เปิดใจผู้ว่าราชการ จ.เลย ชายผู้อุทิศตน ทำเพื่อประชาชน “นอนกางมุ้งเฝ้าระดับน้ำ-ใช้เงินส่วนตัวไถ่ของโรงรับจำนำ” คอยช่วยเหลือประชาชนใกล้ชิด ติดดิน-ไม่ถือยศตำแหน่ง และนี่คือคำตอบของผู้ว่าฯ ในดวงใจ ที่ใครๆ ต่างต้องการตัว ทั้งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บังคับบัญชาดี มีอยู่ในประเทศจริง!!
เปิดเส้นทางการเป็น “ผู้ว่าฯ” ที่ใครก็รัก
“อะไรที่เราทำให้พี่น้องประชาชนได้ และทำให้พี่น้องประชาชนคลายทุกข์ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดควรจะกระทำ”
นี่คือคำพูดของ “ติ๊ก - ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” หรือ “พ่อบักตาว” ผู้ว่าราชการ จ.เลย ที่ได้เปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ โดยเต็มไปด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
หลายภาพหลายเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ว่าฯ คนนี้ที่เคยปรากฏผ่านสื่อ สะท้อนให้เห็นถึงความติดดิน เข้าถึงประชาชนทุกวัย อาจสร้างความประทับใจให้ใครหลายคน ถึงกับออกปากว่านี่แหละผู้ว่าฯ ในดวงใจ ถ้าเมืองไทยมีผู้ว่าฯ แบบนี้เยอะๆ คงจะดีไม่น้อย
เมื่อย้อนกลับไปคงไม่มีใครคิดว่า เด็กชายที่แสนยากจนคนหนึ่งเคยอาศัยอยู่วัด ต้องฝ่าฟันชีวิต วันหนึ่งจะกลายมาเป็น “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ได้ แถมเป็นผู้ว่าฯ ในดวงใจที่ใครๆ ก็รัก
“ใช้คำว่ายากจนน่าจะเหมาะที่สุด (หัวเราะ) เพราะว่าตอนเด็กๆ เราทำทุกอย่างที่คิดว่าเอาชีวิตให้รอด เพราะว่าที่บ้านก็ยากจน
ตอนเรียนประถมก็ต้องพยายามหาเงินทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นช่วยแม่ขายข้าวแกง ขายข้าวต้มมัด หรือเก็บเม็ดมะขามมาคั่วขาย ตอน ป.6 ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เพราะว่าไม่มีเงินพอที่จะเรียนหนังสือได้ ก็ไปเป็นกระเป๋ารถเมล์
พอเก็บเงินได้ สักพักหนึ่งก็ไปลงเรียน กศน. และสอบเทียบไปด้วย จำได้ว่ามาสมัครสอบเทียบที่ศาลากลางจังหวัด เรียน กศน. จบ ม.3 ก็ไม่มีเงินอยู่ดีที่จะไปเรียนต่อมัธยมปลาย ก็เลยมาลองเปลี่ยนอาชีพดูว่า ถ้ามาปั่นสามล้อ และไปขอหลวงพ่ออยู่วัด จะทำให้เราพอเรียนต่อได้ไหม
ปรากฏว่าโชคดีมัธยมปลายเขามีภาคค่ำด้วย ก็ไปเรียนที่โรงเรียนเลยพิทยาคม แต่เป็นภาคค่ำ กลางวันก็ปั่นสามล้อ ซึ่งค่าที่พักไม่ต้องเสีย เนื่องจากว่าไปอาศัยอยู่วัด
เมื่อมีค่าเทอม มีเงินใช้จนจบ ม.6 ก็คิดว่าชีวิตการเรียนคงจะจบแค่นั้น แต่เผอิญได้ครูประเสริฐศรี แนะนำว่าให้ลองไปสมัครทุนจุฬาฯ ชนบท เผื่อสอบได้ เพราะว่าทุนจุฬาฯ ชนบท ให้ทั้งค่าเรียน ให้ทั้งค่าใช้จ่ายประจำเดือน ปรากฏว่าสอบได้ จึงได้เข้าไปเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
เพราะความฝ่าฟันไม่ย่อท้อต่อชีวิต ไม่มองความยากจนเป็นอุปสรรคต่อชีวิต จนได้มีโอกาสเรียนจบมหาวิทยาลัย “ถ้าไม่มีทุนจุฬาฯ ชนบท ก็ไม่มีผมในวันนี้” เขาย้ำให้ฟัง
กระทั่งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “พ่อเมือง” หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยประเดิมที่ จ.ราชบุรี ก่อนมาเป็นผู้ว่าฯ ที่ จ.เลย บ้านเกิดของเขาเอง
“แรกเริ่มเดิมทีผมก็ไปรับราชการที่กรมพระนามชน อยู่ได้นานสักพักหนึ่ง พอปลัดอำเภอเปิดสอบก็มาสอบกับเพื่อนๆ และรับราชการมาเรื่อยๆ
จนในปี 2545 มีการปฏิรูประบบราชการ มีการโอนข้าราชการส่วนหนึ่งจากกรมการปกครอง ไปอยู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผมก็รับราชการมาที่กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น จากนั้นก็รับราชการเรื่อยมา จนถึงวันนี้ได้ทำงานเพื่อบ้าน เพื่อเมืองตามสมควร”
ติดดิน กิน-อยู่ ง่าย!!
นับถึงปัจจุบันกว่า 3 ปี ผู้ว่าฯ ตั้ม ได้กลายเป็นผู้ว่าฯ ที่คนไทยไม่น้อยหลงรักไปแล้ว เพราะสิ่งที่ท่านทำเพื่อประชาชน ล้วนแล้วแต่น่าชื่นชม และสร้างความประทับใจ
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปประสานงานที่โรงรับจำนำ และใช้เงินส่วนตัวไถ่เครื่องมือประกอบอาชีพที่ประชาชนนำมาจำนำไว้ เพราะหวังให้เครื่องมือเหล่านี้กลับไปทำกิน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
“เราคิดว่าสิ่งที่สถานการณ์ วันนั้นหรือช่วงนั้น เงินแม้เพียงเล็กน้อยก็มีความจำเป็น ที่จำเป็นเพราะว่าในช่วงสถานการณ์โควิดถ้าใครที่ย้อนกลับไป 1.พี่น้องประชาชนตกงาน 2.จะเอาของมาขายก็ไม่มีคนซื้อ มันก็ขาดทุนไปเรื่อยๆ
คนที่พอจะมีเงิน เงินก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ ของก็ถูกไปจำนำ แต่ของที่มาวางไว้นั้นมันกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น หม้อข้าว มีคนเอาหม้อข้าวขนาด 6 ลิตร 10 ลิตร มาจำนำ ผมถามว่าถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ก็คงไม่เอาหม้อข้าวใหญ่ขนาดนั้น แต่นี่คงจะเป็นแม่ค้าข้าวแกง อย่างนี้เป็นต้น
สว่าน เลื่อย เอามาจำนำ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นอุปกรณ์ทำมาหากิน ถ้าเราช่วยเขาได้ มันก็เป็นเงินที่เราพอที่จะหาได้ ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนมีเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
เมื่อมีเครื่องมือในการประกอบอาชีพ มูลค่าเพิ่มมันก็เกิด ครอบครัวก็จะได้รับการช่วยเหลือต่อไป ก็คิดแค่นั้น”
โดยตอนแรกไม่ต้องการให้ใครรู้ เพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่ทีมงานของผู้ว่าฯ ได้นำเรื่องนี้ออกมาเผยแพร่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับฟังจากผู้ชายคนนี้ คือ สิ่งที่ทำไป เพียงอยากทราบถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด มีความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น
“แล้วได้เล่าผู้จัดการ ผู้รับจำนำว่าไม่ต้องไปบอกหรอกว่าใครจำนำ เพราะคนบางคนเขาก็ไม่สะดวกหรอกที่จะมารับสิ่งของที่เราไถ่ให้ บางคนเขาก็อายนะ
เพราะฉะนั้น ผมก็ทิ้งเงินไว้จำนวนหนึ่ง แล้วผู้จัดการกับคนมาจำนำติดต่อกันนะ ถ้าติดต่อกันแล้วทำขั้นตอนทางธุรกรรมเสร็จ ก็มอบของให้ไป แล้วก็ฝากข้าวปลาอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งไปด้วย เมื่อมีแรงแล้ววันต่อไปก็จะได้สู้ด้วยกัน ก็คิดเช่นนั้น งานก็เลยออกมาเป็นอย่างนั้น”
นอกจากนี้ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด เขายังเปิดจวนผู้ว่าฯ ให้ประชาชนได้จัดงานแต่งงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
“เคยไปงานแต่งงาน แล้วถามเขาว่าค่าใช้จ่ายเยอะไหม บางคนก็บอกว่าหลายตังค์ บางคนก็บอกว่าเป็นหนี้เป็นสินเหมือนกัน ก็เลยคุยกับน้องๆ ที่ทำงานว่าถ้าเราเปิดจวนให้ใช้ และจัดพิธีให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณี โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ คู่บ่าวสาวจะได้ไม่ต้องไปเสียเงินเสียทอง
ในการจัดงานแต่งงาน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะให้พี่น้องประชาชนได้มีทางเลือก ส่วนท่านใดที่มีกำลัง มีแรงที่จะจัดงานแต่งงานกันเอง ก็สุดแล้วแต่จะว่า พี่น้องท่านใดที่อยากมีทางเลือก เพิ่มทางเลือกให้พี่น้องประชาชน ก็ทำให้เขามีทางเลือก ไม่ต้องไปจ่ายเงิน”
ไม่เพียงใส่ใจทุกความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แต่ท่านยังเต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจ ภาพที่เห็น คือ ภาพการนอนกางมุ้งบนศาลาวัด คอยเฝ้าระดับน้ำ ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดของเขาคนนี้
หรือการให้คนขับรถประจำตำแหน่ง พาผู้ร้องทุกข์ส่งกลับถึงบ้าน โดยให้ความสำคัญกับทุกคนรอบข้าง ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะยากดีมีจน มีตำแหน่งสูงต่ำเพียงใด
ด้วยบทบาทของการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องเป็นผู้พิทักษ์ และเป็นกำลังหลัก ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรี ฉายชัดขึ้นกับพ่อบักตาวพี่น้องประชาชนเมืองเลย
“ถ้าให้พูดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด สิ่งแรกที่ทุกคนจะเห็นในสื่อหรือคนเลยคุ้นชิน จะใช้คำนี้ 1.ท่านเป็นคนติดดิน 2.ท่านเป็นคนไม่ถือตัว”
“ยศวัฒน์ พัชระศักดิ์สกุล” ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองเลย ได้บอกเล่าถึงผู้บัญชาการของตนให้ฟังว่าเป็นคนที่มีหลักวิธีการคิด ให้ประชาชนกับข้าราชการใกล้ชิดกัน มีมุมมองแนวคิดที่เฉียบขาด และเป็นแบบอย่างที่ดี ของผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา
เช่นเดียวกับ “ภัทรวุฒิ บุญลือ” เจ้าหน้าที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.เลย ที่ได้ช่วยสะท้อนอุปนิสัยน่ารัก ของผู้ว่าฯ ตั้มเอาไว้ว่า เป็นคนที่เข้าถึงประชาชนอย่างมาก รวมทั้งเป็นคนติดดิน ใส่ใจทุกข์สุขของชาวบ้าน ดุจคนในครอบครัว
“ท่านเป็นคนง่ายๆ ครับ คือ เข้ากับประชาชนได้ดี และเป็นที่รักของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชาวบ้าน คนเฒ่าคนแก่ เด็ก ท่านก็จะช่วยเหลือทุกคน และเป็นคนกินอยู่ง่าย”
ไม่มีคำนิยามความสำเร็จในชีวิต…
แม้อยู่ในตำแหน่งที่สูง อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด แต่คนของประชาชนคนนี้ไม่เคยหวังลาภยศ เงินทอง ขอแค่ไม่เป็นภาระของสังคม และมีอาชีพ เท่านี้ถือว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ทางชีวิต
“ผมไม่ได้มีความคิดที่ว่าจะเป็นนั่น เป็นนี่ มีความคิดอย่างเดียวว่า 1.ไม่เป็นภาระแก่สังคม ก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง 2.มีอาชีพและมีค่าครองชีพ มีข้าว มีปลากิน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
แต่สิ่งที่มาถึงวันนี้ ได้มากกว่าสิ่งที่เราตั้งใจไว้นั่น คือ ไม่ใช่เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ว่าเราได้ทำงานเพื่อบ้านเพื่อเมืองตามสมควร แก่อำนาจหน้าที่ และตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่”
จากเด็กที่ยากจน เกือบไม่ได้เรียนต่อในแต่ละช่วงวัย แต่ด้วยความมุ่งมั่น มานะทำงาน และใฝ่เรียน ทำให้เขาก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของชีวิต
เมื่อถามถึงหลักยึดที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ผู้ว่าฯ คนนี้ก็กล่าวว่า ที่ทำไปไม่เคยหวังผลแม้แต่น้อย และรู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจในอาชีพข้าราชการ
“มีผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์เคยสอนไว้ว่างานในหน้าที่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ มันน่าจะมีลักษณะอย่างน้อยอยู่ 3 อย่าง อย่างที่ 1 คือ ระเบียบกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำ อย่างที่ 2 คือ นโยบาย ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือนโยบายต่างๆ ที่จะได้ทำ
อย่างที่ 3 คือ สิ่งที่เราอยากทำเอง ถ้า 3 อย่างนี้มันอยู่วงเดียวกัน การทำงานมันก็ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผมไปนอนเฝ้าพี่น้องประชาชนที่น้ำท่วม ก็กลับมาวิเคราะห์หลักระเบียบกฎหมาย ก็อนุญาตให้ทำได้ ไม่ได้ห้ามว่าผู้ว่าราชการจังหวัดไปนอนกับผู้น้องประชาชนไมได้
อันที่ 2 นโยบาย รัฐบาลก็ยังอยากให้เราดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด อันที่ 3 ใจเรา ก็เป็นห่วงและปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชน ทั้ง 3 งาน มันมาอยู่ในวงเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็ทำงานง่ายขึ้น และทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น”
นอกจากนี้ หากถามว่านิยามความสำเร็จสำหรับผู้ว่าฯ คืออะไร เขาได้ให้คำตอบไว้ว่าไม่มีนิยาม
แต่มี 3 เรื่อง ที่ต้องการที่สุด ซึ่งพยายามทำให้ตนเองมี เพื่อที่จะได้มีกำลังในการทำงาน เพื่อชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่แข็งแรง จิตใจที่เบิกบาน และมีสติปัญญา
“ผมไม่มีคำนิยามความสำเร็จในชีวิต แต่ผมจะเล่าให้น้องๆ ฟังว่า ถ้าผมขอพรได้ ผมจะขออะไร ทุกวันนี้เวลาทำบุญหรือไหว้พระ ก็จะขอพรเช่นนั้นอยู่ คือ 3 เรื่อง คือ ขอให้ร่างกายแข็งแรง ขอให้จิตใจแจ่มใสเบิกบาน และขอให้มีสติปัญญา กับกำลังวังชา ในการรับใช้บ้านเมือง
3 อย่างนี้ อยากจะขอ และอยากจะให้เกิดความสำเร็จได้ เราก็ต้องช่วยกันทำด้วย เช่น เราอยากให้มีร่างกายแข็งแรง เราก็ต้องกินอาหารในสมดุล ต้องออกกำลังกาย ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
เราอยากมีจิตใจแจ่มใส เบิกบาน เราก็ต้องละวาง เราก็ต้องพอเพียง เราก็ต้องมีวินัย เราก็ต้องสุจริต เราก็ต้องมีจิตอาสา จิตใจเราถึงจะเบิกบานได้
เราอยากมีกำลังวังชา ทั้งกำลังกาย กำลังใจเรา เราก็ต้องสร้าง กำลังกายเราก็ต้องออกกำลังกาย พักผ่อน กินอาหาร กำลังสติปัญญาเราก็ต้องอ่านหนังสือ ฟังคนที่มีความรู้พูด เพราะฉะนั้นนิยามของความสำเร็จ ผมไม่สามารถตอบได้
แต่สิ่งที่ผมอยากได้ คือ อยากมีร่างกายที่แข็งแรง อยากมีจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน และอยากมีสติปัญญา กำลังวังชา ในการทำงานเพื่อชาติ เพื่อเมือง”
แม้วันนี้ จะถึงวาระที่ทางผู้ว่าฯ ชัยวัฒน์ จะต้องย้ายไปเป็นผู้ว่าที่ จ.ปทุมธานี ในเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา และพี่น้องชาว จ.เลย รู้สึกใจหาย และอดเสียดายท่านไม่ได้
แต่เชื่อเหลือเกินว่า ด้วยหัวใจ และจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยม ทำให้เขาไม่เคยหยุดนิ่ง และยังคงมุ่งมั่นทำงาน สละเวลาอุทิศตนเพื่อสังคมต่อไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะยกย่องให้เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตัวอย่าง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคมเสมอมา
สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์