“การใช้เฟซบุ๊ก เหมือนเป็นการสื่อสารกับโลกข้างนอก” เปิดใจ “พระศักดา” พระผู้สร้างแรงบันดาลใจ ใช้โซเชียลฯ เผยแพร่ธรรม จนมีคนติดตามมากกว่า 2 ล้านคน ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีที่ทันยุคสมัย ประยุกต์เครื่องมือการสื่อสาร “ตั้งกล้องถ่าย-ตัดต่อเอง” บนเส้นทางที่เกิดความแคลงใจของสังคมว่าผู้ครองผ้าเหลืองใช้สื่อออนไลน์ผิดพระวินัยบัญญัติหรือไม่!?
ก้าวแรกบทโซเชียลฯ หวังเผยแผ่ธรรมะ
“พระอาจารย์ไม่ค่อยชอบเรื่องโซเชียลมีเดียเลย ตอนแรกๆ รู้สึกว่าพระกับอินเทอร์เน็ตมันเป็นอะไรที่รู้สึกว่ามันบอบบางมาก ไม่ควรจะแตะเด็ดขาด
แต่พอมานานเข้า มันมีความรู้สึกว่า 1. โยมเข้าวัดน้อยจังเลย 2. ถึงจะเข้าวัดมา มือหนึ่งไหว้พระ อีกมือก็ยังเขี่ยโทรศัพท์อยู่ ไม่มองพระด้วยซ้ำ ก็เลยนึกเล่นๆ ว่าเดี๋ยวจะไปโผล่ในโทรศัพท์ให้โยมเห็น ชอบมองนักกันใช่ไหม พระอาจารย์ก็เกิดนึกขึ้นมาว่า ไหนลองทำเป็นธรรมะลงไป”
พระครูสังฆรักษ์ (ศักดา สุนฺทโร) แห่งวัดไร่ป่าธรรมภิมุก จ.ตราด พระนักเทศน์ชื่อดัง เปิดใจถึงเส้นทางการใช้โซเชียลมีเดียเผยแผ่ธรรมะ ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “พระศักดา สุนฺทโร” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคน โดยทั้งเทศน์ ตั้งกล้องถ่ายเอง และตัดต่อเองด้วยมือถือธรรมดาๆ ที่สำคัญทุกคลิปแฝงไว้ด้วยข้อคิดของการใช้ชีวิตอย่างมีสติ
“ใช้เวลาถ่ายประมาณ 5 นาที และใช้เวลาตัดต่อในโทรศัพท์ ไม่ได้ใช้ตัดต่อจากคอมพิวเตอร์ ก็ประมาณ 5 นาที 1 คลิป ประมาณ 10 นาทีก็เสร็จแล้ว เพราะว่าพระอาจารย์จะต้องรีบออกบิณฑบาต เวลาต้องคำนวณกับแสงกำลังมาพอดี ก็ถึงจังหวะช่วงนี้ ถ้าก่อนหน้านี้สักตี 4-ตี 5 ก็ไม่มีแสงให้เราได้ถ่าย เมื่อพระอาจารย์บันทึกเสร็จ พระอาจารย์ก็จะต้องตัดต่อ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครือข่ายทางสังคมที่มีใช้งานอย่างแพร่หลาย และมีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชีวิตของคนในสังคมไปมาก
“อย่างแรกวัตถุดิบเราต้องแม่นพอสมควรว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร บวกกับการที่เราต้องมองโลกให้เห็นว่าตอนนี้ปัจจุบันโลกเขากำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่
ทุกคนเปิดทีวีมาคุยเรื่องนี้กันหมดเลย และนี่แหละเขาต้องการกินอาหารมื้อนี้ แบบนี้ แต่เราจะปรุงออกมาอย่างไร ให้เขาอร่อยลิ้นที่สุด แต่จะไม่อร่อยลิ้นว่า โยม!! ตอนนี้กำลังคุยเรื่องนี้กันใช่ไหม คนนั้นคนนี้… อร่อยลิ้นเขา แต่มันเป็นโทษกับเขา เขากำลังเป็นเบาหวาน เป็นมะเร็งอารมณ์ แต่พระอาจารย์จะต้องปรุงให้เขาถูกลิ้นด้วย และไม่ให้เป็นโทษกับเขาด้วย”
แน่นอนว่าถึงจะเป็นการเจตนาที่ดีของพระศักดา แต่ก็สร้างความแคลงใจให้สังคมว่า ผู้ครองผ้าเหลืองนั้นสามารถใช้สื่อออนไลน์ได้หรือไม่ โดยพระนักเทศน์ชื่อดังได้ให้คำตอบว่า สื่อออนไลน์เป็นเพียงการสื่อสารกับโลกข้างนอก
“การใช้เฟซบุ๊กมันก็เหมือนเป็นการสื่อสารกับโลกข้างนอก เราออกไปโลกข้างนอก และมีโลกข้างนอกมาให้เราเห็นด้วย ก็คือเรื่องของคนอื่นที่โพสต์ลงมา
และสิ่งที่เราโพสต์ออกไปมันก็ไม่ต่างจากที่เราเดินจากจุดนี้ไปถึงอีกจุดหนึ่ง เราต้องเห็นในสิ่งที่อยู่รอบข้างแน่นอน แล้วสิ่งที่อยู่รอบข้างก็พร้อมให้เราเห็นเรื่องของเขาแน่นอน เพราะฉะนั้น การที่พระใช้เฟซบุ๊กไม่ได้ พระก็ไม่ควรจะเดินไปที่ไหนในโลกนี้ เพราะการเดินไปในโลกนี้ มันก็เห็นสิ่งที่อยู่รอบข้างเหมือนกัน การใช้เฟซบุ๊กเข้าไป มันก็เห็นสิ่งที่อยู่รอบข้างเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังเดินไป เราเลือกที่จะไม่มองสิ่งที่คนกำลังด่าเราตรงนี้ เราเลือกจะไม่มองสิ่งที่ทำให้เราเกิดราคะตรงนี้ไหม จะทำให้เกิดการกำหนัดจากการมองสองข้างทางไหม เฟซบุ๊กก็เหมือนกันเมื่อเราหลบเลี่ยงได้ จะไม่เข้าไปดูในแพลตฟอร์มที่เขากำลังเสนอในสิ่งที่ทำให้เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดความคิดหงุดหงิดของเรา
พระอาจารย์จึงไม่ตอบคอมเมนต์ใคร พระอาจารย์จึงไม่โต้ตอบกับใคร พระอาจารย์ขอนำเสนอทางเดียว ฉันมีหน้าที่ คือ ถ่ายเสร็จ ฉันโพสต์”
ชีวิตเปลี่ยนเพราะ “ศรัทธา” ในพระพุทธศาสนา
กว่า 27 ปี ที่ของพระศักดาได้ครองผ้าเหลือง ไม่ใช่แค่อุทิศตัว พัฒนาศักยภาพ เป็นพระผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่สังคม ย้อนกลับไปชีวิตของพระครูสังฆรักษ์ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนกับเด็กต่างจังหวัดทั่วๆ ไป โดยมีความใฝ่ผันตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็น “ตำรวจ”
“คือบวชก็ตั้งใจเพียงแค่ว่าอยากจะเข้ามาดูหนังสือเพื่อที่จะเตรียมตัวไปสอบตำรวจ คือใจใฝ่ฝันเหลือเกิน อยากเป็นตำรวจเหลือเกิน เห็นเขาใส่ชุดตำรวจแล้วรู้สึกว่าเท่ดี แต่เมื่อบวชจากเดิมที่ไม่ได้ศรัทธาในพระ แต่พอเข้ามาได้มาอยู่ร่วมกับพระ เราก็ยิ่งเห็นพระ ที่มันอาจจะผิดที่เรา ไปเลือกมองในส่วนที่ไม่ดีของเขาก็ได้
จนกระทั่งมาเกิดความรู้สึกว่า พระมีส่วนที่ไม่น่าศรัทธาเยอะ แต่ก็เป็นความโชคดีซ้อนอยู่ในความไม่โชคดี คืออาจารย์ที่สอนพระอาจารย์ได้ถามว่าสนใจที่จะเดินธุดงค์บ้างไหม สนใจจะไปลองปฏิบัติพระกรรมฐานบ้างไหม ก็เลยลองติดตามท่านไป
พรรษาแรกก็ลองไปหาประสบการณ์ด้วยการลองไปฝึกนั่งสมาธิ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าลองปฏิบัติดู และที่เป็นแรงจูงใจมากที่สุด คือ อาจารย์พาเดินธุดงค์ไปในป่าลึกๆ ปรากฏว่าพอไปเจอพระที่ดี พระที่ถูกจริตของเรา ท่านปฏิบัติจริงจัง ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าน่าจะลองดูต่ออีกสักนิดหนึ่ง เรื่องตำรวจผลัดไปก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน ก็เลยอธิษฐานใจในโบสถ์เลยว่า ข้าพเจ้า พระศักดา สุนฺทโร ขออธิษฐานใจ บวช 10 ปีนับจากนี้ หากยังไม่ครบ 10 ปี จะไม่สึกเด็ดขาด”
แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะช่วงระยะเวลาที่บวชนั้น พระศักดาได้มีโอกาสศึกษา ปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์ และได้ออกธุดงค์เข้าป่า จนเกิดรู้สึก “ศรัทธา” ในวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์และพระพุทธศาสนา จึงยังไม่มีความคิดที่จะสึกเพื่อออกมาใช้ชีวิตในทางโลก แต่อยากจะเรียนรู้และปฏิบัติธรรมต่อไป พร้อมบอกโยมสีกาที่คบหาดูใจกันและคิดจะมีอนาคตร่วมกันก่อนจะบวชว่า “อาตมาขอบวชต่ออีก 10 ปี หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันใหม่”
“พรรษา 1-4 พระอาจารย์จริงจังเกี่ยวกับเรื่องของการเรียน ในทางชั้นตรี โท เอก เรียนแล้วไปปฏิบัติกับครูบาอาจารย์ นั่งสมาธิกันเกือบทุกวัน วันละไม่รู้กี่ชั่วโมง ปฏิบัติกันเอาจริงเอาจังเลยช่วงแรกๆ
เมื่อพรรษาที่ 4 ขึ้นพรรษาที่ 5 พระอาจารย์เริ่มออกเผยแผ่แบบจริงจัง คือ ออกบรรยายธรรมตามโรงเรียน มาเน้นกับเด็กๆ ก่อน เพราะเรารู้สึกว่าเด็กเป็นอะไรที่ยังสอนได้ และสอนง่าย
บางโรงเรียนที่เป็นอิสลามก็มีอยู่ แต่พระอาจารย์มีความรู้สึกว่าเราทุกคนควรจะมีศาสนาสากล มันคือศาสนาของสุข เท่านั้นก็พอแล้ว
พระอาจารย์ยังเชื่อว่า พุทธ คริสต์ อิสลาม นรกคืออย่างเดียวกัน คือความทุกข์เหมือนกัน สวรรค์ก็คงเป็นความสุขเหมือนกัน”
หลังจากนั้น ในทุกๆ วัน พระนักเทศน์ก็ได้เริ่มออกตระเวนแสดงธรรมตามโรงเรียนในอำเภอเมืองฯ จ.ตราด ด้วยหวังนำธรรมออกเผยแผ่ปลูกฝั่งคุณธรรมให้แก่เด็กๆ พร้อมกับการทำงานช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม ทั้งคนป่วย คนพิการ คนยากไร้ โรงพยาบาล มูลนิธิกู้ภัยในจังหวัด
“คือทางกู้ภัยหลักของที่นี่ เขาปรึกษาว่าอยากจะได้รถสักคันที่มีอุปกรณ์ครบในการที่ออกไปช่วยเหลือคนได้ทันที พระอาจารย์ก็บอกว่าถ้างั้นต้องการอะไรก็บอกแล้วกันพระอาจารย์ก็ไม่ได้มีปัจจัยอะไร เพียงแต่ว่ามีคนติดตามฟังธรรมะอยู่ พระอาจารย์อาจจะบอกบุญได้บ้าง ใครต้องการจะทำบุญก็โอนเงินเข้าบัญชีของกู้ภัยโดยตรงเลย
เหมือนกับว่าถ้ามีความรู้สึกว่าอยากถวายปัจจัยพระอาจารย์ เป็นการที่กิจการเทศน์ที่พระอาจารย์มาช่วยสอน พระอาจารย์บอกไม่ต้องหรอกโยม โอนแล้วเข้าตรงนี้แล้วนึกน้อมใจไปว่า ข้าพเจ้าขอน้อมถวายปัจจัยพระอาจารย์ศักดา ด้วยการรวมเงินซื้ออุปกรณ์กู้ภัย”
นอกจากช่วยเหลือ สังเคราะห์สังคม พระที่ครองผ้าเหลือ กว่า 27 รูปนี้ยังเป็นคนบริหารจัดการ ทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านคนดูแล โดยมีความคิดเห็นว่าเป็นการฝึกตนเอง ไม่ไหลไปตามชื่อเสียงที่ได้รับมา
“วันหนึ่งประมาณ 3 ที่ เช้าที่นึง บ่ายที่นึง กลางคืนที่นึง ปีนึงประมาณ 900 ที่ที่ต้องไป แล้วถ้าหากว่าอยู่ใกล้ๆ กัน พระอาจารย์ก็คงจะไม่สักเท่าไหร่ แต่บางทีไกลเหลือเกิน ที่นึงตอนเช้าอยู่หาดใหญ่ สงขลา ตอนบ่ายอยู่เชียงใหม่ กลางคืนอยู่อุดรฯ ซึ่งพระอาจารย์ก็รู้สึกเหนื่อยกับการนั่งเครื่องบิน เดือนนึงนั่งเครื่องบิน 10 กว่าเที่ยว มันเยอะเหลือเกิน แต่โยมนิมนต์แล้วเราจะทำยังไงดี
ตอนนี้พยายามว่าอยากจะลดงานข้างนอกลง แต่ว่าพระอาจารย์ก็ไม่ทิ้งงานภาวนา นั่งรถไปเราก็สามารถกำหนดพุทโธ อยู่กับลมหายใจของเราบ้าง คือ ถ้าเรามีความรู้สึกว่าวัดอยู่ทุกที่
พระอาจารย์ไม่มีเลขาฯ ส่วนตัว พระอาจารย์ไม่มีใครที่จะมาจัดคิว มารับกิจนิมนต์ รับโทรศัพท์ ไม่มี พระอาจารย์รูปเดียวล้วนๆ เลย พระอาจารย์ว่าไม่ใช่เรื่องยากนะ เราตื่นเช้ามา เราก็ดูว่าวันนี้เราจะไปไหน แล้วเราก็ไปนั่น ซึ่งเราก็จะไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย
เวลาไปบรรยายแต่ละที่ เราก็สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า...โยมไม่ต้องถวายปัจจัยอาตมาหรอกนะ หรือถ้าจะมีก็แค่ค่ารถส่งถึงวัด ไปกลับก็พอ ถ้าโยมถวายมา แล้วขัดใจโยมไม่ได้จริงๆ เราก็นำไปทำประโยชน์ต่อไป”
ไม่ยึดติด “ความศรัทธา-ชื่อเสียง”
“พระอาจารย์ว่ามันเป็นกิจที่ควรจะสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มันเป็นงานสาธารณะสงเคราะห์ ที่สงฆ์จะต้องไปสงเคราะห์ เพราะว่ามีความรู้สึกว่าของที่มาบิณฑบาตได้แต่ละวัน คือมาจากมือของคนที่มั่งมี และเมื่อมาอยู่กับมือเรา มันจะถ่ายโอนไปสู่คนที่ไม่มี จากคนที่มั่งมีไปสู่ผู้ไม่มี
แต่ถ้าหากมาถึงมือเรา เรากักไว้ เก็บไว้ ตุนไว้ ความมั่งมีของคนบางคนก็ไปสู่คนไม่มีไม่ได้ มันก็เลยเกิดแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งว่า ถ้างั้นเราเป็นคนเจ้าโทสะ เราก็จะต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนมีเมตตา เมื่อได้ของมา เราจะต้องรีบถ่ายโอนไปให้คนอื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่มันจะมากได้ เป็นการฝึกตัวเองจริงๆ”
ด้วยอุดมการณ์ของพระรูปนี้ก็ดำเนินการสังเคราะห์สังคม เพื่อประโยชน์ให้สังคม ส่งเสริมปัญญาให้สังคม โดย พระศักดา สุนฺทโร สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ฏิบัติ เป็นเพียงเครื่องมือฝึกตน ซึ่งเป็นวิธีการที่ทันยุคทันสมัย ประยุกต์เครื่องมือการสื่อสารอย่างโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ธรรมะ สร้างคุณประโยชน์สังคมให้มากที่สุด
ทว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ตามมา คือ ความศรัทธา ชื่อเสียง สรรเสริญ ลาภสักการะ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้สั่นคลอน หรือว่าทำให้ไขว้เขวกับการดำรงในผ้าเหลืองได้
“คือบอกตรงๆ ว่าเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงจริงๆ กับการที่พระมีชื่อเสียง ตรงนี้พระอาจารย์ก็ใช้คำว่าเราต้องมั่นคงพอ และต้องมีสติ รู้ตัวพอว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่
พระอาจารย์ใช้หลักของความเป็นธรรมชาติ ความเป็นพระบ้านๆ พยายามที่จะไม่มีของใช้อะไรมาอำนวยความสะดวก จนทำให้เรารู้สึกว่ายิ่งมีชื่อเสียง เรายิ่งมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น เราพยายามยังคงความเป็นพระบ้านนอก
ความเป็นพระที่ทำอะไรด้วยตัวเองอยู่ได้ และที่สำคัญคือ มันต้องโยงไปหาข้อเดิมอีก คือ เรื่องของการฝึกสติให้มากขึ้น”
แม้สิ่งที่พระศักดาทำจะมีมากมาย และทำให้เหนื่อยมากพอสมควร แต่ไม่เคยท้อ กลับต้องการทำสิ่งดีๆ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ไปเรื่อยๆ
สุดท้ายพระศักดาบอกว่า หลังเริ่มเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น ท่านยังคงเหมือนเดิม คือ จะเป็นพระธรรมดาที่มีกิจวัตรปกติทั่วไป บิณฑบาต สวดมนต์ ภาวนา แสดงธรรม ช่วยเหลือสังคมตามโอกาส ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป
“พระอาจารย์ก็จะเป็นอย่างนี้จนไปถึงอนาคต เพียงแต่ว่าเมื่อวัยเปลี่ยนไป หรือว่ารูปแบบชีวิตเปลี่ยนไป ก็ยังจะยังทำงานที่ถนัดแบบนี้ เราก็อาศัยการที่เราถนัด ทำงานให้ประโยชน์คนอื่นไปด้วย เพื่อหาวิธีลดกิเลสในตัวเอง เพียงแต่เรามีวิธีของเราแบบนี้”
สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “พระศักดา สุนฺทโร”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **