อให้สินค้าตนเองถูกนำเสนอโดยไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพ ด้วยมียุทธวิธีที่ดีในการโน้มน้าวคนซื้อพร้อมทั้งมีความเข้าใจในตัวสินค้าเป็นอย่างดี อย่างเช่น หลี่เจียฉี ไต่เต้าขึ้นมาจากพนักงานขายเครื่องสำอางค์ในห้าง เนื่องจากมีความรู้ ความเข้าใจในเครื่องสำอางค์ประเภทต่าง ๆ เป็นอย่างดี ทำให้เขาเป็นผู้นำการขายเครื่องสำอางค์ออนไลน์ในปัจจุบัน กอบโกยเงินกันได้มหาศาลทั้งตัวเขาเอง แพลตฟอร์มและผู้ผลิต
ไลฟ์คอมเมิร์ชนี้เป็นวงการใหม่ที่กำลังเติบโตได้ดี แต่ก็อยู่ในช่วงของการลองผิดลองถูก
นิตยสารจงซิ่นได้วิเคราะห์ว่า การที่สินค้าจะขายแบบไลฟ์คอมเมิร์ชสำเร็จต้องมีราคาที่ถูกจริงกว่าที่อื่น ๆ นั่นหมายความเบื้องหลังแล้วเป็นการแข่งขันระหว่างกันของสายซัพพลายด้วย โดยเฉพาะแบรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดใช้ไลฟ์คอมเมิร์ชมืออาชีพที่มีชื่อมีคนติดตามเยอะ ๆ และขายในราคาถูกจะทำให้สร้างภาพลักษณ์ สร้างแบรนด์ของสินค้าได้ง่าย คนรู้จักได้ง่าย ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะขาดทุนกันเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่ว่าคนที่เป็นดาราอยากจะมาขายของออนไลน์จะทำได้ดีทุกคนเสมอไป
มีดาราจีนหลายรายที่อยากจะเข้ามาในวงการไลฟ์คอมเมิร์ชแต่กลับต้องล้มเหลว เพราะจริง ๆ แล้วการไลฟ์คอมเมิร์ชต้องมีกลยุทธ์แยบยล และไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
เหตุผลอีกอย่างที่ทำให้ไลฟ์คอมเมิร์ชเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเข้าถึงของประชาชนเป็นวงกว้างกว่า อย่างเมืองชั้นสาม-สี่-ห้าก็กำลังเติบโตได้อย่างดี ตรงนี้เราเห็นการพัฒนาของแพลตฟอร์มไค่วโฉ่ว (Kuai Shou) ที่ผู้เขียนแนะนำไปข้างต้นเป็นแพลตฟอร์มที่ทำไลฟ์คอมเมิร์ชได้ดีรองจากเถาเป่า(Taobao)
นี่คืออาชีพไลฟ์คอมเมิร์ช โอกาสที่สร้างตำแหน่งงานให้กับสังคมจีน หากประสบความสำเร็จจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และเป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่บางกลุ่มให้ความนิยมชมชอบ