ทีมนักวิจัยเผยข่าวดี นวัตกรรมรักษาโรคมะเร็งจากแพทย์ชาวไทย “ยาภูมิคุ้มกันบำบัดต้านมะเร็ง” เดินหน้าถึงเฟส 3 “เพิ่มโอกาสหายขาด-ราคายาถูกลง-ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง” แต่ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนทุนวิจัยด้วยเช่นกัน
หากจะกล่าวถึงโรคร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในอันดับ 1 มายาวนานหลายสิบปี แน่นอนว่าคือ “มะเร็ง” โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 221 คนต่อวัน หรือ 80,655 คนต่อปี มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น 336 คนต่อวัน และมีแนวโน้มผู้ป่วยทั่วโลกสูงขึ้นทุกปี
สำหรับกระบวนการใช้ในการรักษา เพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ก็มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงกับตัวผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
ด้วยวิวัฒนาการทางแพทย์ในปัจจุบัน ก็ได้จุดประกายความหวังที่จะพิชิตโรคร้ายในตัวผู้ป่วยให้หายขาดได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ต้องใช้ระยะเวลาและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างต่อเนื่อง
ทาง กลุ่มทิสโก้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานวิจัย ด้วยการมอบส่วนหนึ่งของรายได้ค่าธรรมเนียม จากการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและผลิตภัณฑ์ประกัน สมทบทุนกองทุนวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ฯ
ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันมียอดบริจาคผ่านทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์รวมทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านบาท และมีความตั้งใจจะให้การสนับสนุนไปอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง
ศ.พญ.ดร.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากทิสโก้ ได้กล่าวถึงรายละเอียดการพัฒนารักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ประกอบไป 3 พันธกิจหลัก ดังนี้
“ศูนย์ของเราพัฒนาเป็น 3 วิธีการใหญ่ๆ คือ 1. การพัฒนา Antibody เพื่อรักษามะเร็ง ปกติมะเร็งมันจะบล็อกทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานไม่ได้ ถ้าเราไปปลดล็อกโดยการใช้ยาตัวนี้ ก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำงานได้ แต่ย้ำว่าไม่ได้ผลทุกคน และมันแพงมาก เข็มละสองแสนขึ้น เราอยากจะผลิตมันแล้วก็สามารถทำให้คนไข้คนไทยเข้าถึงมันได้ ซึ่งความคืบหน้าตอนนี้อยู่ในเฟส 3 เอายาตัวนี้ไปผลิตให้ได้ปริมาณมากขึ้น เพื่อเตรียมลงในคนไข้ต่อไป ยาตัวนี้มีความสำคัญมาก
[ ศ.พญ.ดร.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ]
แล้วคนที่ไม่ตอบสนองจะมีวิธีอะไร ใช้หลักการวัคซีนเพื่อรักษาโรค เป็นโปรเจกต์ที่ 2 เราจะต้องเอาชิ้นเนื้อมะเร็งของแต่ละคนมาวิเคราะห์ยีนและโปรตีน มีส่วนไหนที่สามารถใช้เป็นวัคซีนได้บ้าง ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีจะเริ่มฉีดคนไข้คนแรกประมาณปลายปี
โปรเจกต์สุดท้าย เราอาจจะเอาเม็ดเลือดขาว หรือระบบภูมิคุ้มกันใส่เข้าไปในคนไข้ได้เลย การทำเซลล์บำบัดหรือที่ตอนนี้เรียกว่า CAR T-cells คือการเปลี่ยนแปลงเซลล์เม็ดเลือดขาวให้มันเก่งขึ้นแล้วใส่ไปในคนไข้ สามารถรักษาทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ขอบคุณบริษัททิสโก้ที่เห็นความสำคัญของงานวิจัยและสนับสนุนนักวิจัยของประเทศอย่างต่อเนื่อง”
สอดคล้องกับ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย หัวหน้าหน่วยโรคเลือด และโรคมะเร็งในเด็ก และปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวว่า ด้วยศักยภาพการแพทย์ของคนไทย เป็นไปได้ว่าในอนาคตจะทำให้โรคร้ายนี้ได้รับการรักษาจนหายขาด แต่ทั้งหมดก้ขึ้นอยู่กับการให้การสนับสนุนทีมวิจัยด้วยเช่นกัน
[ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ]
“ผมว่าโรคมะเร็งการรักษามันดีกว่าเดิมเยอะแล้วนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเด็กมันดีกว่าเดิมเยอะมาก โอกาสหายขาดประมาณ 3 ใน 4 แม้กระทั่งในมะเร็งผู้ใหญ่ก็ตาม การรักษาที่หายขาดก็มี ยกตัวอย่าง มะเร็งเต้านมที่เป็นระยะเริ่มต้นก็หายขาดได้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็หายขาดได้ ผมบอกได้เลย การรักษาพัฒนาดีขึ้นกว่าเดิม และผลข้างเคียงจะน้อยลงด้วย
ถึงแม้ไม่หายขาดแต่การมีชีวิตมันอยู่ยาวขึ้น การรักษาในอนาคตมันไม่ใช่เฉพาะเคมีบำบัด ฉายแสง จะมีพวกนี้เข้ามา แล้วพวกนี้มันจะต้องใช้วิธีการหลายๆ อย่างเข้ามา การรักษามะเร็งในอนาคตมันไม่ใช่ลักษณะทุกคนรักษาแบบเดียวกันหมด มันจะต้องมีการศึกษาในแต่ละคนๆ ไม่เหมือนกัน เป็นการรักษาเฉพาะบุคคล คนไข้แต่ละคนจะรักษาไม่เหมือนกัน คือ สิ่งที่คนเป็นหมอมะเร็งจะต้องเรียนรู้
โชคดีที่ สปสช.ให้การรักษาพื้นฐานหมดแล้ว แต่นวัตกรรม สปสช.ไม่ให้ จึงเป็นที่มาที่ผมอยากสนับสนุนให้คนไทยส่งเสริมเรื่องงานวิจัย มันเกิดขึ้นจากประเทศเรา โอกาสที่รัฐบาลจะตัดสินใจออกให้มันจะมีสูง ดีกว่าที่เราไปเอาจากต่างชาติเข้ามา
ยาจะถูกลงเยอะเกือบ 10 เท่า เพราะว่าค่าทดลองในเมืองไทยถูกกว่ากันอยู่แล้ว ต่างประเทศถึงอยากมาลงทุนการวิจัยในเมืองไทย ถ้าเราได้มาตรฐานพอ คุณภาพหมอก็ดี ผมเชื่อว่าโรคมะเร็ง อีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น โรคจะมีโอกาสหายมากขึ้น”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **