xs
xsm
sm
md
lg

คุณตายอดนักสู้ “รีดนมวัว” ดูแลหลานทั้ง 7!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่.. จะสู้เพื่ออนาคตของหลาน” เปิดใจ “ตาพยุง” ผู้เป็นเสาหลักครอบครัว “รีดนมวัว-รับจ้างส่งนม” เพื่อประทังหลาน 7 ชีวิต ที่พ่อแม่ทอดทิ้งให้ดูแล แม้อายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ สังขารที่ร่วงโรยตามกาลเวลา แต่ไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา หวังดูแลทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี






สู้เพื่อหลานทั้ง 7 “รีดนมวัว-ส่งนม” ขาย


“ผมได้แต่คิดว่าตราบใดที่มีลมหายใจอยู่ ถ้าเขารักการเรียนผมจะหนุนเขา ให้เขาเรียน ให้มีความรู้ เพื่อให้เขาไปพัฒนาตัวเขา เมื่อเวลาเขาเติบใหญ่”

คุณตาพยุง มงคลสำโรง วัย 67 ปี เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวของเขา ที่วันนี้ยังคงใช้ชีวิตด้วยการทำงานหนักเพื่อดูแลหลาน 7 ชีวิต กับภรรยาคู่ชีวิตอย่าง “ยายบุญหลาย มงคลสำโรง” ที่หลายโรครุมเร้า ทั้งความดัน-เบาหวาน-เกาต์ จนทำงานหนักไม่ได้

“ก่อนที่เขาจะไปครั้งสุดท้าย ที่ทิ้งลูกไว้ให้ เขาก็ไม่ได้บอกผม เขาบอกแค่ลูกเขา ว่าแม่จะไปทำงาน เดี๋ยวอยู่กับตากับยายก่อน เดี๋ยวแม่จะส่งเงินมาให้ เขาบอกอย่างนั้น


ตั้งแต่นั้นมา เขาเคยมาครั้งหนึ่ง เขามาเยี่ยมลูกเขาที่นี่ วันหลังๆ มา เขาก็ห่างไปเรื่อย ทุกวันนี้เขาก็ส่งมาบ้าง 2-3 เดือน ส่งมาทีนึงให้ลูกเขา พอระยะหลังๆ มา เขาก็ห่าง

ลูกคนที่ 4 ตอนนั้นเขามาเลี้ยงวัว แยกออกไปทำฟาร์มวัว พอดีเขาแยกทางกับแฟนเขา ก็ขายวัวขายอะไร ขายกันก็เลยเอาลูกทิ้งไว้กับผม รถก็ทิ้งไว้คันหนึ่ง คอกวัวก็ปล่อยร้าง ผมก็เลยไปดูแล เห็นวัวก็เลยไปปลูกผัก ปลูกนาอยู่ที่คอกวัว

ส่วนคนน้องเขาไปเฉยๆ เขาไม่ได้พูดอะไร เขาไปแบบว่าจะไปหาทำงาน เดี๋ยวหางาน เดี๋ยวส่งเงินมาให้ เขาก็ไป ผมบอกมีแล้ว ได้งานได้การแล้ว ก็ส่งมาให้ลูก เห็นอนาคตลูกบ้าง ผมก็บอกตามประสาบ้านนอก เขาก็บอกจ้า นั่นคือคนเล็ก ตอนใหม่ๆ เขาก็ส่งมาให้ดี พอหลังๆ เขาก็ไม่ได้ส่ง”


ทั้ง 9 ชีวิต อาศัยในเรือนไม้หลังเก่าเล็กๆ ใน จ.สระบุรี ที่ร่วมผ่านร้อนหนาวด้วยกันมา โดยไม่เคยคิดทอดทิ้งไปไหน ถึงแม้จะมีอุปสรรครุมเร้าก็ตาม โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากพ่อแม่เด็กแยกทางกัน ทำให้ทิ้งลูกๆ ให้ตากับยายเลี้ยง

อย่างไรก็ดี การสู้ชีวิตของตาพยุง ที่เปรียบเป็นเสาหลักของครอบครัว มีเพียงแค่วัว 1 ตัว ที่พอช่วยให้ตามีรายได้จากการรีดนมไปขายวันละประมาณ 10 กิโลฯ กิโลฯ ละ 18 บาท นอกจากนี้ ยังรับจ้างส่งนมให้เพื่อนบ้าน โดยใช้กระบะรถที่ลูกทิ้งไว้

“เลี้ยงวัว ทำไร่ ปลูกผักสวนครัวเสริม เลี้ยงวัวตัวเดียว รีดแล้วตอนเย็นรับจ้างส่งเขา รับจ้างลากถังเป็นงานเสริม รับจ้างตามบ้านเอาไปส่งที่เขารับซื้อ ได้รายได้ต่อเดือน ก็เป็นถังละ 700 บาท เดือนนึงประมาณ 4,000-5,000 บาท


หักค่าใช้จ่ายออก ส่วนมากหักค่าน้ำมันเดือนนึงก็ประมาณ 4,000 กว่าบาท พอหักค่าน้ำมันออกแล้ว มันก็มีส่วนเหลือ ส่วนรีดนมวัววันละ 10 โล บางทีก็ 12 -13 โล โลละ 18 บาท ก็เป็นเสริมให้หลาน”

โดยกิจวัตรทุกวันของคุณตาวัย 67 ปีนี้ จะต้องรีดนมวัว และไปรับถังนมของเพื่อนบ้านเพื่อไปขายยังศูนย์รับซื้อนม โดยเขาจะพาหลานๆ ไปพร้อมกับถังนม เพื่อส่งหลานที่โรงเรียน

เมื่อถึงช่วงบ่ายๆ ก็รีดนมวัวอีกครั้ง ก่อนไปรับถังนมของเพื่อนบ้าน เพื่อไปขายยังศูนย์รับซื้อนมอีกรอบ ซึ่งเป็นเวลารับหลานๆ ที่เลิกเรียนพอดี

“6 โมงเช้า ผมก็พาหลานออกไปรีดนม พอ 6 โมงกว่าผมก็เอาถังจากฟาร์ม ออกมารับถังนมกลับไป กลับมา พอรับนมหมด ก็เอาเด็กไปโรงเรียนพร้อมกัน เพราะว่าเอานมออกไปจากฟาร์มหมดแล้ว

ตอนบ่ายก็รับถังนมจากฟาร์มเขา ประมาณ 3 โมง 40 ออกไปถึงโรงเรียน เด็กก็เลิกเรียน เลิกเรียนก็รอผม ผมเอาถังนมไปให้เขาขึ้นรถ แล้วก็ไปส่งถังนมภาคบ่าย”





หยุดเรียน-กินข้าวต้มโรยเกลือประทังชีวิต!!


แม้ร่างกายจะอ่อนล้าลงทุกวัน แต่ตาพยุง ต้องเป็นกำลังหลักในการทำงาน เพื่อเลี้ยงดูอีก 8 ชีวิตในบ้าน

สำหรับ ยายบุญหลาย มงคลสำโรง ภรรยาของตาพยุง บอกเล่าให้ฟังว่า เมื่อเห็นสามีต้องเป็นเสาหลักทำงานดูแลทุกคน รู้สึกสงสารตา และหลานที่ต้องอดมื้อกินมื้อ โดยเมื่อพูดถึงอนาคต หากวันนึงคุณตาพยุงล้มป่วยนั้น คุณยายยอมรับเลยว่า ยังไม่อยากให้วันนั้นเกิดขึ้น

“มีลูกทั้งหมด 4 คน คนแรกตาย คนที่สองก็ไปทำงาน คนที่สามเอาลูกมาไว้ที่นี่ คนที่สี่ก็เอาลูกมาไว้นี่

[ยายบุญหลาย มงคลสำโรง]
คิดถึงเขาอยู่ แต่ไม่รู้จะทำไง แต่เขายังไม่คิดถึงแม่เลย เขาคิดถึงลูกเขา เขาก็มานะพาลูกไปเที่ยว แต่แม่เขาไม่ได้สน เขาไม่อยากพูดกับเราบางทีเขาโทรศัพท์มา เขาโทร.มาคุยกับลูกเขา พ่อแม่เขาไม่เคยคุยกับพ่อกับแม่เลย”

รู้สึกสงสารแต่ไม่รู้จะทำไง ยายก็ทำอะไรเลยไม่ได้ ยายก็ช่วยหุงข้าว หาน้ำให้หลานไปกินโรงเรียน ก็บอกตา ถ้าเหนื่อยก็พัก ไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ไม่ต้องลาก (ถังนม) หรอก

ตาก็ไม่ได้ป่วยอะไรนะ ไปวัดความดันไม่มี มีแต่ยายคนเดียว ยายเป็นความดัน เบาหวาน เกาต์ มันปวดขา เวลาเดินต้องค่อยเดิน ค่อยลง มันปวดหัวเข่า ตีน มือชา”


ทว่า… แม้จะทำงานหนักแค่ไหน ก็ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง นอกจากบ้านหลังโทรมที่อาศัยอยู่ จะผุพังที่อัดแน่นไปด้วยหลานแล้วนั้น เรื่องอาหารต้องกินอยู่กันแบบตามมีตามเกิด

ทั้งนี้ น้องเมย์ - ลัดดาวรรณ หนูช่วย หลานคนโตวัย 16 ปี บอกเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ ว่าตัดสินใจหยุดเรื่องเรียนเมื่อหลายปีก่อน ไม่อย่างนั้นวันนี้เธอคงได้เรียนอยู่ชั้น ม.5 แล้ว

“ช่วยตาทำงาน ไม่มีใครช่วยตาทำงาน ถ้าหนูเรียน ตากับยายก็ต้องทำงานกัน 2 คน ขนาดน้องเรียน ตายังไม่มีเงินส่งเรียน หนูก็เลยออกดีกว่า ออกมาช่วยตาทำงาน ก็คิดจะเรียนค่ะ แต่ว่าถ้าเป็นภาระให้เขาก็ไม่อยากเรียน อยากให้น้องมีอนาคตดีกว่า เราอยู่อย่างนี้ดีกว่า”


ด้วยความที่เป็นพี่สาวคนโต ทำให้เธอพร้อมเสียสละทิ้งอนาคตของตนเอง เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสเรียน และเธอจะได้ช่วยตา และยายทำงานด้วย

“ตอนนั้นหนูคิดในใจว่า หนูเกิดมาทำไม เห็นแกเหนื่อย อยากบอกว่าหนูรักตามากที่สุด หนูไม่อยากเห็นแกร้องไห้ หนูไม่อยากเห็นแกเหนื่อยถ้าตาให้ช่วยอะไร หนูก็ช่วยหมดรีดนม ยกถังนม แกให้ทำอะไรหนูทำหมด

หนูขอบคุณที่เลี้ยงพวกหนูมา (ร้องไห้) อยากให้แกอยู่กับพวกหนูไปนานๆ ไม่อยากแกไปไหน รักตา รักเหมือนพ่อ”


อย่างไรก็ดี ตาพยุง เสริมว่า หากเลือกได้ ตนอยากให้หลานเรียนหนังสือ เพื่ออนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีของเขา

“พอดียายไม่สบาย หลานคนเล็กก็ต้องเข้าโรงพยาบาลพอดีครับ เขาก็เลยออกมาดูแลยาย ตอนนั้นยายหุงข้าว หุงน้ำไม่ได้ ตอนนั้นลุกยาก แล้วมีน้องอีกหลายคน บางทียายทำอะไรไม่ได้ ตอนเช้าไปโรงเรียน

ผมก็บอกทนต่อไป ให้จบ ม.3 เพื่อให้มีวุฒิ เราก็บอกค่อยออกแล้วกัน เขาก็อยากออกมาดูแลน้อง เราก็ตามใจ ถ้างั้นก็ค่อยเรียน กศน.เอาก็ได้ เขาว่าอย่างนั้น”


ขณะที่ มล - วิมลวรรณ มงคลสำโรง หลานคนรองได้ช่วยสะท้อนเรื่องราวของชีวิตให้ฟังว่าหากวันไหนมีเงิน อาหารมื้อนั้นอาจมีไข่ ปลากระป๋อง นานๆ ครั้งครอบครัวถึงจะลิ้มชิมรสหมูหรือไก่สักที แต่วันที่ไม่มีตังค์ ทุกคนก็พร้อมใจกันกินแค่ “ข้าวต้มโรยเกลือ”


“เสียใจที่แม่ไม่อยู่ แต่ว่าก็มีความสุขดีที่อยู่กับยาย… ทุกครั้งถ้าเกิดข้าวสารหมด ตอนที่เขาไม่มาช่วย ก็ต้มข้าวต้มกินกับเกลือ แต่นานๆ ที ตาจะซื้อหมูมาให้กิน บางทีเขาก็เอาไข่ เอาหมูมาให้ ยายก็ทอด บางทีก็ต้มกับข้าวต้มให้กิน

อาหารหลักๆ ที่เรากิน คือ น้ำพริกกับปลากระป๋อง แต่ถ้าเงินเยอะ บางทีไม่ได้ใช้หนี้ ตาก็ซื้อหมู ซื้อไก่ มาให้กิน แต่นานๆ ทีถึงจะได้กิน”






“ทุกวันนี้สู้เพื่อหลาน”


ไม่เพียงปัญหาเรื่องทำกิน ที่ต้องดูแลคนในครอบครัว ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตาพยุงแล้ว อีกทั้งสภาพการใช้ชีวิตดูน่าเป็นห่วงมาก แม้แต่เงินที่จะให้หลานติดตัวไปโรงเรียนยังแทบจะไม่มี

“ได้วันละ 180 มันไม่พอ แต่ไม่รู้จะทำยังไง บางครั้งพอเขาเห็นตาไม่มี เขาก็ไม่เอาเงินไปโรงเรียน เขาบอกตาหนูไม่เอาไป หนูไม่กินก็ได้ ถ้าตามี ตาก็ให้หนู

เขาเห็นบางครั้งผมไม่สบาย (ร้องไห้) เขาห้ามไม่ให้ตาต้องทำอะไร แต่ถ้าตาไม่ทำ แล้วหนูจะกินอะไร ยายก็ทำอะไรไม่ได้”


ถามถึงความรู้สึก เมื่อได้ยินคำพูดที่หลานพูดให้ตาฟัง “หนูไปโรงเรียน แต่หนูไม่เอาเงิน” เป็นอย่างไรบ้าง คุณตาที่เข้มแข็งตลอดการให้สัมภาษณ์ เผยมุมอ่อนไหว พร้อมน้ำตาที่ไหลออกมา ว่าไม่เคยคิด และไม่ได้ตั้งคำถามถึงชีวิต ทำไมเราถึงต้องมารับภาระเลี้ยงดูหลาน

“มันแค้นใจ บางทีก็มาร้องไห้คนเดียว ทำไมชีวิตมันรันทดแบบนี้ คนข้างนอกไม่รู้หรอก ในใจของตาคนนี้ จะกินอะไร ต้องให้หลานกินก่อน ตากับยายจะนั่งดู ให้เขากินอิ่ม ถึงจะกิน

บางทีคำพูดหลานตอนไปโรงเรียน ไม่ต้องมีอะไรผมก็ไปได้ แต่ว่าในหัวอกตายาย ก็อยากให้เขาติดเนื้อติดตัวไป 5 บาท 2 บาท 3 บาท ก็ยังดี”


แน่นอนว่า หากไม่มีคุณตาวัย 67 คนนี้ อนาคตของหลานๆ และคุณยาย ไม่รู้จะเป็นเช่นไร ซึ่งสำหรับชีวิตคุณตาพยุง ที่เปรียบเสมือนเป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้ว เขามีความเป็นห่วงคุณภาพชีวิตของหลาน ทั้ง 7 คนที่สุด

“ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ผมเคยถามพวกเขา ถ้าตาไม่สบายสักคน พวกหนูจะทำยังไง …ไม่รู้แหละตา ตาจะต้องไม่เป็นอะไร ผมห่วงอนาคตเขา ตัวผมไม่ห่วงหรอกครับ ทุกวันนี้สู้เพื่อหลาน

ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่… จะสู้ ไม่ใช่เพื่อตัวเองอยู่รอด แต่เพื่ออนาคตของหลานๆ ที่ยังอีกไกล…ชีวิตเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ถ้าวันหนึ่งทำอะไรไม่ได้ มันคิดไปทั่ว ตราบใดที่ยังมีลมหายใจก็จะสู้ไปเรื่อยๆ สู้ต่อไป อยากได้เห็นอนาคตหลานๆ อยากให้เขามีอนาคตที่สดใส ผมก็นอนหลับปกติได้ บั้นปลายชีวิตมันก็ล่วงหน้าไม่ได้”


แม้วันนี้สุขภาพของตาพยุง จะยังดูสุขภาพแข็งแรง สามารถเป็นเสาหลักในการทำงาน หาเลี้ยงครอบครัวได้ แต่อนาคตไม่แน่นอน สังขารที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา ไม่มีใครรู้ว่าตาพยุงจะสู้เพื่อหลานๆ ไปได้อีกนานแค่ไหน

หากวันใดวันหนึ่ง ตาพยุงต้องล้มป่วยไปอีกคน ทั้ง 8 ชีวิตจะอยู่กันอย่างไร ได้แต่หวังว่าจะมีคนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวนี้ดียิ่งขึ้น


หากใครต้องการให้ความช่วยเหลือครอบครัวนี้ สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ชื่อบัญชี ขอรับบริจาคช่วยเหลือ นายพยุง มงคลสำโรง เลขที่บัญชี 020-186-839-616






สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **