xs
xsm
sm
md
lg

อ่อนแอก็แพ้ไป!! บทเรียน “ทีวีดิจิทัล” ทยอยจอดำ เหตุพ่ายสื่อออนไลน์ยุคโซเชียล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ปิดไปอีกช่องแล้ว!! หลังทีวีดิจิทัล “GMM25” ประสบปัญหาขาดทุนจนต้องหยุดดำเนินกิจการสิ้นปีนี้ กูรูสื่อวิเคราะห์ กรณีล่าสุด ไม่มีการลงทุนต่อ อาจจะเป็นเพราะจุดยืนที่ไม่ชัดเจนของช่อง!!?




ขาดทุน - ไปไม่รอด เพราะ “ไม่มีความชัดเจน”


“เรื่องก็คือ บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงแบบใหญ่มาก นั่นคือยุบบริษัท!! หมายความว่าหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัท GMM Channel ที่เราสังกัดอยู่ก็จะหยุดดำเนินกิจการ

ส่วนช่อง GMM25 ก็จะเหลือไว้สำหรับให้ทางบริษัทในเครือเช่าสถานีเพื่อผลิตรายการต่างๆ ซึ่งในส่วนของข่าวก็จะเป็นทีมช่องวันมาผลิตแทน ดังนั้น ฝ่ายข่าว GMM25 ก็จะต้องพ้นสภาพไป พนักงานประจำก็ได้ค่าชดเชยตามกฎหมาย ส่วนฟรีแลนซ์ก็ตามสภาพ”

ทำเอาวงการสื่อดิจิทัลสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อเฟซบุ๊ก “Preeya luck” ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานได้ออกมาเปิดเผยว่า สถานีโทรทัศน์จีเอ็มเอ็ม 25 เตรียมที่จะหยุดดำเนินกิจการในวันที่ 31 ธ.ค.2563 เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน ส่งผลให้พนักงานประมาณ 190 คน โดยเฉพาะฝ่ายข่าว ต้องพ้นสภาพออกไป

ดูเหมือนยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีพนักงานประมาณ 50 คน ที่จะย้ายไปทำงานต่อกับบริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ส่วนพนักงานประจำที่เหลือจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกประการ ซึ่งเธอยอมรับว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบทางจิตใจพอสมควร


หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกแชร์ออกไป สังคมต่างให้ความสนใจ และต่างตั้งข้อสงสัยกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะมีหลายช่องทีวีดิจิทัลทยอยปิดตัวไป ไม่ว่าจะเป็นช่อง 28 (3sd) ช่องสปริงนิวส์ 19 ช่อง MCOT Family 

ทั้งนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ ให้ช่วยสะท้อน และเจาะลึกถึงทีวีดิจิทัล กับการลงทุนที่ไม่ได้ผลตอบแทนเท่าที่ควร

ในยุคที่เน้นเสพในโซเชียล จนหลายๆ ช่องเริ่มปิดตัวลง โดยสะท้อนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูง และกลุ่มคนดูมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นผู้ผลิตจะต้องแข็งแรงในเรื่องของ content


“พื้นฐานเมื่อย้อนไปสักตอนเริ่มต้นสัก 7-8 ปี เราก็เห็นภาพว่าหลายช่องก็ยุบไปแล้ว ยุบด้วยเหตุผลที่ชัดเจนตั้งแต่แรกๆ เขาก็ยุบด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเลี้ยงตัวเองไม่ไหว

พอมาอยู่ตรงนี้ ภาพมันก็เริ่มจะชัดเจนขึ้นว่า เรตติ้งของเขาก็ไม่กระเตื้องสักเท่าไหร่ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาเจอโควิด-19 อีก ในภาวะที่โควิด-19 คนไม่ได้ไปไหน หรือทำอะไร คนก็จะใช้โซเชียลกันมหาศาล โดยที่พอใช้มากๆ มันก็กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคนคุ้นชินกับโซเชียล พอคุ้นชินกับโซเชียลมันก็จะมีบันเทิงเยอะแยะมากมาย

ตอนนี้ให้เด็กยกมือ ถามว่าใครดูละครในช่องต่างๆ บ้าง เขาก็ไม่ดู ส่วนใหญ่เขาก็ดู Netflix ดู VIU ดูสิ่งที่เป็นระบบออนไลน์ เป็นสิ่งที่เขาดูตรงจากส่วนที่เขาคาดว่ามีคุณภาพกว่า มันกว่า มีการลงทุนมหาศาลกว่า

ต้องให้เกิดความชัดเจนว่าคุณอยากเป็นช่องข่าว หรือคุณอยากเป็นช่องละคร หรือคุณอยากเป็นเกมโชว์ เพราะฉะนั้นอย่าง workpoint เขาอยู่ได้ เพราะเขาชัดในการขายบันเทิง ขายตลก ขายรายการ คือ มันต้องมีความชัดเจนใน content ที่เราอยากจะขายความเป็นช่องนั้น แล้วก็สร้างผู้ชมที่เป็นผู้ชมแฟนพันธุ์แท้ตัวจริงขึ้นมาเรื่อยๆ

ฉะนั้นพฤติกรรมการดูภาคบันเทิงก็เปลี่ยนไป นั่นแหละคือเหตุ ในขณะเดียวกัน ข่าวที่มีการแข่งขันสูง เราก็จะเห็นได้ว่า ช่องที่เน้นข่าวก็มี คนไทยเมื่อติดช่องข่าวไหน เขาก็ดูช่องข่าวนั้น

พฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป ทำให้การตลาดก็เปลี่ยนไป โดยการอยู่รอดของแต่ละช่องก็อยู่ยาก เพราะสปอนเซอร์มันไม่เข้า ไม่มี ตั้งแต่การประมูลช่องตั้งแต่แรก ที่เขาคาดว่า 10 ปีหน้าจะตีทุนคืนได้บ้าง

แต่เราก็รู้ว่าผ่านมาแล้ว มันดูว่าเราจะได้ทุนคืนก็ยาก เพราะฉะนั้นเจอมรสุมโควิด-19 สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กำลังผลิตของสินค้าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด เพราะว่าพอผู้ผลิตไม่รู้ทุน ผู้บริโภคไม่มีจะบริโภค ทางสปอนเซอร์เขาก็ไม่จ้างโฆษณา ก็ไม่ได้ขาย กลายเป็นว่าการลงทุนธุรกิจทั้งหลายก็เป็นการลงทุนออนไลน์ เพราะฉะนั้นพลังของโซเชียลมีเดียมันก็มากขึ้นทุกวันๆ"


แน่นอนในยุคนี้ พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปเน้นเสพโซเชียลมากขึ้น เพราะมีความว่องไว มากกว่าสื่อโทรทัศน์ ซึ่งด้านผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อยังสะท้อนถึงเรื่องนี้อีกว่า โซเชียลมีเดียมีความไวกว่าข่าวโทรทัศน์จริง แต่สิ่งที่โซเชียลขาดคือความละเอียด

“ถ้าเอาแค่เกิดอะไรขึ้น ที่ไหน เมื่อไหร่ ขึ้น โซเชียลเร็วกว่าทีวี แต่สิ่งที่โซเชียลไม่ค่อยมี และทำยาก คือ การวิเคราะห์ ซึ่งทีวีมันจะมีคนตัวเป็นๆ มีความน่าเชื่อถือ มีคนรอฟังว่า คนนี้จะวิเคราะห์เรื่องอย่างนี้ว่าไง ถ้าคุณอยากจะสู้กับออนไลน์ คุณต้องสู้เชิงลึก

คุณต้องสู้เชิงความน่าเชื่อถือ อย่างที่คนกลุ่มนี้ไม่น่าไปอยู่ออนไลน์ด้วย ถ้าคุณจะขายทีวี เพราะคนจะมารอฟังคุณในทีวี ให้ออกทีวีไปก่อน แล้วคุณค่อย save ลงเป็น youtube”




ฟันธง!! ทีวีดิจิทัลจะต้องปิดตัวลงอีก


“ช่องทำทีวี ทำบันเทิง แล้วมีข่าวด้วย แต่พอถึงตรงนี้คนดูข่าวไม่ได้มารอสิ่งที่แทรกในรายการบันเทิงของเขา เขาก็มีโซเชียลให้ดู เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่าข่าวเขาก็ไม่ได้ลงทุนกับการทำข่าวที่จะต้องได้ พอเขาไม่ลงทุน เขาไม่ได้ทำอะไรเจาะลึก มันก็เลยทำให้คนดูของเขา ไม่อยากจะเปิดช่องนี้ เพื่อมาดูข่าวช่องนี้

เพราะมันดันมีช่องที่ข่าวเยอะ เวลาของข่าวเยอะ เขาก็เฝ้าข่าวนั้นอยู่ เพราะฉะนั้นปัญหา คือ มันจะมีความชัดเจนว่าคุณอยากทำเป็นช่องอะไร แล้วรายการข่าวของคุณ ก็ต้องเจาะลึกจริงๆ สร้างภาพนั้นขึ้นมาด้วย ถ้าหากคุณไม่สร้างภาพนั้นขึ้นมาสู้กับความไวของโซเชียล เพราะฉะนั้นรายการคุณจะนิ่ง และตายไปในที่สุดค่ะ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ มองผ่านประสบการณ์ไปอีกว่า ทางออกทีวีในยุคดิจิทัล ที่พฤติกรรมคนดูเพิ่งพาโซเชียลมากขึ้น ทางสื่อจะต้องเรียนรู้ รู้จักการปรับตัวเชิงความน่าเชื่อถือ และไม่ผลิตข้อมูลซ้ำกับทางโซเชียล รวมทั้งต้องมีจะมีความชัดเจนว่าคุณอยากทำเป็นช่องอะไร

“ทุกๆ คน อยู่กับโซเชียล ทุกคนอยู่กับมือถือ ไม่มีใครวางมือถือติดมือถือตลอด แล้วก็ไว เพราะว่าถ้าเป็นรายการทีวี ต้องรอเวลา
พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปมาก ไม่มีใครดูในเวลานั้น แล้วพอช่วงที่เจอโควิด-19 กลายเป็นว่าเอาละครรีรันมหาศาล จนคนดูไม่รู้จะดูอะไร ไม่มีละครใหม่ ไม่มีละครใหม่ก็เพราะว่าสปอนเซอร์ไม่เข้า ไม่มีคนดู กลายเป็นว่าเขาไปติดแพลตฟอร์มอื่นหมดแล้ว ไปติด Netflix ไปติดอะไรที่มันเป็นภาคบันเทิงออนไลน์ ไปติดและเจอสิ่งที่เขามีคุณภาพกว่าบันเทิงไทย แน่นอนยืนยันทั้งบท ทั้งโปรดักชัน ทั้งการแสดง แล้วทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าฉันกลับไปดูละครไทยไม่ได้อีกแล้ว


นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อยังฝากเตือนอีกว่า หากคอนเทนต์ไม่แข็งแรง และตราบใดที่ไม่พัฒนาโปรดักชันให้ดี มีความชัดเจน ทำทุกสิ่งให้ดีได้ ในอนาคตเชื่อว่าทีวีดิจิทัลจะต้องปิดตัวลงอีกอย่างแน่นอน

“ถามว่ายังมีอิทธิพลอยู่ไหม อาจารย์ว่าอีกไม่นาน คิดว่ามันจะเสื่อม ถ้าเป็นแบบนี้ คิดว่าทีวีดิจิตอลก็จะต้องปิดตัวลงอีก อาจารย์เคยคาดเดาว่าใน 10 ช่อง อาจจะเหลือแค่ 5 ช่อง

ยังไงก็ต้องปิด เพราะว่าถ้าเป็นธุรกิจ ถ้าไม่มีกำไรเขาก็ต้องปิด และสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องยอมรับ คือ โลกเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่ไม่ดูทีวีแน่นอน เด็กรุ่นใหม่อายุ 20 ปีนิดๆ เขาไม่ดูแล้ว ถ้ารุ่นคุณแม่ คุณยายตายไป หมดรุ่นนี้ก็จะไม่มีคนดูนะคะ

สมมติคนอยากดูรายการในทีวีที่ทำอาหาร เขาก็เปิด Youtube ทุกคนทำเป็นหมด โดยไม่ต้องมาดูรายการแม่บ้านในทีวีแล้ว เพราะคนที่เป็นเชฟดังๆ ในทีวี เขาก็ออก Youtube ของเขาเอง ต้องยอมรับและจากการคาดเดาของอาจารย์คิดว่ายังต้องยุบตัวอีกเยอะค่ะ ในความเป็นทีวีดิจิทัล

คิดว่าเหลืออย่างเก่งน่าจะสัก 5 ช่อง แล้วช่องที่เหลืออยู่น่าจะเป็นช่องที่ชัดเจน เอาดีเอาเด่นในความสามารถของช่องตัวเอง สิ่งที่ทีวีดิจิทัลต้องทำ คือ คุณต้องรู้ว่าคุณแข่งกับอะไรอยู่ คุณมีจุดอ่อนในเรื่องของความเร็ว ถ้าโซเชียลไปได้ก่อน ถึงก่อน แต่สิ่งที่โซเชียลไม่มี คือ ความลึก ความเจาะลึก ความละเอียด ความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นทีวีดิจิทัลควรจะดึงพลังตรงนั้นออกมา

มีภาคบันเทิงที่เรียกผู้ชมได้ แต่ภาคบันเทิงนั้นอย่าไปสร้างโซเชียล แข่งด้วยตัวของเขาเอง เหมือนสมัยก่อนคนเล่นหนังใหญ่จะไม่มาเล่นในทีวี เพราะเขารอให้คนไปดูหนังใหญ่ในโรง ตราบใดเมื่อคนเห็นคุณในทีวีแล้ว การสร้างหนังจะไม่มีประโยชน์ สิ่งนี้ทีวีดิจิทัลเหมือนกัน

ฝากไว้ให้คิดแล้วกัน คุณจะทำยังไงว่าของคุณต้องมาดูที่ช่องคุณเท่านั้น คุณต้องสร้างเอกลักษณ์ตรงนั้นให้ได้ สร้างบุคคลอย่างสื่อออนไลน์ ยังมี Youtuber ยังมี Influencer

คุณต้องสร้างตัวตนของเจ้าของรายการ เจ้าของคอนเทนต์นั้นขึ้นมา แล้วหมายถึงคุณขายเวลา ณ ตรงนั้น และอย่าสร้างโซเชียลของตัวเองขึ้นมาแข่งในเวลาตรงนั้นค่ะ”




ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น